วิธีการทำเทียน อุบลราชธานี
สารบัญ
วิธีการทำเทียน
การทำเทียนมัดรวมติดลาย
วัสดุอุปกรณ์
๑. เทียนแท่งสีขาว หรือเหลือง
๒. ลำต้นหมาก ปล้องไม้ไผ่ หรือแก่นไม้ ปัจจุบันใช้ท่อพลาสติก pvc หรือท่อซีเมนต์ หรือท่อกระดาษ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐ เซนติเมตร หรือตามการออกแบบของช่างทำเทียนเพื่อทำเป็นแกนหรือยอด
๓. เชือกปอ
๔. วัสดุที่ใช้สำหรับตกแต่งตามการออกแบบของช่างทำเทียน ได้แก่ กระดาษสีต่าง ๆ เช่น กระดาษตังโก (กระดาษเงิน กระดาษทอง) หรือกระดาษแก้ว เป็นต้น รวมทั้งดอกผึ้ง และใบตอง
ขั้นตอนการทำเทียนมัดรวมติดลาย
๑. ตั้งแกน และฐานตามแบบที่ร่างไว้
๒. นำแท่งเทียนมาเรียงรอบแกนและฐาน ใช้เชือกหรือฝ้ายมัดรอบเพื่อยึดแท่งเทียนไว้ด้วยกัน เพื่อป้องกันมิให้เทียนที่เรียงไว้นั้นหลุด ช่วงรอยต่อของเทียนใช้กระดาษสี หรือวัสดุตกแต่งอื่น ๆ เช่น กระดาษสี ใบตอง เชือกปอ ตามที่ออกแบบไว้ตกแต่งปิดรอยต่อของเเท่งเทียนแต่ละชั้น จากนั้นทำการตกแต่งฐานโดยรอบให้สวยงาม
การทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์
วิธีการทำเทียน
การทำเทียนมัดรวมติดลาย
ขั้นตอนการทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์
ออกแบบ
หล่อต้๋นเทียน
กลึงต้๋นเทียน
ทำผึ้งแผ่น
ทำดอกผึ๋งติดพิมพ์
ติดดอกผึ้ง
การออกแบบต้นเทียนประเภทติดพิมพ์
โดยการร่างแบบที่จะจัดทำลงบนกระดาษแล้วนำดอกผึ้งไปติดตามโครงสร้างของต้นเทียนที่ได้จัดทำขึ้นตามแบบ โดยช่างเทียนจะเป็นผู้กำหนดว่าดอกผึ้งลายใดจะใช้กับส่วนใดของต้นเทียน
ช่างพิมพ์และช่างตัดดอกผึ้ง
ช่างพิมพ์ดอกผึ้ง ส่วนมากมักจะเป็นช่างผู้มีประสบการณ์และมีความชำนาญ เพราะงานพิมพ์ดอกผึ้งเป็นงานที่ละเอียดอ่อน เป็นการผลิตงานจำนวนหลายร้อยหลายพันชิ้น โดยใช้ฝีมือของคน ไม่ได้ใช้เครื่องจักร การพิมพ์ดอกผึ้งให้สวยงาม บางครั้งดูจะเป็นงานที่น่าเบื่่อ ดังนั้นช่างจึงต้องเป็นผู้มีใจรักในงาน
ส่วนช่างตัดดอกผึ้ง อาจแบ่งตามฝีมือได้เป็น ๓ ระดับ คือ
๑) ระดับงานง่าย เป็นช่างที่ตัดดอกง่าย ๆ เช่นดอกสี่เหลี่ยมหลี่ยม ได้แก่ ลายกระจังตาอ้อย ลายประจำยาม ลายรักร้อยที่ไม่ต้องฉลุลวดลายและไม่ต้องควักเนื้อขี้ผึ้งที่อยู่ในดอกผึ้งออก
๒) ระดับงานปานกลาง เป็นช่างที่ตัดลายยากขึ้น เช่น ลายใบเทศ ลายเทพพนม ฯลฯ
๓) ระดับงานยาก เป็นช่างฝีมือ เคยตัดดอกผึ้งจนมีความชำนาญถนัดตัดดอกที่มีลายซับซ้อน สามารถฉลุลายตรงกลาง และควักเนื้อขี้ผึ้งออกได้ หรือดัดแปลงลวดลายของดอกผึ้งได้ ช่างระดับนี้สามารถตัดดอกผึ้งที่เป็นลายกนกก้านขด กนกเปลว หรือลายใบเทศที่ซับซ้อนได้ ช่างส่วนมากที่ทำงานตัดดอกผึ้ง มักทำด้วยความสมัครใจ คือเป็นช่างอาสาและอยากแสดงฝีมือ โดยที่ในใจเชื่อว่า การช่วยทำเทียนพรรษาจะทำให้ได้บุญ ช่างตัดดอกผึ้งสำหรับต้นเทียนต้นหนึ่ง ๆ จำเป็นจะต้องใช้ประมาณ ๑๐ คน และช่วยกันทำงานประมาณ ๓๐ - ๔๐ วัน ช่างเหล่านั้นต้องทำงานตลอดเวลา มีการประสานงานกัน และประสานงานกับช่างติดดอกด้วย เพราะช่างติดดอกจะกำหนดว่าให้ช่างพิมพ์ พิมพ์ดอกอะไร จำนวนมากน้อยเท่าใด ช่างตัดต้องตัดดอกอะไร จำนวนเท่าใด โดยปกติช่างพิมพ์จะใช้อย่างน้อย ๒ คนส่วนช่างตัดดอกมีจำนวนมากเท่าใดก็ยิ่งดี ช่างตัดดอกเหล่านี้ไม่ค่อยคิดค่าแรงเพียงแต่ช่างใหญ่ผู้ทำต้นเทียนเลี้ยงอาหารก็พอ ส่วนจะมีการให้รางวัลหรือไม่อยู่ในดุลพินิจของช่างทำต้นเทียน แต่โดยปกติแล้ว ถ้าต้นเทียนชนะการประกวดและได้รับรางวัล ช่างผู้ทำต้นเทียนมักจะตกรางวัลให้ช่างอาสาเหล่านี้ เพื่อเป็นสินน้ำใจ
ในการตัดดอกผึ้ง ขี้ผึ้งที่เหลือเศษจากการตัดจะทิ้งไม่ได้เพราะเป็นขี้ผึ้งคุณภาพดี มีราคาแพง ดังนั้นจึงมักนำขี้ผึ้งที่เหลือเศษไปต้มใหม่เพื่อพิมพ์และตัดดอกต่อไปอีก จนได้ดอกผึ้งที่มีลวดลายต่าง ๆและจำนวนตามต้องการ วัฏจักรของการใช้ขี้ผึ้ง คือ ต้ม พิมพ์ ตัด และติด
ในส่วนของขั้นตอนนี้ เคยมีการคิดเหมือนกันว่า ควรหาวิธีการผลิตดอกผึ้งที่รวดเร็วและใช้แรงงานคนให้น้อยลงกว่านี้ โดยการใช้เครื่องจักรในการผลิตดอกผึ้ง หรือ ใช้วิธีการปั้ม แต่ด้วยความที่ช่างทำเทียนแต่ละคนจะมีการคิดลวดลายในการติดพิมพ์ในแต่ละปีไม่ซ้ำรูปแบบ และลวดลายที่ใช้ก็เป็นลวดลายที่เหมาะกับงานเทียนแต่ละต้น แต่ละปีไป จึงไม่เหมาะหากจะใช้เครื่องจักรในการทำดอกผึ้ง หรืออีกประการหนึ่ง การใช้กำลังคนร่วมกันทำถือเป็นเรื่องของความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน เป็นการร่วมแรงร่วมใจ และแสดงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวพุทธ ซึ่งเชื่อว่าการถวายเทียน หรือการมีส่วนร่วมในการจัดทำเทียนในโอกาสวันเข้าพรรษานั้นจะทำให้ได้บุญได้กุศลทั้งแก่ตนเองและครอบครัว จึงได้มาร่วมกันทำในเวลาว่าง หรือหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจประจำวันของแต่ละคน ที่จะได้มาร่วมแรงร่วมใจกันปีละครั้งก่อนงานวันเข้าพรรษา
การทำดอกผึ้งติดพิมพ์
ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ มีส่วนประกอบที่เป็นส่วนประดับและตกแต่งที่สำคัญคือ ดอกผึ้งติดพิมพ์ ความสวยงามของต้นเทียนประเภทติดพิมพ์นี้ ในการประกวดการให้คะแนนขึ้นอยู่กับความงามความประณีตของดอกผึ้งติดพิมพ์เป็นอย่างมาก การทำดอกผึ้งติดพิมพ์เป็นงานที่ละเอียดอ่อน และเป็นงานที่ทำได้ยากกว่างานส่วนอื่น ๆทั้งต้องอาศัยช่างผู้ชำนาญ และต้องมีลูกมือช่วยประมาณ ๑๐ - ๒๐ คน
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำดอกผึ้งติดพิมพ์
วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำดอกผึ้งติดพิมพ์ ประกอบด้วย
๑) แม่พิมพ์หินและไม้ สำหรับการทำดอกผึ้ง หรือทำดอกลายประดับตามลำต้นของเทียนประเภทติดพิมพ์ แม่พิมพ์หินที่ใช้มักทำมาจากหินอ่อนหรือหินสบู่ หรือหินลับมีดโกน ซึ่งหินชนิดนี้ส่วนใหญ่จะนำมาจากภาคกลาง เช่น นครนายก สระบุรี เป็นต้น นอกจากหินอ่อนแล้ว บางครั้งอาจใช้ปูนซิเมนต์หรือปูนปลาสเตอร์มาทำแบบพิมพ์ดอกผึ้ง แต่แม่พิมพ์ทั้งสองประเภทนี้ไม่ได้รับความนิยม เพราะนอกจากจะไม่ทนทานแล้ว ยังให้ลวดลายของดอกผึ้งยังไม่คมชัด และลึกกร่อนได้ง่าย ส่วนแม่พิมพ์ที่ทำจากไม้ ในยุคแรก นิยมใช้ไม้ที่มีอยู่ตามท้องถิ่น เช่น ไม้เขวา ซึ่งเป็นไม้ที่มีเนื้อละเอียดสีขาวนวล สามารถใช้ทำงาช้างตั้งโชว์แทนงาช้างจริงได้และเป็นไม้ที่อยู่ตามท้องถิ่นทั่วไปของภาคอีสาน นอกจากไม้เขวา แล้วยังใช้ไม้ฝรั่ง ไม้มะตูม ไม้ส้มโอแทนก็ได้ ระยะหลังนิยมใช้ไม้สักเพราะมีเนื้ออ่อนนุ่มทำเป็นลวดลายได้ดีและหาซื้อได้ง่าย แต่ความนิยมค่อยๆหายไปในที่สุด เพราะการพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์จากไม้เหล่านี้ ทำให้ลวดลายไม่คมชัดเท่าแม่พิมพ์จากหินอ่อน ซึ่งเป็นหินอ่อนก้อนเล็ก หาซื้อได้จากร้านขายอุปกรณ์การก่อสร้างหรือร้านขายเครื่องไทยทาน โดยจะมีขนาดกว้างประมาณ ๒ - ๓ นิ้ว ความยาวประมาณ ๕ นิ้ว หรือขนาดเดียวกันกับหินลับมีดโกน หรือจะใช้ขนาดยาวกว่ากันก็ได้
๒) ขี้ผึ้งแท้ ปริมาณมากน้อยแล้วแต่ขนาดของต้นเทียน ถ้าต้นเทียนขนาดใหญ่ ปริมาณของขื้ผึ้งชนิดดีที่นำมาทำดอกผึ้งจะต้องใช้ประมาณ ๕๐ - ๖๐ กิโลกรัม ส่วนต้นเทียนขนาดเล็กจะต้องใช้ขี้ผึ้งแท้อย่างน้อย ๒๕ กิโลกรัม
๓) อุปกรณ์อื่น ๆ ได้แก่
- ๑) เตาอั้งโล่
- ๒) ชามอ่างขนาดใหญ่ ๒ ใบ ขนาดกลาง ๔ใบ ขนาดเล็ก ๔ใบ
- ๓) ถ่านไม้ ๓ - ๕ กระสอบ
- ๔) ผ้ากรอง (ผ้าขาวบาง หรือผ้ามุ้ง) ขนาดความกว้าง ๙๐ เชนติเมตร ยาว ๒ เมตรมาเย็บใส่ขอบเหล็กเส้นขนาดเล็ก ใช้เป็นตะแกรงกรองขี้ผึ้ง
- ๕) กระบวย หรือขันพลาสติกทนความร้อน
- ๖) มีดโต้และขวาน
- ๗) ช้อนสังกะสี หรือช้อนโลหะ
- ๘) ผ้าเช็ดมือ
- ๙) ขวดแก้วที่มีลักษณะกลม
- ๑๐) ถาดสังกะสีเคลือบหรือภาชนะอื่นที่คล้ายกัน ควรเป็นถาดขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๐ - ๔๐ เชนติเมตร จำนวน ๑๐ ถึง ๒๐ ใบ
- ๑๑) แผ่นกระจกใส กว้าง ๖ นิ้ว ยาว ๑๐ นิ้ว จำนวน ๑๐ แผ่น
- ๑๒) น้ำมันพืชชนิดขวดใหญ่ ๑ ขวด
- ๑๓) ใบมีดตัดดอกผึ้ง ใบมีดชนิดนี้ช่างได้ดัดแปลงจาก ซี่ลวดวงล้อรถจักรยานสามล้อ หรือซี่ลวดล้อรถจักรยานยนต์ จำนวน ๒๐ ซี่ ซี่หนึ่ง ๆ นำมาดัดเป็น ๒ ท่อน ปลายด้านหนึ่งของแต่ละท่อนใช้ค้อนเหล็กทุบให้แบน ใช้ตะไบถูให้คมทั้งสองด้าน มีปลายเรียวแหลมเหมือนหอกใบข้าว
- ๑๔) สบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาล้างจาน
- ๑๔) น้ำสะอาดมีความจำเป็นต้องใช้ทุกโอกาส
- ๑๖) เสื่อสำหรับนั่งทำงานพิมพ์ดอกผึ้ง จะใช้โต๊ะพร้อมเก้าอี้แทนก็ได้
- ๑๗) ไฟจากตะเกียง หรือไฟฟ้า
วิธีทำดอกผึ้งติดพิมพ์มีขั้นตอนที่สำคัญ ๗ ขั้นตอน ดังนี้
๑) นำวัสดุที่จะใช้แกะลวดลาย คือ แท่งหินอ่อน หรือ แท่งปูนซีเมนต์ หรือแท่งปูนปลาสเตอร์ หรือท่อนไม้ฝรั่ง มาแกะสลักแบบร่องลึก เป็นลวดลายต่าง ๆ ตามต้องการ วัสดุที่ใช้แกะลวดลายนี้ อาจใช้แกะได้ทั้ง ๒ หน้า และหน้าหนึ่ง ๆ อาจจะแกะได้หลายลวดลาย ทั้งนี้ขึ้ึนอยู่กับขนาดของลวดลายและขนาดความยาวของวัสดที่ใช้ทำแม่พิมพ์๋ ส่วนจะแกะเป็นลวดลายอะไรนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของช่างเป็นสำคัญ นั่นก็หมายความว่า ช่างจะต้องเป็น ผู้ออกแบบลวดลายต่าง ๆ โดยวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าลวดลายใดจะใช้ติดส่วนใดของต้นเทียน
๒) นำขี้ผึ้งแท้มาสับให้เป็นก้อนเล็ก ๆ เพื่อให้ต้มละลายได้เร็ว นำขี้ผึ้งที่สับแล้วใส่ลงไปในชามอ่างขนาดใหญ่ที่เตรียมไว้ ใส่น้ำลงไปประมาณ ๑ - ๒ ขัน เวลาด้มขี้ผึ้งจะได้ไม่ใหม่และจะได้ขี้ผึ้งที่สะอาดคอยดูแลและหมั่นคน เพื่อให้เทียนหลอมละลายอย่างรวดเร็ว สีของเทียนจะผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน นับเป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็วและยังเป็นการคัดกรองเศษสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ออกจากขี้ผึ้งได้อีกประการหนึ่ง หรืออาจใช้วิธีการต้ม โดยใช้ภาชนะ ๒ ชั้นก็ได้ กล่าวคือ ใช้ชามอ่างขนาดกลางใส่ขี้ผึ้งแท้ แล้วไปวางลงในชามอ่างขนาดใหญ่ที่ใส่น้ำไว้ ยกชามอ่างขนาดใหญ่ซึ่งมีชามอ่างขนาดกลางอยู่ข้างในขึ้นตั้งบนเตาไฟ ที่ด้องทำเช่นนี้เพื่อไม่ให้ชามอ่างไหม้ น้ำร้อนจากชามอ่างขนาดใหญ่จะทำให้ขี้ผึ้งในชามอ่างขนาดกลางละลาย
๓) เมื่อขี้ผึ้งละลายดีแล้วให้ยกลง ใช้กระบวยตักกรองขี้ผึ้งลงในชามอ่างขนาดเล็กโดยใส่น้ำเล็กน้อย ขี้ผึ้งจะถูกกรองอีกครั้งด้วยน้ำที่อยู่ในชามอ่าง ฝุ่นละอองที่หลงเหลือปะปนมาจะตกตะกอนลงในน้ำ นอกจากนั้น น้ำยังช่วยปรับระดับความร้อนได้อีกด้วย หรือในกรณีที่ต้ม ขี้ผึ้งโดยใช้ภาชนะ ๒ ชั้น เมื่อขี้ผึ้งในชามอ่างขนาดกลางละลายดีแล้ว ยกชามอ่างขนาดกลางลง แล้วเทขี้ผึ้งที่ละลายแล้ว ลงไปในชามอ่างขนาดเล็ก ซึ่งมีผ้ากรองครอบอยู่ที่ปาก ขี้ผึ้งในชามอ่างขนาดกลางจะต้องเทลงไปในชามอ่างขนาดเล็กหลายใบ จะทำให้ขี้ผึ้งคลายความร้อนได้เร็ว เหตุที่ต้องใช้ผ้ากรองก็เพราะว่า แม้จะเป็นขี้ผึ้งคุณภาพดีแต่เวลาต้มแล้วจะมีตะิกอน จะต้องกรองเอาตะกอนออกเสียก่อน เพื่อให้ได้ขี้ผี้งคุณภาพดีและขี้ผึ้งบริสุทธิ์ิ์จริงๆ
๔) ทิ้งขี้ผึ้งที่กรองแล้วและอยู่ในชามอ่างขนาดเล็กไว้ประมาณ ๓๐ - ๔๕ นาที ขี้ผึ้งจะเริ่มแข็งตัว เมื่อแข็งตัวพอหมาด ๆ ซึ่งสังเกตได้จากมีส่าขาวที่ผิวหน้า จึงจะนำไปใช้งานได้
๕) จัดเตรียมอุปกรณ์ในการพิมพ์ไว้ให้พร้อม ได้แก่
๕.๑ แม่พิมพ์ลวดลายต่าง ๆ
๕.๒ ถาดสังกะสีเคลือบ ใส่น้ำลงไปในถาดพอประมาณ ควรแยกถาดแยกลายเพื่อความสะดวกในการนำมาใช้งาน
๕.๓ ช้อน
๕.๔ ขันใส่น้ำผงซักฟอก หรือน้ำสบู่
๕.๕ ขวดแก้วทรงกลม
๕.๖ แผ่นไม้หนา ๆ และแบนราบ ขนาดยาวไม่เกินเส้นผ่าศูนย์กลางของถาด
๖) นำแม่พิมพ์แช่น้ำให้อิ่มตัว วางแบบพิมพ์ที่ต้องการพิมพ์ดอกผึ้งบนแผ่นไม้หนา เพื่อป้องกันไม่ให้แม่พิมพ์เลื่อนไปมา ใช้ช้อนขูดผิวหน้า่ขี้ผึ้ง โดยเริ่มจากขอบนอกเข้าไปหาข้างในทีละน้อย ขูดให้ได้ขนาดเท่าไข่ไก่ นวดเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน วักน้ำที่ละลายผงซักฟอกหรือผงสบู่หยอดลงไปในแบบพิมพ์ และลูบขวดแก้วด้วยน้ำ นำขี้ผึ้งที่นวดแล้ววางและกดลงในลายดอกของแบบพิมพ์ ใช้ขวดคลึงไปมาบนเนื้อขี้ผึ้งตรงลายของแบบพิมพ์ จนแน่ใจว่าเนื้อขี้ผึ้งแทรกเข้าไปทุกเส้นลายของแบบพิมพ์ คลึงจนผิวหน้าของขี้ผึ้งแบนราบ นำดอกผึ้งที่แคะออกมาได้ขึ้นมาวางในถาดซึ่งเตรียมไว้แล้ว ถาด ๑ ใบ สำหรับใส่ ๑ ลาย ไม่ควรปะปนกัน ปริมาณของขี้ผึ้งที่ใช้พิมพ์ดอกผึ้งตามขนาดของลายควรกะให้พอดี ไม่มากจนล้นแบบพิมพ์ หรือน้อยจนไม่สามารถพิมพ์ให้เต็มลายได้
