ยุคของงานแห่เทียนเข้าพรรษา อุบลราชธานี
สารบัญ
มีความเชื่อต่อกันมาว่าในสมัยที่จังหวัดอุบลราชธานียังเป็นเมืองประเทศราช อยู่นั้น ยังไม่มีงานแห่เทียนพรรษาเกิดขึ้น การถวายเทียนในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาจะทำขึ้นแบบแต่ละบ้านนั่น คือทุกครัวเรือนจะ มีการฟั่นเทียน (หรือที่เรียกว่าการสีเทียน) จากขี้ผึ้งเป็นของตนเอง ซึ่งหาได้ไม่ยากในสมัยนั้น อีกทั้งการใช้เทียนไขยังไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากมีราคาสูง
ด้าม ยาวของการฟั่นเทียนจะ ยึดถือตามความยาวเวียนรอบศรีษะของสมาชิกทุกคนในบ้าน หรีอฟั่นเทียนตามความสามารถของตนเอง ซึ่งโดยมากมักจะเป็นเทียนที่มีขนาดเล็กและยาว จากนั้นจะนำไปถวายพระสงฆ์ในช่วงวันเข้าพรรษาพร้อมกับเครื่องไทยธรรมอี่น ๆ ต่อมาแต่ละ บ้านจึงได้มีความคิดที่จะต่อเทียนให้มีขนาดสูงและใหญ่ตามความต้องการ จึงได้มีการทำแกนเทียนจากลำต้นไม้ของ หมาก หรือบ้องไม้ไผ่ แล้วนำเชือกปอ หรือป่านมามัดเทียนเล่มเล็กๆที่ทำไว้หลายเล่มเข้าด้วยกัน และใช้กระดาษสีทองหรือเงิน ( กระดาษตังโกหรือ กระดาษจังโก) พันโดยรอบเพื่อให้บังเกิดความสวยงาม
ทั้งนี้มีการทำขาตั้งเทียนมิให้ ล้มและเพื่อความสะดวกในการขนย้ายไปยังที่ต่าง ๆได้อย่างไรก็ดีเทียนพรรษาที่มัดรวมกันดังกล่าว ยังไม่มีการแกะลลักลวดลายแต่อย่างใดอีกทั้งการถวายเทียนแด่พระสงฆ์ก็ยังคง เป็นแบบบ้านใครบ้านมันเช่นเดิม โดยมิได้มีการรวมกันจัดเป็นขบวนแห่เทียนพรรษาแต่อย่างใด
การริเริ่ม ในการจัดขบวนแห่เทียนพรรษาตามที่ปรากฏในหลักฐาน“ประวัติศาสตร์อีสาน”เขียน โดย เติม วิภาคย์พจนกิจ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้ระบุถึงความเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมของการถวายเทียนพรรษาของชาวบ้านจังหวัด อุบลราชธานี ว่าเกิดขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ โดยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ขณะเป็นข้าหลวงมณฑลลาวกาว ซึ่งทรงว่าราขการที่เมืองอุบลราชธานี และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งมณฑล หาใช่เปลี่ยนแปลงเพียงจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งไม่ ดังข้อความที่ระบุว่า
“..ด้วยเหตุการณ์หล่อเทียนพรรษาและมีขบวนแห่ดังนี้จึงมีประเพณีแต่ครั้งพระ เจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรพสิทธิประสงค์ ทรงเป็นผู้ริเริ่มส่งเสริมดัดแปลงให้เป็นงานใหญ่สืบมาเท่าทุกหัวเมืองในภาค อีสานกระทั่งบัดนี้...”
