วิธีการทำเทียน อุบลราชธานี
สารบัญ
๔) ตลับเมตร
๕) กระจกใสสำหรับตัดดอกผึ้ง
๖) โต๊ะสำหรับวางอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการติดดอกผึ้ง และม้านั่งใช้สำหรับนั่งทำงาน
๘) น้ำล้างมือและสบู่
๘) เตาไฟ เหตุที่ต้องใช้เตาไฟเพราะการจะติดดอกผึ้งเข้ากับส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นเทียน หรือติดเข้ากับส่วนประกอบอื่นของต้นเทียนดอกผึ้งที่ติดจะต้องอ่อนตัว จึงจะติดดอกผึ้งได้ ถ้าดอกผึ้งยังแข็งตัวอยู่ควรนำไปอังไฟให้อ่อนตัว หรืออาจใช้ที่เป่าผมก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้ติดได้ง่ายหรือถ้าอากาศร้อนดอกผึ้งก็อาจอ่อนตัวได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้เตาไฟช่วย
๙) ไม้บรรทัด เชือก ด้าย เข็มหมุด
๑๐) ไม้กระดานขนาดกว้าง ๖๐ เซ็นติเมตร ยาว ๑ เมตร ใช้สำหรับวางดอกผึ้งเพื่อกะระยะ หรือทดลองในการออกแบบ ตลอดจนตัดหรือดัดแปลงดอกผึ้ง เหตุที่ไม่วางดอกผึ้งบนโต๊ะก็เพราะถ้าหากวางบนโต๊ะดอกผึ้งอาจจะติดโต๊ะ
๑๑) ถาดหรือชามอ่าง เพื่อใส่ดอกผึ้งที่แตกหักใช้การไม่ได้ดอกผึ้งเหล่านี้จะนำไปต้มใหม่ เพื่อทำดอกผึ้งอีกก็ได้
ความยากลำบากในการทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์
ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ เป็นที่สนใจและเป็นที่นิยมของประชาชน แต่ในขณะเดียวกัน ช่างทำต้นเทียนประเภทนี้ก็มีน้อย ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้
๑) การทำมีหลายขั้นตอน ใช้วัสดุอุปกรณ์หลายอย่าง ดังจะเห็นรายละเอียดได้จากหัวข้อต่าง ๆ
๒) การทำใช้คนมาก สิ้นเปลืองเวลา และเสียค่าใช้จ่ายมาก
๓) แบบพิมพ์ลายดอกหายาก เพราะต้องแกะลายบนวัสดุแข็งเสียก่อน
๔) ช่างพิมพ์ลายดอกที่มีความชำนาญหาได้ยาก เพราะงานฝีมือเช่นนี้ไม่อาจยึดเป็นอาชีพได้ตลอดปี ช่วงเวลาที่ช่างจะได้ทำงานมีเพียง ๑ - ๒ เดือน ก่อนเข้าพรรษาเท่านั้น
๕) ดอกผึ้งขนาดเล็กแม้ทำให้เกิดความสวยงาม แต่ทำได้ยาก ทั้งขั้นตอนการแกะแบบพิมพ์ และขั้นตอนการพิมพ์ดอกผึ้ง
๖) ช่างตัดดอกและช่างติดดอกมีน้อย ด้วยเหตุผลเดียวกันกับข้อ ๔) ข้างต้น
๗) การเคลื่อนย้ายต้นเทียนประเภทติดพิมพ์เป็นไปด้วยความลำบาก หากขาดความระมัดระวัง เมื่อต้นเทียนถูกกระทบกระแทก หรือกระเทือนอาจจะยุบบุบสลาย หรือดอกผึ้งหล่นออกจากต้นเทียน หรือออกจากส่วนประกอบอื่น ๆ ของต้นเทียน
๘) เมื่อถูกความร้อนมาก ๆ ดอกผึ้งมักจะละลาย ความงามจะเสียไป
๙) เมื่อถูกแดดหรือลม สีของดอกผึ้งอาจซีดได้ และถ้าถูกความเย็นดอกผึ้งจะหดตัว และถ้าตั้งไว้ในที่ไม่มิดชิด ฝุ่นละอองมักจับต้นเทียน
๑๐) ด้วยเหตุผลในข้อ ๘) ๙) ข้างต้น ทำให้ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์เก็บไว้ไม่ได้นาน ถ้ามองในแง่ของความคงทน จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่คุ้มกับแรงงาน ค่าใช้จ่าย และเวลาที่ใช้ในการทำ
ในส่วนของการตกแต่งต้นเทียนแต่เดิมนั้นมีเฉพาะต้นเทียนกับส่วนที่เ่ป็นฐานเท่านั้น ต่อมาได้มีการคิดประดับตกแต่งตัวละคร ประกอบกับเรื่องราวที่นำเสนอจากต้นเทียน ช่วยให้เรื่องราวที่นำเสนอนั้นมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สมัยแรกนั้นได้นำไม้อัดมาตัดแต่งเป็นตัวละคร เป็นรูปสัตว์บ้าง เทวดาบ้าง ตามที่เคยได้ยินได้ฟังมา โดยส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ซึ่งจะมีรูปร่างลักษณะเกินจริง การนำไม้อัดมาใช้ในการจัดทำเป็นตัวละครต่าง ๆ นั้น ยังไม่มีความสวยงามสมจริงมากนัก จึงได้มีการพัฒนารูปแบบมาใช้ดินเหนียวปั้น แล้วใช้ขึ้ผึ้งราดทับอีกครั้งหนึ่ง ทำใหม่ลักษณะเป็นสามมิติสมจริงสมจังและสวยงามมากยิ่งขึ้น