๗) ขั้นสุดท้ายของการพิมพ์ดอกผึ้ง คือ การตัดดอกผี้ง ทั้งนี้ เพราะเมื่อกดขี้ผึ้งลงไปในแบบพิมพ์ จะมีขี้ผึ้งส่วนเกินทะลักออกไปอยู่ตามขอบของแบบพิมพ์ ซึ่งจำเป็นจะต้องตัดออก วิธีตัดดอกผึ้ง คือนำดอกผึ้งที่ทำการพิมพ์ลายแล้วไปวางบนกระจกใส ใช้มีดตัดลายตามแบบ ควรจุ่มปลายมีดด้วยน้ำมันพืชเล็กน้อย จะทำให้ตัดง่ายขึ้น ขี้ผึ้งไม่ติดปลายมีด และมีดที่ใช้ตัดดอกผึ้งต้องคมอยู่เสมอ เศษของขี้ผึ้งที่ตัดออกจะเก็บไว้เพื่อนำไปหลอมละลายใหม่เพื่อใช้ทำดอกผึ้งสำหรับใช้งานซ่อมแซมต่อไป
ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอแนะอีกประการหนึ่งของการใช้น้ำสบู่หรือน้ำละลายผงซักฟอกเป็นตัวช่วยมิให้ดอกผึ้งติดแม่พิมพ์ แต่ในขณะเดี่ยวกัน น้ำผงซักฟอก หรือน้ำสบู่ ก็เป็นตัวทำให้แม่พิมพ์ที่เป็นหินลับมีดโกนสึกได้เช่นกัน จึงต้องมีการแต่งลวดลาย หรือแต่งแม่พิมพ์อยู่เป็นประจำทุกปี หากไม่เช่นนั้นแล้วลวดลายบนดอกผึ้งที่พิมพ์ ก็จะไม่คมชัดสวยงาม
วิธีติดดอกผึ้ง
การติดดอกผึ้ง เป็นงานขั้นสุดท้ายของการทำต้นเทียน และมักเป็นงานที่ต้องทำแข่งกับเวลา ช่างต้องทำให้เสร็จทันการประกวด การติดดอกผึ้งมีขั้นตอนที่สำคัญ ๓ ขั้นตอน คือ
๑) การร่างภาพหรือการออกแบบลวดลาย ก่อนที่จะนำดอกผึ้งไปติดเป็นลวดลาย ช่างผู้ทำต้นเทียนจะต้องร่างเค้าโครงของลวดลายที่ต้องการเสียก่อน ว่าจะให้เป็นรูปลักษณะใด ในการร่างแบบนั้น ช่างผู้ทำต้นเทียน (หัวหน้าช่าง) จะเป็นผู้ออกแบบลวดลาย โดยร่างเป็นภาพด้วยดินสอ หรือปากกา หรือ เหล็กแหลม เขียนลงไปบนไม้กระดาน หรือกระดาษที่เตรียมไว้ เมื่อร่างเค้าโครงของส่วนที่จะติดดอกผึ้งแล้วหัวหน้าช่างจะต้องเลือกลายดอกผึ้งว่า ลายชนิดใดจะเหมาะกับส่วนที่จะติด กับเค้าโครงใด ในขั้นนี้จะต้องพิจารณาดูว่า มีลายที่เหมาะสมหรือไม่ หรือควรจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างใด และจะใช้ลายใดเป็นแม่ลาย ลายใดเป็นลายประกอบ
๒) การกำหนดจำนวนดอกผึ้ง เมื่อเลือกลายดอกผึ้งได้แล้ว หัวหน้าช่างจะต้องคำนวณดูว่า เค้าโครงของรูปที่จะติดดอกผึ้งจะต้องใช้ดอกผึ้งจำนวนมากน้อยเท่าใด เมื่อทราบจำนวนคร่าว ๆ แล้ว ก็จะประสานงานกับช่างพิมพ์ดอกผึ้ง ตลอดจนมีการเร่งรัดติดตาม มิให้ดอกผึ้งหมดลงก่อนงานจะแล้วเสร็จจะทำให้งานติดดอกผึ้งชะงัก เพราะต้องรอให้ช่างพิมพ์พิมพ์ดอกผึ้งออกมา และเมื่อพิมพ์ออกมาแล้ว ยังต้องเสียเวลาในการตัดดอกผึ้ง หรือเจาะ หรือฉลุดอกผึ้งอีก การประสานงานกับช่า่งพิมพ์ดอกผึ้งจะทำให้ได้ดอกผึ้งจำนวนพอเหมาะ ไม่มากไม่น้อยเกินไป ซึ่งถ้ามากเกินไปจะทำให้เสียเวลา ดอกผึ้งที่มากเกินไปนห้ากทิ้งไว้ก็ไม่มีประโยชน์ จะต้องรวบรวมนำไปต้มและพิมพ์เป็นลายดอกอื่น ๆ ต่อไป เมื่อกำหนดจำนวนดอกผึ้งในแต่ละลายแล้วก็ลงมือติดดอกผึ้งได้ ซึ่งลวดลายหรือเค้าโครงที่ออกแบบไว้กับสถานการณ์จริงอาจคลาดเคลื่อนกันบ้างเล็กน้อยควรมีการทดลองติดลายก่อนติดจริง เพื่อความเหมาะสมสวยงามและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
๓)ุ ดำเนินการติดดอกผึ้งตามที่ได้วางเค้าโครงเอาไว้
การติดดอกผึ้ง
ดอกผึ้งที่ตัดเรียบร้อยแล้ว จะใช้ติดตามฐาน ลำต้น ยอดของต้นเทียนและส่วนประกอบอื่น ๆ ของต้นเทียน ส่วนการจะติดดอกผึ้งทีมีลวดลายใดลงที่ส่วนใดนั้น ช่างผู้ทำต้นเทียนจะเป็นผู้ออกแบบ ซึ่งเมื่อออกแบบจนพิมพ์และตัดดอกแล้ว ช่างมักจะนำดอกผึ้งลายต่าง ๆ มาจัดไว้ในถาดแยกเป็นแต่ละลาย เพื่อความสะดวกแก่การนำไปใช้
การติดดอกผึ้ง นอกจากเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ความอุตสาหะแล้ว ยังเป็นงานที่ต้องทำเป็นความลับ ให้รู้กันได้เฉพาะช่างทำต้นเทียน ช่างพิมพ์ ช่างตัด และช่างติดดอกเท่านั้น จะแพร่งพรายให้บุคคลภายนอกรู้ไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะการทำต้นเทียนมีจุดประสงค์ที่จะนำไปประกวดต้องแข่งขันกันในเรื่องความสวยงามและความวิจิตรพิสดาร ดังนั้นการออกแบบแบบพิมพ์ตลอดจนการติดดอกผึ้ง ช่างที่เกี่ยวข้องมักไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกได้มีโอกาสดู บุคคลอื่นจะดูได้ก็ต่อเมื่องานเสร็จเรียบร้อย และถึงวันนำไปประกวดเท่านั้น ระหว่างการทำยังไม่แล้วเสร็จ หากปรากฏว่ามีบุคคลภายนอกเข้าไปดู ส่วนมากมักจะเป็นผู้เข้าไปล้วงความลับ เพื่อนำไปบอกแก่ช่างกลุ่มอื่น คณะช่างที่ถูกล่วงความลับ มักจะเปลี่ยนแปลงการออกแบบใหม่ ซึ่งหมายความว่า จะต้องแกะพิมพ์ดอกผึ้ง และออกแบบการติดดอกผึ้งใหม่อีกครั้ง
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดดอกผึ้ง ประกอบด้วย
๑) มีดปลายแหลม มีดปลายตัด หรือมีดตัดลาย
๒) ผ้าที่สะอาดสำหรับเช็ดมือ
๓) ระดับน้ำ
๔) ตลับเมตร
๕) กระจกใสสำหรับตัดดอกผึ้ง
๖) โต๊ะสำหรับวางอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการติดดอกผึ้ง และม้านั่งใช้สำหรับนั่งทำงาน
๘) น้ำล้างมือและสบู่
๘) เตาไฟ เหตุที่ต้องใช้เตาไฟเพราะการจะติดดอกผึ้งเข้ากับส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นเทียน หรือติดเข้ากับส่วนประกอบอื่นของต้นเทียนดอกผึ้งที่ติดจะต้องอ่อนตัว จึงจะติดดอกผึ้งได้ ถ้าดอกผึ้งยังแข็งตัวอยู่ควรนำไปอังไฟให้อ่อนตัว หรืออาจใช้ที่เป่าผมก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้ติดได้ง่ายหรือถ้าอากาศร้อนดอกผึ้งก็อาจอ่อนตัวได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้เตาไฟช่วย
๙) ไม้บรรทัด เชือก ด้าย เข็มหมุด
๑๐) ไม้กระดานขนาดกว้าง ๖๐ เซ็นติเมตร ยาว ๑ เมตร ใช้สำหรับวางดอกผึ้งเพื่อกะระยะ หรือทดลองในการออกแบบ ตลอดจนตัดหรือดัดแปลงดอกผึ้ง เหตุที่ไม่วางดอกผึ้งบนโต๊ะก็เพราะถ้าหากวางบนโต๊ะดอกผึ้งอาจจะติดโต๊ะ
๑๑) ถาดหรือชามอ่าง เพื่อใส่ดอกผึ้งที่แตกหักใช้การไม่ได้ดอกผึ้งเหล่านี้จะนำไปต้มใหม่ เพื่อทำดอกผึ้งอีกก็ได้
ความยากลำบากในการทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์
ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ เป็นที่สนใจและเป็นที่นิยมของประชาชน แต่ในขณะเดียวกัน ช่างทำต้นเทียนประเภทนี้ก็มีน้อย ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้
๑) การทำมีหลายขั้นตอน ใช้วัสดุอุปกรณ์หลายอย่าง ดังจะเห็นรายละเอียดได้จากหัวข้อต่าง ๆ
๒) การทำใช้คนมาก สิ้นเปลืองเวลา และเสียค่าใช้จ่ายมาก
๓) แบบพิมพ์ลายดอกหายาก เพราะต้องแกะลายบนวัสดุแข็งเสียก่อน
๔) ช่างพิมพ์ลายดอกที่มีความชำนาญหาได้ยาก เพราะงานฝีมือเช่นนี้ไม่อาจยึดเป็นอาชีพได้ตลอดปี ช่วงเวลาที่ช่างจะได้ทำงานมีเพียง ๑ - ๒ เดือน ก่อนเข้าพรรษาเท่านั้น
๕) ดอกผึ้งขนาดเล็กแม้ทำให้เกิดความสวยงาม แต่ทำได้ยาก ทั้งขั้นตอนการแกะแบบพิมพ์ และขั้นตอนการพิมพ์ดอกผึ้ง
๖) ช่างตัดดอกและช่างติดดอกมีน้อย ด้วยเหตุผลเดียวกันกับข้อ ๔) ข้างต้น
๗) การเคลื่อนย้ายต้นเทียนประเภทติดพิมพ์เป็นไปด้วยความลำบาก หากขาดความระมัดระวัง เมื่อต้นเทียนถูกกระทบกระแทก หรือกระเทือนอาจจะยุบบุบสลาย หรือดอกผึ้งหล่นออกจากต้นเทียน หรือออกจากส่วนประกอบอื่น ๆ ของต้นเทียน
๘) เมื่อถูกความร้อนมาก ๆ ดอกผึ้งมักจะละลาย ความงามจะเสียไป
๙) เมื่อถูกแดดหรือลม สีของดอกผึ้งอาจซีดได้ และถ้าถูกความเย็นดอกผึ้งจะหดตัว และถ้าตั้งไว้ในที่ไม่มิดชิด ฝุ่นละอองมักจับต้นเทียน
๑๐) ด้วยเหตุผลในข้อ ๘) ๙) ข้างต้น ทำให้ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์เก็บไว้ไม่ได้นาน ถ้ามองในแง่ของความคงทน จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่คุ้มกับแรงงาน ค่าใช้จ่าย และเวลาที่ใช้ในการทำ
ในส่วนของการตกแต่งต้นเทียนแต่เดิมนั้นมีเฉพาะต้นเทียนกับส่วนที่เ่ป็นฐานเท่านั้น ต่อมาได้มีการคิดประดับตกแต่งตัวละคร ประกอบกับเรื่องราวที่นำเสนอจากต้นเทียน ช่วยให้เรื่องราวที่นำเสนอนั้นมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สมัยแรกนั้นได้นำไม้อัดมาตัดแต่งเป็นตัวละคร เป็นรูปสัตว์บ้าง เทวดาบ้าง ตามที่เคยได้ยินได้ฟังมา โดยส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ซึ่งจะมีรูปร่างลักษณะเกินจริง การนำไม้อัดมาใช้ในการจัดทำเป็นตัวละครต่าง ๆ นั้น ยังไม่มีความสวยงามสมจริงมากนัก จึงได้มีการพัฒนารูปแบบมาใช้ดินเหนียวปั้น แล้วใช้ขึ้ผึ้งราดทับอีกครั้งหนึ่ง ทำใหม่ลักษณะเป็นสามมิติสมจริงสมจังและสวยงามมากยิ่งขึ้น ระยะหลังได้มีการปรับปรุงรูปแบบของวัสดุที่ใช้ทำตัวละครต่าง ๆ เหล่านี้ โดยใช้ปูนปลาสเตอร์ผสมขุยเปลือกมะพร้าวแทนดินเหนียว ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้จะได้ตัวละครที่มีความคงทน น้ำหนักเบาสามารถปรับแต่งได้ง่าย หลังจากปั้นเป็นหุ่นตัวละครตามต้องการแล้วปรับแต่งพื้นผิวให้เรียบร้อย แล้วจึงนำดอกผึ้งมาประดับตกแต่ง หรือหากเป็นเทียนประเภทแกะสลัก จะใช้ขี้ผึ้ึงแผ่นแบบหนาโอบรอบก่อนทำการแกะสลัก โดยขี้ผึ้งแผ่นที่ใช้ต้องมีความหนากว่าขี้ผึ้งแผ่นที่ใช้ปกติ
อุปสรรคปัญหาในการติดดอกผึ้ง
การติดดอกผึ้งมีอุปสรรคและปัญหาหลายประการ อุปสรรคปัญหาเหล่านี้ ล้วนแต่มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน จากประสบการณ์ของ นายประดับ ก้อนแก้ว การติดดอกผึ้งมีอุปสรรคและปัญหาดังนี้
๑) ในเวลากลางคืน ถ้าช่างติดดอกสายตาไม่ดี จะติดดอกจะติดดอกไม่สม่ำเสมอ เพราะการติดดอกผึ้งต้องคำนึงถึงช่องไฟระหว่างดอกต่อดอก
๒) ผู้ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่อยากลองทำงาน เมื่อติดดอกผึ้งมักจะทำให้ดอกผึ้งเสีย ส่วนมากมักใช้แรงกดมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ลายดอกลบเลือนหายไป ดังนั้น หากผู้ช่วยที่ยังไม่มีประสบการณ์ หรือยังไม่เคยติดดอกผึ้งมาก่อนควรช่วยงานในส่วนอื่นแทน และหาโอกาศฝึกฝนในภายหลัง
๓) ถ้าฝนตกหรืออากาศเย็น ดอกผึ้งจะแข็งกระด้าง ติดไม่ได้ดีหรือติดไม่ได้ เพราะพื้นผิวของฐานที่ติดแข็งกระด้างด้วย ทำให้เสียเวลาในการติด ต้องใช้ความร้อนช่วย หรือบางครั้งเมื่อติดเข้าไปได้แล้ว แต่ติดได้ไม่สนิท จะทำให้ดอกผึ้งหลุดออกมาได้
๔) ช่างอาสามักอยากที่จะทำงาน บางครั้งถึงกับแย่งชิงกันติด ซึ่งจะทำให้การติดไม่เรียบร้อย ไม่สวยงาม
๕) การติดดอกผึ้งเป็นงานจุกจิก ต้องใช้ความละเอียดลออทั้งยังต้องทำงานเป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการเหนื่อยกาย เหนื่อยใจได้
๖) บางครั้งเมื่อติดแล้ว ถ้าช่างดูแล้วไม่เป็นที่พอใจ อาจจำเป็นต้องรื้อดอกผึ้งออก เพื่อติดเสียใหม่ เป็นการเสียเวลา
๗) ช่างพิมพ์ต้องพิมพ์ดอกผึ้งออกมาเป็นจำนวนมาก และมักจะถูกเร่งรัดจากช่างติดดอก ซึ่งอาจจะพิมพ์ดอกผึ้งได้ไม่ประณีต
๘) การติดดอกผึ้ง มักเป็นส่วนที่สนใจของคนทั่วไป ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จึงมักจะมีเด็ก ๆ และผู้ใหญ่มามุงดู ต้องคอยบอกให้ออกไป มิฉะนั้นก็จะกีดขวางการทำงานของช่าง
๙) การติดดอกผึ้งใช้วัสดุอุปกรณ์และดอกผึ้งเป็นจำนวนมาก ถ้าที่ทำงานคับแคบ ก็จะเกิดความไม่สะดวกนานาประการ
ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะทำให้เสียเวลาในการทำ ซึ่งส่งผลให้กำหนดการแล้วเสร็จล่าช้าลงไปอีก
การทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ การหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ มีขั้นตอนและวิธีการคล้ายกันกับการหล่อต้นเทียนประเภทแกะสลักทุกขั้นตอน แต่มีความแตกต่างกัน 2 ประการ คือ
การหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ ใช้ขี้ผึ้งคุณภาพพอใช้ได้ซึ่งมีราคาถูก แต่การหล่อต้นเทียนประเภทแกะสลัก ใช้ขี้ผึ้งคุณภาพดี และราคาแพงกว่า ทั้งนี้ ก็เพราะว่า หากขี้ผึ้งคุณภาพไม่ดี เมื่อแกะสลักลึกและซับซ้อนหลายขั้น ขี้ผึ้งจะแตกหัก
ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ มักหล่อให้มีขนาดเล็กกว่าต้นเทียนประเภทแกะสลัก เพราะการหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ จะต้องนำไปกลึงให้เป็นรูปและขนาดเล็กลงบางส่วน แล้วจึงติดดอกเสริมโดยรอบให้หนาขึ้น ส่วนต้นเทียนประเภทแกะสลัก ต้องทำให้มีขนาดใหญ่เอาไว้ เพื่อที่จะแกะสลักหรือขูดออก
การทำต้นเทียนประเภทแกะสลัก
การออกแบบต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก
การออกแบบต้นเทียนประเภทนี้ จะแตกต่างจากประเภทติดพิมพ์กล่าวคือ ช่างเทียนจะออกแบบโดยร่างเป็นภาพ หรือลวดลายลงบนกระดาษแล้วต้องร่างแบบลงบนต้นเทียนอีกครั้งเพื่อทำการแกะสลักการออกแบบทำได้ ๒ ลักษณะ คือ
๑. ร่างเป็นภาพหรือลวดลายลงในกระดาษ เมื่อได้เป็นเนื้อหาหรือลวดลายตามต้องการแล้วจึงนำกระดาษนั้นไปพันรอบลำต้นเทียนแล้วขูดหรือเจาะลงบนกระดาษให้เป็นรูปแบบหรือเนื้อหาตามภาพที่ร่างไว้ ซึ่งวิธีการนี้จะสะดวกและจะได้ลวดลายที่ถูกด้องชัดเจน
๒. ร่างเป็นภาพหรือลวดลายลงในต้นเทียน วิธีการนี้เหมาะสำหรับช่างที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ จึงจะทำให้เกิดลวดลายหรือเนื้อหาที่เหมาะสมและสวยงาม
นอกจากการออกแบบลำต้นเทียนด้วยวิธีการทั้ง ๒ แล้ว การออกแบบต้นเทียนประเภทแกะสลักควรให้มีเนื้อหาสัมพันธ์กัน และมีความเหมาะสมกับลวดลายที่จะปรากฏอยู่ในหุ่นเทียน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของต้นเทียนด้วย
การออกแบบเทียนพรรษา นับเป็นขั้นตอนแรกของการทำต้นเทียนทั้งประเภทติดพิมพ์และประเภทแกะสลัก ก่อนการจัดทำเทียนทุกประเภท ช่างผู้ทำเทียนจะต้องออกแบบเนื้อหาและเรื่องราวที่จะนำเสนอ หลังจากนั้นร่างเป็นโครงเรื่อง กำหนดวัสดุอุปกรณ์ และผู้ช่วยช่าง การทำเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการกำหนดขนาดและสัดส่วนโดยรวมไว้เป็นมาตรฐาน และถือปฏิบัติติดต่อกันมาทุกปี โดยเน้นกำหนดในเรื่องความสูงเป็นหลัก คือ ต้องมีความสูงอย่างน้อย ๒ เมตร และไม่เกิน ๓ เมตร ทั้งนี้ใ้ห้วัดจากส่วนฐานของต้นเทียนไปถึงส่วนปลายยอดสุดของต้นเทียน และเมื่อวัดรวมจากความสูงของรถยนต์ที่ใช้บรรทุกกับความสูงของต้นเทียน ต้องมีความสูงโดยรวมไม่เกิน ๕ เมตร ดังนั้นการทำต้นเทียนพรรษา จึงมักมีการกำหนดสัดส่วนออกเป็น ๓ ส่วน ดังนี้ คือ
๑. ส่วนฐาน มีความสูงประมาณ ๑ เมตร
๒. ส่วนลำต้นและยอด มีความสูงประมาณ ๒.๕ เมตร
๓. ส่วนยอด มีความสูงประมาณ ๕๐-๗๐ เชนติเมตร
๑) ส่วนฐาน
ส่วนใหญ่จะใช้เนื้อหาหรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่ปรากฏในพุทธประวัติเป็นหลักรวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ของช่างผู้ทำเอง เช่น เป็นตัวสัตว์ก็มักจะใช้สัตว์ในศิลปะไทย ได้แก่ ครุฑ นาค พญา้นาค เป็นต้น หรือภาพสัตว์ตามเดือนปีตามหลักจันทรคติ หรือภาพที่เ่กี่ยวกับสมมุติิเิทพต่าง ๆ เช่น พระแม่ธรณีบีบมวยผม พราหมณ์ พระพุทธเจ้าปางต่าง ๆ อาจมีการสร้างหรือทำเป็นรูปสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาประกอบ เช่น ป่าหิมพานต์ ป่าอิสปตนมฤคทายวัน ปราสาทราชวัง เป็นต้น หรือ อาจเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ที่สำคัญในยุคสมัยนั้นประกอบตามเหมาะสม เช่น วันรัชมังคลาภิเษก อาจใช้การปั้นหรือแกะเป็นพระบรมรูปของรัชกาลที่ ๙ ประทับนั่งมาด้วย รูปทรงที่ใช้ในการทำฐานอาจเป็นสี่เหลี่ยม ห้าเหลี่ยม หรือหลายเหลี่ยมย่อมุม หรือแบ่งเป็นหลายชั้น หรือเป็นรูปสัตว์ในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องที่นำเสนอในแต่ละปี
๒) ส่วนลำต้น
ในยุคแรกนิยมแกะเป็นลวดลายกนก หรือลายกระจังต่าง ๆ ต่อมามีการพัฒนารูปแบบในการทำต้นเทียน จึงมีการแทรกเนื้อหา ซึ่งเป็นคดิสอนใจแก่ผู้คน ส่วนมากเป็นเนื้อหา หรือเรื่องราวทางพุทธศาสนา บาปบุญคุณโทษเป็นการสอนหลักศาสนาไปในตัว บางแห่งอาจแทรกสัญลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ ลงไปด้วยก็ได้
๓) ส่วนยอด
เป็นจุดสูงสุด เป็นการสร้างภาพให้รู้สึกถึงความสง่างาม ความยิ่งใหญ่จะต้องทำให้มีลักษณะเด่น สะดุดตา หรือ อาจมีความหมายที่มุ่งไปในทางสัญลักษณของพุทธศาสนา เช่น เสมาธรรมจักร เจดีย์ สถูป พระพุทธรูป หรือดอกบัวอันเป็นเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี ในส่วนปลายของยอดมีไส้เทียนติดอยู่ ซึ่งจะทำด้วยฝ้ายหรือป่านมัดรวมติดอยู่ ทั้งนี้เพื่อความสวยงาม และทำให้ต้นเทียนมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
การทำต้นเทียนประเภทแกะสลัก แบ่งขั้นตอนออกเป็น ๒ ขั้นตอน คือ
๑.การออกแบบ สิ่งที่ต้องออกแบบในการแกะสลักมี ๒ ประเภท คือ
๑.๑ ลวดลาย
ลวดลายที่ใช้ประกอบในการทำเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ลวดลายไทยเป็นหลัก ที่นิยมคือ ลายกระจัง ลายประจำยาม ลายกนก และลายผักกูด ซึ่งลวดลายไทยนี้ได้รับอิทธิพลทางทรง (Form) มาจากรูปทรงของดอกบัวตูม ทั้งนี้เพราะศิลปินไทยมีวิถีชีวิตและความเชื่อที่ผูกพันกับพุทธศาสนามาก ดังปรากฏในบุคลาธิษฐานที่เกี่ยวข้องมากมายกับพุทธประวัติ เช่น เมื่อตอนพระองค์ประสูติทรงเสด็จดำเนินได้ ๗ ก้าว โดยมีดอกบัวมาเป็นฐานรองรับทั้ง ๗ ก้าว และเมื่อพระองค์เสด็จประทับ ณ ที่สุดก็จะมีดอกบัวรองรับที่ประทับนั้น แม้แต่การจำแนกบุคคลตามภูมิปัญญา ตามคำเปรียบเทียบของพระพุทรองค์ ก็จะเปรียบเทียบให้สัมพันธ์กับดอกบัว ๔ เหล่า ด้วยเหตุนี้ดอกบัวจึงเป็นดอกไม้พุทธบูชามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะเห็นได้ว่ารูปทรงของศิลปกรรมไทยไม่ว่าจะเป็นลวดลายหรือรูปทรงอาคาร มักจะเกี่ยวพันกับรูปทรงของดอกบัวเป็นส่วนใหญ่ แต่ศิลปินก็มิได้ติดอยู่กับรูปทรงของดอกบัวตามธรรมชาติ หากแต่พยายามนำรูปทรงนั้นมาทำการประยุกต์ กลั่นกรองจนเกิดเป็นรูปแบบใหม่ ในลักษณะอุดมคติ (ldealism)
นอกจากลวดลายที่มีแนวคิดจากดอกบัวแล้ว ยังมีลวดลายอื่น ๆ อีก เช่น ลายตาอ้อย หรือ กระจังตาอ้อย เป็นรูปทรงที่มีแนวเดียวกันกับดอกบัว แต่เหตุที่เรียกว่าลายตาอ้อย เพราะลักษณะคล้ายกับตาของข้ออ้อย ลายตาอ้อยนี้นิยมนำมาประดับตามส่วนท้องของงาน เช่น ส่วนขวาง ส่วนรัดลาย หรือส่วนของเล่นฐาน ซึ่งลายตาอ้อย หากนำมาประกอบรวมกัน ๔ มุม จะเกิดเป็นลวดลายใหม่เรียกว่า ลายประจายาม และหากกระจังตาอ้อยที่มีขนาดใหญ่ขึ้นใช้ประดับตามส่วนฐานเราเรียกกระจังที่มีขนาดใหญ่นี้ว่า กระจังปฏิญาณ ซึ่งมีความละเอียดประณีตมากกว่ากระจังตาอ้อย และหากนำลายกระจังตาอ้อยไปใช้เพียงครึ่งซีกก็จะเรียกว่า ลายกนก และมีลวดลายที่ได้แนวคิดจากสิ่งที่พบเห็นตามธรรมขาติ เช่น รางข้าว เปลวไฟ กาบใบ ใบไม้ ฟันปลา ดอกไม้ และเครือเถา ของพืชบางขนิด เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่ปรากฏอยู่ตามธรรมชาติเหล่านี้ได้ถูกนำมาพิจารณาให้กลายเป็น ลายก้างปลา ลายกนก ลายกนกเปลว เป็นต้น
ลวดลายที่ได้จากลายไทย ซึ่งช่างพื้นบ้านได้นำมาดัดแปลงเพื่อนำมาทำเป็นแม่พิมพ์ พิมพ์ลาย หรือแกะลงไปบนลำต้น หรือฐานของต้นเทียน แบ่งออกเป็น ๔ ลวดลายด้วยกัน ได้แก่ ลายกนก ลายนารี ลายกระบี่ และลายคชะ
๑) ลายกนก ลายกนกที่นิยมใช้ได้แก่ กนกสามตัว กนกใบเทศ กนกเปลว เป็นต้น ลักษณะของลายกนกจะเขียนในรูปแบบเดียวกัน แต่จะมีการแบ่งตัวเขียนแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความสามารถของศิลปิน หรือผู้ออกแบบลายนั่นเอง เพราะลักษณะการเขียนลายกนกจะเป็นการแสดงออกถึงลักษณะเฉพาะของผู้เขียนเหมือนกับลายมือในการเขียนหนังสือ ผู้ออกแบบลายจะต้องมีความสามารถในการเขียนลายเส้นต่าง ๆ ได้อย่างชำนาญจึงจะผูกลายได้อย่างสวยงามและสัมพันธ์กัน การฝึกหัดเขียนลายเส้นให้สวยงามนี้เองทำให้ช่างเขียนเกิดความเบื่อหน่าย ดังนั้น จึงมีช่างเขียนที่เก่งน้อยมาก
ลายกนก แบ่งออกได้เป็น ๔ แบบ คือ
๑.๑) กนกสามตัว หรือกนกนาง เป็นแม่บทลายไทยที่บรรจุลายต้นเถา กาบใหญ่ กาบเล็ก กลีบเลี้ยง ตัวกนก และยอดกนกไว้อย่างครบครัน ทั้งยังรวมเอาลายกนกทุกแบบเอาไว้ด้วย เช่น กนกก้านขด กนกเปลว และกนกใบเทศ เป็นต้น
๑.๒) กนกเปลว เป็นลายต่อที่มาจากกนกลามตัว แต่เอาช่อข้างหน้าของกนกสามตัวออก แล้วเปลี่ยนเป็นกลีบเลี้ยงบาง ๆ ใส่แทน กนกเปลว เป็นชื่อลายที่ได้รับการดัดแปลงมาจากเปลวของไฟที่กำลังกำลังครุกรุ่น การเขียนต้องเขียนให้สะบัดพริ้ว เหมือนเปลวของเพลิงที่กำลังลุกไหม้จริง ๆ กนกเปลวได้รับความนิยมแพร่หลาย ในการทำประดับสิ่งก่อสร้างหน้าบันไดโบสถ์ วิหาร ประตูหน้าต่าง พลับพลา ปราสาท ฯลฯ ซึ่งลายกนกเปลวนี้มีความสำคัญในการทำลายตามลำต้นของเทียนพรรษาป่ระเภทแกะสลักมาก นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในการนำไปใช้ประดับตามยอดเศียรพระพุทธรูปอีกด้วย
๑.๓) กนกใบเทศ เป็นกนกที่ได้รับการดัดแปลงมาจากต้นใบเงิน ใบทองและต้นดอกฝ้ายเทศ กนกใบเทศเป็นลายที่เหมาะสมมาก สำหรับการประดับตามสิ่งก่อสร้าง เช่น ลายปูนปั้น และงานแกะสลักต่าง ๆ เพราะมีลักษณะของกนกแข็งสิงห์ผสมกับกระจังตาอ้อย นอกจากนี้ ยังใช้ลายกนกใบเทศ มาเขียนเป็นลายรดน้ำลงรักปิดทอง หรือประดับฝ้งมุก
๑.๔) กนกเทศหางโต เป็นลายที่ได้รับการดัดแปลงมาจากหางสิงห์ มีลักษณะปลายเรียวเรียบ โคนลายจะโตจะเป็นขนเฉพาะส่วนที่เป็นปลายหางเท่านั้น ลักษณะโดยส่วนรวมคล้ายกับกนกใบเทศมาก
๒). ลายนารี คือ ลายภาพคนหรือภาพมนุษย์ ภาพเทวดา หรือภาพนางฟ้า ในการเขียนภาพมนุษย์นั้นจะมีทั้งภาพพระและภาพนางเป็นหลัก โดยมีการแบ่งแยกความสำคัญตามลักษณะพิเศษเฉพาะของตัวเรื่อง เช่น การแต่งกาย เครื่องประดับ ท่าทาง หรืออาวุธ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สามารถบ่งบอกฐานะ และตำแหน่งความสำคัญของตัวละครเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ลายนารีโดยทั่วไปมีลักษณะท่าทางมาจากการแสดงนาฏศิลป์เสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ท่ารบกัน มีชื่อเรียกอกอย่างหนึ่งว่า ท่าลอยหรือท่าจับ เป็นต้น
๓). ลายกระบี่ เป็นภาพที่กล่าวถึงวานร หรือภาพอมนุษย์ ซึ่งรวมถึงภาพอสูรพงศ์ หรือพานรพงศ์ ซึ่งภาพเหล่านี้ส่วนมากจะอยู่ในเรื่องรามเกียรติ์ การสร้างภาพเหล่านี้มักเริ่มต้นจากเค้าโครงของใบหน้าก่อนแล้วตามด้วยส่วนที่เป็นลายละเอียดที่บ่งบอกอารมณ์ ความรู้สึก เช่น ตาเบิกโพรง ปากแสยะ ตาหรี่ ปากเม้ม หรือ ตาพองโต เป็นต้น บางตนก็มีลักษณะเค้าโครงเหมือนมนุษย์ เช่น ใบหู หรือปาก เป็นต้น ส่วนอาวุธ ก็จะแตกต่างกันออกไป เช่น ครุฑ ดาบ กระบี่ เป็นต้น
๔). ลายคชะ หมายถึง ลวดลายของสัตว์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่เกิดขึ้นมาจากจินตนาการ หรือเป็นสัตว์จากหิมพานต์ ดังนั้น สัตว์เหล่านี้จึงไม่มีตัวตนที่แน่นอน ผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ บางครั้ง อาจนำลักษณะของมนุษย์และสัตว์ หรือสัตว์กับสัตว์มาผสมผสานกัน เช่น ยักษ์ปนช้าง โดยมีท่อนบนเป็นยักษ์มีส่วนล่างเป็นช้าง หรือส่วนบนเป็นมนุษย์แต่มีส่วนล่างเป็นสิงห์ เป็นต้น
การเขียนลายคชะนิยมแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ
๑). ภาพสัตว์ธรรมดา เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น ภาพเหล่านี้จะเขียนหรือทำให้มีลักษณะคล้ายสัตว์ตามธรรมชาติ แต่ประยุกต์ให้เกิดเป็นลวดลายและความอ่อนช้อย
๒). ภาพสัตว์หิมพานต์ เช่น ราชสีห์ คชสีห์ ครุฑ หรือ พญานาค เหล่านี้ประดิษฐ์ขึ้นจากสัตว์ที่มีอยู่ทางธรรมชาติและสลักลวดลายตามลำต้นด้วยลายกนกให้วิจิตรพิศดารเพิ่มมากขึ้น
การนำลวดลายไทยไปใช้
ในการนำลวดลายไทยไปใช้ในการทำเทียนพรรษา นิยมนำไปใช้ใน ๒ ลักษณะ คือ
๑. ประกอบลายตามแนวนอน นิยมใช้ลายหน้ากระดานได้แก่ ลายขื่อ ลายท้องไม้ ส่วนฐานนิมใช้ลายประจำยาม ลายกนก หรือลายประจำยามผสมกับลายกนก แต่ที่นิยมลูกฟักก้ามปู เหตุที่นิยมใช้ลายลูกฟักก้ามปูประกอบในส่วนฐาน หรือบางส่วนในลำต้น สันนิษฐานว่าเกิดจากความหมายอันมุ่งไปในทางที่ดีเป็นมงคล เป็นลูกฟักหมายถึง พรหมลูกฟัก อันเป็นพรหมชั้นหนึ่งในคัมภีร์ไตรภูมิ ลายลูกฟักมีลักษณะคล้ายผลฟัก ส่วนลายก้ามปู คือการนำลายกนก ๒ ตัวมาประกอบต่อกับลายประจำยาม ทำให้ลายที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายก้ามปู
