รับจัด Outing, Team Building, CSR, Walk Rally, สัมนานอกสถานที่, ดูงาน ในประเทศและโซนเอเชีย
สำหรับบริษัทในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง
084-160-0210 , 02-733-0683

สรุปการสัมมนาเรื่องภูมิปัญญาเทียนสู่สากล อุบลราชธานี

สารบัญ

สรุปการสัมมนาทางวิชาการเรื่องภูมิปัญญาเทียนอุบลราชธานีสู่สากล

สรุปการสัมมนาทางวิชาการเรื่องภูมิปัญญาเทียนอุบลราชธานีสู่สากล ตอน เล่าขานตำนานเทียนอุบลราชธานีสู่สากล” วันที่ 5 มิถุนายน 2550 ณ ห้องโกมุท มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

อาจารย์รัตนะ ปัญญาภา (พิธีกร) ขอแนะนำผู้ดำเนินรายการวันนี้คือ อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า ท่านเป็นหัวหน้างานกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต ๔ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเป็นบุคคลดีเด่นด้านวัฒนธรรมและด้านสื่อสารมวลชนของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้สืบสานโครงการภาพเก่าเล่าขานตำนานเมืองอุบลฯ กลุ่มฮักแพง แปงอุบลฯ และเป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุมากว่า ๓๐ ปี ขอเชิญพบกับ อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า

อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า (ผู้ดำเนินรายการ) ขอขอบคุณท่านวิทยากรและพิธีกรครับ ช่วงต่อจากนี้ไปในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากผู้ทรงคุณวุฒิและนักเรียน นักศึกษา ท่านอาจารย์ทุกท่านที่ให้ผมมาร่วมดำเนินรายการเดียวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โอกาสนี้ขอกราบเรียนเชิญท่านผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่วันนี้ กราบเรียนเชิญ ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล และกราบเรียนเชิญ ท่านสุวิชช คูณผล ครับ สำหรับประวัติขอเรียนสั้น ๆ ว่าคงจะรู้จัก ขอเรียนเพิ่มเติม ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล นั้น เป็นชาวอุบลฯ โดยกำเนิดและเป็นผู้สืบสานเรื่องราว สืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอย่างดียิ่งขอต้อนรับท่านอีกครั้งหนึ่งครับ ท่านที่สองท่านผู้นี้อดีตเป็นข้าราชการ รับราชการมานานจนถึงสูงสุดเป็นปลัดเทศบาลนครอุดรธานี และได้เกษียณอายุราชการ ท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้าน และท่านได้รับปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และมีภูมิรู้ภูมิธรรมมากมาย โอกาสนี้ขอต้อนรับท่านสุวิชช คูณผล อีกครั้งหนึ่ง

ขอเข้าสู่บรรยากาศเสวนาทางวิชาการอีกครั้งในหัวข้อ “เล่าขานตำนานเทียนอุบลราชธานีสู่สากล” ครับ ขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่าน และการถ่ายทอดเสียงวันนี้ จากสถานีวิทยุเพื่อการศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ผู้ฟังทางบ้านสามารถติดตามข่าวสารได้ ประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้ หลายท่านคงอยากจะรู้เรื่องราวโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษาว่าวิวัฒนาการหรือตำนานเทียนเป็นมาอย่างไร ในหลายแง่มุมมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำเทียน ในเรื่องการจัดงานแห่เทียนแต่ละครั้งนั้นหลายคนไม่มีส่วนร่วมแต่มีส่วนวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิ บางคนได้ฟังแต่ข่าวด้านเดียว ดังนั้น การเสวนาจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งถ้ามีการพูดคุยกัน สองทาง หรือสามทาง ทั้งผู้ฟังผู้พูดแต่ประเด็นวันนี้มีทั้งภาคเช้า ภาคบ่าย ในภาคเช้าได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ๒ ท่านคือ ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล และท่านสุวิชช คูณผล จะมาเล่าขานตำนานเทียนว่าสู่สากลอย่างไร

