วิธีการทำเทียน อุบลราชธานี
สารบัญ
๖. ผ้ากรอง (ผ้าขาวเนื้อละเอียด)
จำนวน ๒ เมตร กรองขี้ผึ้ง
หมายเหตุ จะขึงใส่ในโครงเหล็ก หรือโครงไม้วางเหนือภาชนะที่ใช้สำหรับใส่ขึ้ผึ้ง อาจเป็นโอ่ง หรือชามอ่างก็ได้ เป็นการกรองฝุ่นตะกอนที่เกิดจากขี้ผึ้ง แม้ว่าเป็นขี้ผึ้งบริสุทธิ์ก็อาจมีเศษฝุ่นละอองตกค้างอยู่ได้
๗. กระบวยโลหะ หรือกระบวยตักน้ำ หรือขันพลาสติกชนิดทนความร้อน
สำหรับตักขี้ผึ้ง
หมายเหตุ ไม่ควรมีขนาดใหญ่จนเกินไป เพราะจะทำให้ตักลำบากและอาจเกิดอุบติเหตุได้
๘. โอ่งมังกร หรือ ถังน้ำมันเปล่า
จำนวน ๒ ใบ สำหรับใส่ขี้ผึ้งที่ต้มละลายแล้ว
หมายเหตุ สำหรับใส่ขี้ผึ้งที่กรองสะอาดแล้ว ก่อนนำไปกรอกลงในแบบหล่อ หรือแบบพิมพ์ลำต้น และยอดของต้นเทียน
๙. ท่อนไม้ หรือท่อพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ x ๔ นิ้ว ยาว ๓ เมตร
จำนวน ๑ ท่อน สำหรับทำแกนลำต้น
หมายเหตุ หากไม่มีแกนของลำต้น อาจทำให้ต้นเทียนอ่อนตัวลง และเสียรูปทรงได้ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดขี้ผึ้ง โดยวัสดุที่ใช้ในการทำแกนลำต้นสามารถเลือกได้หลายรูปแบบ เช่น ไม้ ท่อพลาสติก ท่อเหล็ก เป็นต้น ซึ่งการเลือกใช้ท่อจะสะดวก เวลานำมากลึง แต่การใช้ท่อเหล็กจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักของต้นเทียน เมื่อนำมาประกอบเป็นต้นแล้ว ต้องหาลวด หรือสลิงยึดเอาไว้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันการล้ม หรือโอนเอนไปมา
๑๐. ท่อนไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ x ๔ นิ้ว ยาว ๐.๖๐ เมตร
จำนวน ๑ ท่อน สำหรับทำแกนยอด
หมายเหตุ แกนสำหรับทำยอดให้เป็นแกนไม้ก็ได้ เพราะมีขนาดไม่ใหญ่ และน้ำหนักเบา
๑๑. ผ้าขี้ริ้วสะอาด
จำนวน ๕ ผืน สำหรับเช็ดมือ
หมายเหตุ เนื่องจากในการทำดอกผึ้ง ส่วนประกอบที่สำคัญในการตัดดอกผึ้ง คือ น้ำผสมผงซักฟอก หรือน้ำสบู่ เนื่องจากต้องใช้น้ำอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีผ้าไว้สำหรับเช็ดมือ
๑๒.สังกะสีแผ่นเรียบ (ชนิดหนา) ขนาดกว้าง ๖๐ เซ็นติเมตร ยาว ๑๐ ฟุต
จำนวน ๑ แผ่น สำหรับทำแบบหล่อลำต้น
หมายเหตุ การใช้สังกะสีแผ่นเรียบทำแบบหล่อ เพราะสามารถแกะต้นเทียนออกจากแบบได้ง่าย และได้ต้นเทียนที่มีผิวเรียบสวย
๑๓.สังกะสีแผ่นเรียบ (ชนิดหนา) ขนาดกว้าง ๖๐ เซ็นติเมตร ยาว ๒ ฟุต
จำนวน ๑ แผ่น สำหรับทำแบบหล่อยอดต้น
หมายเหตุ เหตุผลเดียวกับ ข้อ ๑๒.
