รับจัด Outing, Team Building, CSR, Walk Rally, สัมนานอกสถานที่, ดูงาน ในประเทศและโซนเอเชีย
สำหรับบริษัทในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง
084-160-0210 , 02-733-0683

สรุปการสัมมนาเรื่องภูมิปัญญาเทียนสู่สากล อุบลราชธานี

สารบัญ

คุณสุวิชช คูณผล
ขอบคุณครับผมขออนุญาตใช้เวลาเล็กน้อยนี้สรุปว่า การวิจารณ์วิพากษ์ของนักวิชาการหรือชาวบ้านในสิ่งที่ไม่ดีงาม หรือในสิ่งที่เราคาดคิดไม่ถึงนั้น ส่วนใหญ่ก็คล้าย ๆ กัน เราจะต้องทำใจและยอมรับการตำหนิติเตียนในสิ่งเหล่านั้น โดยถือว่าเราเป็นเมืองนักปราชญ์ นักปราชญ์ย่อมไม่อ่อนไหวต่อสิ่งติเตียนใด ๆ และพร้อมที่จะพิจารณาแก้ไขให้ถูกต้องและสมบูรณ์ ประเด็นสำคัญก็คือว่า การแก้ไขนั้นใครจะเป็นคนแก้ จังหวัดหรือชาวบ้านหรือผู้เกี่ยวข้อง ผมขอเรียนว่าอย่างพ่อบำเพ็ญพูดไปแล้วว่า จังหวัดนั้นถ้าท่านใส่ใจ เรื่องก็เกิดขึ้นได้ แต่เท่าที่ผมสัมผัสมานั้นยากมากเพราะภารกิจจังหวัดนั้นมากมายเหลือเกิน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณี แต่หน้าที่ของจังหวัดนั้นแค่รักษาความสงบเรียบร้อยก็แย่อยู่แล้ว อันนี้น่าเห็นใจ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ผู้ว่าฯ ที่มาใหม่ก็จะรักษาวัฒนธรรม ไปหาผู้หลักผู้ใหญ่พอเอาเข้าจริง ๆ ม๊อบเขื่อนปากมูลมาล้อมศาลากลางก็เลยบอกผมว่าเวลาไฟไหม้บ้านต้องดับก่อนนะ ดังนั้นจังหวัดน่าเห็น ที่เป็นหลักจริง ๆ คือสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ แห่งนี้ซึ่งเป็นสติปัญญาของสังคมและชุมชนเป็นปรัชญามหาวิทยาลัยทั้ง ๒ ฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี หรือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จะต้องร่วมกัน