สำหรับประเด็นนี้จะนำเรียนผู้ฟังโดยผมตั้งไว้ ๓ ประเด็น คือ ๓ ผ อุบลฯจัดประเพณีแห่เทียนจัดได้ ๓ ผ ผ แรก คือ ผู้สร้าง การสร้างตำนาน สร้างเทียน สร้างองค์ความรู้สำคัญมาก ผมยกให้เป็น ผ ที่หนึ่ง ส่วน ผ ที่สอง ก็ถือว่าสำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ ผู้สืบสาน มันจะเป็นรุ่นต่อรุ่นสืบสานในรูปแบบกิจกรรม ในรูปแบบการถ่ายถอด โต้แย้ง ขัดแย้ง หรือมีวิธีการต่าง ๆ จะเรียกว่าผู้สืบสาน ผ สุดท้ายคือ ผู้ส่งเสริม ประเด็นสำคัญผู้ส่งเสริมเช่น คุ้มวัดต่าง ๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประชาชนทุกคนรวมทั้งหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น จังหวัด เทศบาล อบจ. อบต. เพราะฉะนั้น ๓ ผ ตรงนี้จะมาประมวลทุกอย่างให้ผู้ร่วมเสวนาทั้ง ๒ ท่านได้เล่าสู่ฟังเป็นประเด็น ๆ ไป จะขอเริ่มเปิดประเด็นไปที่ผู้อาวุโสอายุใกล้จะร้อยปีเดินเหินไปมาได้สะดวกถึงแม้จะอายุมาก วันนี้ท่านจะเข้าสู่ประเด็นว่าจากการที่เราอยากรู้เรื่องราวเล่าขานตำนานเทียนอุบลราชธานี ว่ามีความเป็นมาอย่างไรโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา สมัยก่อนเรียน ป.๒ – ป.๓ ก็เคยดูเทียน หลัง ๆ มาการจัดงานแห่เทียนเปลี่ยนไปไม่ได้ดูเลย หรือมาก็ไม่ทัน ถ่ายทอดก็ชั่วโมงเดียว มันมีปัญหาหลากหลายซึ่งก็อยู่ใน ๓ ผ ครับ ประเด็นแรกคงจะกราบเรียนเชิญท่าน ดร.บำเพ็ญ ได้กรุณาเล่าเรื่องราว หรือแง่คิดมุมมอง จุดกำเนิดในเรื่องเทียนก่อนครับ ขอเรียนเชิญ ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล ครับ

ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล" แห่เทียนเริ่มสมัยกรมหลวงสรรสิทธิประสงค์เป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระเนตร พระกรรณ มณฑลอีสาน หรือมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่นั้นมาแทนแห่บั้งไฟ ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้.........."

ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล (วิทยากร)
ขอขอบคุณผู้กำกับการบรรยายและขอบคุณผู้ที่มาฟังทุกท่าน ตำนานเทียนพรรษานี้เป็นของโบราณสืบทอดกันมาก่อนตั้งเมืองอุบล ด้วยวัฒนธรรมนี้ได้รับมาจากอาณาจักร ศรีสัตนาคนหุตล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง เวียงจันทน์ และอาณาจักรจำปาสัก ซึ่งหลวงพระบางก็ดี เวียงจันทน์ก็ดี จำปาสักก็ดี เป็นเชื้อพระวงศ์เดียวกันแต่แยกกันมาสร้างในโอกาสอันสมควรของท่านเหล่านั้น เมื่อเรานับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำอาณาจักรในสมัยแรกที่ศาสนาเข้ามาในกรุงศรีสัตนาคนหุต สมัยพระเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณี (พระเจ้าฟ้างุ้ม รับเอาศาสนาพุทธมาเป็นศาสนาประจำอาณาจักรนั้น) และสืบเนื่องมาในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นหลานของท่าน เนื่องจากพุทธศาสนาของเราบอกว่าในหน้าฝน ๓ เดือนชาวบ้านทำนา ห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์เดินไปเหยียบย่ำข้าวกล้าในนาของชาวบ้านซึ่งชาวพุทธก็ทราบกันดีอยู่แล้ว ทีนี้การที่อยู่ในวัดพระจะต้องปฏิบัติตามกิจของสงฆ์คือ สวดมนต์ ไหว้พระ สั่งสอนชาวบ้าน ศึกษาหาความรู้ในหนังสือพระไตรปิฎก และพระสูตรต่าง ๆ ในการศึกษาเล่าเรียนเหล่านี้ถ้าเป็นกลางคืนต้องใช้แสงเพื่อให้อ่านหนังสือได้ ชาวบ้านทั้งหลายในแต่ละคุ้มของวัดนั้นก็ถวายแสงสว่างแด่พระคุณท่าน

