วิธีการทำเทียน อุบลราชธานี
สารบัญ
วิธีทำดอกผึ้งติดพิมพ์มีขั้นตอนที่สำคัญ ๗ ขั้นตอน ดังนี้
๑) นำวัสดุที่จะใช้แกะลวดลาย คือ แท่งหินอ่อน หรือ แท่งปูนซีเมนต์ หรือแท่งปูนปลาสเตอร์ หรือท่อนไม้ฝรั่ง มาแกะสลักแบบร่องลึก เป็นลวดลายต่าง ๆ ตามต้องการ วัสดุที่ใช้แกะลวดลายนี้ อาจใช้แกะได้ทั้ง ๒ หน้า และหน้าหนึ่ง ๆ อาจจะแกะได้หลายลวดลาย ทั้งนี้ขึ้ึนอยู่กับขนาดของลวดลายและขนาดความยาวของวัสดที่ใช้ทำแม่พิมพ์๋ ส่วนจะแกะเป็นลวดลายอะไรนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของช่างเป็นสำคัญ นั่นก็หมายความว่า ช่างจะต้องเป็น ผู้ออกแบบลวดลายต่าง ๆ โดยวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าลวดลายใดจะใช้ติดส่วนใดของต้นเทียน
๒) นำขี้ผึ้งแท้มาสับให้เป็นก้อนเล็ก ๆ เพื่อให้ต้มละลายได้เร็ว นำขี้ผึ้งที่สับแล้วใส่ลงไปในชามอ่างขนาดใหญ่ที่เตรียมไว้ ใส่น้ำลงไปประมาณ ๑ - ๒ ขัน เวลาด้มขี้ผึ้งจะได้ไม่ใหม่และจะได้ขี้ผึ้งที่สะอาดคอยดูแลและหมั่นคน เพื่อให้เทียนหลอมละลายอย่างรวดเร็ว สีของเทียนจะผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน นับเป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็วและยังเป็นการคัดกรองเศษสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ออกจากขี้ผึ้งได้อีกประการหนึ่ง หรืออาจใช้วิธีการต้ม โดยใช้ภาชนะ ๒ ชั้นก็ได้ กล่าวคือ ใช้ชามอ่างขนาดกลางใส่ขี้ผึ้งแท้ แล้วไปวางลงในชามอ่างขนาดใหญ่ที่ใส่น้ำไว้ ยกชามอ่างขนาดใหญ่ซึ่งมีชามอ่างขนาดกลางอยู่ข้างในขึ้นตั้งบนเตาไฟ ที่ด้องทำเช่นนี้เพื่อไม่ให้ชามอ่างไหม้ น้ำร้อนจากชามอ่างขนาดใหญ่จะทำให้ขี้ผึ้งในชามอ่างขนาดกลางละลาย
๓) เมื่อขี้ผึ้งละลายดีแล้วให้ยกลง ใช้กระบวยตักกรองขี้ผึ้งลงในชามอ่างขนาดเล็กโดยใส่น้ำเล็กน้อย ขี้ผึ้งจะถูกกรองอีกครั้งด้วยน้ำที่อยู่ในชามอ่าง ฝุ่นละอองที่หลงเหลือปะปนมาจะตกตะกอนลงในน้ำ นอกจากนั้น น้ำยังช่วยปรับระดับความร้อนได้อีกด้วย หรือในกรณีที่ต้ม ขี้ผึ้งโดยใช้ภาชนะ ๒ ชั้น เมื่อขี้ผึ้งในชามอ่างขนาดกลางละลายดีแล้ว ยกชามอ่างขนาดกลางลง แล้วเทขี้ผึ้งที่ละลายแล้ว ลงไปในชามอ่างขนาดเล็ก ซึ่งมีผ้ากรองครอบอยู่ที่ปาก ขี้ผึ้งในชามอ่างขนาดกลางจะต้องเทลงไปในชามอ่างขนาดเล็กหลายใบ จะทำให้ขี้ผึ้งคลายความร้อนได้เร็ว เหตุที่ต้องใช้ผ้ากรองก็เพราะว่า แม้จะเป็นขี้ผึ้งคุณภาพดีแต่เวลาต้มแล้วจะมีตะิกอน จะต้องกรองเอาตะกอนออกเสียก่อน เพื่อให้ได้ขี้ผี้งคุณภาพดีและขี้ผึ้งบริสุทธิ์ิ์จริงๆ
๔) ทิ้งขี้ผึ้งที่กรองแล้วและอยู่ในชามอ่างขนาดเล็กไว้ประมาณ ๓๐ - ๔๕ นาที ขี้ผึ้งจะเริ่มแข็งตัว เมื่อแข็งตัวพอหมาด ๆ ซึ่งสังเกตได้จากมีส่าขาวที่ผิวหน้า จึงจะนำไปใช้งานได้
๕) จัดเตรียมอุปกรณ์ในการพิมพ์ไว้ให้พร้อม ได้แก่
๕.๑ แม่พิมพ์ลวดลายต่าง ๆ