ผมขอเรียนว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี แก้ไขแล้วหลายครั้งพูดง่าย ๆ ว่าเข้าสู่แบบแผนเข้าสู่ทิศทาง ปี ๒๕๔๗ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ และหน่วยงานหลัก ๆ ก็ร่วมมือกันเข้าสู่ทิศทาง พระสงฆ์ผู้สำคัญก็คือ พระพรหมวชิรญาณ ท่านเป็นประธานได้รับทราบจากคนที่มาดูแห่เทียนเมืองอุบลฯ ว่า ไปดูก็เท่านั้น ท่านก็ชี้ให้เห็นว่า “สามก้อนเซ่าหม้อข้าวบ่ล้ม” พูดตรง ๆ ก็คือว่า ทุนทางสังคมเป็นนับร้อยปีตั้งแต่ปี ๒๔๔๔ - ๒๕๔๔ ผู้ที่มาอยู่ใหม่มีอำนาจก็เอาทุนทางสังคมเหมือนเอาน้ำใสออกเหลือแต่โคลนตมให้คนอุบลฯ โดยเอาโฆษณามาขึ้นบ้างได้เงินแสน สองแสน เอาใครมาวุ่นวายพวกเราไม่มีสิทธิแต่เป็นงานของเขาทุนทางสังคมหายหมด ท่าน รศ.ประจักษ์ บุญอารีย์ โมโหมาก ได้เขียนบทความวิจารณ์ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยทั้ง ๒ แห่ง สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษามีตั้งหลายแห่งจะต้องร่วมกันแก้ไขวิธีการและยอมรับความจริงเรื่องนี้ว่า ปีนี้เทียนพรรษาของเราชื่อเมื่อเช้าที่เรียกกัน ฮุ่งเฮืองเหลืองเหลื่อม เป็นภาษาอีสานให้ทราบว่าเกิดอยู่ที่อุบลฯ มันฮุ่งเฮืองมานานแล้ว เลิศล้ำเทียนพรรษา คำขวัญว่า งามล้ำแต่ ททท. กับ ท่าน รศ.นพดล จันทร์เพ็ญ ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมด้วยได้ให้ข้อเสนอว่า คำว่าเลิศล้ำสูงกว่างามล้ำ จึงได้สรุปเอาเลิศล้ำเทียนพรรษาดังนั้นคำขวัญงานแห่เทียน ปี ๒๕๕๐ จึงใช้คำว่า “ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม เลิศล้ำเทียนพรรษา ปวงประชาพอเพียง” คำว่าเมืองธรรมของอุบลฯ คือ ธรรม ๓ ประการ ประการแรก คือ พุทธธรรมน้อมนำปฏิบัติ ประการที่สองอารยธรรม อุบลอู่อารยธรรม อุดมอริยทรัพย์ อริยสงฆ์ รุ่งโรจน์ศาสตร์เรืองรองศิลป์ถิ่นไทยดี คือที่มาของอุบลเมืองนักปราชญ์ ประการที่สามธรรมชาติ คำว่าอุบลราชธานีศรีวนาลัย ศรีวนาลัยนี่แหละคือ ธรรมชาติของเมืองอุบลฯ ซึ่งยืนยงอยู่ทุกวันนี้มีอุทยานแห่งชาติทั่วไป อาจารย์ธิดา สาระยา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านแปลความหมายคำว่า “อุบลราชธานี” ง่าย ๆ ว่า “ ธานีแห่งราชะ ศรีสง่าแห่งไพรพฤกษ์” อันนี้ชัดเจนมาก

สุดท้ายที่จะเรียนคือ วิเทศสัมพันธ์ เทียนพรรษาไปเกี่ยวข้องกับนานาชาติได้อย่างไร อาจารย์ทินกร อัตไพบูลย์ รู้ดีตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ มา การแกะสลักเทียนนานาชาติเริ่มในปี ๒๕๔๙ มี ๙ ประเทศ มาร่วมแกะสลักเทียนและร่วมแห่ เพื่อที่จะถวายเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การนำไปสู่สากลของเรานั้นเราจะต้องคำนึงสิ่งใดอย่างไรบ้าง อุบลฯเราเคยมีสิ่งใดไหมที่เคยไปสู่สากล เราจะจำได้ง่าย ๆ ว่า “หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง” เป็นสกุล ๓ ช่าง มีไทย ลาว พม่า ซึ่งอยู่ในกลุ่มล้านช้างด้วยกัน และมีประเทศติดกันสกุลช่างก็ไหลไปถึงกันได้ อาจเป็นไปได้ที่ช่างจะเวียนไปคล้าย ๆ กัน แต่ว่าพระอุโบสถพระอารามหลวงวัดสุปัฏนารามฯ เป็นเรื่องแปลกมาก ส่วนบนเป็นศิลปะแบบไทย ตรงกลางเป็นเยอรมัน ล่างเป็นขอมโบราณ เยอรมันอยู่คนละซีกโลกแต่ทำไมมีศิลปะแบบเยอรมันในวัดสุปัฏนารามฯ นั่นคือสถาปนิกที่มาสร้างถนนจากอำเภอวารินชำราบไปช่องเม็ก คุณหลวงสถิตนิมานการ ชื่อเดิม ชวน สุปิยาพันธ์ ท่านเขียนไว้ว่า การที่เราจะไปสู่นานาชาติเราต้องยึดของเราเป็นแก่นเป็นหลัก ไม่ใช่ไหลไปตามเขา และการที่เอาศิลปะเยอมันมาใส่ไว้นั้นหมายถึงศิลปะไม่มีพรมแดนเป็นตัวอย่างของการผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัว

