สรุปการสัมมนาเรื่องภูมิปัญญาเทียนสู่สากล อุบลราชธานี
สารบัญ
อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า
กราบขอคุณ คุณพ่อบำเพ็ญครับ นี่เป็นหนึ่งในร้อยหนึ่งในพันของความรู้ของคุณพ่อบำเพ็ญ ซึ่งต้องไปศึกษาจากหนังสือของท่านจากหลายเล่มที่มีผู้เรียบเรียงมากมาย ถ้าเป็นนักเรียน นักศึกษาที่เป็นผู้ใฝ่รู้ นี่เป็นตำนานย่อ ๆ เท่านั้นในยกแรก ยังมีอีกหลายส่วนต้องขอขอบคุณ คุณพ่อบำเพ็ญ ในส่วนนี้ก่อนนะครับ ต่อไปก็คงจะเป็นบทบาทหนึ่งซึ่งผู้รู้ที่จะต้องนำเสนอในหลายแง่มุมในเรื่องของวิวัฒนาการตำนานเทียนสู่สากลได้อย่างไร เหมือนกับบั้งไฟยโสธรหรือไม่ หรือมีส่วนไหนบ้างที่ส่งเสริมให้เทียนของเราก้าวหน้ามาถึงขนาดนี้ ซึ่งจะว่าเป็นบทๆ ตอน ๆ ไป รายละเอียดก็คงกราบเรียนท่านสุวิชช คูณผล ขอเรียนเชิญ
คุณสุวิชช คูณผล"..........ผมจะขอเรียนคำว่า “วิกฤติการณ์” คืออะไร มีไหมที่เทียนพรรษาเจอวิกฤติการณ์ เทียนพรรษาได้กำเนิดขึ้นเมื่อ ปี ๒๔๔๔ ปีที่มีการจัดงานบั้งไฟที่วัดหลวงแล้วมีการตีกันมีคนตาย.........."
คุณสุวิชช คูณผล (วิทยากร)
ขอคุณครับ กราบเรียนคุณพ่อบำเพ็ญผู้อาวุโส และท่านผู้ฟังซึ่งล้วนแต่เป็นแกนบ้านแกนเมืองของเมืองอุบลฯ ผมรู้สึกสบายใจและมีความสุขครับที่ได้มาเจอหน้าท่านที่เคารพทั้งหลาย เพราะห้องประชุมโกมุทแห่งนี้เป็นสถานที่อีกที่หนึ่งซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเทียนพรรษา หัวข้อการพูดที่อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า ได้ กล่าวมานั้น ผู้สร้างผู้เสริม ผู้สนับสนุน ก็คือ ผ ส เรื่องที่ผมจะนำเรียนในที่ประชุมแห่งนี้ ผมได้เรียนปรึกษาพ่อบำเพ็ญแล้ว คือพ่อบำเพ็ญ ผมเรียนว่าเมืองอุบลฯ ต้องมีวิ่งผลัดนักปราชญ์อย่างไร คือพ่อบำเพ็ญ ๘๓ ปี ผม ๖๙ ปี อาจารย์ปัญญา ๕๐ กว่า นี่แหละ ๓ นักวิ่งผลัดที่นั่งอยู่ทั้งหลายก็นักวิ่งผลัดทั้งสิ้น คือท่านจะเห็นว่าอุบลฯ เมืองนักปราชญ์คือ ปราชญ์อายุ ๘๐-๙๐ เยอะ แล้วลดหลั่นลงมาเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีการวิ่งผลัดต่อไปจะไม่เหลือ เราไม่ต้องอายว่าเป็นปราชญ์หรือไม่เป็นปราชญ์ เราจะต้องช่วยกันเพราะปราชญ์คือผู้รู้ซึ่งคนที่มานั่งสัมมนานี้ก็คือปราชญ์ เพราะฉะนั้นความเป็นปราชญ์เมืองอุบลฯต้องคงไว้ตลอดไป สืบฮอยตาวาฮอยปู่นะครับ ต้นไม้บ่ฮ่อนหล่นไกลกก ฝนตกมาหน่อแซมแทนต้น