ยุคของงานแห่เทียนเข้าพรรษา อุบลราชธานี
สารบัญ
สมัยที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๒ - ๒๕๑๙) สลักเทียน สลักลาย
พ.ศ.๒๕๐๒ หลังจากได้มีการจัดทำต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ติดต่อกันมานาน นายคำหมา แสงงาม ผู้ซึ่งเคยศึกษางานศิลปะมาตั้งแต่สมัยบวชเป็นพระภิกษุ เคยเป็นลูกมือพระครูวิโรจน์รัตนโนบล บูรณะองค์พระธาตุพนมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ เมื่อลาสิกขาบทเป็นฆราวาสแล้ว ท่านก็ยังปฏิบัติงานด้านศิลปะเป็นประจำ จนมีความรู้ความสามารถด้านศิลปะหลายแขนง เข่น การเขียนลาย การแกะสลักไม้ การออกแบบลวดลายประกอบส่วนต่าง ๆ ของศาสนาคาร ได้แก่โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ เมรุ ซุ้มประตู เป็นต้น ช่างสูงอายุคนหนึ่งได้คิดและแกะสลักต้นเทียนโดยไม่ต้องพิมพ์ดอกมาติด เหมือนเช่นที่ช่างรุ่นก่อนทำมา โดยแกะสลักลวดลายลงบนต้นเทียนเป็นลายกนกเปลวทั้งต้น ส่วนฐานมีการแกะสลักเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติปางต่าง ๆ รวมถึงเรื่องราวและสาเหตุของการทำเทียนพรรษาได้อย่างสวยงามวิจิตรตระการตา ทำให้ต้นเทียนแกะสลักที่นายคำหมาทำให้กับบ้านกุดเป่ง อำเภอวารินชำราบ มีความแปลกใหม่สวยงาม ผลงานทุกชิ้นของท่านเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ฝีมือประณีตมาก คณะกรรมการประกวดต้นเทียนเห็นว่า ต้นเทียนแกะสลักของชาวคุ้มวัดบ้านกุดเป่งมีความแปลกใหม่และสวยงาม จึงตัดสินก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ
แต่เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ นั้น การประกวดต้นเทียนยังมิได้แยกรางวัลออกเป็นประเภทต่าง ๆ เช่นทุกวันนี้ จึงนับว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีในวงการช่างทำเทียนพรรษา ถือได้ว่าผลงานแกะสลักต้นเทียนของนายคำหมา แสงงาม เป็นต้นแบบของเทียนพรรษาประเภทแกะสลักในปัจจุบัน นายสุวิชช คูณผล อดีตปลัดเทศบาลเมืองอุบลราชธานี ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว เล่าว่า “ชาวบ้านกุดเป่ง และชาววารินขำราบต่างตืนเต้นดีใจกันยกใหญ่ เพราะเป็นรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัด ได้ถามนายคำหมา แสงงามว่า ส่งต้นเทียนพรรษาเข้าประกวดเป็นครั้งแรกก็ชนะเลิศมีความรู้สึกอย่างไร จารย์ครูหมาหัวเราะ ตอบแบบติดตลกว่าขนาดหมดทำ ยังชนะเลิศ ถ้าคนทำจะขนาดไหน ชาวบ้าน ก็ได้เฮฮากันลั่น”
ดังนั้น ในปีต่อมาประชาชนคุ้มวัดต่าง ๆ ไม่พอใจการตัดสินของคณะกรรมการที่ตัดสินต้นเทียนโดยไม่มีการแยกประเภท จึงได้มีการเสนอให้จัดประกวดต้นเทียน 3 ประเภท คือ ประเภทมัดรวมติดลาย ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก ระยะต่อมาจึงตัดต้นเทียนประเภทมัดรวมติดลายที่เป็นต้นเทียนแบบเก่า ออกจากการประกวด นายคำหมา แสงงามได้กลายเป็นช่างแกะสลักเทียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม
ต่อมา ต้นเทียนประเภทมัดรวมติดลาย ซึ่งเป็นต้นเทียนแบบเก่าแก่ของจังหวัดอุบลราชธานี คุ้มวัดต่าง ๆ ไม่นิยมจัดทำเข้าประกวดเนื่องจากไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ประชาชนไม่นิยมชมชอบ คณะกรรมการจึงตัดออกจากการประกวด ในปีถัด ๆ มาการประกวดต้นเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีจึงเหลืออยู่เพียง ๒ ประเภท คือ
๑) ประเภทติดพิมพ์
๒) ประเภทแกะสลัก
ช่างแกะสลักต้นเทียนที่มีฝีมือในรุ่นต่อมาได้แก่ นายอุตส่าห์ จันทรวิจิตร และนายสมัยจันทรวิจิตร ซึ่งเป็นพี่น้องกันร่วมบิดามารดา
