พระตำหนักดอยตุง เชียงราย
พระตำหนักดอยตุง
เชียงราย อารยนครอายุกว่า 700 ปี มีมนต์เสน่ห์ล้ำลึกของวัฒนธรรมล้านนา กลมกลืนกันอยู่ในโอบล้อมของผืนป่า ที่เริ่มคืนความเขียวชะอุ่มภายหลังเกิดโครงการพัฒนาดอยตุงฯ กว่า 30 ปีที่ผ่านมาด้วยพระบารมีของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชาวเขาและชาวพื้นราบในบริเวณรายรอบดอยตุง ยอดสูงสุดของดอยนางนอน พรมแดนไทย-พม่า ได้เปลี่ยนวิถีจากการปลูกและเสพฝิ่น ถางป่าตัดไม้ และทำไร่เลื่อนลอย หันมาทำเกษตร ปลูกพืชผักเมืองหนาว ทำไร่กาแฟและแมคคาเดเมีย สร้างผลงานเย็บปักถักทอที่เชื่อมต่อวัตถุดิบพื้นถิ่น และหัตถศิลป์พื้นเมืองสู่การใช้งานในชีวิตประจำวันแบบสากล ในขณะที่กลุ่มชน 30 ชาติพันธุ์ ยังคงอาศัยอยู่อย่างสงบ ตามไหล่เขาและบนดอยสูง แนบแน่นอยู่กับประเพณีดั้งเดิมของตน โดยไม่ถูกวัฒนธรรมเมืองกลืนกิน
เคยเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานเพื่อทรงงานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีรูปทรงผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนากับชาเลย์ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีการแกะสลักไม้ตามกาแล เชิงชายและขอบหน้าต่างเป็นลวดลายต่าง ๆ โดยฝีมือช่างชาวเหนือ รอบ ๆ พระตำหนักมีสวนดอกไม้หลากพันธุ์ หลายสี ให้ความสวยงามสดชื่น โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะเห็นหมอกจาง ๆ บริเวณยอดเขารอบ ๆ พระตำหนัก
ห่างจากตัวเมืองเชียงรายไปทางอำเภอแม่สายประมาณ 45 กิโลเมตร จะเห็นเทือกเขาดอยนางนอน ทอดตัวยาวเหยียดอยู่ทางด้านซ้าย ส่วนยอดของเทือกเขานั้นคือดอยตุง อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุดอยตุง และ พระตำหนักดอยตุง ที่ประทับของสมเด็จย่า ที่พระองค์ทรงรักมากที่สุด และทรงประทับอยู่ที่นี้ตลอดช่วงปลายพระชนม์ชีพ
เมื่อสมเด็จย่ามีพระราชกระแสรับสั่งว่าจะ "ปลูกป่าบนดอยสูง" จึงเป็นจุดกำเนิดโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น ประกอบกับสภาพภูมิประเทศ สภาพอากาศของดอยตุง คล้ายๆกับสถานที่ที่พระองค์ประทับที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อทรงทอดพระเนตรพื้นที่ ก็ทรงพอพระราชหฤทัย และมีพระราชดำริจะสร้าง "บ้านที่ดอยตุง" เป็นที่ประทับแปรพระราชฐาน พระตำหนักดอยตุงจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2530 พร้อมกันนั้นก็ได้ดำเนินโครงการพัฒนาดอยตุงไปด้วย พื้นที่ดอยตุง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ โดนทำลายจนก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่องในพื้นที่ราบ และดอยตุงยังมีอาณาเขตติดชายแดนจึงมีปัญหาปลูกและค้ายาเสพติด แต่สมเด็จย่าทรงยึดหลักว่า ปัญหายาเสพติด ปัญหาตัดไม้ทำลายป่าของชาวเขา เป็นเพียงปลายเหตุ รากเหง้าที่แท้จริง คือ ความจนและการขาดโอกาส และที่นี่ต้องการการพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง การพัฒนา คือ สร้างโอกาสและภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิต เพื่อให้คนยืนหยัดได้ด้วยตนเอง พระองค์ท่านทรงเริ่ม พัฒนาคนแก้ที่คน โดยการช่วยเขาให้เขาช่วยตนเอง ไม่มีการให้เปล่า ทรงต้องการเห็น ชาวไทยภูเขา มีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดี มีความรู้ และมีโอกาสใหม่ๆเป็นทางเลือกของชีวิตเพิ่มขึ้น รู้ว่าป่าไม้สำคัญกับชีวิต ไม่ตัดไม้ทำลายป่า รักษาประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของเผ่าไว้ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา
พระตำหนักดอยตุง ถือเป็นบ้านหลังแรกของสมเด็จย่า สร้างขึ้นโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ที่เน้นความเรียบง่าย และประโยชน์ใช้สอย เป็นเรือนไม้ 2 ชั้นบนเนินต่างระดับมองเห็นทิวทัศน์ได้ไกลสุดสายตา สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างบ้านปีกไม้ ศิลปะล้านนา กับชาเลต์แบบสวิส (Swiss Chalet) เป็นพระตำหนักสองชั้น และชั้นลอย ชั้นบนแยกเป็นสี่ส่วน แต่เชื่อมต่อกันเป็นอาคารหลังเดียว มีกาแล และไม้แกะสลักเป็นเชิงชายลายเมฆไหล ที่อ่อนช้อยโดยรอบ ภายในตำหนักล้วนใช้ไม้สน และไม้ลังที่ใส่สินค้า เป็นเนื้อไม้สีอ่อนที่สวยงาม ภายในมีเพดานดาวเป็นภาพระบบสุริยะและกลุ่มดวงดาวอยู่ในตำแหน่งเดียวกับที่เคยปรากฎ ณ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 วันพระราชสมภพ สลักขึ้นจากไม้สนภูเขา ส่วนบริเวณผนังเชิงบันได แกะสลักเป็นพยัญชนะไทย พร้อมภาพประกอบ กลางห้องเป็นที่ประดิษฐานพระฉายาลักษณ์เพื่อผู้มาเยือนได้สักการะ รอบพระตำหนักประดับด้วยไม้ดอกนานาพันธุ์ สามารถชมห้องบรรทมและห้องทรงงานที่สะท้อนพระราชจริยวัตรอันงดงามเรียบง่าย
มีเจ้าหน้าที่นำชมเป็นรอบ ๆ ละ ๒๐ นาที เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา๐๗.๐๐-๑๗.๓๐ น. ค่าเข้าชม ๗๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร . ๐ ๕๓๗๖ ๗๐๑๕-๗ หรือ http://www.doitung.org E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชมทั้ง พระตำหนักดอยตุง สวนแม่ฟ้าหลวง และหอพระราชประวัติฯ จำหน่ายบัตรรวม ราคา ๑๕๐ บาท ซุ้มจำหน่ายบัตรเปิดเวลา ๐๖.๓๐-๑๘.๐๐ น. หลังเวลา ๑๗.๐๐ น. จำหน่ายเฉพาะบัตรชมพระตำหนักและสวนแม่ฟ้าหลวง
ข้อมูลเพื่อการเดินทางไปพระตำหนักดอยตุง
พระ ตำหนักดอยตุงอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงราย 60 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 110 ไป 45 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1149 ไปประมาณ 15 กิโลเมตร สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถประจำทางสามารถใช้บริการรถสองแถวสีม่วง บริเวณปากทาง รถออกตั้งแต่ 07.00 น. มีรถออกทุก 20 นาที
คำยืนยันลูกค้า
คำยืนยัน ในคุณภาพและผลงานการจัดทัวร์จากลูกค้าบางส่วนของ นิววิวทัวร์
คำยืนยันแด่นิววิวทัวร์ - กรุ๊ปคณะคาทอลิก แห่งประเทศไทย แสวงบุญพนมเปญ เสียมเรียบ 34 ท่าน Part6
16360 Views
คำยืนยันแด่นิววิวทัวร์ - ทีม บิ้วดิ้ง จันทบุรี (อิทธิฤทธิ์ เทคโนโลยี) 42 ท่าน Part 1
5103 Views
คำยืนยันแด่นิววิวทัวร์ - กรุ๊ปคณะคาทอลิก แห่งประเทศไทย แสวงบุญพนมเปญ เสียมเรียบ 34 ท่าน Part4
16463 Views