๑๔.ถังตักน้ำ
จำนวน ๑ - ๒ ใบ สำหรับตักน้ำ
๑๕.ไม้ขนาดเท่าแขนยาว ๑.๕๐ เมตร
จำนวน ๒ ต้น สำหรับทำเสา
หมายเหตุ เสายึดแกนต้นเทียน
๑๖.ไม้ไผ่ส่างไพรผ่าครึ่งยาว ๑ เมตร หากไม่มีอาจใช้ไม้เบญจพรรณ ขนาดเท่ากับไม้ไผ่ไม่ต้องผ่าครึ่ง
จำนวน ๒ ซีก หรือ ๒ ท่อน สำหรับเป็นไม้ขนาน
หมายเหตุ ในการทำแบบหล่อลำต้น ต้องมีไม้สำหรับยึดโครงแบบให้ตั้งตรง
๑๗. เสียม หรือจอบ
จำนวน ๒ - ๓ อัน สำหรับขุดหลุม
หมายเหตุ ทำเบ้าหล่อต้นเทียน
การทำแบบพิมพ์สำหรับหล่อลำต้นเทียนและยอดเทียน
แบบพิมพ์สำหรับหล่อเทียน อีสานเรียกว่า “โฮง” หรือ“เบ้าหลอม” โฮงหรือเบ้า้หลอมทำจากสังกะสีแผ่นเรียบชนิดหนาถ้าหล่อลำต้นเทียนใช้สังกะสีขนาดกว้าง ๘๐ - ๑๒๐ เซนติเมตร ยาว ๘ - ๑๐ ฟุต ถ้าหล่อยอดเทียนให้ใช้สังกะสีแผ่นเรียบรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ ๘๐ เซนติเมตร หรือ ๒ ฟุต ขนาดของสังกะสีที่ใ่ช้ทำแบบหล่อลำต้น และยอดสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม นำสังกะสีแผ่นเรียบมาตัด ให้ส่วนที่จะเป็นปลายหรือส่วนยอดของต้นเทียนแคบเข้า โดยส่วนที่เป็นฐานจะมีขนาดใหญ่กว่า แล้วนำแผ่นสังกะสีที่ตัดไว้มาโค้งเป็นรูปทรงกระบอกค่อนไปทางรูปทรงกรวยเหมือนการทำหม้อนึ่งสังกะสี ขอบด้านข้างของสังกะสีพับโค้งงอเข้าเพื่อซ่อนขอบอีกด้านหนึ่ง เหมือนกับที่ช่างบัดกรีตีตะเข็บหม้อนึ่งสังกะสี การทำโฮงหรือเบ้าหลอมให้มีลักษณะดังกล่าว ใช้ได้ทั้งสำหรับต้นเทียนและยอดต้นเทียน
ในทางปฏิบัติ การทำแบบพิมพ์ต้นเทียน ช่างอาจดัดงอสังกะสีเข้าหากัน โดยให้ปลายทั้ง ๒ ข้างงอเป็นตะขอเกาะเกี่ยวกันเอาไว้ หรือทำเป็นตะเข็บ แล้วบัดกรีด้วยตะกั่วก็ได้ ทั้ง ๒ วิธีมีข้อดีและข้อเสีย ดังนี้
๑. วิธีทำเป็นตะขอ
ข้อดี การดัดงอเช่นนี้ เมื่อหล่อต้นเทียนแล้วจะถอดแบบพิมพ์ออกก็ทำได้ง่าย
ข้อเสีย เมื่อสังกะสีถูกขี้ผึ้งที่ร้อน เนื้อสังกะสีจะขยายตัว ทำให้ตะขอแยกออกจากกัน และเป็นช่องให้ขี้ผึ้งไหลออกทำให้สิ้นเปลือง สร้างความวิตกกังวล
๒. วิธีทำเป็นตะเข็บ
ข้อดี วิธีนี้เมื่อบัดกรีด้วยตะกั่วแล้ว เนื้อตะกั่วจะเชื่อมให้สังกะสีแนบชิดติดกัน เวลาเทขี้ผึ้งลงไปตะเข็บก็จะไม่แยกออกจากกัน ขี้ผึ้งจะไม่ไหลออก ทำให้ไม่สิ้นเปลือง และมีความมั่นใจ
ข้อเสีย เวลาจะถอดแบบพิมพ์ ต้องใช้กรรไกรตัดสังกะสี และแบบพิมพ์ที่ถูกตัดแล้วจะนำมาใช้อีกเหมือนวิธีทำเป็นตะขอไม่ได้
การเตรียมไม้ทำแกนลำต้น
การเตรียมไม้ทำแกนลำต้น จะใช้ไม้ขนาด ๔ x ๔ นิ้ว ยาว ๓ เมตร นำไม้ไปกลึงด้วยเครื่องกลึงให้เป็นรูปทรงกระบอก ส่วนปลายทั้ง ๒ ข้าง ก็กลึงเช่นเดียวกัน โดยกลึงให้เล็กลงไม่เท่ากัน กล่าวคือ ปลายด้านหนึ่งกลึงให้เป็นเดือยยาว ๑๐ เซนติเมตร เหลือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ นิ้ว ปลายอีกด้านหนึ่งกลึงให้เดือยยาว ๕๐ เซนติเมตร เหลือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ นิ้ว เดือนที่ยาว ๑๐ เซนติเมตร เป็นเดือยสำหรับสวมยอดลำต้นเทียน เพื่อป้องกันมิให้ยอดล้มหรือหลุดออก เดือนที่ยาว ๕๐ เซนติเมตร เป็นเดือยสำหรับสวมลงไปในฐานต้นเทียน เพื่อมิให้ต้นเทียนเอนหรือล้ม
ปัจจุบันใช้แกนเป็นเหล็กกลวงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ เซนติเมตร แล้วพันโอบด้วยเชือกมะนิลาอีกครั้ง เพื่อให้แกนเทียนใหญ่ขึ้น และยังเป็นการประหยัดขี้ผึ้งอีกด้วย หรืออาจใช้ไม้อัดหนา ๑๐ เซนติเมตร มาทำเป็นต้นทรงเหลี่ยม อาจเป็นสี่เหลี่ยม แปดเหลี่ยมหรือย่อมุมก็ได้ แล้วทาด้วยสีน้ำพลาสติกสีส้ม หรือสีแดงเพื่อเป็นการรองพื้น