วิธีการทำเทียน อุบลราชธานี
สารบัญ
การเตรียมไม้ทำแกนยอด
การทำแกนยอดลำต้นเทียน ทำเช่นเดียวกันกับแกนลำต้นเทียนแต่ขนาดสั้นกว่า คือ มีความยาวเพียง ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ใช้ไม้ขนาด ๘ x ๔ นิ้ว ยาว ๘๐ เซนติเมตร ๑ ท่อน นำไม้ไปกลึงแต่งให้เป็นรูปทรงกรวย โดยส่วนยอดให้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ นิ้ ส่วนฐานยอด ให้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘ นิ้ว ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ ด้านล่างสุดของฐานยอด ใช้สว่านเจาะตรงกลางให้กลวงลึกประมาณ ๑๕ เซนติเมตร รูกลวงนี้ควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า ๒ นิ้ว เล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อจะนำเดือยด้านบนของแกนลำต้นเทียนมาสวมได้ ในการหล่อส่วนของลำต้นเทียนต้องเหลือแกนส่วนที่จะนำมาสวมกับเดือยของฐานยอดด้วยความยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตรเช่นเดียวกัน
เหตุที่ต้องทำแกนลำต้นเทียนและแกนยอดต้นเทียนให้เป็นคนละท่อนนั้น ก็ด้วยเหตุที่ว่า เฉพาะแกนลำต้นเทียนก็ยาวถึง ๓ เมตรแล้ว ถ้าแกนลำต้นเทียนและแกนยอดต้นเทียนให้เป็นท่อนเดียวกัน ท่อนไม้นี้จะยาวถึง ๓.๖๐ เมตร ทำให้สูงเกินไปไม่สะดวกต่อการจัดทำใด ๆเพราะต้องให้นั่งร้าน หรือนั่งโต๊ะ หรือจัดทำบันไดสำหรับขึ้นไปจัดทำส่วนที่เป็นแกนยอดต้นเทียน ดังนั้น จึงนิยมทำแกนลำต้นเทียนส่วนหนึ่ง แ่ละแกนยอดต้นเทียนอีกส่วนหนึ่ง
การเตรียมภาชนะต้มขี้ผึ้ง
ภาชนะที่เหมาะในการต้มขี้ผึ้ง คือ ปี๊บ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายจะใช้ปี๊บน้ำมันก๊าดหรือปี๊บน้ำมันพืชก็ได้ โดยนำปี๊บมาตัดฝาด้านบน ตามขอบด้านในออกให้หมด แล้วใช้ค้อนทุบรอยตัดให้ราบลงกับขอบบนด้านใน เพื่อป้องกันไม่ใหคมโลหะบาดมือ ก่อนนำไปใช้งานควรติดหูหิ้ว อาจจะเป็นเหล็กโลหะที่โค้งสำหรับหิ้ว หรือถ้าทำหูหิ้วไม่ได้อาจหาที่จับแทน โดยใช้ไม้ขนาด ๑ x ๒ นิ้ว ยาวกว่าความยาวของขอบปากปี๊บ จำนวน ๒ ท่อน มาตีแนบเข้ากับขอบบนตรงข้ามกัน เพื่อให้จับได้สะดวก