สมัยก่อนไม่ทำเทียนใหญ่แต่ทำเป็นเล่มเรียก “เทียนเวียนหัว” สมัยเป็นเด็กก็เคยเห็นผู้ใหญ่เอาด้ายเป็นเส้นมาวัดรอบศีรษะเรายาวแค่ไหนก็จะดึงออกมาเอาผึ้งอย่างดีมาฝั่นเป็นเทียน ส่วนมากจะเป็นคุณยายเอามาฝั่น บ้านเรามี ๕ คนก็จะใช้ ๕ เล่ม สั้นยาวตามศีรษะของแต่ละคน ทีนี้เมื่อได้เทียนแล้วชาวบ้านก็จะนำส่วนประกอบของเทียนคือ เครื่องอัฐบริขาร ผ้าอาบน้ำฝนและอาหารแห้งต่าง ๆ ในวันเข้าพรรษาชาวบ้านในแต่ละคุ้มวัดก็ไปถวายที่วัดนั้น แต่ละบ้านก็จะมีเทียนไปกำหนึ่ง กำหนึ่ง เป็นเส้นแล้ว นี่เป็นเริ่มต้นการที่จะถวายเทียนพรรษา

ทีนี้ในเมืองอุบลฯ มีพิธีการอันหนึ่ง คือ พอถึงเดือน ๖ มาก็ทำบุญบั้งไฟ บุญบั้งไฟนำไปแห่ที่วัดหลวง ค้างบั้งไฟก็อยู่ริมแม่น้ำมูลแล้วจุดบั้งไฟไปทางอำเภอวารินชำราบ ตอนนั้นไม่มีคนอยู่เป็นป่าก็จุดบั้งไฟตรงนั้นมีการแห่แหนกัน บุญบั้งไฟแต่ก่อนไม้ได้ห้ามกันกินเหล้าอย่างสนุกสนาน เมาบ้างไม่เมาบ้างในการแห่บั้งไฟต่างคนต่างก็ใช้เครื่องรางของขลัง ของดีทั้งหลายที่มีอยู่ประจำตัวนั่นแหละเอ้เต็มที่เลย ของก็ขึ้นแห่บั้งไฟไป แห่ไปแห่มาเกิดคึกคะนองเพราะเหล้าบ้าง ของดีที่แขวนคออยู่บ้าง ฆ่ากันตีกันเจ็บก็มีตายก็มี

ตอนนั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์มาเป็นผู้สำเร็จราชาการต่างพระเนตร พระกรรณ ประจำมณฑลอีสานหรือมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ ประทับที่อุบลราชธานีก็มาเห็นบุญบั้งไฟท่านเห็นกินเหล้าแล้วตีกัน ท่านก็เลยบอกว่าแบบนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา มันเปลี่ยนไปแล้วกินเหล้าในวัดไม่ได้ ท่านเลยสั่งให้เลิกการทำบุญบั้งไฟในเมืองอุบลฯ ทีนี้ถ้าเลิกแล้วปีหนึ่งประชาชนจะมีความสนุกสนานร่าเริงอย่างไร จะมีการบุญการศีลอะไรให้คนมารวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ท่านเลยบอกว่าให้แห่เทียนโดยให้แต่ละคุ้มวัดทำเทียนเป็นต้นแห่ไปถวายวัด

ในครั้งสมัยแรก ๆ ประชาชนก็ไม่รู้ว่าจะทำเป็นต้นเทียนใหญ่ได้อย่างไร ก็ไปเอาไม้ไผ่มาเหลา ซื้อน้ำมันมา ๑ ปิ๊บ แล้วเหลาไม้ไผ่ทำเป็นตีนคล้ายตีนก่องข้าว ก็ตั้งบนปิ๊บน้ำมันแล้วเอาเทียนไขที่ซื้อมา มามัดรวมกันเรียงแถวให้รอบต้นเทียนแล้วเอากระดาษตักโก กระดาษทอง มาตัดเป็นแข่วหมากแหย่ง และเอ้ บนปลายเทียนใช้ฉัตรกระดาษนั่นแหละแห่ไป แล้วมีนางงามประจำคุ้มเป็นผู้คอยควบคุมไม่ให้เทียนล้ม นั่งบนเกวียนแล้วแห่เอาไปรวมที่ศาลากลางจังหวัดก่อนให้เสด็จในกรมได้ทอดพระเนตรก่อน ท่านว่าดีแล้วจึงปล่อยขบวนแห่ต้นเทียนไปรอบ ๆ เมือง เดิมแห่จากหน้าวัดศรีอุบลรัตนารามไปถึงถนนอุปราชก็วกไปตลาดเก่าทางท่าตลาดแล้วจึงขึ้นมาทางไปรษณีย์ แล้วจึงสลายไปตามวัดต่าง ๆ