๒. ประกอบลายตามแนวตั้ง อาจสอดแทรกลายเหล่านี้ตามลักษณะเหลี่ยมที่เกิดจากการย่อมุมทั้งในส่วนฐาน ลำต้น และยอด ซึ่งบางครั้งนิยมทำต้นเทียนในลักษณะรูปเหลี่ยมย่อมุม เช่น เทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ลวดลายที่นิยมใช้ประกอบตามแนวตั้ง คือ
๒.๑ ลายก้านแหย่ง คือ การนำลายมาแตกออกเป็นสองข้างเท่า ๆ กัน
๒.๒ ลายแข้งสิงห์ คือ การนำลายมาแตกออกข้างเดียว ทำให้เกิดมีลักษณะคล้ายแข้งสิงห์
๒.๓ ลายรักร้อย มีลักษณะคล้ายลายที่ร้อยของพวงมาลัยดอกรัก
๒.๔ ลายกนกเปลว เป็นลายที่ละบัดคล้ายเปลวไฟพุ่งสู่เบื้องบน ลายกนกเปลวนี้บางครั้งนิยมสะบัดขึ้นจากโคนของลำต้นสู่ยอดทั้งต้น โดยจะมีการแทรกเรื่องราวที่มีลักษณะเด่นตามร่องของลายนั้น ๆ
๒.๕ ลายเครือเถา เป็นลายที่นำมาจากลักษณะการเลื้อยของไม้หรือเถาไม้ตามแนวตั้ง
๒.๖ ลายก้านขด นำมาจากลักษณะการขดตัวของเถาไม้
ซึ่งลายทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้อาจประดิษฐ์มาจากลายกนก หรือลายอื่น ๆ เช่น ลายใบเทศ ลายผักกูด ลายช่อ หรือจะประกอบกับลายเทพพนม หรือสัตว์ต่าง ๆ กัได้ทั้งสิ้น
การผสมขี้ผึ้งสำหรับการหล่อต้นเทียนประเภทแกะสลัก
โดยปกติต้นเทียนต้นหนึ่งจะใช้ขี้ผึ้งประมาณ ๒๐๐๐ – ๓,๐๐๐ กิโลกรัม (รวมองค์ประกอบของต้นเทียน) ถ้าต้องการต้นเทียนขนาดใหญ่กว่านี้ ก็จะใช้ขี้ผึ้งมากขึ้นตามขนาดของต้นเทียน ถ้ามีงบประมาญมาก ควรใช้ขี้ผึ้งแท้ทั้งหมต ซึ่งจะเป็นผลดีต่อคุณภาพของงานและช่วยลดปัญหาในการจัดทำ ช่างผู้จัดทำมีความคล่องตัว แต่ถ้ามีงบประมาณจำกัด อาจใช้ขี้ผึ้งผสม โดยใช้ขี้ผึ้งแท้ผสมกับขี้ผึ้งเทียม หรือขี้ผึ้งตลาดในอัตราส่วน ๓ ต่อ ๑๐ แต่ในการทำส่วนฐานหรือองค์ประกอบของต้นเทียนอาจใช้ในอัตรส่วน ๑ ต่อ ๑๐ การต้มขี้ผึ้งจะต้องทุบหรีอสับขี้ผึ้งแท้ให้มีขนาดเล็กลงเสียก่อน ส่วนขี้ผี้งเทียมมีขนาดเล็กอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทุบหรือสับ ในการต้มขี้ผึ้งทั้ง ๒ ชนิดให้ต้มผสมกัน เนื้อขี้ผึ้งจะละลายเข้าหากันเป็นเนื้อเดียว วิธีนี้ช่วยประหยัดเงินได้มาก แต่คุณภาพของขี้ผึ้งผสมที่ได้จะน้อยกว่าใช้ขี้ผึ้งแท้
ความรู้เรี่องขี้ผึ้ง
ขี้ผึ้งนับเป็นวัสดุหลักของการทำต้นเทียนทุกประเภท การใช้ขี้ผึ้งมากน้อยเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของต้นเทียนและองค์ประกอบของต้นเทียนแต่ละต้น ซึ่งบางครั้งมีมากถึง ๑๕๐๐ กิโลกรัม ขี้ผึ้งที่ใช้ทำต้นเทียนแบ่งเป็นประเภทใหญ่ได้ ๒ ประเภท คือ ขี้ผึ้งแท้ และขี้ผึ้งเทียม
ขี้ผึ้งแท้
เป็นขี้ผึ้งที่ได้จากรังผึ้งแท้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มีสีขาวอมเหลืองมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีความเหนียว มีแรงยึดเหนี่ยวกันสูงมา ไม่แตกหรือเปราะง่าย นิยมใช้ผสมกับขี้ผึ้งวิทยาศาสตร์ในการทำลำต้นของต้นเทียนประเภทแกะสลัก ในอัตราส่วน ๕๐ ต่อ ๕๐ และนิยมใช้ขี้ผึ้งแท้อย่างเดียว ในการทำลวดลายดอกผึ้งรูปแบบต่าง ๆ ติดตามลำต้นของเทียนประเภทติดพิมพ์ ขี้ผึ้งแท้จะมีราคาถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดในขณะนั้น ราคาในตลาดปกติจะมีราคากิโลกรัมละ ๒๐๐ - ๓๐๐ บาท ปัจจุบันขึ้ผึ้งแท้ส่วนมากทำมาจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งถูกเจือปนด้วยขี้ผึ้งน้ำมันส่วนหนึ่ง เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง แต่มีปริมาณที่มากขึ้น บางวัดนิยมทำขี้ผึ้งแท้ขึ้นมาเอง โดยการเลือกเชื้อรังผึ้งจากตลาดราคากิโลกรัมละ ๒๐ บาท มาทำการต้มกลั่นเอง เป็นการลดรายจ่ายลงได้มาก สมัยก่อนการทำเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ขี้ผึ้งแท้ทั้งหมด เพราะมีราคาถูกหาซื้อได้ง่าย และชาวบ้านทุกคุ้มวัด ถือเป็นการทำเพื่อเป็นพุทธบูชาจึงนิยมทำด้วยลงที่ดี และมีคุณค่าสูงทั้งสิ้น
ขี้ผึ้งเทียม
ขี้ผึ้งเทียมหรือขี้ผึ้งวิทยาศาสตร์ บางแห่งจะเรียกว่า ผึ้งด้วง ผึ้งน้ำมัน หรือผึ้งขี้ซี เป็นต้น ขี้ผึ้งชนิดนี้แต่เดิม ทำมาจากไขมันของสัตว์ แต่ในศวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา นักเคมีที่ได้ค้นพบวิธีการทำกรดสเตียริค (Stearic Acid) จากไขมันสัตว์ให้กลายเป็นของแข็งที่มีสีขาวคล้ายขี้ผึ้ง จึงนิยมใช้สารชนิดนี้ในการทำเทียนเพราะมีราคาถูกและสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ขึ้ผึ้งชนิดดังกล่าว ยังนิยมทำมาจากผลิตผลของปิโตรเลี่ยม (Petrolium) หรือขี้ผึ้งพาราฟิน (Parafin Wax) ขี้ผึ้งชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นถ้วยรูปครึ่งวงกลมเล็ก ๆมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๑ นิ้ว ไม่มีกลิ่นหอมเนื้อเปราะหรือแดกหักได้ง่ายมีสีส้มแต่จะมีความเข้มหรือจางแตกต่างกันไป โดยแยกออกได้เป็น ๓ เบอร์ ตามน้ำหนักความเข้มของสีได้ดังนี้ เบอร์ที่หนึ่งมีสีเข้มส้มอมแดงเไjrา)ทส่องมีสีจางลงเล็กน้อย เบอร์ที่สามมีสีส้มอมเหลือง
แต่ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ขี้ผึ้งเทียมเบอร์ที่สอง เพราะมีสีจางแต่เมื่อนำไปต้มและผสมกับผึ้งเก่าจะได้สีที่มีน้ำหนักของสีที่พอเหมาะแก่การหล่อลำต้น ผึ้งชนิดนี้ราคากิโลกรัมละ ๕๐ - ๗๐ บาท ในการทำเทียนพรรษานิยมใช้ผึ้งชนิดนี้ ในการหล่อลำต้นของเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ และนิยมใช้ผึ้งชนิดนี้ในการหล่อหุ่นประกอบของต้นเทียน ทั้งหุ่นประกอบต้นเทียนประเภทติดพิมพ์และหุ่นประกอบต้นเทียนประเภทแกะสลัก
ในการทำเทียนพรรษาในแต่ละปีจะใช้ขี้ผี้งในการหล่อลำต้นติดลายและทำหุ่นประกอบ ทั้งขี้ผึ้งแท้และขี้ผึ้งเทียมประมาณ 70-100 กิโลกรัม ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดและลักษณะของต้นเทียน รวมทั้งหุ่นที่ใช้ประกอบต้นเทียนและปริมาณของขี้ผี้งเก่าที่มีอยู่แต่เดิมผสมด้วย การหล่อลำต้นและหุ่นประกอบในการทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์นั้น นิยมใช้ขี้ผึ้งเทียมในการทำทั้งหมด และจะใช้ขี้ผึ้งแท้ทำในส่วนของลวดลายหรือดอกผึ้งติดประกอบตามส่วนต่าง ๆ เท่านั้น
การทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลักจะใช้ขี้ผึ้งในการทำลำต้นและส่วนของรากฐานใหญ่ทั้งหมด ตามขนาดและรูปทรงมาตรฐาน คือไม่มีองค์ประกอบอื่น ๆ ประดับที่ฐาน จะใช้ขี้ผึ้งเทียมประมาณ ๕๐ ลัง หรือ ๑,๒๕๐ กิโลกรัม (ผึ้งเทียม ๑ ลัง มีน้ำหนัก ๒๕ กิโลกรัม) ในการทำเทียนประเภทแกะสลักนิยมใช้ขี้ผึ้งแท้และเทียมผสมกันในการหล่อ ทำลำต้น ยอด ฐาน และองค์ประกอบอื่นๆ ประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัม จะทำให้ได้ความคมชัดของลวดลายที่เด่นชัด และมีความแข็งที่เหมาะกับการใช้เครื่องมือแกะสลัก และขี้ผึ้งที่เกิดจากการผสมระหวางขี้ผึ้งแท้และขี้ผึ้งเทียมนี้ จะมีความคงทนต่อความร้อนจากแสงแดดในขณะทำการแห่เทียนพรรษา เราสามารถเปรียบเทียบลักษณะและคุณสมบัติของขี้ผึ้งแท้และขี้ผึ้งเทียมได้ดังตารางต่อไปนี้
ข้อมูลเปรียบเทียบลักษณะคุณสมบัติของขี้ผึ้งแท้และขี้ผึ้งเทียม
ขี้ผึ้งแท้
- ราคาแพง ประมาณกิโลกรัมละ ๓๐๐ - ๕๐๐ บาท
- มีกลิ่นหอมเย็น เหมือนกลิ่นของน้ำผึ้ง
- เนี้อขี้ผึ้งเหนียว เมื่อจับดูจะมีคราบติดมือเพียงเล็กน้อย
- ใช้เล็บมือจิกดูจะเป็นรอยลึก เนื้อขี้ผึ้งไม่ยุ่ย ไม่เปราะ
- สีครีม หรือเหลืองปนขาว หรือ เขียวอมเหลือง (ไม่ออกสีแดง หรือสีส้ม) มองดูจะเห็นเป็นสีขุ่นมัว ไม่สดใส ซึ่งเป็นสีตามธรรมชาติ
- มักมีฝุ่นจับอยู่ตามก้อนขี้ผึ้ง เพราะเนื้อขึ้ผึ้งเหนียวแมลงต่าง ๆ เช่น แมลงภู่ ผึ้ง ชอบจับ เจาะ ไชกิน เนื้อขี้ผึ้ง
- ก้อนขี้ผึ้งมีขนาดโตเท่าขันตักน้ำ น้ำหนักก้อนละประมาณ ๑ กิโลกรัม หรือมากกว่านั้น
ขี้ผึ้งเทียม
- ราคาถูก ประมาณกิโลกรัมละ ๔๐ - ๕๐ บาท
- กลิ่นคล้ายน้ำมัน
- เนื้อขี้ผึ้งไม่เหนียว เมื่อจับดูจะติดมือบ้าง และมีคราบน้ำมัน ติดมือด้วย
- เปราะและแตกง่าย
- มีสีแดงหรือสีส้ม ลักษณะเป็นสีเข้มที่ได้มาจากการปรุงแต่ง
- ไม่มีฝุ่นติดอยู่ในก้อน หรือในแท่งขี้ผึ้ง แมลงไม่ชอบ เพราะเป็น ขี้ผึ้งเทียม หรือขี้ผึ้งผสม
- เป็นก้อนขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม ขนาดเท่าขนมครก น้ำหนักไม่มาก รวมกันหลายสิบก้อนจึงจะได้ ๑ กิโลกรัม
การหล่อและการกลึงต้นเทียนประเภทแกะสลัก
การหล่อและการกลึงต้นเทียนประเภทแกะสลัก จะมีขั้นตอนและวิธีการในการหล่อ การกลึง ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ เหมือนกับการหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ เพียงแต่ต้นเทียนประเภทแกะสลักจะต้องหล่อให้มีขนาดใหญ่กว่าขนาดจริงที่ต้องการเอาไว้ เพราะว่์าเมื่อแกะสลักแล้วขนาดจะเล็กลงเป็นขนาดจริงที่ต้องการ เทคนิคการหล่อลำต้นเทียนประเภทแกะสลักจะแตกต่างกับต้นเทียนประเภทติดพิมพ์เล็กน้อย กล่าวคือ
การหล่อต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก
ประเพณีการทำเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นสิ่่งที่ในแต่ละชุมชนได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน มีการพัฒนาการดิดต่อกันอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านรูปแบบ เนื้อหาและวิธีการ กระบวนการในการหล่อก็เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าขั้นตอนอื่น จึงขอกล่าวถึงขั้นตอนในการหล่อเทียนพรรษาเป็น ๔ วิธี ดังนี้
๑. การหล่อในราง
การทำเทียนด้วยวิธีการนี้เกิดขึ้นมาราวปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ซึ่งเป็นระยะเวลาของการพัฒนารูปแบบของเทียนพรรษาจากประเภทมัดรวมจากแท่งเล็ก ๆ แล้วนำมาติดลายไปสู่รูปแบบของเทียนเล่มที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพียงเล่มเดียว เทียนพรรษาที่หล่อขึ้นมา ด้วยวิธีการนี้จะมีความสูงราว ๑ เมตร ถึง ๑.๒๐ เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำเทียนราว ๐.๒๐ เมตร มีวิธีการหรือขั้นตอนในการทำดังนี้ คือ
๑.๑. ทำรางจากไม้ หรือต้นไม้เป็นรูปครึ่งวงกลมมีความยาว ความกว้าง ตามรูปแบบ หรือลักษณะของต้นเทียนตามที่ต้องการ
๑.๒ ต้มขี้ผึ้งจนละลายแล้วเทลงใส่ในรางที่เตรียมไว้ จนเต็มราวปล่อยขี้ผึ้งอยู่ในรางจนความร้อนของขี้ผึ้งลดลงพอเหมาะวางเส้นฝ้ายหรือป่านที่ใ่ช้ทำไส้ของเทียนลงกึ่งกลางของลำต้นตามความยาวจนตลอด
๑.๓ เทขี้ผึ้งที่ต้มจนหลอมละลายดีลงในรางไม้ที่มีขนาดเดียวกันกับรางแรกจนเต็ม ปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งขี้ผึ้งในส่วนนี้เย็น (เริ่มเย็นตัว)
๑.๔ นำรางขี้ผึ้งที่เริ่มแข็งตัวในรางที่สอง คว่ำประกบลงบนขี้ผึ้งในรางแรกแล้วทิ้งวัตถุที่มีน้ำหนักกดหรือวางทับด้านหลังของร่างที่สองให้แนบสนิทกับรางส่วนแรกปล่อยทิ้งไว้ประมาณ ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๑ วัน
๑.๕ แกะขี้ผึ้งที่แห้งสนิทออกจากรางไม้ทั้ง ๒ ส่วน แล้วตกแต่งผิวรอบนอก ทั้งส่วนยอดและฐานเป็นอันเสร็จตามขั้นตอนการหล่อเทียน เทียนยุคนี้นิยมใช้ผึ้งแท้ทั้งหมดในการหล่อ เพราะมีกลิ่นหอม หาง่ายและจุดได้เป็นเวลานาน
๒. การหล่อโดยใช้ใบหรือกาบของพืช
การหล่อโดยวิธีนี้ นิยมหล่อโดยใช้กาบ และใบของต้นกล้วยมามัดรวมกันเข้าเป็นรูปทรงกระบอกเป็นแม่พิมพ์ การหล่อด้วยวิธีนี้สามารถหล่อให้ต้นเทียนมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าวิธีแรกโดยมีขั้นตอนในการทำดังนี้
๒.๑ หากาบและใบของต้นกล้วยที่มีขนาดใหญ่ใบหนา และอวบมามัดรวมกันเข้าเป็นรูปทรงกระบอก โดยปล่อยช่องว่างของรูปทรงกระบอกในส่วนกลางให้ทะลุถึงกันและมีขนาดเท่ากันโดยตลอด มัดในแต่ละส่วนด้านนอกของรูปทรงในแต่ละช่องให้แน่นพอประมาณ ด้วยเชือกหรือลวด
๒.๒ ตั้งส่วนที่เป็นแม่พิมพ์หล่อนี้ขึ้นโดยหย่อนเส้นป่านหรือฝ้ายที่ใช้ในการทำไส้เทียนลงในส่วนกลางของแม่พิมพ์ตลอดแนว จนถึงฐาน ตรึงส่วนฐานลงกับพื้นที่เสียบด้วยดินเหนียวให้แน่นเพื่อป้องกันขี้ผึ้งไหลออกมา หรืออาจใช้วิธีตั้งแม่พิมพ์ลงในหลุมที่ขุดลงในดินลึกของลำต้นเทียนที่ต้องการ โดยมีความกว้างของหลุมเท่ากันกับขนาดของแม่พิมพ์เทียน กลบดินรอบ ๆ แม่พิมพ์ให้แน่น