นอกจากนี้ยังได้มีการกล่าวถึงการจัดงานแห่ เทียนในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งจัดเป็นครั้งแรก ดังรายละเอียด ต่อไปนี้ “...เวลาเข้าปุริมพรรษาไม่เคยทำเทียนใหญ่รวมกันเลย เพียงแต่หาธูปเทียนได้ตามกำลังแล้วก็นำไปถวายพระ เท่านั้น แต่ถ้าเป็นหัวเมืองใหญ่เช่น เมืองอุบล นครราชสีมา ฯลฯ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ข้าหลวงต่างพระองค์ ได้ทรงจัดให้ชาวเมืองมารวมกันหล่อ ทรงมีต้นเทียนใหญ่ทำในวันข้างขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ทรงมีต้นเทียนใหญ่ถวายเข้าพรรษาในเมืองอุบลทุก ๆ วัด เวลากลางคืนของวันนี้ก็ ให้มีเฒ่าแก่ หนุ่มสาวชาวพื้นเมืองมารวมกันเสพงัน มีหมอขับ หมอลำพิณพาทย์ ฆ้องวง แคน วง สนุกสนานไปตลอดคืน รุ่งเช้าของวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันพรรษาทรงให้มีตักบาตรเลี้ยงพระรวมกันใหญ่ ทั้งบรรดาข้าราชการ พ่อค้า คฤหบดี โปรดฯชาวเมืองบรรดาพ่อค้า ข้าราชการ ผู้ที่มีเกวียนวิ่งหรือรถม้า ประดับตกแต่งโค เกวียน ม้าลาเพื่อเข้าพิธีขบวนแห่ ไปรวมกันที่หน้าศาลากลางมณฑลเวลาเทียง...”
ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นภาพของการจัดงานแห่เทียนพรรษาในยุคแรกเริ่มว่าเกิด ขึ้นจากพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสรรพสทธิประสงค์ ทรงโปรดฯให้เมืองใหญ่ต่างๆในมณฑลลาวกาว จัดงานแห่เทียนพรรษาขึ้นและนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเทียนพรรษาจาก เล่มเล็กมัดรวมกันในแต่ละบ้า เป็นการหลอมรวมเทียนเพื่อให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งจะได้เทียนต้นเดียวที่มีขนาดความสูงราว ๑.๐๐ เมตรถึง ๑.๒๐ เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางของเทียนประมาณ ๐.๒๐ เมตร รูปทรงทั้งแบบกลมและ แบบเหลี่ยม และมีฐานของเทียนเพื่อรองรับมิให้เทียนเอนล้มไป รวมถึงการทำไม้คานหามตีขนาบททั้งสองข้างของฐานเพื่อความสะดวกในการหาม และ การติดตั้งบนล้อเลื่อน หรือเกวียนในขบวนแห่เทียนพรรษาได้ นอกจากนี้ขบวนแห่เทียนพรรษาในยุคแรกยังจัดโดยบรรดาพ่อค้า ข้าราชการทั้งหลาย ทั้งนี้เป็นการใช้เกวียนเป็นพาหนะในการจัดขบวนแห่ นั่นเอง
นอกจากนี้เติม วิภาคย์พจนกิจ ยังได้ระบุว่า นอกจากจะมีขบวนแห่เทียนพรรษาแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค ยังทรงจัดให้มีการประกวดต้นเทียนและขบวนแห่เทียนขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย ดังรายละเอียด ต่อไปนี้
“...ทรงประทานรางวัลแก่ผู้ที่ทำต้นเทียนได้สวย งาม โดยมีคณะกรรมการตัดสินความสวยงามรองกันลงไป เมื่อพร้อมกันแล้วก็ทรงให้จับสลาก ถ้าต้นเทียนของคณะใดจับสลากถูกวัดไหน ต้นเทียนของคณะ นั้น แผนกนั้นก็แห่ไปถวายวัดนั้น แต่ก่อนที่จะนำไปถวาย ต้นเทียนของผู้ใดก็ให้นำขึ้นเกวียนหรือรถม้าประดับให้สวยงามหรูหราให้หญิง สาวและพวกเพี่อนหญิงที่จัดกันมาเป็นผู้ถือต้นเทียนทุก ๆ ต้น มีเครื่องประโคมพิณพาทย์ แตรวง แห่เป็นขบวน หากต้นเทียนของคณะใดมีการละเล่นแสดงตำนานต่าง ๆหรือจำอวดขบขันก็นำมา แสดงตาม ถนนสายที่สำคัญของเมือง ตามที่กรรมการกำหนดให้ แห่ด้วยความรื่นเริงครึกครื้นเป็นขบวนอันยืดยาว ปวงชนก็พร้อมเพรียงกันออกมาชมขบวนแห่ตามถนนสายต่างๆที่ผ่านไปอย่างล้นหลาม แน่นขนัด วัดในเมืองอุบลเวลานั้นมีถึง ๒๔ วัด ส่วนพิธีการของพระสงฆ์สามเณรนั้น ได้ทำไม้เจีย (ไม้สีฟัน) ไม้ชำระ ธูปเทียนไว้ก่อนวันเข้าพรรษา เพราะเมื่อได้เข้าพรรษาแล้วจะ ได้เป็นเครื่องสักการะสำหรับทำวัต ขอขมาลาโทษแก่กันและ กัน...”
