เทียนพรรษาอุบล คว้าแชมป์พาเหรดนานาชาติที่โอซาก้า อุบลราชธานี
เทียนพรรษาอุบล คว้าแชมป์พาเหรดนานาชาติที่โอซาก้า
เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้อีกครั้ง หลังจากคว้ารางวัลชนะเลิศจากงาน "มิโดซูจิ พาเหรด 2003 (MIDOSUJI PARADE 2003)" ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 12 - 13 ตุลาคม 2547 ที่ผ่านมา โดยรางวัลที่ประเทศไทยได้รับนั้น เป็นรางวัลชนะเลิศประเภทนานาชาติ หลังจากครองแชมป์มา 2 ปีติดต่อกัน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ ได้จัดทำขบวนรถเพื่อเข้าร่วมงานพาเหรดดังกล่าว ภายใต้แนวคิด "งานประเพณีแห่เทียนพรรษา" ซึ่งเป็นงานประเพณีที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ และเป็นหนึ่งในกิจกรรมใหญ่ของปีหน้า ในโครงการเที่ยวทั่วไทยไปได้ทุกเดือน รวมทั้งเป็นการเปิดตลาดการท่องเที่ยวในภาคอีสานให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักด้วย
สำหรับรูปแบบเทียนพรรษาที่จัดทำในครั้งนี้ ทาง ททท. ได้เลือกแบบเทียนพรรษา ที่จัดแสดงอยู่ภายในบริเวณสนามบินนานาชาติอุบลราชธานี แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบบางอย่าง เพื่อความเหมาะสมและความปลอดภัยในการขนส่ง โดยรูปแบบด้านหน้าเป็นหงส์ ส่วนฐานรองรับต้นเทียนจากเดิมเป็นครุฑ ก็ปรับเปลี่ยนเป็นพญานาค เนื่องจากความจำกัดในเรื่องความสูง ส่วนด้านหลังสุดเป็นองค์พระเวสสันดร ด้านข้างนั้นเป็นจระเข้ทั้งซ้ายขวา เนื่องจากโครงรถที่ญี่ปุ่นจัดให้นั้นยาวถึง 12 เมตร จึงต้องเพิ่มจระเข้ใส่บริเวณด้านหน้าของรถทั้งซ้ายและขวา และตกแต่งตัวรถด้วยดอกไม้กระดาษเป็นลายลูกคลื่น และเพิ่มสีสันด้วยดอกกล้วยไม้หลากสี
วันที่ 12 ต.ค. ก็เป็นวันที่ขบวนเทียนพรรษาของไทย ได้มีโอกาสอวดสู่สายตาชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยว ที่มาร่วมชมงานไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน โดยมีนางสาวไทย ประจำปี 2546 ชาลิสา บุญครองทรัพย์ ทำหน้าที่ตัวแทนชาวไทย นั่งอยู่บนรถโบกมือทักทายผู้ชม และนำขบวนด้วยนางรำกว่า 10 ชีวิต จากสถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก ที่นำการฟ้อนบายศรีมาแสดงประกอบ
ความอ่อนช้อยของนางรำ รวมกับความแปลกใหม่และวิจิตรตระการตาของเทียนพรรษา แทบจะทำให้ขบวนพาเหรดของชาติอื่นๆ ซึ่งออกไปในแนวล้ำยุคเสียเป็นส่วนใหญ่ ดูด้อยไปถนัดใจ และยิ่งทำให้ขบวนรถของไทยในครั้งนี้ ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ จึงได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนานาชาติในที่สุด จากขบวนพาเหรดจากทั้งในและต่างประเทศกว่า 190 องค์กร (14 ประเทศ) ที่ส่งเข้าร่วมงานในปีนี้
ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากช่างฝีมือของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้คัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการแกะสลักเทียนพรรษา สำหรับนำไปร่วมงานพาเหรดดังกล่าว โดยเลือกช่างวิชิต บุญจริง ช่างวัย 41 ปี ที่มีประสบการณ์ในการแกะสลักเทียนพรรษามากว่า 20 ปี มีผลงานและรางวัลต่างๆ การันตีความสามารถมากมาย อาทิ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองอันดับ1,2 หรือรางวัลชมเชยเรื่อยมา โดยรางวัลสำคัญที่เคยได้รับคือ รางวัลชนะเลิศในปี 2529 (วัดสุทัศน์) และเป็นตัวแทนจังหวัดอุบลราชธานี นำเทียนพรรษาของวัดสุทัศน์ไปร่วมงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีที่กรุงเทพฯ, รางวัลชนะเลิศในปี 2536 (วัดปทุมมาลัย) และได้เป็นตัวแทนประเทศไทย นำเทียนพรรษาไปร่วมงานพาเหรดที่ นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน (กันยายน 2545), งาน Hong Kong Chinese New Year Parade 2003 ที่ประเทศฮ่องกง (มกราคม 2546) รวมทั้งได้รับรางวัลที่ 1 และที่ 3 จากการประกวดผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากเทียนและขี้ผึ้ง ประเภทเชิงอนุรักษ์ (กรกฎาคม 2546)
