สรุปการสัมมนาเรื่องภูมิปัญญาเทียนสู่สากล อุบลราชธานี
สารบัญ
เทียนพระราชทานได้เริ่มในปี ๒๕๒๒ เป็นปีแรกที่มาจากบนฟ้า มีการประชาสัมพันธ์และนำเครื่องบินอัญเชิญเทียนมาต้องทักษิณาวัตรรอบเมืองอุบลฯ ๓ รอบ แล้วค่อย ๆ บินลงมาเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดูบริเวณลานบินมีนักเรียน นักศึกษาราชภัฏอุบลราชธานี แต่งกายชุดพื้นเมือง มีการรำต้อนรับบริเวณลานบินเต็มไปหมด และได้จัดเครื่องยศเจ้าเมืองมานำแห่ขบวนถือว่าเทียนพระราชทานปีแรกมีความศักดิ์สิทธิ์ ผมขอเสริมที่พ่อบำเพ็ญพูดไปว่า เพราะการที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ณ ภูมิภาคใดก็ตาม จะต้องนำกระบี่อาญาสิทธิ์ไปมอบคืนท่าน แต่เนื่องจากอุบลราชธานีไม่เคยมีกษัตริย์เสด็จมาเลย นอกจากรัชกาลที่ ๙ ในปี ๒๔๙๘ การที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือว่าพระองค์เสด็จมาด้วยพระองค์เอง เพราะฉะนั้นต้องมีเครื่องยศเจ้าเมืองนำหน้าขบวนอย่างที่ได้กล่าวแล้วนั้น มีอะไรก็ตายก่อนท่านเพราะฉะนั้นเครื่องยศเจ้าเมืองที่ได้มา ๒๐ – ๓๐ ชิ้นที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นเครื่องยศที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จังหวัดอื่นในประเทศไทยไม่มี เชียงใหม่มีแต่กระจัดกระจายไปตามผู้ได้รับมรดก เมืองอุบลฯมีครบทุกชิ้นซึ่งเอามาแห่ในปี ๔๗ – ๔๙ ผู้ที่รวบรวมเครื่องยศนี้ไว้เพื่อให้เป็นสมบัติของเมืองอุบลราชธานี คือ ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล ครับ ท่านเห็นไหมครับว่าท่านเป็นผู้สร้าง ผู้สืบ ผู้เสริม ชั่วชีวิตของท่าน
ผมจะกล่าวถึงว่า ในเมื่อมีผู้สร้าง ผู้สืบ ผู้เสริมแล้ว ทำไมจึงมีวิกฤติการณ์ คือ สิ่งที่นำไปสู่ทางไม่ดีหรือแย่ลง ปี ๒๕๑๐ เกิดพุทธสมาคมขึ้นมา พุทธสมาคมเสวนากันว่าเทียนพรรษาของเรามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง คล้าย ๆ ที่เราเสวนาอยู่ขณะนี้ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ก่อนจัดงาน “เจ้าคำผง” ๑ ปี ซึ่งผลของการเสวนานั้นมีข้อบกพร่อง ๓ ประการคนอุบลฯแตกความสามัคคีอย่างรุนแรง ผมขอสรุปย่อ ๆ ว่า ประการแรกคือวัดเงินหมด ประการที่สองประกวดแข่งขันจนเกินงาม ประการที่สามขนาดเทียนต่างกัน พุทธสมาคมมีลุงไศล วรรณพินิจ ขณะนั้นเป็นหัวหน้าศาล มีนายสำราญ พร้อมพูล เป็นเลขาผู้สนับสนุนคือ พระมหาสวรรค์ พระปริยัติโกศล เปรียญ ๙ ประโยค บอกว่า