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ จังหวัดและเทศบาลเมืองอุบลราชธานี พิจารณาเห็นว่างานแห่เทียนพรรษาเป็นงานที่ได้รับความร่วมมือจากข้าราซการ พ่อค้า และชาวบ้านเป็นจำนวนมาก สมควรที่จะจัดเป็นงานใหญ่ระดับชาติได้ ดังนั้นจึงได้เชิญองค์การส่งเสริมการท่องเทียวแห่งประเทศไทย (อสท.) มาสังเกตการณ์ในงานแห่เทียนพรรษา ส่งผลให้ไนปี พ.ศ. ๒๕๒๐ งานแห่เทียนพรรษาซึ่งได้รับการส่งเสริมการท่องเทียว(อสท.) หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไ่ทย (ททท.) กระทั่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี
ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมา จึงนับ เป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งสำคัญของงานแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี เห็นได้จากในปีเดียวกันคณะกรรมการจัดงานมีการเพิ่มเติมการประกวดขบวนแห่นางฟ้าประจำต้นเทียน ตลอดจนการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้คะแนนในการประกวดทั้งนางฟ้าและต้นเทียน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดระยะเวลาการจัดงานเพิ่มขึ้นเป็น ๓ วันคือ ระหว่างวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ โดยในวันแรกถือเป็นวันเปิดงาน วันที่สองเวลากลางวันเป็นการประกวดต้นเทียนพรรษา
สมัยที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๐ - ปัจจุบัน) โรจน์ศาสตร์ เรืองศิลป์
นับเป็นยุคทองของการทำต้นเทียนพรรษากิตติศัพท์ความยิ่งใหญ่ตระการตาของต้นเทียน การประกวดต้นเทียน และขบวนแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการเผยแพร่ขจรไกลให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในหมู่ประชาชนคนไทย และชาวต่างประเทศ ซึ่งต่างหลั่งไหลมาชมงานบุญประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีกันอย่างมากมายล้นหลาม เป็นเหตุให้งานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีกลายเป็นเทศกาลงานบุญที่ยิ่งใหญ่มโหฬาร จากการลงทุนด้านแรงงาน เวลา กำลังความคิด กำลังทรัพย์ ซึ่งทุ่มเทกันอย่างมากมายอยู่แล้ว ก็ได้เพิ่มทวีคูณมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมืองแห่งนักปราชญ์ โรจน์ศาสตร์ เรืองศิลป์ เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีจึงงดงามด้วยความร่วมมือรวมใจ แฝงไว้ด้วยพลังแห่งศรัทธา วิจิตรตระการตาด้วยฝีมือ
ดังนั้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.) หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในปัจจุบัน ได้ให้การสนับสนุนเข้าร่วมกิจกรรม และร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ถือเป็นงานประจำปีและงานระดับชาติ ตั้งแตป พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมา การจัดทำต้นเทียนพรรษาพร้อมบริวาร เริ่มจัดทำใหญ่โตเรื่อยมา ต่อมานายสุวัฒน์ สุทธิประภา ช่างเทียนประเภทแกะสลัก ได้จัดทำต้นเทียนให้กับวัดเมืองเดชอำเภอเดชอุดม ส่งเข้าประกวดในงานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี นับเป็นต้นเทียนที่ตื่นตาตื่นใจผู้มาร่วมงานเป็นอย่างยิ่งปรากฏว่าได้รับรางวัลชนะเลิศ ดังนั้น ในปีต่อ ๆ มาช่างคุ้มวัดต่าง ๆก็ได้พัฒนาการทำต้นเทียนให้สวยงามยิ่งใหญ่อลังการเรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน หากมองย้อนอดีตนับเป็นความภาคภูมิใจของประชาชนในท้องถิ่นที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสบสานงานประเพณีนี้มานับ ๑๐๐ ปี ชาวคุ้มวัด ทุกวัดต่างมีส่วนร่วมในการจัดทำต้นเทียนตั้งแต่เด็กจนแก่ จนถือเป็นความรับผิดชอบและหวงแหน พร้อม ๆ กับการทุ่มเทพลังทางความคิด ในการศึกษาและคิดค้นเทคนิควิธีการใหม่ ๆ เพื่อพัฒนา์การจัดทำเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีให้มีวิวัฒนาการยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้ามามีบทบาทสนับสนุนงานประเพณีแห่เทียนพรรษา คณะกรรมการจัดงานได้จัดให้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่มโหฬาร มีการทบทวนและพัฒนาการประกวด อาทิ ให้แยกประเภทของการจัดประกวดโดยแบ่งเป็น การประกวดขบวนแห่ การประกวดนางฟ้าประจำต้นเทียน และการประกวดต้นเทียน มีการกำหนดเกณฑ์และวิธีการให้คะแนนในการประกวดไว้อย่างรัดกุมและเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยกำหนดระยะเวลาในการจัดงานเป็น ๓ วัน คือ วันขึ้น ๑๔ - ๑๕ ค่ำ และแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ วันแรกเป็นวันเปิดงาน วันที่สองเป็นวันรวมต้นเทียน ประกวดต้นเทียน และประกวดนางฟ้าประจำต้นเทียนในช่วงเวลากลางคืน และวันที่ ๓ เป็นพิธีแห่เทียนพรรษาและประกวดขบวนแห่ไปพร้อมกัน
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๐ จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดงานสัปดาห์ประเพณีแห่เทียนพรรษาให้เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และมโหฬาร มีการประกวดต้นเทียนประเภทต่างๆ ประกวดขบวนแห่ และนางฟ้า โดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการให้คะแนนอย่างรัดกุม มีการประชาสัมพันธ์งานกันอย่างกว้างขวาง ทำให้มีผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติมาเที่ยวและชมงานเป็นจำนวนมาก
งานประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาของชาวอุบลฯ ซึ่งมีความเจริญในพุทธศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีมาเป็นเวลายาวนาน ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้กำหนดจัดงานขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 และแรม 1 ค่ำเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาจัดให้มีขึ้นทุกปี
นอกจากนั้นทางจังหวัดอุบลราชธานียังกำหนดประเพณีแห่เทียนพรรษา ให้สอดคล้องกับงานพิธีสำคัญของจังหวัดและของชาติในแต่ละปี ดังนี้
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการจัดงานแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเทียนพรรษาจำนวน ๑ เล่ม จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อนำไปจุดบูชาพระอารามหลวงของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระ กรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้ตามคำกราบบังคมทูล และกลายเป็นธรรมเนียมที่การจัดงานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีจะต้องขอพระราชทานเทียนพรรษาเพื่อความเป็นลิริมงคล ตลอดจนมีการจัดงานสมโภชเทียนพรรษาพระราชทานเพิ่มขึ้นจากงานแห่เทียนพรรษาทุกปีตราบจนปัจจุบัน
ในปีเดียวกันนั้นเอง ไม่เพียงแต่จังหวัดอุบลราชธานีจะได้รับพระราชทานเทียนพรรษาเท่านั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้น (นายประมูล จันทรจำนง) ได้หารือกับนายบำเพ็ญ ณ อุบล ซึ่งดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดประจำศาลเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้น อีกทั้งยังเป็นผู้สืบเชื้อสายเจ้าเมืองอุบลราชธานี ดำริให้มีการอัญเชิญเครื่องยศเจ้าเมืองอุบลราชธานีและ เป็นตัวแทนของมเหศักดิ์หลักเมืองอุบล เพื่อนำขบวนแห่เทียนพรรษา โดยมีการนำเสนอเหตุผลว่า เนื่องจากเทียนพรรษาพระราชทานจังหวัดอุบลราชธานีได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสมือนหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาจังหวัดอุบลราชธานีด้วยพระองค์เอง ดังนั้นเจ้าเมืองและผู้สืบเชื้อสายเจ้าเมืองจึงต้องนำขบวนเสด็จ เพื่อถวายความจงรักภักดีและป้องกันภยันตรายที่อาจจะมาถึงพระองค์