๕.๒ ถาดสังกะสีเคลือบ ใส่น้ำลงไปในถาดพอประมาณ ควรแยกถาดแยกลายเพื่อความสะดวกในการนำมาใช้งาน
๕.๓ ช้อน
๕.๔ ขันใส่น้ำผงซักฟอก หรือน้ำสบู่
๕.๕ ขวดแก้วทรงกลม
๕.๖ แผ่นไม้หนา ๆ และแบนราบ ขนาดยาวไม่เกินเส้นผ่าศูนย์กลางของถาด
๖) นำแม่พิมพ์แช่น้ำให้อิ่มตัว วางแบบพิมพ์ที่ต้องการพิมพ์ดอกผึ้งบนแผ่นไม้หนา เพื่อป้องกันไม่ให้แม่พิมพ์เลื่อนไปมา ใช้ช้อนขูดผิวหน้า่ขี้ผึ้ง โดยเริ่มจากขอบนอกเข้าไปหาข้างในทีละน้อย ขูดให้ได้ขนาดเท่าไข่ไก่ นวดเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน วักน้ำที่ละลายผงซักฟอกหรือผงสบู่หยอดลงไปในแบบพิมพ์ และลูบขวดแก้วด้วยน้ำ นำขี้ผึ้งที่นวดแล้ววางและกดลงในลายดอกของแบบพิมพ์ ใช้ขวดคลึงไปมาบนเนื้อขี้ผึ้งตรงลายของแบบพิมพ์ จนแน่ใจว่าเนื้อขี้ผึ้งแทรกเข้าไปทุกเส้นลายของแบบพิมพ์ คลึงจนผิวหน้าของขี้ผึ้งแบนราบ นำดอกผึ้งที่แคะออกมาได้ขึ้นมาวางในถาดซึ่งเตรียมไว้แล้ว ถาด ๑ ใบ สำหรับใส่ ๑ ลาย ไม่ควรปะปนกัน ปริมาณของขี้ผึ้งที่ใช้พิมพ์ดอกผึ้งตามขนาดของลายควรกะให้พอดี ไม่มากจนล้นแบบพิมพ์ หรือน้อยจนไม่สามารถพิมพ์ให้เต็มลายได้
๗) ขั้นสุดท้ายของการพิมพ์ดอกผึ้ง คือ การตัดดอกผี้ง ทั้งนี้ เพราะเมื่อกดขี้ผึ้งลงไปในแบบพิมพ์ จะมีขี้ผึ้งส่วนเกินทะลักออกไปอยู่ตามขอบของแบบพิมพ์ ซึ่งจำเป็นจะต้องตัดออก วิธีตัดดอกผึ้ง คือนำดอกผึ้งที่ทำการพิมพ์ลายแล้วไปวางบนกระจกใส ใช้มีดตัดลายตามแบบ ควรจุ่มปลายมีดด้วยน้ำมันพืชเล็กน้อย จะทำให้ตัดง่ายขึ้น ขี้ผึ้งไม่ติดปลายมีด และมีดที่ใช้ตัดดอกผึ้งต้องคมอยู่เสมอ เศษของขี้ผึ้งที่ตัดออกจะเก็บไว้เพื่อนำไปหลอมละลายใหม่เพื่อใช้ทำดอกผึ้งสำหรับใช้งานซ่อมแซมต่อไป
ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอแนะอีกประการหนึ่งของการใช้น้ำสบู่หรือน้ำละลายผงซักฟอกเป็นตัวช่วยมิให้ดอกผึ้งติดแม่พิมพ์ แต่ในขณะเดี่ยวกัน น้ำผงซักฟอก หรือน้ำสบู่ ก็เป็นตัวทำให้แม่พิมพ์ที่เป็นหินลับมีดโกนสึกได้เช่นกัน จึงต้องมีการแต่งลวดลาย หรือแต่งแม่พิมพ์อยู่เป็นประจำทุกปี หากไม่เช่นนั้นแล้วลวดลายบนดอกผึ้งที่พิมพ์ ก็จะไม่คมชัดสวยงาม
วิธีติดดอกผึ้ง
การติดดอกผึ้ง เป็นงานขั้นสุดท้ายของการทำต้นเทียน และมักเป็นงานที่ต้องทำแข่งกับเวลา ช่างต้องทำให้เสร็จทันการประกวด การติดดอกผึ้งมีขั้นตอนที่สำคัญ ๓ ขั้นตอน คือ
๑) การร่างภาพหรือการออกแบบลวดลาย ก่อนที่จะนำดอกผึ้งไปติดเป็นลวดลาย ช่างผู้ทำต้นเทียนจะต้องร่างเค้าโครงของลวดลายที่ต้องการเสียก่อน ว่าจะให้เป็นรูปลักษณะใด ในการร่างแบบนั้น ช่างผู้ทำต้นเทียน (หัวหน้าช่าง) จะเป็นผู้ออกแบบลวดลาย โดยร่างเป็นภาพด้วยดินสอ หรือปากกา หรือ เหล็กแหลม เขียนลงไปบนไม้กระดาน หรือกระดาษที่เตรียมไว้ เมื่อร่างเค้าโครงของส่วนที่จะติดดอกผึ้งแล้วหัวหน้าช่างจะต้องเลือกลายดอกผึ้งว่า ลายชนิดใดจะเหมาะกับส่วนที่จะติด กับเค้าโครงใด ในขั้นนี้จะต้องพิจารณาดูว่า มีลายที่เหมาะสมหรือไม่ หรือควรจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างใด และจะใช้ลายใดเป็นแม่ลาย ลายใดเป็นลายประกอบ