อยากจะบอกว่าเราไม่ขัดข้องที่เราจะไปสู่นานาชาติ ถือว่าของเรานี้เยี่ยมทุกคนถึงพอใจ แต่ขอให้พอดีพองามในสิ่งที่ว่า “อนุรักษ์ของเดิม แล้วส่งเสริมของใหม่” อย่าให้แปลกเปลี่ยนจนกระทั่งเกิดวิกฤติการณ์ขึ้นอีก จงสำนึกว่าประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นทุนทางสังคมที่สะสมมานับร้อย ๆ ปี โดยบรรพบุรุษของชาวอุบลฯ จึงได้มีจิตวิญญาณเป็นชีวิตชีวาชาวอุบลฯทุกคนจะต้องหวงแหนรักษาไว้จนชั่วชีวิต ขอขอบคุณมากครับ
อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า
เรียนผู้เข้าร่วมฟังทุกท่านครับ ท่านมีประเด็นใดที่จะถามเพิ่มเติม ที่ท่านทั้งสองให้รายละเอียดไปพอสมควร ทั้งนี้ทั้งนั้นการสัมมนาเป็นคำพูด แต่สิ่งที่ยั่งยืนคือ การสืบสานในเรื่องของลายลักษณ์อักษร ซึ่งผู้รู้ที่นั่งอยู่ในที่ประชุมนี้ก็มีมากมาย ถ้าจะเอ่ยนามก็คงจะมีท่าน รศ.ประจักษ์ บุญอารีย์ ท่านเป็นบรมครูผู้หนึ่งที่สืบสานเห็นทั้งความราบรื่น ความขัดแย้ง ความดีงาม และเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนประคับประคองในประเพณีมาโดยตลอด ครับ

รอบเช้านี้เราก็ได้ความรู้ไปไม่มากก็น้อย เราจะมีรอบบ่าย ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ น. เป็นต้นไป ก็จะขอเรียนเชิญอีกครั้งหนึ่งว่าประเด็นการสืบสานตำนานเทียนสู่สากลจะมีประเด็นอย่างไร เพราะว่าเราจะมีการจัดงานในเดือน กรกฎาคม นี้แล้ว วันนี้ถือเป็นการปฐมฤกษ์งานเทียนพรรษา ในการนี้ขอกราบขอบคุณทุกท่านอีกครั้งหนึ่งและขอกราบขอบคุณท่านสุวิชช คูณผล มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอกราบขอบพระคุณท่าน ดร. บำเพ็ญ ณ อุบล ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอให้ท่านได้ภูมิใจใน ๒ ท่านนี้ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวอุบลฯ โอกาสหน้าหากมีการเสวนาจะได้เชิญทั้งสองท่านอีกครั้งหนึ่ง ขอกราบขอบคุณทั้ง ๒ ท่านไว้ ณ ที่นี้

อาจารย์ทินกร อัตไพบูลย์ (ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม) "..........อย่างผมทำไปทำไม พาการแสดงไปแสดงทั่วโลกมา เทียนก็จะต้องไปเผยแพร่ด้วย ทำอย่างไรถึงจะไปสู่สากลได้ลูกหลานพวกเราต้องคิดต่อไป กลับไปย้อนถามตัวเองว่าพ่อแม่เราท่านทำมาอย่างนี้ แล้วเราจะทำอะไรต่อไปในอนาคต ในฐานะที่เราเกิดทีหลังต้องคิดไว้แล้วมิใช่อยู่เฉย ๆ.........."