๒.๓ ต้มขี้ผึ้งจนหลอมละลายทั่วดีแล้ว ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นตัวประมาณ ๑๐ - ๑๕ นาที แล้วจึงค่อย ๆ เทขี้ผึ้งนั้นลงในแม่พิมพ์กาบกล้วยที่เตรียมไว้จนเด็ม ในขณะเทควรตรวจดูตามผิวด้านข้างของแม่พิมพ์ หากมีการรั่วซึมของแม่พิมพ์ ควรรีบพันโดยรอบแม่พิมพ์ ด้วยกาบกล้วยหรือใบกล้วยซ้อนอีก ๑ ชั้น เมื่อขี้ผึ้งที่เทลงไปในกระบอกเต็มตามต้องการ ปล่อยทิ้งไว้ให้ขี้ผึ้งค่อย ๆ เย็นตัวเองตามธรรมชาติ
๒.๔ เมื่อขี้ผึ้งแห้งตัวแล้วค่อย ๆ แกะส่วนที่เป็นแม่พิมพ์ แล้วตกแต่งผิวด้านนอกของเทียบให้มีความเรียบ และกลมตามที่ต้องการ
๓. การหล่อด้วยแม่พิมพ์จากพืชชิ้นเดียว
การหล่อวิธีนี้ แม่พิมพ์หล่อนิยมทำจากลำต้นของพืชที่มีร่องกลางลำต้น ที่ไม่แข็งนักเช่น มะละกอ หรือไม้ไผ่ โดยเลือกจากต้นหรือลำที่มีขนาดโตเต็มที่ มีขนาดและเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๕ – ๖ นิ้ว และลำต้นต้องเป็นลำต้น หรือลำไม้ไผ่ที่ตรงไม่โค้งงอ ตลอดความยาวของเทียนที่ต้องการ โดยมีขั้นตอนในการทำ ดังนี้
๓.๑ หาไม้ไผ่หรือลำตัวของมะละกอที่มีส่วนตรงของลำต้นมากที่สุดมา ๑ ท่อน ทำการอุดรูรั่วต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามลำต้น หรือไม้ไผ่ แล้วตัดส่วนของลำหรือลำต้นออกมาเป็นท่อนยาวประมาณ ๑ - ๑.๒๐ เมตร
๓.๒ ตั้งส่วนลำหรือลำต้นไว้บนพื้นที่ราบใช้เครื่องมือที่มีความคมเจาะส่วนกลางจากบนให้ทะลุลงสู่ส่วนล่างในแนวดิ่ง โดยความกว้างของรูเท่ากันโดยตลอด
๓.๓ หย่อนส่วนไส้ของเทียนที่ทำด้วยฝ้ายหรือป่าน ลงภายในแกนส่วนกลางของลำต้น แล้วเทขี้ผึ้งที่ต้มจนมีความร้อนพอเหมาะลงใส่รูนั้นจนเต็ม
๓.๔ เมื่อขี้ผึ้งเย็นตัวลง ก็เริ่มแกะส่วนที่เป็นเปลือกรอบนอกออกจนหมด แล้วตกแต่งผิวรอบนอกของเทียน
๔. การหล่อด้วยแม่พิมพ์สังกะสี
การหล่อเทียนด้วยแม่พิมพ์สังกะสี เริ่มมีมาราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และการหล่อด้วยวิธีการนี้ยังคงใช้อยู่อย่างแพร่หลายจนถึงยุคปัจจุบัน โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้
๔.๑ การทำแกนลำต้น หากจะใช้ไม้เป็นแกน ต้องเป็นไม้เนื้อแข็งขนาด ๔ x ๔ นิ้ว ยาว ๒.๕๐ เมตร นำไปกลึงให้กลมตลอดท่อน ส่วนปลายจะเล็กกว่าส่วนฐานเล็กน้อย ซึ่งเมื่อกลึงเสร็จจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของแกนไม้ราว ๑๐ - ๑๕ เซนติเมตร หรือหากจะใช้สังกะสีมาทำเป็นแกนจะต้องใช้สังกะสีชนิดแผ่นอย่างหนาที่มีความยาว ๑.๙๐ ถึง ๒ เมตร มาม้วนให้เป็นรูปทรงกระบอก ริมทั้ง ๒ ข้างงอซ้อนทับกันแล้วบัดกรีทับด้วยตะกั่วอย่างดีตลอดแนวตะเข็บ โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางส่วนฐานราว ๒๕ นิ้ว และส่วนที่เป็นปลายยอดประมาณ ๒๔ นิ้ว หรือหากจะใช้แกนที่ทำด้วยท่อน้ำประปาชนิดที่เป็นเหล็กหนามีเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๕ นิ้ว สูง ๑.๙๐ ถึง ๒ เมตร วัสดุทีใช้ทำแกนทั้ง ๓ ชนิดนี้ จะใช้เชือกไนล่อนขนาด ๓ หุน สีแดง หรือสีส้มพันโดยรอบส่วนแกน เพื่อประโยชน์ในการยึดจับตัวกัน ระหว่างขี้ผึ้งกับแกนและขี้ผึ้งกับขี้ผึ้ง หรืออาจใช้ตะปูตอกลงไปในส่วนที่เป็นแกนไม้แทนการพันด้วยเชือกก็ได้ ซึ่งการพันรอบแกนด้วยเชือกหรือตอกด้วยตะปูนี้ นิยมใช้กับแกนของต้นเทียนประเภทแกะสลัก หากเป็นต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ นิยมปล่อยส่วนแกนของต้นเทียนไว้โดยไม่ต้องตอกตะปูหรือพันรอบด้วยเชือก
๔.๒ การทำส่วนที่เป็นเบ้าหลอมของเทียน โดยใช้สังกะสีแผ่นเรียบชนิดหนาโดยม้วนปลายทั้งสองเข้าเป็นรูปทรงกระบอกซ้อนริมทั้งสองข้างงอซ้อนทับกันเป็นตะเข็บแล้วบัดกรีทับด้วยตะกั่วอย่างดี เบ้าหลอมนี้จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางในส่วนยอด ๓๔ นิ้ว และส่วนฐานราว ๓๕ นิ้ว
๔.๓ ตั้งแกนกลางของต้นเทียนลงในฐาน กรณีที่ใช้ไม้เป็นแกน โดยให้แกนโผล่ออกมาจากฐานประมาณ ๑.๘๐ ถึง ๒ เมตร หรือหากเป็นแกนที่ทำด้วยกระบอกสังกะสี ท่อเหล็ก ให้นำแกนนั้นตั้งลงบนพื้นที่มีความเรียบแน่น เช่น พื้นปูนซิเมนต์หรือแผ่นไม้ หรืออาจขุดหลุมดินให้ลึกประมาณ ๑ เมตร กว้าง ๔๐ เซนติเมตร แล้วตั้งแกนลงไปในหลุมแล้วตรึงให้แกนติดแน่นกับฐานด้วยปูนปลาสเตอร์หรือตะปู
๔.๔ ทำเบ้าหลอมสวมทับส่วนแกนลงไปแล้วยึดทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน โดยยึดให้ส่วนแกนอยู่ตรงกลางให้มากที่สุด ยึดส่วนฐานของเบ้าหลอมให้แน่นแล้วพันด้วยปูนปลาสเตอร์และตะปู
๔.๕ ต้มขี้ผึ้งเทียมหรือขี้ผึ้งวิทยาศาสตร์ จนหลอมละลายเข้ากันดีแล้วนำไปกรองด้วยผ้ามุ้ง หรือผ้าด้ายดิบจนได้ปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งในการจัดเตรียมขี้ผึ้งต้องเตรียมให้พอสำหรับการหล่อให้แล้วเสร็จในครั้งเดียว เพราะหากขณะทำการหล่อขี้ผึ้งไม่พอต้องเสียเวลาทำการหล่อใหม่ และขี้ผึ้งจะเย็นตัวไม่เท่ากัน เมื่อนำไปเทลงภายหลังลำต้นเทียนจะต่อกันได้ไม่สนิท อาจเกิดปัญหาการหักโค่นของต้นเทียนในภายหลังได้ ทิ้งขี้ผึ้งไว้ในโอ่งนานประมาณ ๑๕ - ๒๐ นาที ประโยชน์ที่ได้จากการเทขี้ผึ้งไว้ในโอ่งหรือถังคือขี้ผึ้งเก่าและขี้ผึ้งใหม่ ขี้ผึ้งแท้และขี้ผึ้งเทียม จะผสมจนเป็นเนื้อและสีกลมกลืนกัน เพราะสีของผึ้งเก่าซึ่งค่อนข้างคล้ำจะถูกเจือจางลงด้วยสีของขี้ผึ้งใหม่ ซึ่งจะแดงสดใสกว่า เพื่อความคงทนและความคมของลวดลายที่จะแกะลงไปบนลำต้น จะใช้อัตราส่วนของผึ้งเทียม ๑๐๐ กิโลกรัมต่อผึ้งแท้ ๘ กิโลกรัม ซึ่งอัตราส่วนนี้อาจแตกต่างกันออกไปตามความถนัดของช่างและช่วงเวลาที่จะแกะสลัก แต่ไม่ควรใช้อัตราส่วน ๕๐ ต่อ ๕๐ เพราะเทียนจะแข็งมากไม่สามารถแกะสลักได้
การตรวจสอบความร้อนของขี้ผึ้งที่จะนำไปเทลงในเบ้าหล่อ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น ตักใส่ปี๊บตั้งทิ้งไว้ให้ขี้ผึ้งบริเวณผิวหน้ามีความแข็งตัวแต่ภายในยังคงร้อนอยู่ ใช้นิ้วจิ้มทะลุผ่านผิวหน้าของขี้ผึ้งลงไปสู่ภายในปี๊บ ซึ่งภายในจะมีขี้ผึ้งที่หลอมละลายแล้วอยู่ดูความหนาของขี้ผึ้งที่ผิวหน้าโดยใช้นิ้วมือจิ้มทะลุผ่านลงไป หากขี้ผึ้งที่ผิวหน้าแห้งและแข็งตัวราว ๑ นิ้ว ถือว่าขี้ผึ้งปี๊บนั้นสามารถนำไปเทหล่อได้ หรืออาจวัดโดยการใช้นิ้วมือจุ่มลงไปในขี้ผึ้งที่ละลายอยู่ในโอ่ง ถัง หรือปี๊บ หากขี้ผึ้งติดนิ้วมือขึ้นมาบาง ๆ แสดงว่าอุณหภูมิของขี้ผึ้งปี๊บนั้นกำลังพอดี เหมาะแก่การนำไปเทหล่อลำต้นต่อไป
๔.๖ การเทขี้ผึ้งลงในเบ้าหล่อลำต้นเทียน มีหลักการเทง่าย ๆ คือ ใช้ภาชนะที่เดรียมไว้คือ ขัน หรือกระป๋อง ตักเททีละน้อยอย่างเป็นจังหวะต่อเนื่องกัน ไม่ควรเทเป็นปี๊บ เพราะการเทขี้ผึ้งเร็ว ๆจะทำให้ขี้ผึ้งไล่อากาศออกไม่ทัน ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นฟองอากาศตามผิวของลำต้้น และในลำต้นเทียน ซึ่งลำต้นเทียนที่มีฟองอากาศจะเป็นปัญหามากในขั้นตอนการแกะสลัก และการเทขี้ผึ้งทีละมาก ๆ อาจทำให้เบ้าสังกะสีทนความร้อนไม่ทัน จะเกิดการแตกขึ้นได้กลางคันได้
ช่วงเวลาที่ถือว่ามีความเหมาะสมในการเทขี้ผึ้งเพื่อหล่อลำต้น ซึ่งจะทำให้เขียนที่หล่อออกมามีสีสันที่สวยงามและผิวมันดีคือ เวลาเช้าตรู่ เวลาประมาณ ๐๕.๓๐ น. หรือหากเป็นเวลาหัวค่ำควรเป็นเวลา ๑๙.๐๐ น. เรื่อยไปจนถึงเวลา ๐๕.๓๐ น.
หลังจากที่เทขี้ผึ้งใส่เบ้าหล่อจนเต็มดีแล้ว ปล่อยทิ้งไว้สักครู่แล้วจึงตรวจตามตะเข็บของเบ้าหล่อหากมีการแตก ฉีกขาด หรือซึม ควรรีบอุดทันที โดยการใช้ผ้าพันมัดไว้ ใช้ดินเหนียวหรือปูนปลาสเตอร์ผสมอุดไว้ และคอยตรวจดูการยุบตัวของขี้ผึ้งที่ส่วนปลายของเบ้าหล่อ หากขี้ผึ้งยุบตัวลงไปก็ให้เติมขี้ผึ้งได้อีกตามความเหมาะสมจนเต็ม แล้วปล่อยเบ้าหล่อทิ้งไว้ประmณ ๓ - ๔ วัน ขี้ผึ้งจะแห้งตัวเองตามธรรมชาติจนแข็งตัวในที่สุด ในกรณีที่มีการเร่งด่วนสามารถเร่งความแข็งตัวของขี้ผึ้ง หลังจากการเทได้ โดยการใช้ผ้าชุบน้ำพันรอบตลอดเบ้าหล่อภายนอกและคอยเดิมน้ำให้ผ้าที่พันชุ่มตัวอยู่เสมอ ขึ้ผึ้งในเบ้าหล่อจะแข็งตัวอย่างเร็วที่สุด ๒ วัน
๔.๗ การถอดแบบพิมพ์หรือเบ้าหล่อลำต้นเทียน ควรเริ่มด้วยการเลาะตะเข็บสังกะสีออก หรืออาจใช้วิธีการใข้กรรไกรปลายเล็กๆ ค่อย ๆ ตัดออกดามแนวยาวทีละช่วงก็ได้ หลังจากนั้นจึงนำลำต้นทำการกลึง ในยุคแรก ๆ ของการทำต้นเทียนนิยมกลึงลำต้น ทั้งเทียนประเภทแกะสลักและประเภทติดพิมพ์ สำหรับต้นเทียนประเภทติดพิมพ์วัตถุประสงค์ของการกลึงลำต้น เพื่อให้ลำต้นเกิดรูปทรงคอดกิ่ว การกลึงทำเพื่อให้ลำำต้นมีขนาดเล็กลง เพราะลำต้นของเทียนประเภทติดพิมพ์ต้องมีการเพิ่มลวดลายของดอกผึ้ง ซึ่งการเพิ่มดอกลายดอกผึ้งนี้จะทำให้ลำต้นมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น ส่วนต้นเทียนประเภทแกะสลักคงเป็นเพียงการใช้กบไสไม้ถากผิวออกเล็กน้อย ให้โครงสร้างภายนอกได้รูปทรงตามต้องการเท่านั้น ก็สามารถแกะสลักที่ผิวของลำต้นเทียนได้ทันที หลังจากนั้นจึงนำไปตั้งลงในส่วนฐาน ซึ่งฐานนี้จะสูงมากน้อยเพียงใดก็ตามลักษณะการออกแบบของช่าง และประเภทของเทียนนั้น ๆ
การแกะสลักต้นเทียน
การแกะสลักต้นเทียนทำได้หลังจากหล่อและกลึงต้นเทียนแล้ว โดยดำเนินการ ๓ ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
๑. ออกแบบลายที่จะแกะสลัก โดยการร่างคร่าว ๆ ก่อน ทั้งส่วนฐานต้นเทียน ลำต้นเทียน และยอดต้นเทียน
๒. ใช้เครื่องมือทำการแกะสลัก ซึ่งจะมีการเซาะ เจาะ ขีด ขุด และขูด ให้เป็นรูป ๓ มิติ มีส่วนกว้าง ยาว และลึกเหมือนของจริง หรือรูปร่างตามจินตนาการ
๓. แก้ไข ส่วนที่บกพร่อง ในระหว่างแกะสลักอาจเกิดความผิดพลาด หรือบกพร่องขึ้นได้ เช่นรูปที่ต้องการเล็กหรือใหญ่เกินไป หรือส่วนหนึ่งส่วนใดแตกหักออกไป จำเป็นที่ช่างจะต้องแก้ไขปรับปรุง ทางที่จะแก้ไขปรับปรุงอาจเป็นดังนี้
๓.๑ ในกรณีที่รูปที่แกะสลักได้เล็กกว่าที่ต้องการ ต้องหาขี้ผึ้งมาติดเพิ่มเติม โดยเอาขี้ผึ้งที่จะติดเพิ่มเติมไปลนไฟ หรือผึ่งแดดให้ขี้ผึ้งอ่อนตัวแล้วจึงนำมาติดกับของเดิมให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว เพื่อที่จะแกะสลักใหม่ จนเป็นรูปที่มีลวดลายและขนาดตามต้องการ
๓.๒ ในกรณีที่แกะสลักแล้ว ส่วนหนึ่งส่วนใดแตกหักออกไป อาจใช้วิธีแกะสลักเนื้อขี้ผึ้งจากข้างนอก แล้วเอามาติดเชื่อมเข้าก็ได้
๓.๓ ในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขลายใหม่ ถ้าหากลายที่ร่างไว้ไม่ลึกก็ให้เปลี่ยนแปลงได้ทันที แต่ถ้าหากเซาะ เจาะ หรือขุดเป็นลายลึกแล้ว ต้องหาขี้ผึ้งจากข้างนอกมาอุดให้แน่น และเป็นเนื้อเดียวกันแล้วจึงร่างลายและแกะสลักใหม่
เครื่องมือที่ใช้สำหรับแกะสลักต้นเทียน
เครื่องมือที่ใช้สำหรับแกะสลักต้นเทียน ส่วนใหญ่เป็นโลหะแหลมคม มีดด้ามสำหรับจับ ซึ่งอาจแบ่งเป็น ๔ จำพวก คือ
๑. มีด เป็นมีดที่รูปร่างและขนาดต่างกันตามลักษณะการใช้งาน มีดที่นิยม ได้แก่
๑.๑ มีดชนิดคมเดียว ปลายแหลม ที่ปลายคมเป็นพิเศษ
๑.๒ มีดชนิด ๒ คม ปลายแหลม ที่ปลายคมทั้งสองข้าง
๑.๓ มีดชนิดคมเดียว ปลายแหลมและโค้งงอนที่ปลายคมเป็น่พิเศษด้านเดียว
๑.๔ มีดใต้คมเดียว ปลายแหลม
๒. สิ่ว เป็นสิ่วที่มีรูปร่างและขนาดต่างกันตามลักษณะการใช้งาน สิ่วที่นิยมใช้ ได้แก่
๒.๑ สิ่วใบใหญ่ ปลายตัดตรง
๒.๒ สิ่วใบใหญ่ ปลายตัดเฉียง
๒.๓ สิ่วใบใหญ่ ปลายปากโค้ง
๒.๔ สิ่วใบเล็ก ปลายตัดตรง
๒.๕ สิ่วใบเล็ก ปลายตัดเฉียง
๒.๖ สิ่วใบเล็ก ปลายปากโค้ง
๓. ตะขอเหล็กและเหล็กขูด เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเกี่ยว ขูด และเซาะขี้ผึ้ง ตะขอเหล้าที่นิยมใช้มี ๒ แบบหลายขนาด เหล็กขูดมีแบบเดียว แต่หลายขนาดเช่นกัน
๔. แปรงทาสีชนิดดี เป็นเครื่องมือที่ใช้งานหลังจากแกะสลัก คือใช้สำหรับปัดขุยขี้ผึ้งออกจากต้นเทียนเพื่อทำความสะอาด แปรงที่ใช้งานเป็นแปรงชนิดขนแปรงอ่อนนุ่ม อาจจะใช้หลายขนาดคือขนาด ๑ นิ้ว ๒ นิ้ว และ ๓ นิ้ว หรือขนาดอื่นที่ต้องการตามความจำเป็น
วิธีการแกะสลัก
วิธีการแกะสลักในต้นเทียนมี ๔ รูปแบบ คือ
๑. การแกะสลักเป็นรูปตัววี “v” เป็นรูปแบบการแกะเข้าไปตามเส้นที่ร่างหรือออกแบบไว้ การแกะวิธีนี้นิยมแกะส่วนที่เป็นลายไทยประเภทต่าง ๆ หรือส่วนที่เป็นภาพ หรือหุ่นประกอบที่มีความสำคัญไม่มากนัก