จาก การศึกษาของเติม วิภาคย์พจนกิจ ได้ให้ภาพของการประกวดการจัดขบวนแห่เทียนพรรษา ซึ่งกำหนดให้มีคุณสมบัติต่างๆไม่ว่าจะเป็น การมีหญิงสาวและเพื่อนคอยถือต้นเทียนอยู่บนเกวียน ตลอดจนมีการบรรเลงดนตรีและการแสดงต่าง ๆในขบวนแห นอกจากนี้สิ่งที่เติม วิภาคย์พจนกิจ ได้กล่าวถึง อีกประการหนึ่งก็ คือ การแห่เทียนพรรษาจะมีการจับฉลากเพื่อนำเทียนพรรษาของแต่ละขบวนไปถวายยังวัด ต่าง ๆ และเมื่อจับฉลากแล้วจึงค่อยนำขบวนแห่แห่ไปยังวัดที่ตนจับฉลากได้นั่นเอง ในส่วนธรรมเนียมปฏิบัติของพระสงฆ์อีสานเองนั้น เติม วิภาคย์พจนกิจ ได้ระบุว่าพระสงฆ์มีการเตรียมไม้สีฟันและไม้ชำระ เพื่อเป็นเครื่องสักการะพระสงฆ์ผู้ใหญ่และขอขมากัน
ซึ่งประเพณีการ ถวายไม้สีฟันนี้กล้ายกับประเพณีเข้าพรรษาของภาคกลาง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทว่าต่างกันตรงที่ในภาดกลางนั้นชาวบ้านจะเป็นผู้จัดถวายพระสงฆ์เอง อย่างไรก็ดีเอกสารของเติม วิภาคย์พจนกิจ มิได ระบุถึงที่มาของขี้ผึ้งที่จะนำมาหลอมเป็นเทียนตลอดจนรายละเอียดอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ การตกแต่งลวดลายของเกวียนในขบวนแห่ ตลอดจนรายละเอียดเกี่ยวกับรางวัลที่ได้
หลักฐานเอกสารที่มีอายุใกล้ เคียงกับช่วงการเริ่มต้นของงานแห่เทียนพรรษาและได้ระบุรายละเอียดซึ่งสามารถ ให้ภาพของงานแห่เทียนพรรษาได้อย่างชัดเจนมากขึ้น อีกฉบับหนึ่งได้แก่หนังสือเรื่อง “ประเพณีไทยเกี่ยวกับเทศกาล (บางเรื่อง)” ซึ่งเขียนโดยพระยาอนุมาน ราชธน หรือเสถียร โกเศศ ที่ระบุว่า เป็นการจดบันทึกการจัดงานแห่เทียน พรรษาในภาคอีสานจากคำบอกเล่าของพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทวาภินิมมิต) ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
“...ก่อนถึงเข้าพรรษาประมาณเดือนหนึ่ง คือในเดือนที่ ๗ ทายกของวัดในละแวกหมู่บ้านจัดการเรี่ยไรขี้ผึ้ง เมื่อได้พอแล้วชาวบ้านก็ช่วยกันทำพิธีหล่อเป็นเทียน ในบริเวณวัดมี ขนาดแล้วแต่จำนวนขี้ผึ้งที่หาได้ บางทีมีขนาดใหญ่ วัดผ่าศูนย์กลางอยู่ในราว ๒๕ เซนต์ สูงตั้ง ๒ เมตรก็เคยมี จุดได้ตลอดไปตั้ง ๓ เดือน ก็ไม่หมด รูปเทียนนั้นเป็น ๘ เหลี่ยมบ้าง เป็นรูปกลมบ้าง หล่อเสร็จแล้วช่วยกันประดับประดาเทียนให้งดงามด้วย ลวดลายกระดาษทองลางเล่มทำลวดลายขี้ผึ้งในตัวแล้วปิดทองคำเปลว มีเชิงรองทำด้วยไม้จริง ส่วนมากมักทำแล้วเสร็จในวันแห่นั้นเอง ถึงวันเพ็ญเดือนแปดก่อนเข้าพรรษาวัน ๑ เวลากลางคืนนำเทียนมาตั้งในปะรำ ซึ่งปลูกขึ้นโดยเฉพาะในบริเวณวัดทำการฉลองเทียนมีสวดมนต์เย็น ฉันเช้ากันตามธรรมเนียม กลางคืนมีมหรสพแล้วแต่จะมีหามาถึงเที่ยงคืน เลิกงานกลางคืนอย่างนี้ที่เขาใช้จุดไต้ช้าง...”