ถ้าไม่มีปี๊บจะใช้ชามอ่างเคลือบแทนก็ได้ แต่การใช้ชามอ่างเคลือบมาต้มนั้นความร้อนจะทำให้ส่วนที่เคลือบกะเทาะ หรือเป็นรูรั่วได้ง่าย ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น ถ้าชามอ่างเคลือบเกิดความเสียหายจะนำไปใช้งานอย่างอื่นได้ไม่ดี ซึ่งต่างจากใช้ปี๊บเพราะหลังจากใช้ต้มขี้ผึ้งแล้ว ยังนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องใช้ชามอ่างเคลือบต้มขี้ผึ้งควรใช้ชามอ่าง ๒ ใบ ใบหนึ่งใหญ่ ใบหนึ่งเล็ก ใบใหญ่ใส่น้ำพอสมควร ตั้งวางบนเตาอั้งโล่ ใบเล็กใส่ขึ้ผึ้งจนเกือบเต็มปากชาม แล้วนำชามอ่างใบเล็กไปวางบนชามอ่างใบใหญ่ อาศัยความร้อนจากน้ำเดือด ขี้ผึ้งก็จะละลายได้ แต่ใช้เวลานาน ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองเวลาและถ่านที่ใช้ต้ม ถ้าจำเป็นไม่อาจหาปี๊บได้ จึงค่อยใช้วิธีนี้แทน
ปัจจุบัน ได้มีการคิดค้นหาวิธีการต้มขี้ผึ้งจากวิธีการเดิมที่เป็นการต้มขี้ผึ้งโดยตรงจะประสบกับปัญหาขี้ผึ้งไหม้ หากผู้ต้มไม่มีความชำนาญพอ จึงได้คิดหาวิธีการโดยใช้น้ำเป็นส่วนผสมในการต้มขี้ผึ้ง โดยการต้มกับน้ำสะอาดในอัตราส่วน น้ำ ๑ ส่วน ต่อ ขี้ผึ้ง ๔ ส่วน ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดพลังงานและเชื้อเพลิง นอกจากนั้นแล้ว การต้มขี้ผึ้งโดยผสมน้ำลงไปด้วยนั้น จะเป็นการคัดกรองเศษฝุ่นละออง และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนมากับขี้ผึ้ง โดยเฉพาะขี้ผึ้งที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว เศษฝุุ่นละอองหรือสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ จะตกตะกอนอยู่ด้านล่าง แยกออกจากขี้ผึ้ง เมื่อต้มจนขี้ผึ้งละลายแล้วใช้กระชอนผ้าตักออกพักไว้ในชามใบเล็ก วิธีการต้มแบบนี้จะได้ขี้ผึ้งที่สะอาดปราศจากฝุ่น พร้อมสำหรับัการใช้งานในลำดับต่อไป
การเตรียมหลุมสำหรับหล่อ
การหล่อลำต้นเทียนจำเป็นต้องหล่อในหลุมดิน การเตรียมหลุมดินสำหรับหล่อลำต้นเทียนนั้น ควรขุดให้ลึกประมาณ ๑ เมตร กว้าง ๔๐ เซนติเมตร หรือกว้างพอเหมาะกับแบบพิมพ์(โฮงหรือเบ้าหลอม) เพื่อให้หย่อนแบบพิมพ์ลงได้สะดวก หลุมที่ขุดควรเลือกหลุมในบริเวณที่ราบ เนื้อดินร่วนขุดได้ง่าย ไม่ควรเลือกหลุมในบริเวณที่มีดินเหนียว หรือ ดินเนิน
เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีการเตรียมหลุมดินในการหล่อต้นเทียนก็เพราะ
๑. โดยปกติลำต้นเทียนมีความสูง ๓ เมตร ซึ่งนับว่าสูงกว่าความสูงของคนมาก จำเป็นต้องทำให้ความสูงลดลงให้ใกล้เคียงกับความสูงขนาดนี้ จะสามารถใช้มือสัมผัสกับยึดลำต้นเทียนได้