๒. แกะเป็นรูปตัวยู “U” เป็นวิธีการแกะระหว่างรอยต่อของลายดอกกับเนื้อหา ซึ่งจะต้องทำให้เกิดเป็นร่องที่ลึกประมาณ ๑-๑.๕ นิ้ว
๓. แกะเป็นฐานกว้าง เป็นรูปแบบการแกะสลักต่อจากการแกะรูปตัว U โดยเซาะเข้าไปใต้ฐานลาย หรือเนื้อที่เป็นตัวพระหรือเทพ ทำให้ลายหรือรูปเหล่านั้นมีลักษณะลอยตัวออกจากฐานหรือลำต้นเทียน สำหรับแกะส่วนที่มีความสำคัญที่ต้องการเน้นให้ภาพทั้งหมดมีความคมชัด
๔. แกะเป็นร่องซ้อนกัน เป็นการแกะต่อจากการแกะเป็นร่องฐานกว้าง โดยแกะให้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง การแกะวิธีนี้เป็นที่นิยมมากในยุคป้จจุบัน เพราะนอกจากจะให้ลายที่ละเอียดกว่าแล้ว ยังทำให้เกิดความซับซ้อนกันระหว่างลวดลาย หรือเนื้อหาทั้งหมดด้วย การแกะวิธีนี้นอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงความสามารถเป็นพิเศษของช่างที่แกะเทียนแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นมิติที่มีและเกิดขึ้นได้ในลวดลายไทย และเมื่อช่างแกะเข้าไปลึกถึงชั้นของเชือกที่พันอยู่รอบส่วนแกนในตอนลึก ๆ ซึ่งถือว่าเป็นความงดงามอย่างหนึ่งในศิลปะการทำเทียนประเภทแกะสลัก
การตกแต่ง
การตกแต่งเป็นช่วงที่มีความสำคัญมาก เพราะขั้นตอนนี้เอง จะบอกได้ว่าต้นเทียนสวยหรือไม่ ขั้นตอนของการตกแต่งจะเป็นขั้นตอนของการสอดส่องหาความบกพร่องที่จะมีปรากฏในลำต้น ฐาน ยอด และหุ่นเทียน เช่น ความละเอียดของลวดลาย ความประณีตบรรจง ความคมชัดของลวดลายที่แกะหรือที่ติด หากพบความบกพร่อง เช่น กรณีของลวดลายหักอันเป็นผลมาจากเครื่องมือหรือสาเหตุอื่น ๆ หรือ ลวดลายตื้นเกินไป วิธีการแก้ไขทำได้ ดังนี้
๑. หาขี้ผึ้งเพิ่มเติม โดยการเอาขี้ผึ้งไปลนไฟ หรือผึ่งแดดให้ขี้ผึ้งมีความอ่อนตัว
๒. เป่าพื้นที่โดยรอบของส่วนที่จะซ่อมแซม ด้วยลมร้อนจากเครื่องเป่าผมให้ทั่ว
๓. นำขี้ผึ้งที่จะต่อเติมและอ่อนตัวแล้วส่วนที่ต้องการซ่อมแซม
๔. แกะลวดลายลงในส่วนของขี้ผึ้งที่ต่อเติมใหม่จนครบตาม ลวดลายเดิม หรือติดลวดลายที่เหมาะสมลงไปในบริเวณนั้น
๕. ทำความสะอาดเศษหรือคราบของเทียนที่ติดอยู่ตามรอยต่อของลวดลายภายในลำต้นออกจนหมด จะใช้ถังฉีดพ่นน้ำสะอาดไปที่ลำต้น ฐาน หรือ ตามหุ่นประกอบต่าง ๆ จนสะอาด หรือใช้แปรงทาสีที่มีความแข็งของขนปานกลางมาทำการปัด หรือเขี่ยเศษเทียนออกก็ได้ แต่อาจใช้เวลานานกว่าการฉีดล้างด้วยน้ำ
๖. ตรวจตราความเรียบร้อยของหุ่นประกอบต้นเทียนด้วยการใช้หัวแร้งเผาไฟให้ร้อนนาบตามรอยต่อของแผ่นเทียนที่หุ้มหุ่นประกอบเทียนนั้นจนต่อกันสนิท
๗. ฉีดหรือทาทุกส่วนของต้นเทียนทั้งส่วนยอด ฐาน และองค์ประกอบด้วยน้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา หรือน้ำมันพืชสำเร็จรูปที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดก็ได้ ส่วนเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ไม่นิยมการทา ด้วยน้ำมันชนิดใด ๆ
ประโยชน์ที่ได้รับจากการทาด้วยน้ำมัน
๑. เปลี่ยนสีของเทียนให้มีความสดใสขึ้น
๒. เปลี่ยนสีของเทียนที่อาจแตกต่างกันในแต่ละส่วนให้มีสีที่คล้ายคลึงกัน
๓. ขจัดหรือละลายคราบของเศษเทียนทำให้ลวดลายที่แกะเด่นชัดขึ้น
๔. ลบรอยต่อของเทียบให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
การทำต้นเทียนประเภทแกะสลักและติดพิมพ์
ขั้นตอนการทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์และแกะสลัก
ออกแบบ
หล่อต้นเทียน
กลึงต้นเทียน
ทำผึ้งแผ่น
ติดดอกผึ้ง/แกะสลัก (ตามลักษณะต้นเทียนแต่ละประเภท)
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้หล่อลำต้นเทียนและยอดต้นเทียนของต้นเทียนประเภทติดพิมพ์และประเภทแกะสลัก
๑.ขึ้ผึ้งถ้วย หรือขี้ผึ้งน้ำมัน
จำนวน ๑๐๐ - ๒๐๐ กิโลกรัม เป็นวัสดุหลักในการจัดทำเทียน
หมายเหตุ ใช้ขี้ผึ้งแท้ทั้งหมด หรืออาจใช้ขี้ผึ้งน้ำมันเป็นส่วนผสมบ้างก็ได้ ตามงบประมาณ แต่ใช้ขี้ผึ้งแท้ในอัตราส่วนที่มากกว่า
๒.เตาอั้งโล่พร้อมถ่านไม้
จำนวน ๒ - ๔ เตา สำหรับใช้ต้มเทียน
หมายเหตุ จำนวนของเตาอาจมีมากกว่าที่กำหนดไว้ได้ ตามขนาดและปริมาณของต้นเทียนและขี้ผึ้งที่ใช้ในการจัดทำเทียน
๓.ชามอ่างขนาดใหญ่
จำนวน ๒ ใบ สำหรับใส่น้ำต้มชั้นนอก
หมายเหตุ เป็นกระบวนการต้มขี้ผึ้งโดยใช้อุปกรณ์้ ๒ ชั้น ชั้นแรก ใส่น้ำ ชั้นที่ ๒ ใส่ขี้ผึ้งอาศัยความร้อนจากน้ำเดือดในชามอ่างใบนอก เป็นตัวทำให้ขี้ผึ้งละลาย และเป็นการป้องกันมิให้ขี้ผึ้งไหม้
๔.ชามอ่างขนาดกลาง
จำนวน ๔ ใบ สำหรับใส่ขี้ผึ้งแล้วนำไปวางลงในชามอ่างขนาดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
หมายเหตุ ความร้อนจากน้ำเดือดจากชามอ่างใหญ่ จะทำให้ขี้ผึ้งในชามอ่างที่อยู่ด้านในละลาย
๕.ชามอ่างขนาดเล็ก
จำนวน ๑ ใบ สำหรับใส่ขี้ผึ้งที่ผ่านการต้มจนละลายแล้ว โดยจะเทใส่ในชามอ่างไว้หลาย ๆ ใบ เพื่อให้ขี้ผึ้งเย็นตัวลงอย่าง รวดเร็ว
หมายเหตุ ชามอ่างขนาดเล็กใส่ขี้ผึ้งเตรียมสำหรับรีดทำดอกผึ้ง
๕. ปี๊บ
จำนวน ๒ - ๔ ใบ สำหรับต้มขี้ผึ้ง
หมายเหตุ จะมีมากกว่านี้ก็ได้ตามขนาดและปริมาณของขี้ผึ้งที่จะใช้ต้ม
๖. ผ้ากรอง (ผ้าขาวเนื้อละเอียด)
จำนวน ๒ เมตร กรองขี้ผึ้ง
หมายเหตุ จะขึงใส่ในโครงเหล็ก หรือโครงไม้วางเหนือภาชนะที่ใช้สำหรับใส่ขึ้ผึ้ง อาจเป็นโอ่ง หรือชามอ่างก็ได้ เป็นการกรองฝุ่นตะกอนที่เกิดจากขี้ผึ้ง แม้ว่าเป็นขี้ผึ้งบริสุทธิ์ก็อาจมีเศษฝุ่นละอองตกค้างอยู่ได้
๗. กระบวยโลหะ หรือกระบวยตักน้ำ หรือขันพลาสติกชนิดทนความร้อน
สำหรับตักขี้ผึ้ง
หมายเหตุ ไม่ควรมีขนาดใหญ่จนเกินไป เพราะจะทำให้ตักลำบากและอาจเกิดอุบติเหตุได้
๘. โอ่งมังกร หรือ ถังน้ำมันเปล่า
จำนวน ๒ ใบ สำหรับใส่ขี้ผึ้งที่ต้มละลายแล้ว
หมายเหตุ สำหรับใส่ขี้ผึ้งที่กรองสะอาดแล้ว ก่อนนำไปกรอกลงในแบบหล่อ หรือแบบพิมพ์ลำต้น และยอดของต้นเทียน
๙. ท่อนไม้ หรือท่อพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ x ๔ นิ้ว ยาว ๓ เมตร
จำนวน ๑ ท่อน สำหรับทำแกนลำต้น
หมายเหตุ หากไม่มีแกนของลำต้น อาจทำให้ต้นเทียนอ่อนตัวลง และเสียรูปทรงได้ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดขี้ผึ้ง โดยวัสดุที่ใช้ในการทำแกนลำต้นสามารถเลือกได้หลายรูปแบบ เช่น ไม้ ท่อพลาสติก ท่อเหล็ก เป็นต้น ซึ่งการเลือกใช้ท่อจะสะดวก เวลานำมากลึง แต่การใช้ท่อเหล็กจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักของต้นเทียน เมื่อนำมาประกอบเป็นต้นแล้ว ต้องหาลวด หรือสลิงยึดเอาไว้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันการล้ม หรือโอนเอนไปมา
๑๐. ท่อนไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ x ๔ นิ้ว ยาว ๐.๖๐ เมตร
จำนวน ๑ ท่อน สำหรับทำแกนยอด
หมายเหตุ แกนสำหรับทำยอดให้เป็นแกนไม้ก็ได้ เพราะมีขนาดไม่ใหญ่ และน้ำหนักเบา
๑๑. ผ้าขี้ริ้วสะอาด
จำนวน ๕ ผืน สำหรับเช็ดมือ
หมายเหตุ เนื่องจากในการทำดอกผึ้ง ส่วนประกอบที่สำคัญในการตัดดอกผึ้ง คือ น้ำผสมผงซักฟอก หรือน้ำสบู่ เนื่องจากต้องใช้น้ำอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีผ้าไว้สำหรับเช็ดมือ
๑๒.สังกะสีแผ่นเรียบ (ชนิดหนา) ขนาดกว้าง ๖๐ เซ็นติเมตร ยาว ๑๐ ฟุต
จำนวน ๑ แผ่น สำหรับทำแบบหล่อลำต้น
หมายเหตุ การใช้สังกะสีแผ่นเรียบทำแบบหล่อ เพราะสามารถแกะต้นเทียนออกจากแบบได้ง่าย และได้ต้นเทียนที่มีผิวเรียบสวย
๑๓.สังกะสีแผ่นเรียบ (ชนิดหนา) ขนาดกว้าง ๖๐ เซ็นติเมตร ยาว ๒ ฟุต
จำนวน ๑ แผ่น สำหรับทำแบบหล่อยอดต้น
หมายเหตุ เหตุผลเดียวกับ ข้อ ๑๒.
๑๔.ถังตักน้ำ
จำนวน ๑ - ๒ ใบ สำหรับตักน้ำ
๑๕.ไม้ขนาดเท่าแขนยาว ๑.๕๐ เมตร
จำนวน ๒ ต้น สำหรับทำเสา
หมายเหตุ เสายึดแกนต้นเทียน
๑๖.ไม้ไผ่ส่างไพรผ่าครึ่งยาว ๑ เมตร หากไม่มีอาจใช้ไม้เบญจพรรณ ขนาดเท่ากับไม้ไผ่ไม่ต้องผ่าครึ่ง
จำนวน ๒ ซีก หรือ ๒ ท่อน สำหรับเป็นไม้ขนาน
หมายเหตุ ในการทำแบบหล่อลำต้น ต้องมีไม้สำหรับยึดโครงแบบให้ตั้งตรง
๑๗. เสียม หรือจอบ
จำนวน ๒ - ๓ อัน สำหรับขุดหลุม
หมายเหตุ ทำเบ้าหล่อต้นเทียน
การทำแบบพิมพ์สำหรับหล่อลำต้นเทียนและยอดเทียน
แบบพิมพ์สำหรับหล่อเทียน อีสานเรียกว่า “โฮง” หรือ“เบ้าหลอม” โฮงหรือเบ้า้หลอมทำจากสังกะสีแผ่นเรียบชนิดหนาถ้าหล่อลำต้นเทียนใช้สังกะสีขนาดกว้าง ๘๐ - ๑๒๐ เซนติเมตร ยาว ๘ - ๑๐ ฟุต ถ้าหล่อยอดเทียนให้ใช้สังกะสีแผ่นเรียบรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ ๘๐ เซนติเมตร หรือ ๒ ฟุต ขนาดของสังกะสีที่ใ่ช้ทำแบบหล่อลำต้น และยอดสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม นำสังกะสีแผ่นเรียบมาตัด ให้ส่วนที่จะเป็นปลายหรือส่วนยอดของต้นเทียนแคบเข้า โดยส่วนที่เป็นฐานจะมีขนาดใหญ่กว่า แล้วนำแผ่นสังกะสีที่ตัดไว้มาโค้งเป็นรูปทรงกระบอกค่อนไปทางรูปทรงกรวยเหมือนการทำหม้อนึ่งสังกะสี ขอบด้านข้างของสังกะสีพับโค้งงอเข้าเพื่อซ่อนขอบอีกด้านหนึ่ง เหมือนกับที่ช่างบัดกรีตีตะเข็บหม้อนึ่งสังกะสี การทำโฮงหรือเบ้าหลอมให้มีลักษณะดังกล่าว ใช้ได้ทั้งสำหรับต้นเทียนและยอดต้นเทียน
ในทางปฏิบัติ การทำแบบพิมพ์ต้นเทียน ช่างอาจดัดงอสังกะสีเข้าหากัน โดยให้ปลายทั้ง ๒ ข้างงอเป็นตะขอเกาะเกี่ยวกันเอาไว้ หรือทำเป็นตะเข็บ แล้วบัดกรีด้วยตะกั่วก็ได้ ทั้ง ๒ วิธีมีข้อดีและข้อเสีย ดังนี้
๑. วิธีทำเป็นตะขอ
ข้อดี การดัดงอเช่นนี้ เมื่อหล่อต้นเทียนแล้วจะถอดแบบพิมพ์ออกก็ทำได้ง่าย
ข้อเสีย เมื่อสังกะสีถูกขี้ผึ้งที่ร้อน เนื้อสังกะสีจะขยายตัว ทำให้ตะขอแยกออกจากกัน และเป็นช่องให้ขี้ผึ้งไหลออกทำให้สิ้นเปลือง สร้างความวิตกกังวล
๒. วิธีทำเป็นตะเข็บ
ข้อดี วิธีนี้เมื่อบัดกรีด้วยตะกั่วแล้ว เนื้อตะกั่วจะเชื่อมให้สังกะสีแนบชิดติดกัน เวลาเทขี้ผึ้งลงไปตะเข็บก็จะไม่แยกออกจากกัน ขี้ผึ้งจะไม่ไหลออก ทำให้ไม่สิ้นเปลือง และมีความมั่นใจ
ข้อเสีย เวลาจะถอดแบบพิมพ์ ต้องใช้กรรไกรตัดสังกะสี และแบบพิมพ์ที่ถูกตัดแล้วจะนำมาใช้อีกเหมือนวิธีทำเป็นตะขอไม่ได้
การเตรียมไม้ทำแกนลำต้น
การเตรียมไม้ทำแกนลำต้น จะใช้ไม้ขนาด ๔ x ๔ นิ้ว ยาว ๓ เมตร นำไม้ไปกลึงด้วยเครื่องกลึงให้เป็นรูปทรงกระบอก ส่วนปลายทั้ง ๒ ข้าง ก็กลึงเช่นเดียวกัน โดยกลึงให้เล็กลงไม่เท่ากัน กล่าวคือ ปลายด้านหนึ่งกลึงให้เป็นเดือยยาว ๑๐ เซนติเมตร เหลือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ นิ้ว ปลายอีกด้านหนึ่งกลึงให้เดือยยาว ๕๐ เซนติเมตร เหลือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ นิ้ว เดือนที่ยาว ๑๐ เซนติเมตร เป็นเดือยสำหรับสวมยอดลำต้นเทียน เพื่อป้องกันมิให้ยอดล้มหรือหลุดออก เดือนที่ยาว ๕๐ เซนติเมตร เป็นเดือยสำหรับสวมลงไปในฐานต้นเทียน เพื่อมิให้ต้นเทียนเอนหรือล้ม
ปัจจุบันใช้แกนเป็นเหล็กกลวงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ เซนติเมตร แล้วพันโอบด้วยเชือกมะนิลาอีกครั้ง เพื่อให้แกนเทียนใหญ่ขึ้น และยังเป็นการประหยัดขี้ผึ้งอีกด้วย หรืออาจใช้ไม้อัดหนา ๑๐ เซนติเมตร มาทำเป็นต้นทรงเหลี่ยม อาจเป็นสี่เหลี่ยม แปดเหลี่ยมหรือย่อมุมก็ได้ แล้วทาด้วยสีน้ำพลาสติกสีส้ม หรือสีแดงเพื่อเป็นการรองพื้น
การเตรียมไม้ทำแกนยอด
การทำแกนยอดลำต้นเทียน ทำเช่นเดียวกันกับแกนลำต้นเทียนแต่ขนาดสั้นกว่า คือ มีความยาวเพียง ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ใช้ไม้ขนาด ๘ x ๔ นิ้ว ยาว ๘๐ เซนติเมตร ๑ ท่อน นำไม้ไปกลึงแต่งให้เป็นรูปทรงกรวย โดยส่วนยอดให้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ นิ้ ส่วนฐานยอด ให้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘ นิ้ว ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ ด้านล่างสุดของฐานยอด ใช้สว่านเจาะตรงกลางให้กลวงลึกประมาณ ๑๕ เซนติเมตร รูกลวงนี้ควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า ๒ นิ้ว เล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อจะนำเดือยด้านบนของแกนลำต้นเทียนมาสวมได้ ในการหล่อส่วนของลำต้นเทียนต้องเหลือแกนส่วนที่จะนำมาสวมกับเดือยของฐานยอดด้วยความยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตรเช่นเดียวกัน