ส่วนเหตุผลสำคัญที่ทางททท. เลือกช่างวิชิต ให้เป็นผู้แกะสลักเทียนในครั้งนี้ เนื่องจากว่า เป็นช่างที่เคยมีประสบการณ์ ในการนำเทียนพรรษาไปแสดงที่ต่างประเทศมาแล้ว ทำให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น รวมตลอดทั้งสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี
คณะช่าง (นำโดยช่างวิชิต บุญจริงและลูกทีมอีก 4 ท่าน) ออกเดินทางสู่โอซาก้า ในวันที่ 8 ต.ค. และเริ่มประกอบชิ้นงานในวันที่ 10 ตุลาคม โดยปัญหาแรกที่พบคือ สภาพอากาศที่เย็น ทำให้เทียนแข็งตัวกว่าปกติ และไม่มีเตาถ่านสำหรับอุ่นหัวแร้ง ซึ่งทางญี่ปุ่นก็จัดเตาไฟฟ้ามาให้ ซึ่งก็พอใช้แทนได้บ้าง แต่ความร้อนที่ได้ก็ไม่เหมือนเตาถ่านที่บ้านเรา ปัญหาอีกอย่างก็คือ เครื่องมือจำพวกเครื่องไฟฟ้า เช่น สว่าน เลื่อยไฟฟ้า ปั๊มลม ซึ่งทางช่างทราบก่อนแล้วว่าที่ญี่ปุ่นใช้ไฟฟ้า 110 โวลท์ ขณะที่บ้านเราใช้ 220 โวลท์ จึงไม่สามารถนำไปใช้ที่ญี่ปุ่นได้ ต้องอาศัยยืมของชาวญี่ปุ่นที่มารับเหมาทำตัวรถของไทย ซึ่งก็เป็นเจ้าภาพที่ใจดีมากๆ ให้ทางช่างไทยหยิบยืมเครื่องมือมาใช้จนงานสำเร็จ แถมยังมีน้ำใจซื้อน้ำดื่มให้กับช่าง ทั้งๆ ที่ราคาน้ำดื่มที่นั่นแพงมาก หรืออาจจะเป็นเพราะคนไทยยิ้มง่าย มีรอยยิ้มพิมพ์ใจ จึงทำให้ผูกมิตรได้ง่าย (ทางช่างจึงตอบแทนชาวญี่ปุ่นเหล่านั้น ด้วยการมอบเทียนซึ่งแกะสลักลวดลายต่างๆ และหัวแร้งให้เป็นที่ระลึกในวันที่เสร็จงาน) ซึ่งในวันแรกช่างก็ประกอบชิ้นงานเสร็จไปกว่า 80% และเทียนพรรษาของไทย ก็เป็นที่สนใจของชาวญี่ปุ่นและชาติอื่นๆ ที่มาร่วมงาน ถึงกับต้องแวะเวียนมาดู พร้อมกับยกนิ้วให้เลยทีเดียว
วันที่ 11 ต.ค. คณะช่างเก็บรายละเอียดในส่วนต่างๆ จนเรียบร้อย ก็เริ่มตกแต่งตัวรถด้วยดอกไม้กระดาษ และดอกกล้วยไม้หลากสี และก็เป็นทีมที่ทำเสร็จก่อนคณะอื่นๆ ที่เดินทางมาทำก่อนที่ทางช่างไทยจะเดินทางไปถึง และในวันที่ 12 ต.ค. ก็เป็นวันที่ขบวนเทียนพรรษาของไทย ได้มีโอกาสอวดสู่สายตาชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมชมงานไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน โดยมีนางสาวไทย ประจำปี 2546 ชาลิสา บุญครองทรัพย์ นั่งอยู่บนรถโบกมือทักทายผู้ชม และนำขบวนด้วยนางรำกว่า 10 ชีวิต จากสถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก ที่นำการฟ้อนบายศรีมาแสดงประกอบ
หลังจากเสร็จสิ้นงานช่างวิชิต ได้บอกกับเราว่า " รู้สึกภูมิใจมากที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดทำเทียนพรรษา เพื่อนำมาร่วมงานพาเหรดครั้งนี้ ในตอนแรกก็รู้สึกกดดันบ้าง เพราะทราบมาว่า ประเทศไทยได้รับรางวัลชนะเลิศมา 2 ปีติดต่อกันแล้ว จึงต้องตั้งใจทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพราะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศแล้ว เพื่อชื่อเสียงของจังหวัดอุบลราชธานี และชื่อเสียงของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรู้ว่าขบวนเทียนพรรษาของเรา ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนานาชาติ ก็ยิ่งภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ และดีใจที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับบ้านเกิด อีกทั้งได้เห็นชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวที่มารอชมงาน ต่างปรบมือชื่นชม และนำกล้องมาถ่ายภาพกันตลอดเวลาที่ขบวนรถของไทยผ่านไป ทำให้หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง และถึงกับน้ำตาซึม เพราะรู้สึกดีใจที่ชาวต่างชาติชื่นชมผลงานของเรา และแอบหวังไว้ว่าในงานแห่เทียนพรรษาที่อุบลฯ ในปีหน้า จะมีชาวต่างชาติจำนวนมาก ติดตามมาดูขบวนแห่เทียนพรรษาถึงจังหวัดอุบลราชธานี บ้านของเรา"