รายละเอียดจากคำ บอกเล่าของพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทวาภินิมมิต) ทำให้ทราบว่าขี้ผึ้งซึ่งนำมาหล่อเทียนนั้น ได้มาจากการเรี่ยไรชาวบ้านในละแวกหมู่บ้าน หรือ “คุ้มวัด”ของตนเอง ซึ่งเมื่อนำมาหล่อเทียนก็จะเป็นไปตามขนาดของขี้ผึ้งที่เรี่ยไรมาได้ ในแต่ละปีและเมื่อได้ต้นเทียนเป็นที่เรียบร้อย ก็จะมีการตกแต่งโดยใช้กระดาษสีหรือการแกะสลักบนต้นเทียนแล้วปิดทองคำเปลว ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าเทียนแบบติดพิมพ์จึงน่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นพุทธ ศตวรรษที่ ๒๔ ก่อนการทำลวดลายเทียนแบบแกะสลัก นอกจากนี้ช่วงวันเวลาของการฉลองเทียนในเวลากลางคืนยังสอดคล้องกับสิ่งที่ เติม วิภาคย์พจนกิจ กล่าวไว้ว่า จัดขึ้นในคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ แต่จะมีรายละเอียดมากขึ้นตรงที่ การฉลองเทียนพรรษาจะเกิดขึ้นในบริเวณวัดของแต่ละคุ้มวัด หรือละแวกบ้า ซึ่งมีมหรสพต่าง ๆอีกด้วย อย่างไรก็ตามคำบอกเล่าของพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทวาภินิมมิต) ยังได้ให้ภาพของขบวนแห่เทียนพรรษาและรายละเอียดรางวัลจากการประกวดขบวนแห่ เทียนพรรษา ดังนี้
“...รุ่งเช้าวันแรมค่ำเข้าพรรษา เลี้ยงพระที่สวดมนต์ตอนเย็น ฉันเช้าแล้วชาวบ้านก็เตรียมเทียนออกแห่ เอาบรรทุกขึ้นรถ ซึ่งใช้ล้อ เกวียนแทนล้อรถมีแคร่วางบนล้อต่อแทนราชรถเครื่องตกแต่งเเล้วแต่ความคิดของ นายช่าง เป็นบุษบกก็มี เป็นราชรถโถงก็มีเป็นรูป สัตว์หิมพานต์ หรือ รูปนักกษัตรก็มี ส่วนมากเป็นรูปเกียวกับเรื่องในชาดกรถคันนี้ใช้คนลากอย่างชักพระเพราะถือว่า ได้บุญ มีดนตรีปี่พาทย์หรืออย่างอื่น ๆครึกครื้นไปในขบวนแห่ การแห่เทียนนั้นขบวนหนึ่ง ๆ ก็เป็นของหมู่บ้านหนึ่ง ๆ เป็นแห่ประกวดชิงรางวัลกัน แห่ไปรวมที่สนามชุมนุมชนในที่ซึ่งแล้วแต่จะ นัดหมายกัน ถึงที่แล้ว มีเจ้าหน้าที่เป็นกรรมการมาตัดสินให้รางวัล