เหตุที่ต้องทำแกนลำต้นเทียนและแกนยอดต้นเทียนให้เป็นคนละท่อนนั้น ก็ด้วยเหตุที่ว่า เฉพาะแกนลำต้นเทียนก็ยาวถึง ๓ เมตรแล้ว ถ้าแกนลำต้นเทียนและแกนยอดต้นเทียนให้เป็นท่อนเดียวกัน ท่อนไม้นี้จะยาวถึง ๓.๖๐ เมตร ทำให้สูงเกินไปไม่สะดวกต่อการจัดทำใด ๆเพราะต้องให้นั่งร้าน หรือนั่งโต๊ะ หรือจัดทำบันไดสำหรับขึ้นไปจัดทำส่วนที่เป็นแกนยอดต้นเทียน ดังนั้น จึงนิยมทำแกนลำต้นเทียนส่วนหนึ่ง แ่ละแกนยอดต้นเทียนอีกส่วนหนึ่ง
การเตรียมภาชนะต้มขี้ผึ้ง
ภาชนะที่เหมาะในการต้มขี้ผึ้ง คือ ปี๊บ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายจะใช้ปี๊บน้ำมันก๊าดหรือปี๊บน้ำมันพืชก็ได้ โดยนำปี๊บมาตัดฝาด้านบน ตามขอบด้านในออกให้หมด แล้วใช้ค้อนทุบรอยตัดให้ราบลงกับขอบบนด้านใน เพื่อป้องกันไม่ใหคมโลหะบาดมือ ก่อนนำไปใช้งานควรติดหูหิ้ว อาจจะเป็นเหล็กโลหะที่โค้งสำหรับหิ้ว หรือถ้าทำหูหิ้วไม่ได้อาจหาที่จับแทน โดยใช้ไม้ขนาด ๑ x ๒ นิ้ว ยาวกว่าความยาวของขอบปากปี๊บ จำนวน ๒ ท่อน มาตีแนบเข้ากับขอบบนตรงข้ามกัน เพื่อให้จับได้สะดวก
ถ้าไม่มีปี๊บจะใช้ชามอ่างเคลือบแทนก็ได้ แต่การใช้ชามอ่างเคลือบมาต้มนั้นความร้อนจะทำให้ส่วนที่เคลือบกะเทาะ หรือเป็นรูรั่วได้ง่าย ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น ถ้าชามอ่างเคลือบเกิดความเสียหายจะนำไปใช้งานอย่างอื่นได้ไม่ดี ซึ่งต่างจากใช้ปี๊บเพราะหลังจากใช้ต้มขี้ผึ้งแล้ว ยังนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องใช้ชามอ่างเคลือบต้มขี้ผึ้งควรใช้ชามอ่าง ๒ ใบ ใบหนึ่งใหญ่ ใบหนึ่งเล็ก ใบใหญ่ใส่น้ำพอสมควร ตั้งวางบนเตาอั้งโล่ ใบเล็กใส่ขึ้ผึ้งจนเกือบเต็มปากชาม แล้วนำชามอ่างใบเล็กไปวางบนชามอ่างใบใหญ่ อาศัยความร้อนจากน้ำเดือด ขี้ผึ้งก็จะละลายได้ แต่ใช้เวลานาน ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองเวลาและถ่านที่ใช้ต้ม ถ้าจำเป็นไม่อาจหาปี๊บได้ จึงค่อยใช้วิธีนี้แทน
ปัจจุบัน ได้มีการคิดค้นหาวิธีการต้มขี้ผึ้งจากวิธีการเดิมที่เป็นการต้มขี้ผึ้งโดยตรงจะประสบกับปัญหาขี้ผึ้งไหม้ หากผู้ต้มไม่มีความชำนาญพอ จึงได้คิดหาวิธีการโดยใช้น้ำเป็นส่วนผสมในการต้มขี้ผึ้ง โดยการต้มกับน้ำสะอาดในอัตราส่วน น้ำ ๑ ส่วน ต่อ ขี้ผึ้ง ๔ ส่วน ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดพลังงานและเชื้อเพลิง นอกจากนั้นแล้ว การต้มขี้ผึ้งโดยผสมน้ำลงไปด้วยนั้น จะเป็นการคัดกรองเศษฝุ่นละออง และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนมากับขี้ผึ้ง โดยเฉพาะขี้ผึ้งที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว เศษฝุุ่นละอองหรือสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ จะตกตะกอนอยู่ด้านล่าง แยกออกจากขี้ผึ้ง เมื่อต้มจนขี้ผึ้งละลายแล้วใช้กระชอนผ้าตักออกพักไว้ในชามใบเล็ก วิธีการต้มแบบนี้จะได้ขี้ผึ้งที่สะอาดปราศจากฝุ่น พร้อมสำหรับัการใช้งานในลำดับต่อไป
การเตรียมหลุมสำหรับหล่อ
การหล่อลำต้นเทียนจำเป็นต้องหล่อในหลุมดิน การเตรียมหลุมดินสำหรับหล่อลำต้นเทียนนั้น ควรขุดให้ลึกประมาณ ๑ เมตร กว้าง ๔๐ เซนติเมตร หรือกว้างพอเหมาะกับแบบพิมพ์(โฮงหรือเบ้าหลอม) เพื่อให้หย่อนแบบพิมพ์ลงได้สะดวก หลุมที่ขุดควรเลือกหลุมในบริเวณที่ราบ เนื้อดินร่วนขุดได้ง่าย ไม่ควรเลือกหลุมในบริเวณที่มีดินเหนียว หรือ ดินเนิน
เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีการเตรียมหลุมดินในการหล่อต้นเทียนก็เพราะ
๑. โดยปกติลำต้นเทียนมีความสูง ๓ เมตร ซึ่งนับว่าสูงกว่าความสูงของคนมาก จำเป็นต้องทำให้ความสูงลดลงให้ใกล้เคียงกับความสูงขนาดนี้ จะสามารถใช้มือสัมผัสกับยึดลำต้นเทียนได้
๒. การหล่อลำต้นเทียนโดยมีแบบพิมพ์หย่อนลงไปในดิน ประมาณ ๑ เมตร ดินจะช่วยยึดตรึงแบบพิมพ์และลำต้นเทียนให้แน่น กันไม่ให้ต้นเทียนล้ม
๓. ดินจะช่วยตรึงแบบพิมพ์ให้เกาะกันแน่นแม้จะถูกแรงอัด จากน้ำหนักของเนื้อเทียนจำนวนหลายสิบกิโลกรัม แบบพิม้พ์ก็จะไม่แตก หรือ รั่ว
๔. ดินจะช่วยดูดเอาความร้อนออกจากแบบพิมพ์ ทำให้แบบพิมพ์เย็นลงเร็วขึ้น สามารถทำให้ช่างถอดแบบพิมพ์ออกได้เร็วยิ่งขึ้น
การเตรียมไม้เสาและไม้ขนาบต้นเทียน
๑. ไม้สำหรับทำเสามีขนาด ๓ - ๔ นิ้ว ยาว ๑.๕๐ เมตร จำนวน ๒ ต้น
๒. ไม้ขนาบแกนต้นเทียน ใช้ไม้ไผ่ส่างไพรผ่าครึ่งยาว ๑ เมตร โดยใช้ทั้ง ๒ ซีก หากหาไม่ได้อาจใช้ไม้เบญจพรรณขนาดเท่ากับไม้ไผ่ และไม่ต้องผ่าครึ่งก็ได้
วิธีปักเสาและตีไม้ขนาบแกนต้นเทียน
๑. ให้ขุดหลุมห่างจากหลุมหล่อลำต้นทั้ง ๒ ด้าน ๆ ละประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ให้ขุด ๒ หลุม แต่ละหลุมลึกประมาณ ๓๐ เซนติเมตร นำเสาที่เตรียมไว้ปักลงในหลุม ให้เสาโผล่จากดินขึ้นมาประมาณ ๑๒๐ เซนติเมตร กลบดินและกระทั่งที่โคนเสาให้แน่น
๒. นำแบบพิมพ์สังกะสีสำหรับหล่อต้นเทียน โดยเอาด้านบนหย่อนลงไปถึงก้นหลุม ส่วนฐานของแบบพิมพ์จะอยู่ด้านบน ทั้งนี้ ต้องตั้งแบบพิมพ์ให้ตรงและอยู่กึ่งกลางของหลุม นำไม้แกนลำต้นเทียนหย่อนลงไปข้างในแบบพิมพ์โดยให้ส่วนยอดแตะก้นหลุม ให้ไม้แกนลำต้นตั้งตรงและอยู่กึ่งกลางหลุม ส่วนที่เป็นเดือยใช้สำหรับสวมลงไปในฐานของยอดต้นเทียน ภายหลังจะกลับเป็นส่วนบนสุดใช้ไม้ ๒ อันตีขนาบเดือยนี้ โดยให้ปลายทั้ง ๒ ข้างของไม้ขนาบประกบกับเสา โดยวิธีนี้จะทำให้แกนลำต้นเทียนถูกตรึงแน่น เพื่อให้แบบพิมพ์ตรึงแน่นไม่ขยับเขยื้อน เอาดินกลบหลุมทุกด้านของแบบพิมพ์ โดยกลบแต่เพียงหลวม ๆ ห้ามกระทุ้งดิน มิฉะนั้นจะทำให้แบบพิมพ์เสียรูปทรง
การจัดหาขี้ผึ้ง
ขี้ผึ้งที่ใช้หล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ ไม่จำเป็นต้องใช้ขี้ผึ้งแท้ ซึ่งมีคุณภาพดีเพราะราคาแพง แต่ควรใช้ขี้ผึ้งคุณภาพพอใช้ได้ ซึ่งราคาประหยัดกว่า คือ ราคากิโลกรัมละประมาณ ๕๐ บาท ขี้ผึ้งที่ใช้หล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ ๑ ต้น จะมีปริมาณ ๗๐ - ๑๐๐ กิโลกรัม นั่นคือ ต้นทุน เฉพาะส่วนที่ใช้หล่อลำต้นเทียนจะตกประมาณ ๓๕๐๐ - ๕๐๐๐ บาท
วิธีหล่อต้นเทียน
การหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์และแกะสลัก มีขั้นตอน แเละวิธีการส่วนใหญ่คล้ายกัน มีความแตกต่างกันที่พบได้มี ๒ ประการ คือ
๑. การหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์และแกะสลักใช้ ขี้ผึ้งคุณภาพพอใช้ได้ซึ่งมีราคาถูก อัตราส่วนของขี้ผึ้งสำหรับการหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ คือ จะใช้ขี้ผึ้งน้ำมัน หรือขี้ผึ้งถ้วย ผสมกับขี้ผึ้งแท้ ในอัตราส่วน ๑ ต่อ ๑ แต่การหล่อต้นเทียนประเภทแกะสลักจะใช้ขี้ผึ้งคณภาพดี หรือขี้ผึ้งแท้เป็นส่วนผสมในอัตราสวนที่มากกว่า คือ ขี้ผึ้งแท้๕ ส่วน ต่อขี้ผึ้งน้ำมัน ๑๐ ส่วน หรือหากมีงบประมาณมากอาจเพิ่มอัตราส่วนของขี้ผึ้งแท้ให้มากกว่านี้ก็ได้ ทั้งนี้ เพราะว่าหากขี้ผึ้งคุณภาพไม่ดีจะมีความยืดหยุ่น หรือความเหนียวน้อย เมื่อแกะสลักลวดลายที่มีความลึกเ่ละซับซ้อนหลายชั้น ขี้ผึ้งจะแตกหักได้ง่าย
๒. ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ มักหล่อให้มีขนาดเล็กกว่าต้นเทียนประเภทแกะสลัก เพราะต้นเทียนประเภทติดพิมพ์จะต้องนำไปกลึงให้เป็นรูป และขนาดเล็กลงบางส่วน แล้วจึงติดดอกเสริมโดยรอบให้หนาขึ้น ส่วนต้นเทียนประเภทแกะสลักต้องทำให้มีขนาดใหญ่เอาไว้เพื่อที่จะแกะหรือขูดออก
การทำลำต้นเทียนเพื่อใช้สำหรับติดพิมพ์นั้น อาจมีรูปแบบการจัดทำได้หลายรูปแบบตามความคิดของช่างทำต้นเทียน ว่าต้องการนำเสนอเรื่องราวในด้านใดของพระพุทธศาสนา ซึ่งในอดีตนั้นยังยึดถือว่าต้นเทียนต้องมีลักษณะกลมเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยน รูปทรงของต้นเทียนเป็นหกเหลี่ยมบ้างตามมรรค ๖ แปดเหลี่ยมบ้างตามหลักมรรค ๘ ทั้งนี้ โดยอิงหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นเกณฑ์ นับเป็นการสร้างสรรค์งานเทียนอีกประการหนึ่งด้วยเช่นกัน
การเทขี้ผึ้งเพื่อหล่อลำต้นเทียน
๑. เตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ไว้ให้พร้อม และนำมาวางไว้บริเวณที่ช่างจะทำการหล่อ รวมทั้งเตรียมคนที่จะเป็นลูกมือช่วยงาน ซึ่งจะใช้ประมาณ ๒ - ๓ คน
๒. นำขี้ผึ้งที่เตรียมไว้มาสับเป็นก้อนเล็ก ๆ ใส่ลงไปในภาชนะที่จะต้ม
๓. นำขี้ผึ้งใส่ลงไปในปี๊บหรือภาชนะที่ใช้ต้ม แล้วนำขึ้นตั้งบนเตาอั้งโล่ ต้มขี้ผึ้งจนละลาย ยกปี๊บลงจากเตาไฟ เทขี้ผึ้งที่ละลายแล้วลงไปในโอ่งมังกร ขี้ผึ้งที่ต้มจะมีกี่ปี๊บก็เทลงรวมกันในโอ่งจนหมด จนได้ขี้ผึ้งที่ต้มละลายแล้วให้มีปริมาณเพียงพอที่จะใช้หล่อ
๔. เอานิ้วมือจุ่มลงไปในขี้ผึ้งที่ละลายอยู่ในโอ่ง ถ้าขี้ผึ้งติดนิ้วมือขึ้นมาบาง ๆ แสดงว่าอุณหภูมิของขี้ผึ้งกำลังได้ที่พอดี พอที่จะนำไปเทลงไปในแบบพิมพ์ได้
๕. ใช้ภาชนะที่เตรียมไว้ (กระบวยโลหะ หรือกระบวยตักน้ำ หรือขันพลาสติกทนความร้อน) ตักขี้ผึ้งในโอ่งมังกรเทลงในแบบพิมพ์สังกะสีที่เตรียมไว้ในหลุมให้เต็ม การเทให้ค่อย ๆ เทลงไปทีละน้อย
๖. สังเกตุระดับขี้ผึ้งจะเห็นว่าค่อย ๆ ลดลง ให้ตักขี้ผึ้งในใอ่งมังกรเติมลงไปให้เต็มเหมือนเดิม ทำอยู่เช่นนี้หลาย ๆ ครั้ง จนกว่าขี้ผึ้งจะเต็มแบบพิมพ์อย่างเต็มที่ จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง
งานเทขึ้ผึ้งเพื่อหล่อลำต้นเทียน เป็นงานเทคนิคที่มีขั้นตอนละเอียดอ่อน ต้องใช้ความชำนาญ และกระทำด้วยความระมัดระวัง มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของกระบวนการ
ข้อควรระวังในเรื่องนี้ มีดังูต่อไปนี้
๑) ขี้ผึ้งเป็นวัตถุอมความร้อนได้มาก ยิ่งมีปริมาณมาก ยิ่งอมความร้อนได้มากขึ้น การเทขี้ผึ้งต้องค่อยเป็นค่อยไป จะผลีผลามไม่ได้ นั่นคือ เมื่อขี้ผึ้งร้อน ๆ อย่ารีบเท เพราะจะทำให้เกิดฟองอากาศ ซึ่งเมื่อแห้งแล้วจะเกิดเป็นช่องหรือโพรงอากาศ หรือไม่ก็เป็นจุดขาว บางครั้งเนื้อขี้ผึ้งจะไม่เชื่อมต่อกันสนิท ทำให้ลำต้นเทียนไม่สวยเท่าที่ควร ซึ่งถ้าหากลำต้นเทียนไม่สวยแล้ว จะเป็นปัญหามากกับงานเขียนประเภทแกะสลัก สำหรับต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ไม่มีผลกระทบมากนัก
๒) การเทขี้ผึ้งลงไปในแบบพิมพ์ต้องเทติดต่อกัน อย่าทิ้งช่วงไว้นาน มิฉะนั้นจะทำให้ต้นเทียนเกิดเป็นรอยต่อ หรือรอยแยกเหมือนแตกระแหง
๓) ขี้ผึ้งที่ต้มจนละลายแล้ว จะตักจากปี๊บเทลงไปในแบบพิมพ์ทันทีไม่ได้ ต้องเทและกรองรวมกันไว้ในโอ่งเสียก่อน เพื่อให้ขี้ผึ้งเป็นเนื้อเดียวกัน สีของขี้ผึ้งกลมกลืนกัน ระดับความร้อนใกล้เคียงกัน ลำต้นเทียนจึงจะสวยและราบเรียบ
๔) อย่าใช้ภาชนะที่มีขนาดใหญ่ตักขึ้ผึ้งเทลงไปในแบบพิมพ์ เพราะจะเกิดผลเสียอย่างน้อย ๒ ประการ คือ ประการแรก จะทำให้เกิดฟองอากาศตามที่กล่าวแล้วในข้อ ๑) ข้างต้น ประการที่สอง จะทำให้ แบบพิมพ์ที่เป็นสังกะสีไม่อาจทนความร้อนได้ สังกะสีที่เป็นแบบพิมพ์อาจแตกกลางคัน ภาชนะที่ใช้ตักขี้ผึ้งควรเป็นภาชนะที่ได้เสนอแนะไว้แล้ว ข้างต้น
๕) ทุกครั้งที่เทขี้ผึ้ง ผู้เทจะต้องยืนให้สูงกว่าปากของแบบพิมพ์ มิฉะนั้นจะทำให้ขี้ผึ้งหก หรือกระฉอกออกนอกแบบพิมพ์ หรือกระเด็นมาถูกตัวผู้เท ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนได้
๖) ทุกระยะที่เทขี้ผึ้ง ต้องหมั่นตรวจดูแบบพิมพ์อยู่เสมอว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใดหรือไม่ เพื่อเตรียมการแก้ปัญหาตามเหตุที่เกิด
๗) ถ้าแบบพิมพ์มีรอยปริ หรือแตก ควรใช้ปูนปลาสเตอร์ หรือดินเหนียว หรือวัสดุอย่างอื่นอุดรอยรั่วไว้ให้ดี
๘) อย่าใช้เด็กเทขี้ผึ้ง อาจเกิดอันตรายได้
๙) อย่ารีบร้อนถอดแบบพิมพ์ออกก่อนเวลากำหนด ซึ่งโดยปกติกว่าขี้ผึ้งจะแข็งตัวเต็มที่จะใช้เวลาประมาณ ๖ วัน เมื่อจะถอดแบบพิมพ์ควรใช้ช่างที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ อาจจะเป็นช่างกลึงก็ได้ มิฉะนั้น ต้นเทียนอาจจะบีบหรือยุบ หรือเสียรูปทรงได้ ซึ่งเป็นการยากที่จะแก้ไขให้ดีเหมือนเดิม หากเสียหายรุนแรงอาจถึงขั้นกลับไปดำเนินการใหม่หมด ทำให้งานล้าช้ากว่าที่กำหนด
การเทขี้ผึ้งเพื่อหล่อยอดต้นเทียน
การเทขี้ผึ้งหล่อยอดต้นเทียน มีวิธีการและขั้นตอนคล้ายกับการเทขี้ผึ้งหล่อลำต้นเทียน แต่เนื่องจากมีขนาดสั้นกว่ามาก จึงทำได้ง่ายกว่า กล่าวคือ อาจจะไม่ต้องขุดหลุมดิน และไม่จำเป็นต้องฝังเสาสำหรับตรึงแกนไม้ก็ได้ ปริมาณขี้ผึ้งที่ใช้ก็น้อยกว่าประมาณ ๒๐ กิโลกรัมเท่านั้น