ต่อมาบอกว่าแห่อย่างนั้นไม่ถูกทางเลยแห่ใหม่ วิวัฒนาการทำเทียน เมื่อทำเป็นเทียนมันรอบไม้ไผ่ ต่อมามีผู้คิดทำหล่อเป็นแท่ง สมัยเดิมเป็นแท่งเฉย ๆ ไม่มีการแกะสลักแต่ผมชอบใจต้นเทียนของทหารเขาทำเป็น แปดเหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมเขาทำเป็นตัวผึ้งโดยเอาดิ้นมาทำเป็นตัวผึ้ง เอากระดาษเอาผ้าบาง ๆ ไปทำเป็นปีกมันแล้วเอาลวดขด ลวดไหวเสียบท้องมันแล้วไปเสียบใส่ต้นเทียน เวลาลมพัดมาผึ้งก็จะไหว ผมชอบใจไม่ลืมเลย แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครที่นำเอาตัวผึ้งไปอ้อมต้นเทียน ไม่มีใครทำซึ่งปัจจุบันจะทำก็ได้

ทีนี้เมื่อประดับเช่นนั้นแล้ว ต้นเทียนเอ้โดยไม่แตะต้องตัวเทียนเลย มายุคหลังก็มาคิดใหม่ว่าต้นเทียนเฉย ๆ มันเกลี้ยงไปมันไม่สวยก็เลยมาคิดแกะสลักเป็นลวดลายไทย และมีการติดพิมพ์ต้นเทียนเอาผึ้งสีเหลืองที่เป็นเทียนอย่างดีมาพิมพ์ลาย แล้วติดต้นเทียนมันก็เป็นแบบติดพิมพ์ อย่างท่าน อาจารย์ประดับ ก้อนแก้ว ท่านทราบดีเพราะท่านเป็นช่างผมไม่ใช่ช่างแต่ผมเป็นคนดูท่านทำเป็นต้นผมก็ดู ทำเป็นแกะสลักผมก็ดู ท่านติดพิมพ์ผมก็ดู อยากได้หินอ่อนที่แกะสลักเป็นลายเราอยากทำก็ทำเองได้ ในสมัยก่อน ต้นเทียนก็ประดับเฉพาะเทียนเท่านั้นไม่ได้ประดับรถที่ประดิษฐานต้นเทียน ต่อมามีการประดิษฐ์ใหม่ต้นเทียนก็ทำเป็นรูปนาค ครุฑ นก เจ้าแผ่นดินและอื่นๆ ไป ๆ มา ๆ ไม่รู้ว่าเทียนอยู่ตรงไหนใจผมจริง ๆ ก็รู้ว่าเทียนอยู่ตรงกลางแต่ส่วนประกอบเยอะแยะเหลือเกินมีทั้งนกทั้งหนู อันนี้เป็นวิชาของช่าง อาจารย์ประดับ กับอาจารย์อุตส่าห์คงจะได้กล่าวต่อไป

วัฒนาการของเทียนก็เป็นอย่างที่ผมเล่ามาเท่าที่ผมทราบนะ แต่ผมได้ได้ทำต้นเทียนหรอกทำแต่เทียนเวียนหัวไปถวายมอบกายถวายชีวิตบูชาพระรัตนตรัยโดยใช้เทียนเวียนหัวยังทำอยู่ ทีนี้นอกจากการแห่เทียนของจังหวัดเราแล้วผมย้ายไปอยู่หลายจังหวัด โคราชก็ไปอยู่แต่ก่อนโคราชไม่มีแห่เทียนพรรษาเขาพึ่งมาทำทีหลังเรา เขาจะแข่งอุบลฯ ให้ได้ สำหรับจังหวัดขอนแก่นที่ผมไปอยู่ ๕ ปีก็ไม่มีแห่เทียนแม้จังหวัดยโสธรก็ไม่มีแห่เทียน ผมจึงไปบอกว่ายโสธรเป็นเมืองใหญ่ทำไมมีการแห่เทียน เขาจึงทำการแห่เทียน แห่เทียนโคราชกำลังแข่งขันกับเรา แต่ว่าผมก็ส่งเสริมยกย่องว่าบ้านเราเลิศกว่าใครในประเทศนี้ อันนี้เป็นตำนานและความรู้ที่ได้เฝ้าสังเกตตั้งแต่เด็กจนอายุ ๘๓ ปี ก็ได้เห็นได้รู้มาอย่างนี้ ก็ขอบรรยายให้ท่านผู้ฟังและนักศึกษาได้ทราบความเป็นมาของเทียนพรรษานี้ แห่เทียนเริ่มต้นสมัยไหน? แห่เทียนเริ่มสมัยกรมหลวงสรรสิทธิประสงค์เป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระเนตร พระกรรณ มณฑลอีสาน หรือมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่นั้นมาแทนแห่บั้งไฟ ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้ ผมก็ขอบรรยายภาคแรกเพียงเท่านี้

ค้นหาที่ท่องเที่ยว


Thailand Tourism Standard

ทัวร์แนะนำ

ผู้เข้าชม

มี 1744 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์