รับจัด Outing, Team Building, CSR, Walk Rally, สัมนานอกสถานที่, ดูงาน ในประเทศและโซนเอเชีย
สำหรับบริษัทในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง
084-160-0210 , 02-733-0683

สรุปการสัมมนาเรื่องภูมิปัญญาเทียนสู่สากล อุบลราชธานี

สารบัญ

ทีนี้ทำไมเทียนพรรษาถึงมีเฉพาะโคราชและอุบลราชธานีที่ดัง ที่อื่นไม่มี ก็เพราะท่านหัดให้มีการหลอมเทียน หลอมใจ หลอมบุญ กรมหลวงสรรพสิทธิ์ฯ ท่านเคยปกครองที่เมืองนครราชสีมาก่อนที่จะมาปกครองเมืองอุบลราชธานีนั่นเอง มาเข้าประเด็นปี ๒๕๒๐ ที่ ททท. มาสนับสนุน ทำไมเมืองโคราชถึงแย่งชิงต้นเทียนจากเมืองอุบลฯ เพราะการท่องเที่ยวไปได้ทั่วโลก การท่องเที่ยวเป็นการขายที่ดีที่สุดในเชิงการค้าเพราะขายแล้วไม่ต้องเอาสินค้าไป มีสินค้าอยู่ที่บ้าน นักท่องเที่ยวก็มาเที่ยวเอง อันนี้เป็นสิ่งดีที่สุด ในปี ๒๕๒๐ ผมมีเข้าประชุมร่วม ททท. มาบอกว่าให้เหลือจังหวัดเดียว ประเพณีในเมืองไทยให้มีแค่จังหวัดเดียวจะเป็นแข่งเรือที่จังหวัดพิจิตร บุญบั้งไฟที่ยโสธร เทียนพรรษา เมื่อลงคะแนนแล้วอุบลฯ ได้เท่ากับโคราช ผมก็เลยเสนอก่อนลงประชามติชี้ขาดขอให้เหตุผลก็คือ ที่ผมพูด ผ พ ป ไปนั่นแหละ คนอุบลฯรักเทียนพรรษาอย่างไร ประธานที่ประชุมซึ่งเป็นคนโคราช เป็น ผู้อำนวยการ ททท. พันเอกสมชาย หิรัญกิจ ท่านชี้ขาดให้อุบลฯ เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการส่งเทียนพรรษาไปสู่นานาชาติ เพราะท่านบอกว่าเทียนพรรษานั่นแหละคือ ภูมิปัญญาของชาวบ้าน ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ส่วนโคราชมีอิสระในการที่จะเอารูปอะไรขึ้นไปก็ได้ อาจารย์ทินกรบอกว่าเอารูปน้าชาติ ขี่ชอปเปอร์ รูปนักการเมือง รูปหลวงปู่คูณ รูปอะไรก็เอาลงไปหมด แต่เมืองอุบลฯ เรานักปราชญ์รุ่นเก่า กำหนดไว้เลยว่า เทียนพรรษาที่อยู่บนรถต้องมีอะไรบ้าง จึงเอาขึ้นไปได้ ไม่ใช่รูปไหนก็เอาขึ้นไปได้ ประการสำคัญสุดคือ ต้องสอดแทรกและให้ปรากฏซึ่งพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อนำมาปฏิบัติเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ดังนั้นจึงเห็นว่าต้นเทียนอุบลฯ มีกติกาบอกไว้ไม่ได้แพร่หลายจะทำอะไรก็ได้เหมือนโคราช ที่เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ผมจะเอาไว้แค่นี้ก่อนนะครับ วิกฤติการณ์ยังไม่พูดจะพูดคนละ ๕นาที ๑๐ นาที เปลี่ยนกันไปมา ให้คุณพ่อว่าไปผมจะสอยตาม

อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า
ครับช่วงแรกก็ ๓๐ นาที ฟังดี ๆ ก็จะได้ความรู้ ก็อาจขออภัยช่างเทียน และผู้อาวุโสหลายท่านซึ่งอยากจะมีส่วนร่วมอาจจะทิ้งท้ายไว้ ตอนท้าย ๑๐ นาทีเพื่อแลกเปลี่ยน เพราะภาคบ่ายยังมี อันนั้นเจาะแก่นการทำเทียน วิวัฒนาการของเทียน เจอปัญหาอุปสรรคอะไร และต้นทุนเป็นอย่างไร ใช้ขี้ผึ้งจากไหน จะเป็นเทคนิควิธีการคือว่าแง่มุมศิลปะ ส่วนภาคเช้านั้นจะเป็นเรื่องของวิวัฒนาการ วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ สิ่งดีงาม ท่านผู้อาวุโสจะได้เล่าต่อในช่วงที่สองเชิญ คุณพ่อบำเพ็ญ ครับผม ความประทับใจในเรื่องของแง่มุมที่ไม่ได้เป็นช่าง แต่ได้สนับสนุนประคับประคองมาโดยตลอด ขอเรียนเชิญท่าน ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล ครับผม

ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล "..........ภายหลังท่านบอกว่า ปีนี้เราได้รับเทียนพระราชทานเป็นเล่มแรกถวายวัดสุปัฏนารามฯให้ถือเสมือนว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเมืองอุบลฯ ต้องให้เจ้าเมืองเป็นผู้มานำเสด็จหากมีอันตรายใด ๆ เจ้าเมืองต้องรับแทน.........."

ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล
เรียนท่านอาจารย์ ผู้ดำเนินการบรรยาย และขอแสดงความเคารพอีกครั้งต่อท่านผู้ฟัง สำหรับเรื่องการส่งเสริมการแห่เทียนพรรษา ในปีที่ได้รับเทียนพรรษาพระราชทานปีแรก รู้สึกจะเป็นปี ๒๕๒๒ ขณะนั้นผมเป็นอัยการอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ผมได้พาครอบครัวไปดูเทียนที่ ทุ่งศรีเมืองและได้พบกับคุณประมูล จันทรจำนง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้น ท่านได้พบแล้วพูดว่า “คุณบำเพ็ญ คุณต้องมาพาลูกหลานแห่เทียนนะ” ผมก็บอกว่าจะแห่อย่างไรผมไม่ใช่ข้าราชการเมืองอุบลฯ ผมข้าราชการเมืองโคราช “เมืองไหนก็ช่างเมืองอุบลฯ เป็นเมืองของคุณพรุ่งนี้ต้องแต่งตัวอย่างโก้มานะ ให้นุ่งผ้าม่วงเสื้อราชปะแตนพาลูกหลานแห่” ผมก็ตอบว่า “มาก็มาเพราะผู้ว่าฯ สั่ง

ตื่นเช้ามาผมก็มาที่ศาลาจัตุรมุข พอเลี้ยงพระเสร็จแล้วท่านเห็นแต่งตัวเหมือนที่ท่านบอก ท่านก็บอกว่า “ คุณบำเพ็ญ ผมขอเชิญท่านพาลูกหลานแห่เทียนรอบเมืองอุบลฯ นะ” ท่านก็ยกมือไหว้ผม ผมก็สาธุผมถามว่า “จะไปอย่างไรล่ะ” ท่านบอกว่า “ไม่ยากผมแต่งรถไว้แล้ว” ท่านก็แต่งรถไว้ทำเป็นดอกบัวดอกใหญ่มาก ท่านบอกว่า “คุณพ่อบำเพ็ญเชิญขึ้นไปนั่งกลางดอกบัว” ผมบอกว่าจะเอาถึงขนาดนั้นเหรอ ไม่เอาขนาดนี้ยังไงล่ะ เมืองอุบลฯเป็นเมืองใหญ่ ท่านว่ายังงี้ต้องทำให้มีศักดิ์ศรี ท่านว่าจะให้ท่านไปแห่เทียนก็แห่ได้ ตอนหลังเลยถามว่าทำไมให้ผมไปแห่ ท่านบอกว่า “คุณพ่อบำเพ็ญ เป็นเชื้อสายอุบลฯ ท่านต้องส่งเสริมรักษาประเพณีแห่เทียนเอาไว้”ผมบอกว่า “ผมไม่ใช่ช่างนะ” ท่านว่า “ไม่ใช่ช่างแต่จะต้องพาเขาแห่ ไม่ใช่ให้คุณเป็นช่าง” ท่านว่าอย่างนั้น พอขึ้นรถท่านก็ให้มีนางฟ้าตามหลังอีก ๘ คน อีกหนึ่งคันต่างหาก มีเมียศึกษาพจน์ คนหนึ่งขึ้นไปแห่ผมก็ไปแห่กับท่าน ทำไมถึงไปแห่อย่างนั้น ภายหลังท่านบอกว่า ปีนี้เราได้รับเทียนพระราชทานเป็นเล่มแรกถวายวัดสุปัฏนารามฯให้ถือเสมือนว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเมืองอุบลฯ ต้องให้เจ้าเมืองเป็นผู้มานำเสด็จหากมีอันตรายใด ๆ เจ้าเมืองต้องรับแทน ดังนั้นผมถึงให้ท่านมาแห่เทียนพาลูกหลานแห่ออกก่อนขบวนเทียนในรถมีการทำขันธ์ ๕ ขึ้นและท่านกล่าวขออาราธนาอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองมานั่ง นิมนต์พระเจ้าใหญ่อินแปงมาสถิตอยู่บนรถที่ผมนั่ง ขณะเดียวกันในรถที่ผมนั่งผมพนมมือและอธิษฐานตลอดเวลาที่แห่ เมื่อเห็นฟ้าครึ้มก็ขออย่าให้ฝนตกลูกหลานจะเปียกเขาแห่ยาก อุตส่าห์แต่งหน้าแต่งตามาขอให้ครึ้มเฉย ๆ อย่าตกก็ได้ผล ฝนก็ไม่ตก