๒. การหล่อลำต้นเทียนโดยมีแบบพิมพ์หย่อนลงไปในดิน ประมาณ ๑ เมตร ดินจะช่วยยึดตรึงแบบพิมพ์และลำต้นเทียนให้แน่น กันไม่ให้ต้นเทียนล้ม
๓. ดินจะช่วยตรึงแบบพิมพ์ให้เกาะกันแน่นแม้จะถูกแรงอัด จากน้ำหนักของเนื้อเทียนจำนวนหลายสิบกิโลกรัม แบบพิม้พ์ก็จะไม่แตก หรือ รั่ว
๔. ดินจะช่วยดูดเอาความร้อนออกจากแบบพิมพ์ ทำให้แบบพิมพ์เย็นลงเร็วขึ้น สามารถทำให้ช่างถอดแบบพิมพ์ออกได้เร็วยิ่งขึ้น
การเตรียมไม้เสาและไม้ขนาบต้นเทียน
๑. ไม้สำหรับทำเสามีขนาด ๓ - ๔ นิ้ว ยาว ๑.๕๐ เมตร จำนวน ๒ ต้น
๒. ไม้ขนาบแกนต้นเทียน ใช้ไม้ไผ่ส่างไพรผ่าครึ่งยาว ๑ เมตร โดยใช้ทั้ง ๒ ซีก หากหาไม่ได้อาจใช้ไม้เบญจพรรณขนาดเท่ากับไม้ไผ่ และไม่ต้องผ่าครึ่งก็ได้
วิธีปักเสาและตีไม้ขนาบแกนต้นเทียน
๑. ให้ขุดหลุมห่างจากหลุมหล่อลำต้นทั้ง ๒ ด้าน ๆ ละประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ให้ขุด ๒ หลุม แต่ละหลุมลึกประมาณ ๓๐ เซนติเมตร นำเสาที่เตรียมไว้ปักลงในหลุม ให้เสาโผล่จากดินขึ้นมาประมาณ ๑๒๐ เซนติเมตร กลบดินและกระทั่งที่โคนเสาให้แน่น
๒. นำแบบพิมพ์สังกะสีสำหรับหล่อต้นเทียน โดยเอาด้านบนหย่อนลงไปถึงก้นหลุม ส่วนฐานของแบบพิมพ์จะอยู่ด้านบน ทั้งนี้ ต้องตั้งแบบพิมพ์ให้ตรงและอยู่กึ่งกลางของหลุม นำไม้แกนลำต้นเทียนหย่อนลงไปข้างในแบบพิมพ์โดยให้ส่วนยอดแตะก้นหลุม ให้ไม้แกนลำต้นตั้งตรงและอยู่กึ่งกลางหลุม ส่วนที่เป็นเดือยใช้สำหรับสวมลงไปในฐานของยอดต้นเทียน ภายหลังจะกลับเป็นส่วนบนสุดใช้ไม้ ๒ อันตีขนาบเดือยนี้ โดยให้ปลายทั้ง ๒ ข้างของไม้ขนาบประกบกับเสา โดยวิธีนี้จะทำให้แกนลำต้นเทียนถูกตรึงแน่น เพื่อให้แบบพิมพ์ตรึงแน่นไม่ขยับเขยื้อน เอาดินกลบหลุมทุกด้านของแบบพิมพ์ โดยกลบแต่เพียงหลวม ๆ ห้ามกระทุ้งดิน มิฉะนั้นจะทำให้แบบพิมพ์เสียรูปทรง
การจัดหาขี้ผึ้ง
ขี้ผึ้งที่ใช้หล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ ไม่จำเป็นต้องใช้ขี้ผึ้งแท้ ซึ่งมีคุณภาพดีเพราะราคาแพง แต่ควรใช้ขี้ผึ้งคุณภาพพอใช้ได้ ซึ่งราคาประหยัดกว่า คือ ราคากิโลกรัมละประมาณ ๕๐ บาท ขี้ผึ้งที่ใช้หล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ ๑ ต้น จะมีปริมาณ ๗๐ - ๑๐๐ กิโลกรัม นั่นคือ ต้นทุน เฉพาะส่วนที่ใช้หล่อลำต้นเทียนจะตกประมาณ ๓๕๐๐ - ๕๐๐๐ บาท
วิธีหล่อต้นเทียน
การหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์และแกะสลัก มีขั้นตอน แเละวิธีการส่วนใหญ่คล้ายกัน มีความแตกต่างกันที่พบได้มี ๒ ประการ คือ