๒) การกำหนดจำนวนดอกผึ้ง เมื่อเลือกลายดอกผึ้งได้แล้ว หัวหน้าช่างจะต้องคำนวณดูว่า เค้าโครงของรูปที่จะติดดอกผึ้งจะต้องใช้ดอกผึ้งจำนวนมากน้อยเท่าใด เมื่อทราบจำนวนคร่าว ๆ แล้ว ก็จะประสานงานกับช่างพิมพ์ดอกผึ้ง ตลอดจนมีการเร่งรัดติดตาม มิให้ดอกผึ้งหมดลงก่อนงานจะแล้วเสร็จจะทำให้งานติดดอกผึ้งชะงัก เพราะต้องรอให้ช่างพิมพ์พิมพ์ดอกผึ้งออกมา และเมื่อพิมพ์ออกมาแล้ว ยังต้องเสียเวลาในการตัดดอกผึ้ง หรือเจาะ หรือฉลุดอกผึ้งอีก การประสานงานกับช่า่งพิมพ์ดอกผึ้งจะทำให้ได้ดอกผึ้งจำนวนพอเหมาะ ไม่มากไม่น้อยเกินไป ซึ่งถ้ามากเกินไปจะทำให้เสียเวลา ดอกผึ้งที่มากเกินไปนห้ากทิ้งไว้ก็ไม่มีประโยชน์ จะต้องรวบรวมนำไปต้มและพิมพ์เป็นลายดอกอื่น ๆ ต่อไป เมื่อกำหนดจำนวนดอกผึ้งในแต่ละลายแล้วก็ลงมือติดดอกผึ้งได้ ซึ่งลวดลายหรือเค้าโครงที่ออกแบบไว้กับสถานการณ์จริงอาจคลาดเคลื่อนกันบ้างเล็กน้อยควรมีการทดลองติดลายก่อนติดจริง เพื่อความเหมาะสมสวยงามและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
๓)ุ ดำเนินการติดดอกผึ้งตามที่ได้วางเค้าโครงเอาไว้
การติดดอกผึ้ง
ดอกผึ้งที่ตัดเรียบร้อยแล้ว จะใช้ติดตามฐาน ลำต้น ยอดของต้นเทียนและส่วนประกอบอื่น ๆ ของต้นเทียน ส่วนการจะติดดอกผึ้งทีมีลวดลายใดลงที่ส่วนใดนั้น ช่างผู้ทำต้นเทียนจะเป็นผู้ออกแบบ ซึ่งเมื่อออกแบบจนพิมพ์และตัดดอกแล้ว ช่างมักจะนำดอกผึ้งลายต่าง ๆ มาจัดไว้ในถาดแยกเป็นแต่ละลาย เพื่อความสะดวกแก่การนำไปใช้
การติดดอกผึ้ง นอกจากเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ความอุตสาหะแล้ว ยังเป็นงานที่ต้องทำเป็นความลับ ให้รู้กันได้เฉพาะช่างทำต้นเทียน ช่างพิมพ์ ช่างตัด และช่างติดดอกเท่านั้น จะแพร่งพรายให้บุคคลภายนอกรู้ไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะการทำต้นเทียนมีจุดประสงค์ที่จะนำไปประกวดต้องแข่งขันกันในเรื่องความสวยงามและความวิจิตรพิสดาร ดังนั้นการออกแบบแบบพิมพ์ตลอดจนการติดดอกผึ้ง ช่างที่เกี่ยวข้องมักไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกได้มีโอกาสดู บุคคลอื่นจะดูได้ก็ต่อเมื่องานเสร็จเรียบร้อย และถึงวันนำไปประกวดเท่านั้น ระหว่างการทำยังไม่แล้วเสร็จ หากปรากฏว่ามีบุคคลภายนอกเข้าไปดู ส่วนมากมักจะเป็นผู้เข้าไปล้วงความลับ เพื่อนำไปบอกแก่ช่างกลุ่มอื่น คณะช่างที่ถูกล่วงความลับ มักจะเปลี่ยนแปลงการออกแบบใหม่ ซึ่งหมายความว่า จะต้องแกะพิมพ์ดอกผึ้ง และออกแบบการติดดอกผึ้งใหม่อีกครั้ง
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดดอกผึ้ง ประกอบด้วย
๑) มีดปลายแหลม มีดปลายตัด หรือมีดตัดลาย
๒) ผ้าที่สะอาดสำหรับเช็ดมือ
๓) ระดับน้ำ