รางวัล ที่ ๑ ไตรแพรเต็ม ๑ ไตร รางวัลที่ ๒ ไตรผ้าเต็ม ๑ ไตร รางวัลที่ ๓ ไตรผ้าแบ่ง ๑ ไตร ระหว่างนั้นมหรสพต่าง ๆของใครมีไปก็ไปเล่นฉลองที่หน้าเทียนของตน อยู่จนถึงเวลา ๑๓.๐๐ น. ต่างก็แยกย้ายแห่กลับนำเทียนไปยังวัดของตน ถึงวัดแล้วนำเทียนเข้าไปในโบสถ์ทีเดียวตั้งไว้หน้าพรประธานเป็นอันเสร็จพิธี แห่เทียนกลับบ้านกัน...”ข้อแตกต่าง ระหว่างเอกสารของเติม วิภาคย์พจนกิจกับ คำบอกเล่าของพระเทวาภินิมมิต(ฉาย เทวาภินิมมิต) ก็คือในหนังสือ ประวัติศาสตร์อีสาน ระบุว่าเมื่อขบวนแห่เทียนไปรวมกันที่ศาลากลางมณฑลแล้ว จะมีการจับฉลากเพื่อนำเทียนไปถวายยังวัดต่าง ๆขณะที่พระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทวาภินิมมิต) กล่าวว่าเมื่อเสร็จสิ้นการรวมขบวนแห่ ณ สนามชุมนุมชนแล้ว ขบวนแห่เทียนก็จะนำเทียนพรรษาของตนกลับไปถวายยังวัดในละแวกบ้านของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการสัมภาษณ์ที่ระบุว่าก่อน ปีพ.ศ. ๒๔๗๐ ขบวนแห่เทียนพรรษาที่เสร็จจากการประกวดแล้วจะนำเทียนของตนกลับไปถวายยังวัดในละแวกบ้านของตนเอง
ทั้งนี้อาจพิจารณาได้ว่าในเอกสารของเติม วิภาคย์พจนกิจ เป็นการกล่าวถึงช่วงระยะเวลาที่พระเจ้าน้องยาเธอกรม หลวงสรรพสิทธิประสงค์ ครั้งทรงเป็นข้าหลวงมณฑลลาวกาว ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าในครั้งแรกของการมีขบวนแห่เทียนพรรษาและ การประกวดเทียนพรรษาการจับฉลากเพื่อถวายเทียนตามวัดที่ระบุในฉลากอาจเกิดขึ้น แต่จะด้วยเหตุผลใดนั้น ในชั้นนี้ยังไม่พบหลักฐานที่จะ สามารถระบุได้ชัดเจน ทั้งนี้ในเวลาต่อมาเป็นไปได้ว่าได้มีการยกเลิกการจับฉลากดังกล่าวออกไป เป็นการถวายตามคุ้มวัดที่เป็นที่หล่อเทียนพรรษา
นอกจากนี้จากคำบอกเล่าของพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทวาภินิมมิต) ยังได้ให้ภาพของขบวนแห่นับตั้งแต่การตกแต่งรถที่ตั้งเทียนพรรษา ซึ่งระบุว่าเป็นลวดลายต่างๆ กันไปตามแต่ช่างจะเป็นผู้คิดค้น อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ ในช่วงที่พระเจ้าน้องยาเธอกรม หลวงสรรพสิทธิประสงค์ ยังทรงเป็นข้าหลวงอยู่นั้น เอกสารของเติม วิภาคย์พจนกิจ ได้ระบุว่าขบวนแห่โดยเฉพาะ เกวียนนั้นจะเป็นของพ่อค้า ข้าราชการ หรือคหบดี ที่จะจัดขบวนแห่เทียน แล้วนำมาประกวดกัน ขณะที่คำบอกเล่าของพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทวาภินิมมิต )ระบุว่า“...ก็เป็นของหมู่บ้านหนึ่ง ๆ...”