หน่อแซมขึ้นมาหลายหน่อก็กลายเป็นกอ กอก็ช่วยกันกู้ช่วยกันทำ เพราะฉะนั้นผมเรียนพ่อบำเพ็ญผู้อาวุโสแล้ว ผมตามท่านมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ ตั้งแต่ ททท. ยังไม่เข้ามาสนับสนุน มีอะไรไม่รู้เกี่ยวกับงานเทียนผมก็ถามเอา แต่ก่อนก็เรียกพี่เพราะท่านห่างผมรอบหนึ่ง ก็เป็นเครือญาติสายกันมา ต่อมาเขาเรียกท่านว่าพ่อผมก็เลยเรียกพ่อบำเพ็ญด้วย ผมเรียนท่านว่า ท่านเป็นนักกฎหมายคนสำคัญของเมืองอุบลฯเป็นตัวแทนระดับชั้นฎีกา ตอนเรียนกฎหมายเราคงรู้คณะนิติศาสตร์มีวิแพ่ง กับวิอาญา คือวิธีพิจารณาความแพ่ง และวิธีพิจารณาความอาญา
แต่วันนี้ผมจะพูด ๔ วิแรก คือ วิวัฒนาการเทียนพรรษา วิสองคือ วิกฤติการณ์เทียนพรรษา มีวิวัฒนาการแล้วต้องมีวิกฤติการณ์ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงอันสำคัญว่าจะทางดีหรือทางร้าย เมืองอุบลฯเราเจอวิกฤติการณ์เทียนพรรษา ๒ – ๓ ครั้ง เดี๋ยวผมจะเรียนให้ฟัง วิที่ ๓ คือ วิพากษ์วิจารณ์ นักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเทียนพรรษาว่าอย่างไร สื่อมวลชน ชาวบ้านวิจารณ์เทียนพรรษาว่าอย่างไรบ้าง วิสุดท้ายคือวิเทศสัมพันธ์ อาจารย์ดร.เสรี สมชอบ ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ฯมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งมหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องมีรองวิเทศสัมพันธ์ฯคือรองที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทีนี้เทียนพรรษาของเรานี้เข้ามาสัมพันธ์กับเราตั้งแต่ ปี ๒๕๔๕,๒๕๔๙,๒๕๕๐ ผมจะสรุปตอนท้ายว่ามันทำให้เทียนพรรษาก้าวหน้ารุ่งเรืองหรือว่าจะทำให้กลายพันธุ์เป็นอย่างอื่น ๔ หัวข้อ
ในขณะเดียวกันผมเป็นลูกหลานพ่อบำเพ็ญผมก็จะเสริมที่ท่านได้พูด ท่านเป็นหมอลำ ผมจะเป็นหมอสอยในประเด็นที่ท่านพูดไปเมื่อสักครู่บอกว่าเป็นผู้สร้างเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาประจำชาติเรานี้มันเกี่ยวอย่างไรกับเทียนพรรษาท่านก็ได้พูดไปแล้ว ผมขอเสริมนิดหนึ่ง คงจะจำกันได้ในรูปชาดกจะมีรูปช้างเอาน้ำผึ้งมาถวาย มีรูปลิงถวายรวงผึ้ง ผึ้งนั่นแหละคือความสำคัญครั้งเก่าก่อนสมัยพุทธกาล เมื่อมีผึ้งแล้วคั้นเอาน้ำแล้ว ก็เอารวงผึ้งมาทำเปียงผึ้ง ภาษากลางเรียกว่า “งบผึ้ง” อะไรที่เป็นกลม ๆ แล้วมีความนูนเหมือนน้ำอ้อย ภาคกลางเรียกว่า “งบอ้อย” เราเรียก “เปียงอ้อย” อันนี้ก็คือเปียงผึ้ง เพราะฉะนั้นการมีเทียนพรรษาได้นั้นก็ต้องมีผึ้ง อันที่ ๒ พระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกัน อันที่ ๓ ก็คือความเป็นตระกูลช่าง ถ้ามีผึ้งมีศาสนาไม่มีช่างก็ทำไม่ได้ เมื่อกี้พ่อบำเพ็ญ พูดถึง ๓ ผ อันนี้ พ ผ ป ปราชญ์ คำว่าปราชญ์มีส่วนสำคัญเกี่ยวข้องอย่างไรกับเทียนพรรษาจะมีความเจริญรุ่งเรือง ร้อยกว่าปีที่มีมานี้ ในเมื่อเราเคารพนับถือพุทธศาสนาแล้วก็เจริญรอยตาม อาจารย์ประดับได้พูดไว้ว่าคนไทยเรานี้นับถือได้ทุกศาสนา พราหมณ์ ฮินดู ซึ่งนับถือเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็นับถือได้ นับถือเหตุผลตามพระรัตนตรัยก็นับถือได้ เพราะฉะนั้นที่พ่อบำเพ็ญพูดว่า บุญบั้งไฟเปลี่ยนมาเป็นเทียนพรรษา นั้นคือ ฮีต ๑๒ คอง ๑๔ ที่มีความเกี่ยวข้องกับบ้านเรา ที่เกี่ยวข้องก็เพราะว่า บุญบั้งไฟบูชาแถนอยู่บนฟ้า แต่เทียนพรรษาบูชาพระรัตนตรัยในวัด ในโบสถ์จึงเกี่ยวข้องตรงนี้
ประเด็นที่พ่อบำเพ็ญพูดว่าท่านไม่ใช่ช่างแต่ผมว่าท่านนั่นแหละเป็นผู้กำหนดแนวทาง ทิศทางแบบแผนความเป็นเมืองอุบลฯ ความเป็นปราชญ์ทั้งหลายทั้งปวง อันไหนดีงาม อันไหนเหมาะสมก็ต้องอาศัยผู้หลักผู้ใหญ่ของเรา ประเด็นของเราที่พูดกันว่าคือ ผู้สร้างเทียนคือใคร และวิวัฒนาการเป็นมาอย่างไรผมในฐานะที่เกิดทีหลังแต่เกี่ยวข้องกันเทียนพรรษามาตั้งแต่ยังไม่เกิดหมายความว่าอย่างไร อันนี้ต้องถามพี่ประดับ พี่ประดับเล่าให้ผมฟังว่า ปี ๒๔๗๓ ท่านก็เพิ่งเกิด แต่พอเข้าโรงเรียนไปเจอครูใหญ่และครูประจำชั้นท่านทำเทียนพรรษา ป. ๑ – ป. ๔ ครูใหญ่ชื่อนายสวน คูณผล เป็นครูใหญ่โรงเรียนอุบลวิทยาคม มีภรรยาชื่อนางสงวนศักดิ์ คูณผล ชื่อเดิมชื่อสงวน จอมพลแปลกบอกว่าชื่อผู้หญิงให้มี ๔ พยางค์ ก็เลยเติม “ศักดิ์” เข้าไป คือพ่อผมทำเทียนพรรษาตั้งแต่ปี ๒๔๗๓ ถึง ๒๔๘๔ – ๒๔๙๔ จนวันตาย
ผมเกิดมาก็อยู่กับเทียนแต่ทำเทียนไม่เป็น ผมบวชปี ๒๕๐๖ พี่ประดับบอกว่าลูกครูใหญ่สวนมาแล้วให้แกทำแต่ผมก็ทำไม่เป็น อยู่วาริน ฯ ก็อยู่กับพี่อุส่าห์ จันทรวิจิตร ก็ไม่เคยทำ แต่ถึงแม้ไม่เคยทำก็ได้ศึกษาเรียนรู้จากพ่อเกิดมาก็เห็นเทียนเลย พอมาทำงานเขาให้ทำหน้าที่ปลัดเทศบาล ทำให้เกี่ยวข้องกับเทียนตั้งแต่เริ่มต้น แต่ก่อนไม่มีจังหวัดหรือหน่วยงานอื่นมาเกี่ยวข้องเทศบาลทำเองหมด ผมกับพี่อุส่าห์ ก็ต่อสู้กันมา เพราะฉะนั้นช่วงชีวิตของผมที่อยู่วาริน ฯ ๑๐ กว่าปี อยู่เมืองอุบลฯ ๖ – ๗ ปี ทุกเข้าพรรษาไม่ว่าผมจะย้ายไปอยู่ที่ใดก็ตามผมจะต้องเอาเทียนพรรษาของอุบลฯ ไปเผยแพร่ทุกหนแห่ง ชีวิตผมจึงคลุกคลีมาตลอดกับเทียนพรรษา จนถึงปัจจุบันเกษียณแล้วก็ต้องเป็นกรรมการมาตลอด เช่นเดียวกับพ่อบำเพ็ญ พี่ประดับ พี่อุส่าห์ ดังนั้นผมก็จะเอาแง่มุมต่าง ๆ เหล่านี้มานำเรียนเสนอท่านที่เคารพทั้งหลาย และอยากให้ช่วยจรรโลงต่อไปมันจะเป็นวิกฤติการณ์แบบใดอย่างไรภาคบ่ายก็จะมีอีก เพราะฉะนั้นผมจะขออนุญาตที่ว่าผมไม่ได้มีความรู้ขนาดนั้น ภาคบ่ายคงเล่าให้ฟังว่าทีแรกเป็นอย่างไรแล้วมาเกี่ยวข้องกับกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ จากเทียนมัดรวมมาเป็นแท่งเทียนเหมือนที่เทตอนเช้าอย่างไรและมาติดพิมพ์อย่างไร
จากติดพิมพ์ปี ๒๕๐๒ เป็นครั้งแรกที่อาจารย์คำหมา แสงงาม ที่เป็นลูกศิษย์พระครูวิโรจน์รัตโนบลได้เอาต้นเทียนมาแข่งกับเมืองอุบลฯ แต่ก่อนมีแต่เทียนเมืองอุบลฯแข่งกันเป็นประเภทติดพิมพ์ยังไม่มีแกะสลัก ช่างคำหมา เป็นช่างแกะสลักประตูหน้าต่างโบสถ์ท่านได้ไปสร้างโบสถ์ที่วัดกุดเป่ง ปี ๒๕๐๒ ทำมาแล้วกรรมการสมัยนั้นมีแต่ผู้ว่าฯ หัวหน้าศาล อัยการ ตำรวจ ท่านเห็นงามเด่นแปลกกว่าใครเทียนจึงได้ที่ ๑ ปีหลังมาคนอุบลฯก็เลยบอกว่าอย่าให้คนวารินฯมาแข่งเอาที่ ๑ พอกลับไปที่วัดกุดเป่งก็ดีใจว่าเทียนต่างอำเภอก็ได้ที่ ๑ และมีชาวบ้านไปถามว่า “ครูหมาดีใจไหมที่เทียนชนะเลิศได้ที่ ๑ พอส่งต้นแรกก็ได้ที่ ๑ เลย” ครูหมาหัวเราะแล้วบอกว่า “นี่ขนาดหมาทำนะยังได้ที่ ๑ ถ้าคนทำจะขนาดไหน” นี่เป็นวิวัฒนาการ ได้แกะสลักต้นเทียนมาแข่งขัน ปรากฏว่าได้รับรางวัลชนะเลิศ เนื่องจากว่าในจังหวัดมีแต่แบบติดพิมพ์
ผมจะขอเรียนคำว่า “วิกฤติการณ์” คืออะไร มีไหมที่เทียนพรรษาเจอวิกฤติการณ์ เทียนพรรษาได้กำเนิดขึ้นเมื่อ ปี ๒๔๔๔ ปีที่มีการจัดงานบั้งไฟที่วัดหลวงแล้วมีการตีกันมีคนตาย ตายเพราะว่าตีกัน และตายเพราะบั้งไฟชนตายเหมือนที่ยโสธรและหลายจังหวัดที่ลงข่าวหนังสือพิมพ์ ที่บอกว่ากรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เปลี่ยน ก็คือเปลี่ยนจากบุญเดือน ๖ คือบุญบั้งไฟ เมื่องดงานบุญก็ผิดหลักการปกครอง ผิดหลักนโยบาย ท่าน รศ.