อาจารย์ทินกร อัตไพบูลย์ (ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม)
เราได้ฟังและได้รับความรู้ และถือว่าเราจะต้องนำเอาอดีตมารับใช้ปัจจุบัน เรามีทุนทางวัฒนธรรมที่ดี ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ให้มา ผมคิดว่าที่จะไปสู่สากลก็เป็นเรื่องยากที่เราจะคิดต่อไปอีกว่าทำอย่างไรจะอยู่ได้ต่อไปชั่วลูกหลาน การไปสู่สากลทำไปทำไม อย่างผมทำไปทำไม พาการแสดงไปแสดงทั่วโลกมา เทียนก็จะต้องไปเผยแพร่ด้วย ทำอย่างไรถึงจะไปสู่สากลได้ลูกหลานพวกเราต้องคิดต่อไป กลับไปย้อนถามตัวเองว่าพ่อแม่เราท่านทำมาอย่างนี้ แล้วเราจะทำอะไรต่อไปในอนาคต ในฐานะที่เราเกิดทีหลังต้องคิดไว้แล้วมิใช่อยู่เฉย ๆ

ผมจะถามท่านต่อไปว่าท่านจะทำอย่างไรที่จะนำไปสู่สากลจะทำการตลาดอย่างไร ตอนนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำลังทำตลาดให้เพื่อเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง การศึกษา เกี่ยวข้องไปหมด การสืบทอดสั่งสมก็สำคัญ ดังนั้นตอนนี้คนที่จะมาสั่งสมส่งเสริมให้ลูกหลานนี่คือ ประสบการณ์ตรงของผู้รู้ฉะนั้นถ้าเราจะถามตัวเองว่า แล้วเราจะได้อะไรการนำไปสู่สากลทำไปเพื่ออะไร คำตอบก็น่าจะไปหากัน สร้างแล้วได้อะไรถ้าไม่ได้อะไรมันก็จะเข้าไปสู่วิกฤติการณ์อีกครั้งหนึ่ง เราจะให้วิกฤติการณ์นั้นเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๒ หรือไม่ ถ้าไม่ก็ต้องรวมน้ำใจของเมืองอุบลฯ เป็นหนึ่งเดียว อันนี้จะได้ประสบการณ์กว่ามือไม่พายเอาเท้ามาราน้ำ อันนี้สำคัญคือคนนี้ไม่ทำแล้วยังมาติไม่เพื่อก่อ ติเพื่อทำลาย ถ้าติเพื่อทำลายไม่ใช่เมืองนักปราชญ์ นักปราชญ์ต้องทนได้ในสภาพหนึ่งที่บอกว่า ติอย่างพอเพียง

ฉะนั้น คณะทำงานยุคต่อ ๆ ไปก็เหมือนกันมหาวิทยาลัยพร้อมที่จะสนับสนุนกิจการเหล่านี้อยู่เบื้องหลังจะให้ออกหน้ามากเดี๋ยวจะว่าเอามาทำทั้งหมด คนอื่นไม่มีส่วนร่วมด้วยสังคมต้องช่วยกันทั้งหมด บ้าน วัด โรงเรียน “บ ว ร” ต้องช่วยกัน ถ้าไม่ทำก็ไม่มีช่างสืบสานตำนานเมืองอุบลราชธานี เมืองแห่งเทียน เมืองธรรม ฉะนั้นขอบคุณท่านที่นำนักเรียน นักศึกษา เข้ามาฟัง จะเป็นประโยชน์มาก ในการที่เราจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร

ผมก็ขอทิ้งท้ายเท่านี้ ตอนบ่ายจะเป็นเรื่องของเทคนิคและการพัฒนาเทียนเมืองอุบลฯให้ไปสู่ความเป็นเลิศ คือเลิศล้ำค่าที่กล่าวมาข้างต้น ขอขอบพระคุณท่านผู้ดำเนินการอภิปราย ท่านอาจารย์ปัญญา ท่ามีรูปเก่าสะสมไว้มากท่านพยายามเก็บรูปภาพ เพื่อ “เล่าขานตำนานเมืองอุบลฯ” ร่วมกับคุณพ่อบำเพ็ญ และ ท่านสุวิชช ขอบพระคุณครับ

ค้นหาที่ท่องเที่ยว


Thailand Tourism Standard

ทัวร์แนะนำ

ผู้เข้าชม

มี 979 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์