วัดทั้งหมดไม่ต้องทำเนื่องจากว่ามีปัญหา ๓ ประการนี้ ให้มาทำเทียนรวมกันอยู่หลังเขต ๑๐ ทุกวันนี้ อาจารย์มนัส สุขสาย ก็ได้ทำร่วมกันทำเสร็จแล้วไม่ต้องแห่ ไม่ต้องประกวด เพราะไม่มีการแข่งขันใครอยากได้ก็ไปหยิบเอาถ้วยรางวัลได้เลย เรียงไว้แล้วทำไว้เหมือนกันหมดบางคนก็เอา สามล้อมา ปีนั้นเมืองอุบลฯเงียบมาก ยังกับป่าช้าไม่มีเสียงฆ้อง เสียงกลองอะไรซึมไปหมดมันไม่ดีทำไมไม่แก้ไข ทำไมพุทธสมาคมพึ่งเกิดถึงได้มาจัดการกับการแห่เทียน ทำให้แตกกระสานซ่านเซ็นคนอุบลฯ ไม่ถูกกัน ทำให้เกิดการถกเถียงในเรื่องการแก้ปัญหาขึ้นอีก จนสุดท้ายทางจังหวัดได้เข้ามาและประชุม คุ้มวัด ช่างเทียน ผู้เกี่ยวข้อง ผู้สนับสนุน แก้ไขเมื่อปี ๒๕๑๐
ต่อมาเมื่อปี ๒๕๒๐ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เข้ามาสนับสนุนทำให้งานเรียบร้อยและปี ๒๕๒๐ เป็นปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะเป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระชนมายุครบ ๖๐ ปี มีเทียน ๖๐ ต้น เต็มบริเวณทุ่งศรีเมืองซึ่งไม่เคยปรากฏเลยในประวัติศาสตร์เมืองอุบลฯ แต่ปรากฏว่าเทียนสุนทรภู่ก็มี อื่น ๆ ก็มี ไม่รู้ใส่อะไรเข้าไป ปรากฏว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (นายกรัฐมนตรี ปี ๒๕๑๘) ซึ่งเป็นปราชญ์ด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ การเมือง เพียบพร้อมไปด้วยคุณวุฒิได้วิจารณ์ต้นเทียนเมืองอุบลฯ เสียหายหมดไม่เหลือสิ่งดีงาม ว่า ข้อ ๑. อุบลฯหลงใหลได้ปลื้มกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่มาสนับสนุนว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวเอกของประเทศไทยก็เลยใส่กระพี้เข้าไปเต็มไปหมดในต้นเทียน ลืมแก่นแท้ของพุทธศาสนา ลืมความเป็นนักปราชญ์ของเมืองอุบลฯเสียสิ้น ขายกระพี้หากินหรือชาวอุบลฯ แสบไหมครับ ข้อ ๒. ธรรมดาชาวบ้านหรือชาวคุ้มวัด เจ้าภาพถวายเทียนพรรษา ทางวัดทนไม่ได้ แพ้ไม่ได้ เสียศักดิ์ศรีวัด เจ้าอาวาส เลยกลายเป็นว่าเจ้าอาวาสแทนที่จะให้ชาวบ้านเขาถวายพระสงฆ์ลงมาทำช่วยกันเพื่อจะเอาชนะแพ้ไม่ได้ เลยกลายเป็นว่าเจ้าอาวาสกับพระสงฆ์ทำเทียนถวายตัวเอง ซึ่งผิดฮีตผิดคองแล้ว ด่ากระทั่งพระสงฆ์นะครับ ข้อ ๓. มีโฆษณาทั้งการค้า ท่านบอกว่า งานนี้ไม่ใช่งานแห่เทียนพรรษา แต่เป็นมหกรรมแห่โฆษณาสินค้าแห่งประเทศไทย ถามหน่อยว่าประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา แห่เพื่อส่งเสริมการค้าหรือว่าแห่เพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา จนคนอุบลฯ ได้ปรับเปลี่ยนว่าไม่เอาโฆษณาได้ไหม ถ้าหากไม่มีทุนจริง ๆ ก็ตั้งกองทุนขึ้นมา “ชาวเมืองอุบลฯ ชาวอุบลฯคนละบาทส่งเสริมเทียนนักปราชญ์ เมืองอุบลฯ” ไม่ต้องโฆษณา เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ค่าโฆษณาสมมุติว่าปีหนึ่งได้ ห้าแสน ก็เอากองทุนสมทบเข้าไปไม่ต้องโฆษณาให้เขาด่า
สำหรับแห่เทียนของโคราชเขามีอิสระทำเทียนใหญ่โตโฆษณาหนังสือพิมพ์หน้า ๑ เขาขึ้นก่อนเลย คนอุบลฯก็ด่ากันเองว่าทำไมไม่เอาเทียนอุบลฯ ขึ้นหน้า ๑ ทำไมปล่อยให้เขาขึ้น พ่อบำเพ็ญ ณ อุบล และผู้ใหญ่ในจังหวัดหลายท่านก็ได้ให้คำขวัญไว้ว่า “อยากดูเทียนใหญ่โตโอ่อ่า งามหรูให้ไปดูที่โคราช ถ้าอยากดูเทียนนักปราชญ์ให้มาดูที่เมืองอุบลฯ” ท่านจะเห็นว่าเทียนนักปราชญ์นั้น จะต้องมีศิลปะความงดงาม ความพอดีพองาม ความเหมาะสม มีศาสนาพุทธเป็นหลักค้ำจุน และที่ท่าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้วิจารณ์ ผมอยากจะให้ทุกคนได้จดจำว่าเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งผมได้จดมาคร่าว ๆ สั้น ๆ ว่า สมัยก่อนการทำเทียนนั้นไม่มีไส้ (อ.ประดับคงจะนำเสนอได้นะครับ) เพราะถ้าเอาไส้ใส่ปลายเทียนจะไม่สวย ไม่กลมกลืน ท่าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ บอกว่า “เทียนไม่มีไส้ก็คล้ายเสาหลักเมือง จะบอกว่าประกวดเทียนพรรษาได้อย่างไร” เทียนตามพจนานุกรม หมายถึง “ขี้ผึ้ง หรือ ไข ซึ่งฟั่นหรือหลอมหล่อหุ้มเทียนมีไส้อยู่ตรงกลาง” องค์ประกอบสำคัญคือ มีขี้ผึ้งกับไส้เทียน ถ้าไม่มีองค์ประกอบนี้แล้วจะเป็นเทียนไม่ได้ แม้กระทั่งเทียนพระราชทานยังมีไส้เทียนใส่พานมาด้วย
ขอสรุปประเด็นว่า “เทียนพรรษาเมืองอุบลฯ มีแบบแผนหรือไม่ มีการพิจารณาไร้ทิศทางหรือเปล่า และเราจะให้ทางวัดรับภาระเทียน ๒-๓ แสนบาท/ปี ต่อไปหรือไม่” เจ้าอาวาสบางวัดกล่าวว่า ถ้าไม่ส่งเทียนพรรษาเข้าร่วม ๔-๕ ปี จะได้กุฏิ ๑ หลัง ถ้าไม่ส่ง ๒๐ ปี คงจะได้ศาลา ส่วนวิวัฒนาการทำเทียนอย่างไรนั้น อ.ประดับ ก้อนแก้ว อ.สมคิด สอนอาจ และ อ.อุส่าห์ จันทรวิจิตร ท่านก็จะได้ให้รายละเอียดในส่วนนี้ ประเด็นอยู่ตรงว่าเรื่องที่จะแก้ไขคือ เราต้องดูว่าสิ่งที่เขาพูดวิจารณ์มานั้นเป็นความจริงหรือไม่ ถ้าจริงเราควรจะแก้ไขอย่างไร ถึงจะเข้าที่เข้าทางส่วนนี้ผมขอพูดถึงแค่เรื่องวิกฤตการณ์ ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์กับวิเทศสัมพันธ์นั้น ผมขอพูดในช่วงท้ายครับ ขอบคุณครับ
อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า
ขอบคุณท่านสุวิชช อีกครั้งครับ ฟังมาก็ถึง ๒ ช่วงแล้ว ก้าวไปเป็นขั้น ๆ หลายท่านเข้าสู่การศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีของจังหวัดอุบลราชธานี จะรู้ว่าแก่นของเราอยู่ที่ไหน ผมจำได้ว่า ห้องโกมุทแห่งนี้เมื่อ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมาผมนั่งอยู่ข้างล่าง ซึ่งผมจำได้ว่า วิวัฒนาการของเทียนนั้นจำเป็นจะต้องอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งข้อเสนอในครั้งนั้นก็มีมากมาย ผมก็ได้จดไว้บ้างเช่นกัน และผมเชื่อว่าท่านที่อยู่ข้างล่างในวันนี้ ท่านเป็นผู้มีภูมิรู้ภูมิธรรม ภูมิเมืองอุบลฯ อย่างแท้จริงในสิ่งที่เราร่วมคิดร่วมทำ ต่อไปเราก็มาร่วมนำในสิ่งดีงามมาถ่ายทอดให้ลูกหลานต่อไป ท่าน ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล ขอเพิ่มเติมนิดหนึ่งครับในช่วงสุดท้ายนี้ถ้าไม่ได้พูดท่านจะนอนไม่หลับ มาเพื่อลูกหลานเพื่อต้นตระกูลและศักดิ์ศรีของเมืองอุบลฯ กราบเรียนเชิญคุณพ่ออีกครั้งครับ
ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล "..........มีบางคนพูดว่า “จะแห่ทำไมเทียน ทุกวันนี้เขาไม่ใช้เทียน เขาใช้ไฟฟ้า” ผมคิดว่า นั่นเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์เรื่องแสงสว่าง ส่วนการแห่เทียนนี้เป็นเรื่องของจิตใจ .........."
ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล
ในช่วงท้ายนี้ ผมอยากจะขอเสริมครับในส่วนที่ท่านสุวิชช บอกว่าเกิดวิกฤต วิกฤตที่ว่าไม่มีใครอยากส่งเทียน เพราะว่าลงทุนเยอะ รางวัลน้อย แต่ผมอยากจะเชิญชวนท่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่มาฟัง ณ ที่นี้และไม่ได้มา พร้อมทั้งนักศึกษาทั้งหลายที่มาร่วมฟัง อย่าลืมว่าเมืองอุบลฯนี้เรามีฮีต คือประเพณีของเราเรียกว่า ฮีต๑๒ คอง ๑๔ อันนี้ฝากให้ไปศึกษาดู ท่านผู้ใหญ่ก็คงจะรู้แล้วว่า ฮีต ๑๒ คอง ๑๔ มีอะไรบ้าง ฮีตอันหนึ่งก็คือ ฮีตเข้าพรรษา คำว่า “ฮีต” ภาษาบ้านเราหมายถึงจารีตประเพณี ฮีต ๑๒ คือพิธีการใน ๑๒ เดือน ส่วนคอง ๑๔ นั้นเป็นหน้าที่ของบุคคลต่อบุคคล เช่น ฮีตพ่อคองแม่ ฮีตลูกคองหลาน ฮีตพระสงฆ์มีระเบียบหมด หน้าที่ แต่แห่เทียนนี้เป็นฮีตเข้าพรรษา อย่าให้คิดเลิกทำ เลิกปฏิบัติเราจะต้องรักษาฮีต ๑๒ ของเราไว้ ให้ต่างจากกรุงเทพฯ บ้าง อย่าคิดว่าเขาไม่ทำเราก็ไม่ทำ เราต้องปฏิบัติตามฮีตของเราชาวอีสาน