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเป็นไปได้ที่ในเวลาต่อมา การจัดขบวนแห่เทียนพรรษาเริ่มขยายสู่วงกว้างมากขึ้นและชาวบ้านในภาคอีสาน ซึ่งหมายรวมถึงชาวบ้านจังหวัดอุบลราชธานีก็มีส่วนร่วมในการจัดขบวนแห่เทียนพรรษามากขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่เติม วิภาคย์พจนกิจ และพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทวาภินิมมิต) กล่าวไว้อย่างตรงกันก็คือ การบรรยายภาพขบวนแห่เทียนพรรษาที่พรั่งพร้อมไปด้วยขบวนแห่ที่ประกอบไปด้วย เครื่องดนตรีปี่พาทย์ (หรือพิณพาทย์) แม้ว่าความแตกต่างจะอยู่ที่การเทียมที่ระบุในเอกสารของเติม ระบุว่าใช้เกวียนหรือรถม้า ส่ วนคำบอกเล่าของพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทวาภินิมมิต) ระบุว่าใช้คนลากรถขบวนแห่ แต่ก็อาจเข้าใจได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงตามความนิยมเพราะ พบว่านอกจากจะมีการใช้คนลากหรือขึ้นเกวียนและรถม้าแล้ว ในเวลาต่อมายังมีผู้นำวัวมาเทียมเกวียนตั้งเทียนพรรษาอีกด้วย โดยต้องเป็นวัวที่ฝึกมาดีไม่ตื่นตกใจเวลาได้ยินเสียงอึกทึกของขบวนแห่ และ ยังสามารถประดับประดาวัวให้มีความสวยงามและ ฟังเสียงไพเราะจากการผูกเกราะหรือกระพรวนให้กับวัวได้อีกด้วย
รายละเอียดประการหนึ่งที่เติม วิภาคย์พจนกิจ มิได้ระบุไว้ในหนังสือประวัติศาส ตร์ อีสานแต่พระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทวาภินิมมิต) กล่าวไว้ก็คือ รางวัลที่ได้จากการประกวดขบวนแห่เทียนพรรษา ซึ่งพระเทวาภินิมมิต ระบุว่ามีอยู่ ๓ รางวัลโดยแต่ละ รางวัลที่ต่างชนิดกัน อย่างไรก็ดีเอกสารของเติม วิภาคย์พจนกิจ ได้ระบุถึงจำนวนวัดที่มีการถวายเทียนพรรษาว่ามีอยู่ ๒๔ วัด แต่ไม่ได้มีการลงรายชื่อวัดต่าง ๆว่า ชื่ออะไรและตั้งอยู่ ณ เมืองใดอีกด้วย
คำบอกเล่าของพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทวาภินิมมิต) ยังได้ให้ภาพของวันถวายเทียนพรรษาในช่วงเทศกาล พุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงลักษณะเครื่องไทยธรรมที่ชาวบ้านในภาคอีสาน อันหมายรวมถึงจังหวัดอุบล ราชธานีต้องตระเตรียมถวายพระสงฆ์ตลอดจน บรรยากาศครึกครื้นในตอนกลางคืนของวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ดังต่อไปนี้
“...ตกเวลาระหว่าง ๑๕ นาฬิกา ถึง ๑๖ นาฬิกา ชาวบ้านเตรียมเครื่องไทยธรรมเป็นกรวยใบตองก้นแหลมก็มี เป็นอย่างซองพลูก็มี ในกรวยบรรจุหมากหน่อย พลูใบ และ ยา พร้อมทั้งดอกไม้ ธูปเทียนสำหรับถวายพระ แล้วจัดแจงอาบน้ำ แต่งตัวกันอย่างประกวดประขันเท่าที่จะมีหามาแต่งได้ การแต่งอย่างนี้อยู่ในพวกสาว ๆและเด็ก ๆ ส่วนผู้ใหญ่ก็แต่งกันตามธรรมดา แต่งตัวเสร็จนำของไทยธรรมใส่ภาชนะต่าง ๆ แล้วแต่จะหาได้นำไปที่ลานวัด ชาววัดจัดปูเสื่อให้นั่งเป็นสองแถวเว้นระยะกลางราว ๒ เมตร เป็นทางสู่อุโบสถ พระในวัดเดินมาตามทางระหว่างนั้นเดินเรียงสอง ชาวบ้านก็ถวายเครื่องไทยธรรม พระรับแล้วเดินเข้าโบสถ์ ผู้ใหญ่ซึ่งมีอาวุโสหรือสมภารเจ้าวัดจุดเทียน เข้าพรรษาและ ทำพิธีเข้าพรรษากันตามธรรมเนียม พิธีนี้เรียกว่าใส่บาตร กรวย เป็นตอนที่หนุ่มๆ สาว ๆ ชอบนัก เพราะว่าหญิงสาวจะมากันถ้วนหน้าทุกครัวเรือน เป็นโอกาสพวกหนุ่ม ๆได้ดูพวกสาว ๆ ไม่ใช่แต่แห่งเดียว อาจไปดูได้หลาย ๆ แห่งส่วนพวกสาว ๆ ก็มีช่องจะแต่งตัวสวย ๆ อวดพวกหนุ่ม ๆ ส่วนพระที่รับกรวยไว้ รุ่งขึ้นจะแบ่งและนำไปบูชาสักการะสถานที่ศักดิ์์สิทธิ์หรือคู่สวดอุปัชณาย์ ...”