๑. การหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์และแกะสลักใช้ ขี้ผึ้งคุณภาพพอใช้ได้ซึ่งมีราคาถูก อัตราส่วนของขี้ผึ้งสำหรับการหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ คือ จะใช้ขี้ผึ้งน้ำมัน หรือขี้ผึ้งถ้วย ผสมกับขี้ผึ้งแท้ ในอัตราส่วน ๑ ต่อ ๑ แต่การหล่อต้นเทียนประเภทแกะสลักจะใช้ขี้ผึ้งคณภาพดี หรือขี้ผึ้งแท้เป็นส่วนผสมในอัตราสวนที่มากกว่า คือ ขี้ผึ้งแท้๕ ส่วน ต่อขี้ผึ้งน้ำมัน ๑๐ ส่วน หรือหากมีงบประมาณมากอาจเพิ่มอัตราส่วนของขี้ผึ้งแท้ให้มากกว่านี้ก็ได้ ทั้งนี้ เพราะว่าหากขี้ผึ้งคุณภาพไม่ดีจะมีความยืดหยุ่น หรือความเหนียวน้อย เมื่อแกะสลักลวดลายที่มีความลึกเ่ละซับซ้อนหลายชั้น ขี้ผึ้งจะแตกหักได้ง่าย
๒. ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ มักหล่อให้มีขนาดเล็กกว่าต้นเทียนประเภทแกะสลัก เพราะต้นเทียนประเภทติดพิมพ์จะต้องนำไปกลึงให้เป็นรูป และขนาดเล็กลงบางส่วน แล้วจึงติดดอกเสริมโดยรอบให้หนาขึ้น ส่วนต้นเทียนประเภทแกะสลักต้องทำให้มีขนาดใหญ่เอาไว้เพื่อที่จะแกะหรือขูดออก
การทำลำต้นเทียนเพื่อใช้สำหรับติดพิมพ์นั้น อาจมีรูปแบบการจัดทำได้หลายรูปแบบตามความคิดของช่างทำต้นเทียน ว่าต้องการนำเสนอเรื่องราวในด้านใดของพระพุทธศาสนา ซึ่งในอดีตนั้นยังยึดถือว่าต้นเทียนต้องมีลักษณะกลมเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยน รูปทรงของต้นเทียนเป็นหกเหลี่ยมบ้างตามมรรค ๖ แปดเหลี่ยมบ้างตามหลักมรรค ๘ ทั้งนี้ โดยอิงหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นเกณฑ์ นับเป็นการสร้างสรรค์งานเทียนอีกประการหนึ่งด้วยเช่นกัน
การเทขี้ผึ้งเพื่อหล่อลำต้นเทียน
๑. เตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ไว้ให้พร้อม และนำมาวางไว้บริเวณที่ช่างจะทำการหล่อ รวมทั้งเตรียมคนที่จะเป็นลูกมือช่วยงาน ซึ่งจะใช้ประมาณ ๒ - ๓ คน
๒. นำขี้ผึ้งที่เตรียมไว้มาสับเป็นก้อนเล็ก ๆ ใส่ลงไปในภาชนะที่จะต้ม
๓. นำขี้ผึ้งใส่ลงไปในปี๊บหรือภาชนะที่ใช้ต้ม แล้วนำขึ้นตั้งบนเตาอั้งโล่ ต้มขี้ผึ้งจนละลาย ยกปี๊บลงจากเตาไฟ เทขี้ผึ้งที่ละลายแล้วลงไปในโอ่งมังกร ขี้ผึ้งที่ต้มจะมีกี่ปี๊บก็เทลงรวมกันในโอ่งจนหมด จนได้ขี้ผึ้งที่ต้มละลายแล้วให้มีปริมาณเพียงพอที่จะใช้หล่อ