ในครั้งที่เกิดวิกฤตต้นเทียน ผมก็มีข้อคิดเหมือนกันในปีนั้นวัดป่าใหญ่ “ไม่ส่งต้นเทียนเข้าประกวดบอกว่าไม่มีประโยชน์” เป็นคำกล่าวของพระสงฆ์รูปหนึ่ง ผมคิดว่าไม่ส่งก็ไม่เป็นไรพอกลางพรรษามีขโมยเข้าไปลอกทององค์พระเจ้าใหญ่อินแปง วิธีลอกทองคือ เอาขี้ผึ้งอย่างดี ไปกลิ้ง ๆ รอบองค์พระ ทองก็ติดไปกับผึ้งแล้วเอาผึ้งไปต้มเอาทองที่ค่อนลงนั้นไปขายได้หลายบาทผมบอกว่าให้มาสู่ขวัญให้พระเจ้าใหญ่อินแปงแล้วติดทองใหม่ แต่ผมว่าพระเจ้าใหญ่อินแปงลงโทษเตือนสติ มันเป็นธรรมเนียมที่จะต้องทำต้องปฏิบัติ การที่ไม่ส่งเทียนเข้าร่วมนั้นมันเป็นกิเลส ขูดออกบ้าง กิเลสในตัวเหมือนที่เขามาขูดทองพระเจ้าใหญ่อินแปง นี่แหละที่ผมคิดว่าเป็นคำสอนของพระเจ้าใหญ่อินแปงที่ผมว่าศักดิ์สิทธิ์ ส่วนคนอื่น ๆ จะรู้สึกเช่นไรนั้นผมไม่อาจทราบได้ ผมนับถือพระเจ้าใหญ่จนสุดหัวใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเรื่องที่ท่านผู้ว่าฯ สายสิทธิ์ ไม่ให้ผมไปแห่เทียนเช่นกัน ในปีนั้นลูกของท่านก็เกิดไม่สบายในปีนั้นไม่ทราบเป็นอะไรจนกระทั่งเกษียณอายุลูกก็ยังไม่หาย ผมขอเล่าให้ฟังว่าเป็นเรื่องจิตใจ ประเพณีแห่เทียนบ้านเราเป็นจิตใจ เป็นศรัทธาความเชื่อและฝังอยู่ในจิตใจของชาวอุบลฯ ดังนั้นอย่าพากันหยุดทำไม่แห่มากก็ขอให้แห่น้อย
มีบางคนพูดว่า “จะแห่ทำไมเทียน ทุกวันนี้เขาไม่ใช้เทียน เขาใช้ไฟฟ้า” ผมคิดว่า นั่นเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์เรื่องแสงสว่าง ส่วนการแห่เทียนนี้เป็นเรื่องของจิตใจ คนละอย่างจิตใจฝังลึกตายแล้วก็อยู่กับจิตวิญญาณขอให้รักษา ผมขออาราธนาขอเชิญท่านทั้งหลายได้อนุโมทนาว่าเรามาประชุมวันนี้เรามาเพื่อรักษาฮีตรักษาคองของเราให้อยู่สืบไปชั่วลูกชั่วหลานสืบไป
อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า
ดร.บำเพ็ญ ได้ทิ้งท้ายไว้เป็นปมสำคัญ ในวิถีชีวิตของคนอุบลฯ ต้องกราบขอบคุณ คุณพ่อบำเพ็ญ สุดท้ายจริง ๆ ช่วงนี้เรียนเชิญท่านสุวิชช คูณผล ได้สรุปตอนท้ายครับว่า จากตำนานเทียนสู่สากลได้อย่างไร ขอเรียนเชิญครับ
คุณสุวิชช คูณผล "..........จงสำนึกว่าประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นทุนทางสังคมที่สะสมมานับร้อย ๆ ปี โดยบรรพบุรุษของชาวอุบลฯ จึงได้มีจิตวิญญาณเป็นชีวิตชีวาชาวอุบลฯทุกคนจะต้องหวงแหนรักษาไว้จนชั่วชีวิต.........."