รายละเอียดของเครื่องไทยธรรม ซึ่งชาวบ้านภาค อีสานใช้ถวายพระสงฆ์ในวันเข้าพรรษาที่พระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทวาภินิมมิต) ระบุนั้น มีการเพิ่มเติมกรวยใบตองก้นแหลมที่บรรจุหมากพลู บุหรี่ ซึ่งเป็นของขบฉันของพระสงฆ์ ตลอดจนธูปเทียน เพื่อที่จะ นำไปตักบาตร กรวยในตอ นกลางคืน ทั้งนี้พระเทวาภินิมมิตได้บรรยายบรรยากาศของงานตักบาตรกรวยตอนกลางคืนว่า มีความสนุกสนานครึกครื้นไม่แพ้ตอนกลางวัน นอกจากนี้ยังได้บรรยายภาพหลังจากเลร็จการตักบาตรกรวยในวันรุ่งขึ้นว่า พระสงฆ์จะนำกรวยนั้นไปบูชาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือพระ อุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เติม วิภาคย์พจนกิจ ไม่ได้กล่าวถึง แต่นับว่ามีส่วนในการเติมเต็มข้อมูล ระหว่างเติม วิภาคย์พจนกิจ และพระเทวาภินิมมิต ให้เห็นภาพงานแห่เทียนพรรษาช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ได้ชัดเจนมากขึ้น
สมัยที่ ๑ (พ.ศ. ๒๓๓๕ - ๒๔๔๓) เทียนเวียนหัวมัดรวมติดลาย
การทำเทียนในสมัยแรกจะทำในลักษณะง่าย ๆ คือ ฟั่นเทียนยาวเวียนรอบศีรษะของทุกคนในบ้าน แต่ละบ้านนำไปถวายพระสงฆ์ในวัดใกล้หมู่บ้าน ต่อมาได้นำเทียนเล่มเล็ก ๆ หลาย ๆ เล่มมาเรียงและมัดด้วยเชือก ผูกรวมติดเข้าด้วยกันกับแกนไม้ที่ทำมาจากลำต้นของด้นหมาก ปล้องไม้ไผ่ หรือไม้แก่น โดยเรียงเทียนเป็นแท่งเป็นชั้นจากฐานจนถึงยอดของแกนไม้นั้น การตกแต่งเทียนนิยมใช้ กระดาษตังโก (กระดาษเงิน กระดาษทอง) หรือกระดาษแก้วทีมีสีสันพันโดยรอบห่อหุ้มรอยต่อของเทียนแต่ละรอบจนถึงยอดเป็นช่วง ๆ หรือติดกระดาษเป็นลวดลายต่าง ๆ ตามชนิดให้สวยงาม ทำขาตั้งยึดแกนลำต้นไว้เพื่อให้สามารถยกเคลื่อนย้ายไปตั้งในที่ต่าง ๆ ได้ อาจใช้ปี๊บทำเป็นฐาน และนำข้าวสาร หรือทรายใส่ลงในปึ๊บให้มีน้ำหนักเพื่อรองรับต้นเทียน ซึ่งก็ถือว่าสวยงามเพียงพอแล้ว การทำต้นเทียนในลักษณะเช่นนี้เรียกว่า การมัดรวมติดลาย แต่ละคุ้มบ้านต่างคนต่างทำแล้วนำไปถวายวัดของตนเอง เทียนชนิดนี้เมื่อนำไปถวายพระที่วัดแล้วพระลงฆ์สามารถแกะออกมาใช้ประโยชน์ หรือนำมาจุดเพื่อให้แสงสว่างได้เรื่อย ๆ ทีละเล่มจนหมด
สมัยที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๔๔ - ๒๔๗๙) หลอมเทียน หลอมบุญ หลอมใจ