ประจักษ์ จำได้ไหมครับที่มีการทำบุญบั้งไฟที่บ้านชีทวนอำเภอเขื่องใน ปีใดไม่มีตีกันมันเสียดายแป้งข้าวหม่า ข้าวหม่าคือ “ข้าวหมัก” หมักให้ตีกันถึงจะทำบุญเสร็จ ถ้าไม่ตีกันเสียดายแป้งข้าวหม่า ตีกันทุกปี ท่านได้เปลี่ยนจากศาสนาฮินดูมาเป็นพุทธศาสนา แล้วเปลี่ยนจากตีกันมาน้อมนำพุทธธรรม น้อมนำธรรมะของพุทธศาสนามาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของชาวบ้าน ที่มีชาวบ้านนำเทียนพรรษามาถวาย ที่ได้กล่าวมาแล้วเพราะพระพุทธเจ้าเคยมีดำรัสว่า “ พระอนิรุท มีปัญญาเฉียบแหลมมีปัญญาดี เพราะการถวายเทียนคนอุบลฯเราเป็นเมืองนักปราชญ์ ท่าน รศ.ประจักษ์เคยเขียนไว้ว่า ก็ต้องเฉียบแหลม มีปัญญาดีเช่นกัน ดังนั้นจะเป็นกุศลผลบุญที่พวกเราถวายเทียนพรรษา คนอุบลฯเชื่อมั่นในเทียนพรรษาแน่นอนที่สุด
ที่พ่อบำเพ็ญกล่าวถึงเมืองโคราช เราคงคิดออกว่ากรมหลวงสรรพสิทธิฯ เป็นข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณท่านเคยมาอยู่โคราชก่อนครับ ตอนกรมหลวงพิชิตปรีชากรมาอยู่อุบลฯ และกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมไปอยู่เมืองอาจารย์ทินกร คือเมืองอุดรฯ ท่านนี่แหละเป็นคนส่งกำลังบำรุงกรมหลวงสรรพสิทธิฯ รศ. ๑๑๒ เกิดวิกฤติการณ์เสียดินแดนพ.ศ.๒๔๓๖ กรมหลวงสรรพสิทธิฯ ท่านอยู่ที่โคราชและอุบลฯแล้วเห็น เคยทำเทียนถวายและมีความฉลาด เห็นว่าคนอีสานทำเทียนเล่มเท่าดินสอ มันสว่างแป๊บเดียว ดังนั้นต้องทำเล่มใหญ่ถึงจะอยู่ได้ตลอดพรรษา วิธีการหล่อเทียนใหญ่ดังเมื่อเช้านี้ เรียกว่า “หุงเทียน” แล้วเอาเปียงผึ้งละลายลงไป เมื่อละลายแล้วไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวยทุกคนก็เท่าเทียมกัน กรมหลวงสรรพสิทธิฯท่านเป็นนักปกครองชั้นเยี่ยม ท่านใช้คำว่า “หลอมเทียน หลอมบุญ หลอมใจ” ทำไมถึงพูดเช่นนั้น เพราะเป็นการลดช่องว่างระหว่างชนชั้น ผู้ดี ยากจน รวยร้อยล้านพันล้าน กับคนที่มีเงินเพียง ๕ บาท ๓ บาทได้บุญเท่ากันเนื่องจากว่าต่างคนต่างนำเทียนมาต้มมาหลอมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพราะ เปียงผึ้งที่นำลงไปในกระทะนั้นมันหลอมเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว และเทลงในพิมพ์ก็จะเป็นต้นเทียนต้นเดียวกัน ไม่มีแบ่งว่าของใครมากใครน้อย ทำให้ลดชนชั้นวรรณะทางสังคม และนำเทียนไปถวายวัด งานเทียนพรรษาเป็นจิตวิญญาณของชาวอุบลฯ และช่วยกันทำ ตั้งแต่คนแก่จนถึงเด็ก ๆ ต้องรู้จักเทียนพรรษา สมกับเป็นเมืองนักปราชญ์