การถอดแบบพิมพ์
การถอดแบบพิมพ์ มีแบบพิมพ์ที่จะต้องถอดอยู่ ๒ อย่างคือ แบบพิมพ์ลำต้นเทียน และแบบพิมพ์ยอดต้นเทียน
๑. การถอดแบบพิมพ์ลำต้นเทียน
ก่อนถอดแบบพิมพ์สังกะสีออกจากลำต้นเทียนที่หล่อไว้แล้ว จะต้องค่อยแกะไม้ที่ขนาบแกนทั้ง ๒ ข้าง ออกจากต้นเสาและแกนลำต้นเทียน ยกเทียนที่ติดอยู่กับแบบพิมพ์ขึ้นมาจากหลุม หากช่างมีความชำนาญพอ อาจใช้กรรไกรตัดแบบพิมพ์สังกะสีให้หลุดออกจากลำต้นเทียนที่หล่อแล้วได้เลย หากช่างไม่มีความชำนาญพอหรือไม่มั่นใจ อาจนำไปให้ช่างกลึงช่วยถอดแบบพิมพ์ให้ก็ได้ วิธีหลังนี้สะดวกและดีกว่า
๒. การถอดแบบพิมพ์ยอดต้นเทียน
การถอดแบบพิมพ์ยอดต้นเทียน ทำวิธีเดียวกันกับการถอดแบบพิมพ์ลำต้นเทียน
การกลึงต้นเทียน
การกลึงต้นเทียน ๒ วิธี คือกลึงโดยช่างกลึง และ กลึงโดยเครื่องที่จัดทำขึ้นเอง การกลึงโดยวิธีแรกสะดวกและรวดเร็วกว่าวิธีที่ ๒ แต่ควรให้คำแนะนำแก่ช่างกลึงให้ชัดเจน การกลึงเทียน ทำได้ง่ายกว่าการกลึงเหล็กและกลึงไม้จึงมักไม่มีปัญหา ในกรณีที่ไม่มีโรงกลึง ช่างทำเทียนจำเป็นต้องทำเครื่องมือกลึงขึ้นเอง
เครื่องมือที่ทำขึ้นเองสำหรับใช้ในการกลึง ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือ
๑) เพลากลึง ทำด้วยเหล็กมี ๒ ช่วง แต่ละช่วงเป็นราวสอดทะลุเสาไม้ ซึ่งไม่ยากนักและตั้งอยู่บนแท่น แท่นไม้ทำหน้าที่เป็นฐานรองรับป้องกันการกระเทือนและกันมิให้เสาล้ม ด้านหนึ่งของเสาไม้และราวเหล็กจะต้องยาวออกไป ซึ่งจะมีไม้อีกท่อนหนึ่งตั้งไว้สำหรับหมุนได้ตรง กลางของราวเหล็กทั้ง ๒ ข้าง เป็นที่สำหรับวางลำต้นเทียนที่ถอดออกจากแบบพิมพ์แล้ว เมื่อนำต้นเทียนเข้าไปวางตรงกลางของราวเหล็ก จะต้องให้ราวเหล็กทั้ง ๒ ข้างตรึงลำต้นเทียนให้แน่นอยู่กึ่งกลาง และเมื่อหมุนตรงที่จับลำต้นเทียนก็จะหมุนตาม
๒) เหล็กกลึง เป็นแท่งเหล็กกลม ปลายด้านหนึ่งเป็นรูปต่าง ๆ อาจจะเป็นปลายแหลม หรือปลายแบนมีคม หรือปลายแบนแต่เฉียง หรือรูปทรงลักษณะอื่นตามที่ต้องการ เหล็กกลึงนี้ใช้สำหรับกลึงเทียนให้เป็นรปตามที่ต้องการ
๓) แท่นไม้รองรับเหล็กกลึง เป็นแผ่นไม้หนามี ๒ ชิ้นประกบกัน แผ่นแรกลักษณะเหมือนกรอบรูป แผ่นที่ ๒ ลักษณะเหมือนขาค้ำยันของกรอบรูป
ในการกลึงลำต้นเทียนมีข้อระวังคือ เมื่อกลึงเสร็จแล้วก่อนจะยกลำต้นเทียนออกจะต้องหาวัสดุมาไว้รองรับ และวัสดุนั้นจะต้องอ่อนนุ่ม มิฉะนั้นลำต้นเทียนอาจบุบสลาย ซึ่งนิยมใช้หมอนในการรองรับ การกลึงต้นเทียนที่กล่าวข้างต้นใช้สำหรับทั้งกลึงลำต้นเทียนและกลึงยอดต้นเทียน
การทำขี้ผึ้งแผ่น
ต้นเทียนทั้ง ๒ ประเภท คือ ประเภทติดพิมพ์และประเภทแกะสลัก มีส่วนประกอบที่สำคัญ เหมือนกันอยู่ ๓ ส่วน คือ
๑. ฐาน
๒. ลำต้น
๓. ยอด
ทั้ง ๓ ส่วน จะต้องทำให้เกิดความสวยงาม วิจิตรพิสดาร สิ่งที่ช่วยเป็นพื้นฐานที่จะสร้างสรรค์ความสวยงามและวิจิตรพิสดาร คือ ผึ้งแผ่น หมายถึ็ง ขี้ผึ้งที่ทำขึ้นเป็นแผ่น เพื่อใช้สำหรับปิดทุกส่วนของทั้ง ๓ ส่วนข้างต้น เพื่อให้เป็นพื้นที่ซึ่งจะติดดอกหรือลวดลายที่ทำขึ้นต่อไป เมื่อประมาณ ๕๐ ปีที่ผ่านมา ช่างทำต้นเทียนมักใช้กระดาษสีปิดส่วนต่าง ๆทั้ง ๓ ส่วน แล้วใช้กระดาษที่ทำเป็นลวดลายปิดทับอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นงานที่ทำได้ง่ายและดูเป็นของธรรมดา นายประดับ ก้อนแก้ว เป็นผู้ริเริ่มคิดหาวิธีที่แตกต่างกันออกไป คือ ไม่ต้องการใช้กระดาษ แต่ต้องการให้ทุกส่วนทำด้วยขี้ผึ้ง จึงหาวิธีทำขี้ผึ้งแผ่นขึ้นมาใช้ ทดลองทำอยู่หลายครั้งและหลายปี ในที่สุดก็สามารถทำผึ้งแผ่นได้สำเร็จ ต่อมาจึงมีผู้นิยมทำตามอย่างกว้างขวาง
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำขี้ผึ้งแผ่น ประกอบด้วย
๑) ปี๊บ
๒) ขี้ผึ้งคุณภาพพอใช้ได้
๓) เตาอั้งโล่
๔) ถ่านไม้
๕) แบบพิมพ์ทำจากแผ่นเหล็ก หรือสังกะสีแผ่นเรียบ
๖) มะขามเปียก
๗) น้ำ
๘) ชามอ่างขนาดใหญ่
๙) มีดปลายแหลม และมีดปลายตัด
๑๐) กระบวย หรือกระบวยโลหะ สำหรับตักขี้ผึ้ง
๑๑) ลิ่มไม้
วิธีทำผึ้งแผ่นมีขั้นตอนดังนี้
๑. จัดหาขี้ผึ้งคุณภาพพอใช้ได้มาจำนวนหนึ่ง ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับทำขี้ผึ้งแผ่นตามที่ต้องการใช้งาน หากไม่เพียงพออาจจะหามาเพิ่มเติมภายหลังได้ ขี้ผึ้งที่หามาถ้าเป็นก้อนโตควรทำให้เป็นก้อนเล็ก โดยทุบหรือสับก่อน ซึ่งเมื่อต้มจะทำให้ละลายเร็วขึ้น
๒. นำขี้ผึ้งที่สับเป็นก้อนเล็กแล้วบรรจุลงในปี๊บ แล้วยกขึ้นตั้งบนเตาอั้งโล่ ต้มขี้ผึ้งจนละลายเป็นของเหลว
๓. ตั้งวางแบบพิมพ์ไว้บนพื้นราบ อย่าให้ข้างใดข้างหนึ่งเอียง เพราะถ้าเทขี้ผึ้งเหลวลงไปจนเต็มแบบพิมพ์ ขี้ผึ้งจะไหลทะลักออกมาจากแบบพิมพ์
๔. นำมะขามเปียกที่เตรียมไว้มาผสมกับน้ำเล็กน้อยถูมะขามเปียกกับพื้นผิวทุกส่วนที่อยู่ด้านในของแบบพิมพ์ให้ทั่ว เมื่อถูจนทั่วดแล้วเก็บเศษเนื้อมะขามเปืยกออกให้หมด อย่าทิ้งเศษเอาไว้บนพื้นผิวแบบพิมพ์แม้จะเป็นเศษชิ้นเล็ก ๆ ก็ตาม การเอามะขามเปียกถูพื้นผิวแบบพิมพ์ก็เพื่อทำให้เกิดความลื่น วัสดุที่ใช้เพื่อให้พื้นผิวลื่นนี้ให้ใช้มะขามเปียกเท่านั้น จะใช้น้ำมันหรือวัสดุอื่นใดไม่ได้
๕. เมื่อตั้งวางแบบพิมพ์เรียบร้อยแล้ว ใช้กระบวยตักขี้ผึ้งที่ต้มละลายจนเหลวเทลงไปในแบบพิมพ์ จะเทลงไปมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความหนาของผึ้งแผ่นที่ต้องการ ระหว่างที่เทขี้ผึ้งหากสังเกตุเห็นว่าพื้นผิวด้านหน้าของขี้ผึ้งไม่อยู่ในแนวระนาบ ควรใช้ลิ่มไม้สอดหนุนด้านที่ต่ำให้สูงขึ้นทันทีี
๖. หลังจากเทขี้ผึ้งลงไปในแบบพิมพ์ประมาณ ๕ นาที ขี้ผึ้งเหลวจะเริ่มแข็งตัว ถ้าต้องการเร่งให้แข็งตัวเร็วขึ้นและแกะออกได้ง่าย เมื่อเห็นว่าขี้ผึ้งแข็งตัวจนไม่ไหลไปมาไหลมาแล้ว ให้ยกแบบพิมพ์ไปแช่น้ำในชามอ่างหรือในภาชนะอื่น ขี้ผึ้งที่กำลังแข็งตัวจะแข็งตัวเร็วขึ้น และลอกออกจากแบบพิมพ์ได้ง่ายขึ้น
๗. การลอกผึ้งแผ่นออกจากแบบพิมพ์ ควรใช้มีดปลายแหลม หรือมีดปลายตัดช่วยในการงัดแงะ แล้วดึงผึ้งแผ่นออกจากแบบพิมพ์ด้วยมือ ถ้าผึ้งแผ่นโค้งหรืองอ ก็เอามือดัดให้ราบเรียบเหมือนที่อยู่ในแบบพิมพ์
๘. ถ้าต้องการผึ้งแผ่นจำนวนมาก ควรใช้แบบพิมพ์หลายอัน เพราะการหล่อผึ้งแผ่นแต่ละแผ่นใช้เวลานาน ผึ้งแผ่นที่ทำเสร็จแล้ว สามารถนำไปติดกับส่วนต่าง ๆ ของต้นเทียนเพื่อใช้เป็นบริเวณสำหรับติดลายดอกต่อไป
ความแตกตางระหว่างต้นเทียนประเภทติดพิมพ์และต้นเทียนประเภทแกะสลัก
เนื่องจากถ้าหากดูจากภาพถ่าย จะเห็นได้ว่าต้นเทียนประเภทติดพิมพ์เเละต้นเทียนประเภทแกะสลักมีความคล้ายคลึงกันมาก แทบแยกประเภทไม่ออก และแม้จะเห็นด้วยตา ก็ไม่สามารถแยกได้ว่า ต้นเทียนทั้ง ๒ ประเภทนี้มีิความแตกต่างกันอย่างไร นายประดับ ก้อนแก้ว จึงได้้อธิบายถึงข้อแตกต่างระหว่างต้นเทียน ๒ ประเภทนี้ ดังตอไปนี้
ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์
ลำต้นเทียนที่เห็นจะไม่ใช่ขนาดที่แท้จริงของลำต้นเทียน เพราะเวลาหล่อช่างจะทำให้มีขนาดเล็กกว่าขนาดที่ต้องการ เมื่อมีการเอาผึ้งแผ่นและดอกผึ้งมาติดเสริมเข้าจะเป็นขนาดที่ต้องการ
ลำต้้นจะต้องกลึงให้เป็นรูปร่างที่ต้องการ ทั้งส่วนโค้ง ส่วนนูน และส่วนคอด เมื่อเวลาติดพิมพ์จะไม่ต้องตกแต่งแเก้ไข คือ ติดแผ่นผึ้งและติดดอกผึ่งตามรูปทรงที่กลึงไว้
สีของลำต้นที่อยู่ภายในกับสีของแผนผี้งและดอกผึ้งจะเป็นคนละสี กล่าวคือ สีของลำต้นกับสีของแผนผี้งมักุจะเป็นสีเดียวกัน คือ สีเหลือ สีแดง หรือสีส้ม ส่วนดอกผึ้งจะเป็นสขาวเหลือง หรือสีเหลืองอ่อน ทั้งนี้เพราะใช้ขี้ผึ้งคนละชนิด ลำต้นและแผ่นผึ้งใช้ขี้ผึ้ื้งชนิดไม่ดี ส่วนดอกผึ้งใช้ขี้ผึ้งชนิดดี
ดอกผึ้งพิมพ์จากแบบพิมพ์ แล้วจึงนามาติดบนแผ่นผึ้ง ซึ่งติดอยู่กับลำต้นอยู่แล้ว หรือนำดอกผึ้งมาติดบนลำต้นโดยตรง ทั้งนี้แล้วแต่ช่างจะเห็นเหมาะสม
ดอกผึ้งที่เป็นลวดลายต่าง ๆ อาจหลุดง่าย เพราะเพียงแต่นำมาติดไว้เท่านั้น ซึ่งบางครั้งอาจติดไม่สนิท
ดอกผึ้งที่ทำเป็นลวดลายต่าง ๆ จะเป็นดอกเล็ก ๆ บาง ๆ ไม่นูน ไม่หนา เพื่อให้มีความละเอียด
ดอกผึ้งที่นำมาติดเป็นลวดลาย แต่ละดอกเป็นลายอิสระที่ตัดขาดจากกันแล้วเอามาติดให้ต่อกัน การติดอาจจะไม่เชื่อมกันสนิท เพราะไม่ได้ทำดอกผึ้งเป็นลวดลายติดต่อกันเป็นพืด
ลวดลายส่วนมากไม่ค่อยเป็นเรื่องราว เพราะการพิมพ์ลวดลายต้องพิมพ์ในแบบพิมพ์ที่เป็นหิน หรือเป็นปูน หรือเป็นไม้ ซึ่งการแกะสลักแบบพิมพ์ทำได้ยากกว่าการแกะสลักขี้ผึ้งตามวิธีการของต้นเทียนประเภทแกะสลัก
รอยต่อระหว่างดอกและระหว่างลวดลายมีมาก เพราะใช้ดอกผึ้งมาติดเรียงต่อกันไป
เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้พิมพ์ดอกผึ้งมีหลายอย่าง และการพิมพ์มีขั้นตอนสลับซับซ้อน และละเอียดอ่อน
ต้นเทียนประเภทแกะสลัก
ลำต้นเทียนประเภทแกะสลักจะมีขนาตใหญ่กว่าต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ เนื่องจากต้องเผื่อการเกลาเทียนออกในขั้นตอนของการแกะสลัก
ลำต้นเทียนที่หล่อเสร็จแล้ว บางต้นแกะสลักได้เลยโดยไม่ต้องกลึง ขึ้นอยู่กับเทคนิคและความประณีตของช่างหล่อเทียน
สีของลำต้นและสีของดอกหรือลวดลายจะเป็นสีเดียวกัน เพราะใช้ขี้ผึ้งชนิดเดียวกัน คือขี้ผึ้งชนิดดี หรือขี้ผื้งผสม
การแกะดอกหรือลวดลายจะแกะจากลำต้น
ดอกหรือลวดลายไม่หลุดง่าย เว้นแต่จะแตกหักออกไป ที่ไม่หลุดง่ายเพราะไม่ได้นำดอกผึ้งหรือลวดลายจากที่อื่นมาติด ดอกหรือลายจะเ่กิดจากการแกะสลักจากลำต้น
ดอกและลายมีขนาดตั้งแต่เล็กไปถึงใหญ่ มีส่วนหนา นูน เส้นลายลึกสลับซับซ้อน ดูแล้วมีมิติ
ดอกและลายจะต่อเนื่องกันทั้งหมด
ลวดลายส่วนมากจะเป็นเรื่องราว ซึ่งมีการแกะสลักลวดลายอย่างละเมียดละไม แฝงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรม และแง่คิดปริศนาต่าง ๆ บางต้นเก็แกะเป็นรูปพระเวสสันดร บางต้นก็แกะเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางตรัสรู้ ้บ้างก็เป็นปางออกบวช บางต้นก็แกะเป็นรูปปัญจวัคคีย์กำลังสดับเทศนา บางต้นแกะเป็นรูปสัตว์ หรือลวดลายอย่างอื่น
ทุกส่วนของต้นเทียน คือ ส่วนฐาน ส่วนลำต้น และส่วนยอดไม่มีรอยต่อ
เครื่องมือที่ใช้ในการแกะสลักเป็นเครื่องมือง่าย ๆ วิธีการใช้ไม่สลับซับซ่อน
กลุ่มของช่างเทียน
ช่างเทียนนั้นทำคนเดียวไม่ได้ต้องมีการรวมเป็นกลุ่มมี ช่างใหญ่เป็นหัวหน้ากลุ่ม และมีผู้ช่วยที่มีความสามารถแตกต่างกันตามลักษณะงาน ที่ความยากง่ายต่างกัน ซึ่งกลุ่มหนึ่งอาจจะมี ๗ - ๘ คนหรือ ๑๐ - ๑๕ คน แล้วแต่การลงทุนมากน้อย แต่สำหรับการทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์จะใช้คนประมาณ ๒๐ - ๓๐ คน ในการตัดแต่งลวดลาย และติดพิมพ์ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านของคุ้มวัดที่ทำเทียนนั้นอาสาสมัครมาช่วยงาน
ช่างเทียนมีเทคนิคในการสร้างสรรค์งานแตกต่างกันตามประสบการณ์ที่ได้รับตามความรู้ที่ได้เรียน แม้กระทั่งสิ่งที่ค้นพบใหม่ การแบ่งกลุ่มของช่างเทียนอาจแบ่งได้ดังนี้
๑. กลุ่มช่างเทียนอาชีพ ปกติการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จะมีปีละ ๑ ครั้ง อาชีพหลักก่อนเป็นช่างเทียนอาชีพคือ เป็นช่างก่อสร้าง ถาวรวัตถุทางพุทธศาสนา เช่น โบสถ์ ศาลาการเปรียญ เป็นต้น ช่างกลุ่มนี้ประกอบด้วยหัวหน้าช่างเป็นผู้รับเหมากับลูกน้องที่มีค่าแรงรายวัน
๒. กลุ่มช่างอาชีพเสริม ช่างในกลุ่มนี้มีอาชีพอื่นเป็นหลักอยู่แล้ว ได้แก่ ข้าราชการ ผู้เรียนศิลปะ หรือผู้ประกอบอาชีพศิลปะอิสระ ซึ่งก็จะมีผู้นำเป็นหัวหน้าประกอบกับลูกน้องที่อาจจะเป็นข้าราชการด้วยกัน หรือนักเรียนมาร่วมทำ ซึ่งจะนำเอารูปแบบศิลปะใหม่ ๆ มาใช้ในการทำต้นเทียน และมีการพัฒนารูปแบบแปลกใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ
๓. กลุ่มช่างโดยศรัทธาอาสาสมัคร ช่างในกลุุ่มนี้ค่อนข้างจะมีน้อยและหาได้ยาก ซึ่งโดยมากมักไม่รับค่าจ้างรับเพียงสวัสดิการอาหารในขณะทำงาน ซึ่งจะมีช่างเป็นหลักเพียงหนึ่งถึงสองคน และมีพระเณรในวัดเป็นลูกน้อง ทำด้วยความจริงใจถ่ายทอดไปตามความคิดที่อิสระไม่หวังรางวัล แต่จะทำเพื่อความศรัทธาและความชอบจริง ๆ