ระยะหลังได้มีการปรับปรุงรูปแบบของวัสดุที่ใช้ทำตัวละครต่าง ๆ เหล่านี้ โดยใช้ปูนปลาสเตอร์ผสมขุยเปลือกมะพร้าวแทนดินเหนียว ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้จะได้ตัวละครที่มีความคงทน น้ำหนักเบาสามารถปรับแต่งได้ง่าย หลังจากปั้นเป็นหุ่นตัวละครตามต้องการแล้วปรับแต่งพื้นผิวให้เรียบร้อย แล้วจึงนำดอกผึ้งมาประดับตกแต่ง หรือหากเป็นเทียนประเภทแกะสลัก จะใช้ขี้ผึ้ึงแผ่นแบบหนาโอบรอบก่อนทำการแกะสลัก โดยขี้ผึ้งแผ่นที่ใช้ต้องมีความหนากว่าขี้ผึ้งแผ่นที่ใช้ปกติ
อุปสรรคปัญหาในการติดดอกผึ้ง
การติดดอกผึ้งมีอุปสรรคและปัญหาหลายประการ อุปสรรคปัญหาเหล่านี้ ล้วนแต่มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน จากประสบการณ์ของ นายประดับ ก้อนแก้ว การติดดอกผึ้งมีอุปสรรคและปัญหาดังนี้
๑) ในเวลากลางคืน ถ้าช่างติดดอกสายตาไม่ดี จะติดดอกจะติดดอกไม่สม่ำเสมอ เพราะการติดดอกผึ้งต้องคำนึงถึงช่องไฟระหว่างดอกต่อดอก
๒) ผู้ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่อยากลองทำงาน เมื่อติดดอกผึ้งมักจะทำให้ดอกผึ้งเสีย ส่วนมากมักใช้แรงกดมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ลายดอกลบเลือนหายไป ดังนั้น หากผู้ช่วยที่ยังไม่มีประสบการณ์ หรือยังไม่เคยติดดอกผึ้งมาก่อนควรช่วยงานในส่วนอื่นแทน และหาโอกาศฝึกฝนในภายหลัง
๓) ถ้าฝนตกหรืออากาศเย็น ดอกผึ้งจะแข็งกระด้าง ติดไม่ได้ดีหรือติดไม่ได้ เพราะพื้นผิวของฐานที่ติดแข็งกระด้างด้วย ทำให้เสียเวลาในการติด ต้องใช้ความร้อนช่วย หรือบางครั้งเมื่อติดเข้าไปได้แล้ว แต่ติดได้ไม่สนิท จะทำให้ดอกผึ้งหลุดออกมาได้
๔) ช่างอาสามักอยากที่จะทำงาน บางครั้งถึงกับแย่งชิงกันติด ซึ่งจะทำให้การติดไม่เรียบร้อย ไม่สวยงาม
๕) การติดดอกผึ้งเป็นงานจุกจิก ต้องใช้ความละเอียดลออทั้งยังต้องทำงานเป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการเหนื่อยกาย เหนื่อยใจได้
๖) บางครั้งเมื่อติดแล้ว ถ้าช่างดูแล้วไม่เป็นที่พอใจ อาจจำเป็นต้องรื้อดอกผึ้งออก เพื่อติดเสียใหม่ เป็นการเสียเวลา
๗) ช่างพิมพ์ต้องพิมพ์ดอกผึ้งออกมาเป็นจำนวนมาก และมักจะถูกเร่งรัดจากช่างติดดอก ซึ่งอาจจะพิมพ์ดอกผึ้งได้ไม่ประณีต
๘) การติดดอกผึ้ง มักเป็นส่วนที่สนใจของคนทั่วไป ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จึงมักจะมีเด็ก ๆ และผู้ใหญ่มามุงดู ต้องคอยบอกให้ออกไป มิฉะนั้นก็จะกีดขวางการทำงานของช่าง
๙) การติดดอกผึ้งใช้วัสดุอุปกรณ์และดอกผึ้งเป็นจำนวนมาก ถ้าที่ทำงานคับแคบ ก็จะเกิดความไม่สะดวกนานาประการ
ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะทำให้เสียเวลาในการทำ ซึ่งส่งผลให้กำหนดการแล้วเสร็จล่าช้าลงไปอีก
การทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ การหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ มีขั้นตอนและวิธีการคล้ายกันกับการหล่อต้นเทียนประเภทแกะสลักทุกขั้นตอน แต่มีความแตกต่างกัน 2 ประการ คือ
การหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ ใช้ขี้ผึ้งคุณภาพพอใช้ได้ซึ่งมีราคาถูก แต่การหล่อต้นเทียนประเภทแกะสลัก ใช้ขี้ผึ้งคุณภาพดี และราคาแพงกว่า ทั้งนี้ ก็เพราะว่า หากขี้ผึ้งคุณภาพไม่ดี เมื่อแกะสลักลึกและซับซ้อนหลายขั้น ขี้ผึ้งจะแตกหัก
ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ มักหล่อให้มีขนาดเล็กกว่าต้นเทียนประเภทแกะสลัก เพราะการหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ จะต้องนำไปกลึงให้เป็นรูปและขนาดเล็กลงบางส่วน แล้วจึงติดดอกเสริมโดยรอบให้หนาขึ้น ส่วนต้นเทียนประเภทแกะสลัก ต้องทำให้มีขนาดใหญ่เอาไว้ เพื่อที่จะแกะสลักหรือขูดออก