เมื่อครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์พระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสานประทับที่เมืองอุบล ทรงเห็นการแห่บุญบั้งไฟที่วัดหลวง ริมแม่น้ำมูลเกิดเหตุบั้งไฟตกลงมาถูกชาวบ้านตาย อีกทั้งชาวบ้านที่มาร่วมงานต่างกินเหล้าเมามาย เกิดการทะเลาะวิวาทชกต่อย ตีรันฟันแทงกันถึงแก่ล้มตาย จนมีคำกล่าวเป็นผญาภาษาอีสานว่า “ปีได๋บ่มีตีรันฟ้นแทงกัน มันเสียดายแป้งขาวหม่า” มีความหมายว่า หากปีใดที่ไม่มีการทะเลาะวิวาทกัน จะรู้สึกเสียดายแป้งที่ใช้หมักสุรา เสด็จในกรมทรงเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ดี อีกทั้งประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีที่นับถือเทพเจ้า (แถน) ตามธรรมเนียมของศาสนาฮินดู พระองค์จึงทรงสั่งให้งดเว้นการจัดงานบุญบั้งไฟอีกต่อไป และให้ใช้ประเพณีถวายเทียนพรรษาเป็นพุทธบูชาตามธรรมเนียมของชาวพุทธโดยแท้จริง เมืองอุบลจึงมีประเพณีแห่เทียนพรรษานับแต่นั้นสืบมา
ในสมัยนี้มีการหล่อเทียนต้นใหญ่ เนื่องจากเห็นว่าการมัดเทียนขนาดเล็กรวมเข้าด้วยกันเป็นงานที่ทำได้ง่าย ประกอบกับพระองค์ทรงเห็นการถวายเทียนต่างคนต่างทำ จึงทรงเป็นผู้เริ่มให้ชาวเมืองอุบลร่วมกันหล่อเทียนด้นใหญ่ มอบให้ชาวบ้านทำเป็นกลุ่มใหญ่ หรือทำเป็นคุ้มวัด มีกรมการเมืองคอยดูแลแต่ละคุ้มวัด การจัดทำต้นเทียนถือเป็นงานใหญ่ใช้แรงคนมาก ใช้เวลามาก และสิ้นเปลืองทุนทรัพย์อีกทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการทำบุญอยู่แล้ว จึงทรงมีกุศโลบาย “หลอมเทียน หลอมบุญ หลอมใจ” ลดช่องว่างระหว่างชนชั้น ลดช่องว่างระหว่างฐานะ ไม่ว่าจะยากดีมีจน นำขี้ผึ้งเล็กใหญ่มาปลอมในกระทะทองเหลืองอันเดียวกัน ได้ต้นเทียนต้นเดียวกัน มีส่วนเป็นเจ้าของด้วยกันได้บุญได้กุศลเท่าเทียมกัน ก่อให้เกิดความรักสมัครสมานสามัคคี ถือว่าเป็นการทำบุญร่วมกัน ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เมื่อร่วมแรงร่วมใจกันทำต้นเทียนเสร็จแล้ว ให้นำต้นเทียนทุกต้นมารวมกันที่วังของพระองค์(วังสงัด) กลางคึนมีมหรสพสมโภชตลอดคืน รุ่งเช้าวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เป็็นวันเข้าพรรษา ทรงให้มีการตักบาตรเลี้ยงพระร่วมกัน เสร็จแล้วก็โปรด ฯให้ชาวเมืองที่มีเกวียนได้ประดับตกแต่งโค เกวียน ม้า ลา นำมาเข้าขบวนแห่โดยไปรวมกันที่หน้าศาลากลางมณฑลในเวลาเที่ยงวัน ทรงประทานรางวัลแก่ผู้ทำต้นเทียนสวยงาม เมื่อพร้อมกันแล้วก็ทรงให้จับสลาก หากต้นเทียนของคณะใดจับสลากถูกวัดไหน ต้นเทียนของคณะนั้นก็จะแห่ไปถวายวัดนั้น ๆ