ภาพรวมตามวิถีชาวบ้าน อุบลราชธานี
สารบัญ
๒) คองสิบสี่
ฮีตเจ้าคองขุน หมายถึง ข้อปฏิบัติระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับขุนนางที่กำหนดถึงแนวนโยบายของรัฐว่า จะเป็นไปในทางใด เช่น ไม่เคียดแค้นผู้ด้อยกว่า การแต่งตั้งขุนนางที่ซื่อตรงและเชี่ยวชาญในราชการ ตลอดจนการตัดสินคดีตามบทกฎหมายเป็นต้น
ฮีตท้าวคองเพีย หมายถึง ข้อปฏิบัติระหว่างเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ (ท้าว) อาทิ อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ฯลฯ กับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ (เพีย) ได้แก่ พญา ต่างๆ
ฮีตไพร่คองนาย หมายถึง ข้อปฏิบัติระหว่างนายกับลูกน้อง หรือ ขุนนางกับชาวบ้าน อาทิ ไม่เห็นแก่สินบน ไม่ทำร้ายลูกน้อง เป็นต้น
ฮีตบ้านคองเมือง หมายถึง การปฏิบัติตามฮีตสิบสอง ซึ่งถือคองเมืองและการปฏิบัติตามข้อห้ามในบ้านเรือน ซึ่งถือเป็นฮีตบ้าน อาทิ การเติมน้ำในภาชนะให้เต็มอยู่เสมอ การไม่ปลูกเรือนคร่อมตอไม้ จอมปลวกหรือแหล่งน้ำ เป็นต้น
ฮีตปู่คองย่า หมายถึง ข้อปฏิบัติระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว
ฮีตพ่อคองแม่ หมายถึง ข้อปฏิบัติระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว
ฮีตป้าคองลุง หมายถึง ข้อปฏิบัติระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว
ฮีตลุงคองหลาน หมายถึง ข้อปฏิบัติระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว
ฮีตเฒ่าคองแก่ หมายถึง ธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติของผู้สูงอายุ ที่ถือว่าจะต้องวางตนให้เป็นที่เคารพของลูกหลาน
ฮีตปีคองเดือน หมายถึง ข้อปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีทั้ง ๑๒ เดือน หรือ การปฏิบัติตามฮีตสิบสองนั่นเอง
ฮีตไร่คองนา หมายถึง ข้อปฏิบัติในการทำไร่นา อาทิ ต้องขยันหมั่นเพียรตามกาลเวลาหรือไม่ทอดทิ้งการแฮกนา เป็นต้น
ฮีตวัดคองสงฆ์ หมายถึง ข้อปฏิบัติสำหรับชาวบ้านที่มีต่อพุทธศาสนาประกอบไปด้วย ๑๔ ประการได้แก่
๑) เมื่อผลผลิตทางการเกษตรเจริญงอกงามให้นำไปถวายพระสงฆ์ก่อนที่จะนำไปบริโภค
๒) อย่าปลอมแปลงตาชั่งและเงินตราอย่าได้เกิดความโลภให้อยู่ในปัจจัยสี่พอดีตลอดจนอย่ากล่าวคำหยาบต่อกัน
๓) ให้ล้อมรั้วหมู่บ้าน หมายถึง ให้มีความสามัคคีกลมเกลียวกันในหมู่บ้าน
๔) ให้ล้างเท้าก่อนขึ้นบ้าน
๕) เมื่อถึงวันพระให้ทำความสะอาดเตาไฟ บันได และประตูบ้านเรือน ที่ตนอาศัยเข้าออกทุกวัน
๖) ให้ทำความสะอาดล้างถ้วยชาม ทาแป้ง แต่งตัว หวีผม และล้างเท้าก่อนเข้านอนในเวลากลางคืน
๗) เมื่อถึงวันพระให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปขอสมมา (ขอขมา) ระหว่างสามีภรรยาและบุตรและ เมื่อถึงเดือนห้าให้สมมาพ่อแม่ ผู้สูงอายุ และ เพื่อนบ้าน
๘) เมื่อถึงวันพระเดือนดับ (ข้างแรม) และวันพระเดือนเพ็ญ (ข้างขึ้น) ให้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ที่บ้านและทำบุญตักบาตรถวาย
๙) ให้ตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมใส่บาตรพระสงฆ์อย่าให้พระสงฆ์คอย และเวลาใส่บาตรอย่าถูกตัวท่าน อย่าสวมรองเท้า กางร่ม ใช้ผ้าโพกหัว หรือถือศาสตราวุธ เวลาใส่บาตร
๑๐) เมื่อพระสงฆ์อยู่ปริวาสกรรมให้จัดดอกไม้ธูปเทียนถวายท่าน
๑๑) เมื่อเห็นพระสงฆ์เดินผ่านมาให้นั่งลงแล้วยกมือไหว้พูดคุยกับท่าน
๑๒) อย่าเหยียบเงาพระสงฆ์ผู้ทรงศีล
๑๓) อย่านำสิ่งของที่ตนบริโภคเหลือไปถวายพระสงฆ์และอย่าให้ของเหลือเดนแก่ขอทาน
๑๔) อย่าร่วมเพศในวันพระ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันสงกรานต์ และวันสำคัญทางศาสนาอื่นๆ
ฮีตเจ้าคองเมือง หรือ ฮีตสมบัติคูณเมือง หมายถึง สำหรับผู้ปกครองที่พึงปฏิบัติ อาทิ การตั้งผู้ซื่อสัตย์สุจริตขยันหมั่นเพียรเป็นขุนนางผู้ใหญ่ การอยู่ในทศพิธราชธรรม การเป็นผู้นำประชาชนในการทำบุญตามฮีตสิบสอง ตลอดจนการแสวงหาสมบัติคูณเมือง (ค่าควรเมือง) เช่น การมีนักปราชญ์ การมีเสนาอำมาตย์ที่เที่ยงตรง การมีทหารที่แกล้วกล้า เป็นต้น
ในปัจจุบันงานบุญตามฮีตคองที่ชาวบ้านจังหวัดอุบลราชธานียังคงยึดถือปฏิบัติอยู่ได้แก่ งานบุญเผวส ซึ่งจัดเป็นงานบุญที่มีการทำมากที่สุด รองลงมาได้แก่ งานบุญกฐิน บุญสงกรานต์ บุญเข้าพรรษา บุญข้าวสาก บุญบั้งไฟ บุญข้าวจี่ บุญคูณลาน และบุญเข้ากรรม ตามลำดับ ขณะที่ความเชื่อเรื่องผีของชาวจังหวัดอุบลราชธานียังคงมีอยู่แต่ก็ทำกันเฉพาะกลุ่มโดยไม่ได้มองว่าความเชื่อเรื่องผีเป็นความเชื่อที่ไร้สาระ แต่เป็นความเชื่อที่ทำให้คนในสังคมมีการเคารพกตัญญูต่อบรรพบุรุษและมีความกลมเกลียวกันในระหว่างญาติพี่น้อง