วิธีการทำเทียน อุบลราชธานี
สารบัญ
๔. แปรงทาสีชนิดดี เป็นเครื่องมือที่ใช้งานหลังจากแกะสลัก คือใช้สำหรับปัดขุยขี้ผึ้งออกจากต้นเทียนเพื่อทำความสะอาด แปรงที่ใช้งานเป็นแปรงชนิดขนแปรงอ่อนนุ่ม อาจจะใช้หลายขนาดคือขนาด ๑ นิ้ว ๒ นิ้ว และ ๓ นิ้ว หรือขนาดอื่นที่ต้องการตามความจำเป็น
วิธีการแกะสลัก
วิธีการแกะสลักในต้นเทียนมี ๔ รูปแบบ คือ
๑. การแกะสลักเป็นรูปตัววี “v” เป็นรูปแบบการแกะเข้าไปตามเส้นที่ร่างหรือออกแบบไว้ การแกะวิธีนี้นิยมแกะส่วนที่เป็นลายไทยประเภทต่าง ๆ หรือส่วนที่เป็นภาพ หรือหุ่นประกอบที่มีความสำคัญไม่มากนัก
๒. แกะเป็นรูปตัวยู “U” เป็นวิธีการแกะระหว่างรอยต่อของลายดอกกับเนื้อหา ซึ่งจะต้องทำให้เกิดเป็นร่องที่ลึกประมาณ ๑-๑.๕ นิ้ว
๓. แกะเป็นฐานกว้าง เป็นรูปแบบการแกะสลักต่อจากการแกะรูปตัว U โดยเซาะเข้าไปใต้ฐานลาย หรือเนื้อที่เป็นตัวพระหรือเทพ ทำให้ลายหรือรูปเหล่านั้นมีลักษณะลอยตัวออกจากฐานหรือลำต้นเทียน สำหรับแกะส่วนที่มีความสำคัญที่ต้องการเน้นให้ภาพทั้งหมดมีความคมชัด
๔. แกะเป็นร่องซ้อนกัน เป็นการแกะต่อจากการแกะเป็นร่องฐานกว้าง โดยแกะให้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง การแกะวิธีนี้เป็นที่นิยมมากในยุคป้จจุบัน เพราะนอกจากจะให้ลายที่ละเอียดกว่าแล้ว ยังทำให้เกิดความซับซ้อนกันระหว่างลวดลาย หรือเนื้อหาทั้งหมดด้วย การแกะวิธีนี้นอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงความสามารถเป็นพิเศษของช่างที่แกะเทียนแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นมิติที่มีและเกิดขึ้นได้ในลวดลายไทย และเมื่อช่างแกะเข้าไปลึกถึงชั้นของเชือกที่พันอยู่รอบส่วนแกนในตอนลึก ๆ ซึ่งถือว่าเป็นความงดงามอย่างหนึ่งในศิลปะการทำเทียนประเภทแกะสลัก
การตกแต่ง
การตกแต่งเป็นช่วงที่มีความสำคัญมาก เพราะขั้นตอนนี้เอง จะบอกได้ว่าต้นเทียนสวยหรือไม่ ขั้นตอนของการตกแต่งจะเป็นขั้นตอนของการสอดส่องหาความบกพร่องที่จะมีปรากฏในลำต้น ฐาน ยอด และหุ่นเทียน เช่น ความละเอียดของลวดลาย ความประณีตบรรจง ความคมชัดของลวดลายที่แกะหรือที่ติด หากพบความบกพร่อง เช่น กรณีของลวดลายหักอันเป็นผลมาจากเครื่องมือหรือสาเหตุอื่น ๆ หรือ ลวดลายตื้นเกินไป วิธีการแก้ไขทำได้ ดังนี้
๑. หาขี้ผึ้งเพิ่มเติม โดยการเอาขี้ผึ้งไปลนไฟ หรือผึ่งแดดให้ขี้ผึ้งมีความอ่อนตัว
๒. เป่าพื้นที่โดยรอบของส่วนที่จะซ่อมแซม ด้วยลมร้อนจากเครื่องเป่าผมให้ทั่ว
๓. นำขี้ผึ้งที่จะต่อเติมและอ่อนตัวแล้วส่วนที่ต้องการซ่อมแซม
๔. แกะลวดลายลงในส่วนของขี้ผึ้งที่ต่อเติมใหม่จนครบตาม ลวดลายเดิม หรือติดลวดลายที่เหมาะสมลงไปในบริเวณนั้น
๕. ทำความสะอาดเศษหรือคราบของเทียนที่ติดอยู่ตามรอยต่อของลวดลายภายในลำต้นออกจนหมด จะใช้ถังฉีดพ่นน้ำสะอาดไปที่ลำต้น ฐาน หรือ ตามหุ่นประกอบต่าง ๆ จนสะอาด หรือใช้แปรงทาสีที่มีความแข็งของขนปานกลางมาทำการปัด หรือเขี่ยเศษเทียนออกก็ได้ แต่อาจใช้เวลานานกว่าการฉีดล้างด้วยน้ำ
๖. ตรวจตราความเรียบร้อยของหุ่นประกอบต้นเทียนด้วยการใช้หัวแร้งเผาไฟให้ร้อนนาบตามรอยต่อของแผ่นเทียนที่หุ้มหุ่นประกอบเทียนนั้นจนต่อกันสนิท
๗. ฉีดหรือทาทุกส่วนของต้นเทียนทั้งส่วนยอด ฐาน และองค์ประกอบด้วยน้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา หรือน้ำมันพืชสำเร็จรูปที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดก็ได้ ส่วนเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ไม่นิยมการทา ด้วยน้ำมันชนิดใด ๆ
ประโยชน์ที่ได้รับจากการทาด้วยน้ำมัน
๑. เปลี่ยนสีของเทียนให้มีความสดใสขึ้น
๒. เปลี่ยนสีของเทียนที่อาจแตกต่างกันในแต่ละส่วนให้มีสีที่คล้ายคลึงกัน
๓. ขจัดหรือละลายคราบของเศษเทียนทำให้ลวดลายที่แกะเด่นชัดขึ้น
๔. ลบรอยต่อของเทียบให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
การทำต้นเทียนประเภทแกะสลักและติดพิมพ์
ขั้นตอนการทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์และแกะสลัก
ออกแบบ
หล่อต้นเทียน
กลึงต้นเทียน
ทำผึ้งแผ่น
ติดดอกผึ้ง/แกะสลัก (ตามลักษณะต้นเทียนแต่ละประเภท)
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้หล่อลำต้นเทียนและยอดต้นเทียนของต้นเทียนประเภทติดพิมพ์และประเภทแกะสลัก
๑.ขึ้ผึ้งถ้วย หรือขี้ผึ้งน้ำมัน
จำนวน ๑๐๐ - ๒๐๐ กิโลกรัม เป็นวัสดุหลักในการจัดทำเทียน
หมายเหตุ ใช้ขี้ผึ้งแท้ทั้งหมด หรืออาจใช้ขี้ผึ้งน้ำมันเป็นส่วนผสมบ้างก็ได้ ตามงบประมาณ แต่ใช้ขี้ผึ้งแท้ในอัตราส่วนที่มากกว่า
๒.เตาอั้งโล่พร้อมถ่านไม้
จำนวน ๒ - ๔ เตา สำหรับใช้ต้มเทียน
หมายเหตุ จำนวนของเตาอาจมีมากกว่าที่กำหนดไว้ได้ ตามขนาดและปริมาณของต้นเทียนและขี้ผึ้งที่ใช้ในการจัดทำเทียน
๓.ชามอ่างขนาดใหญ่
จำนวน ๒ ใบ สำหรับใส่น้ำต้มชั้นนอก
หมายเหตุ เป็นกระบวนการต้มขี้ผึ้งโดยใช้อุปกรณ์้ ๒ ชั้น ชั้นแรก ใส่น้ำ ชั้นที่ ๒ ใส่ขี้ผึ้งอาศัยความร้อนจากน้ำเดือดในชามอ่างใบนอก เป็นตัวทำให้ขี้ผึ้งละลาย และเป็นการป้องกันมิให้ขี้ผึ้งไหม้
๔.ชามอ่างขนาดกลาง
จำนวน ๔ ใบ สำหรับใส่ขี้ผึ้งแล้วนำไปวางลงในชามอ่างขนาดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
หมายเหตุ ความร้อนจากน้ำเดือดจากชามอ่างใหญ่ จะทำให้ขี้ผึ้งในชามอ่างที่อยู่ด้านในละลาย
๕.ชามอ่างขนาดเล็ก
จำนวน ๑ ใบ สำหรับใส่ขี้ผึ้งที่ผ่านการต้มจนละลายแล้ว โดยจะเทใส่ในชามอ่างไว้หลาย ๆ ใบ เพื่อให้ขี้ผึ้งเย็นตัวลงอย่าง รวดเร็ว
หมายเหตุ ชามอ่างขนาดเล็กใส่ขี้ผึ้งเตรียมสำหรับรีดทำดอกผึ้ง
๕. ปี๊บ
จำนวน ๒ - ๔ ใบ สำหรับต้มขี้ผึ้ง
หมายเหตุ จะมีมากกว่านี้ก็ได้ตามขนาดและปริมาณของขี้ผึ้งที่จะใช้ต้ม