ถ้าแดดก็ขอให้ไม่แดดมาก เขาจะร้อนขออย่าให้แดดจนแห่เสร็จผมมีข้อสังเกตนั่งอยู่บนรถคนเดียวคนมาดูก็มากเขาถามว่า “ใครที่นั่งบนรถ” ต่างคนต่างถามกันผมไม่ได้พูดกับใครหรอกเพราะผมต้องนั่งอยู่บนรถ คนหนึ่งพูดว่า “พ่อผู้ว่าฯ” อีกคนว่า “ไม่ใช่หรอก พ่อผู้ว่าฯ ต้องแก่กว่านี้” “หรือจะเป็นพ่อฟ้า เอ๊าแล้วทำไมไม่มีนางฟ้านั่งเทียนด้วย ถ้าเป็นพ่อฟ้า” ผมก็นั่งเฉย ๆ เพราะรถวิ่งช้าทำให้ได้ยินอีกคนพูดว่า “ผีบ้าตั๋วสู” ถ้าเขาว่าผีบ้าก็ใช่คำที่เขาบอกเพราะว่า ผู้ว่าฯ อุปโลกน์ให้เราเป็นบ้าเราก็ขึ้นไปนั่ง อันนี้ได้คติอย่างหนึ่งว่า เรานั่งอยู่บนรถเป็นตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อจะให้อยู่เย็นเป็นสุขใครจะว่าอย่างไรเราก็อย่าไปสนใจเขาจะด่าก็ชั่งเขานี่เป็นคติสอนใจตอนเอง ทีนี้พอนั่งบนรถน้ำก็ไม่ได้ดื่มกว่าจะรอบเมือง มีชายคนหนึ่งเอาน้ำมาให้บอกว่า “เสวยน้ำหน่อย ญาพ่อ” ก็เอาน้ำแข็งให้กิน ผมก็ดีขึ้นหน่อย มีคนว่าบ้าก็มี คนที่เอาน้ำมาให้กินก็มี อันนี้เป็นบุญและยังได้สติเตือนตัวเองด้วย จากนั้นผมก็ได้แห่ในลักษณะเช่นนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ ถึงปี ๒๕๓๕ จากนั้นผมไปรับราชการศาลอุธรณ์อยู่จังหวัดขอนแก่น ก็ได้รับจดหมายเชิญให้มาร่วมแห่เทียนเคยทำมาอย่างไรก็ให้ทำอย่างนั้น พอเปลี่ยนผู้ว่าฯใหม่ก็มอบงาน ผู้ว่าฯคนต่อไปก็รับนโยบาย ผมก็ต้องเทียวไป - มา แต่ก็ยินดีเพื่อบ้านเมือง

พอมาถึงสมัยผู้ว่าฯ นายสายสิทธิ์ พรแก้ว ได้ยกเลิกแต่งรถให้ผมนั่ง ไม่ให้แห่ก็ไม่แห่และเรื่องนี้ผมจะไขปริศนาให้ทุกท่านได้ทราบเราถือศาสนาพุทธ เพราะเหตุผลว่าท่านบอกว่าไม่ถือผี ผมก็ไม่ขัดข้องเพราะท่านให้แห่ก็แห่ ไม่ให้แห่ก็ไม่แห่ และเรื่องนี้ผมจะไขปริศนาให้ทุกท่านได้ทราบ เราถือศาสนาพุทธ เราต้องมีความเชื่อ เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในเทวดา อินทร์พรหม พรหมสถาน อันนี้ผมมีความเชื่อ ไปไหนมาไหนยกมือท่วมหัวไปมาลาบอก นี่เป็นตัวอย่างและเตือนสติว่า “เจียมผีเฒ่า เจียมเจ่ายืน” ผมไปอยู่เมืองยโสธร เขามีงานสถาปนาจังหวัดยโสธร ผู้ว่าฯขณะนั้นได้เชิญผมไปบวงสรวงเทวาอารักษ์ให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ผมก็ได้ทักท้วงไปว่า การจะบอกกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นจะต้องบอกกล่าวก่อนแห่ ก่อนเปิดงานนะ แต่ท่านกลับมาบอกทีหลังผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ “เอาใหม่นะครับให้บอกกล่าวก่อนวันงาน ๑ วัน” ท่านตอบว่า “จะไปเชื่ออะไรเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ ผีสางนางไม้เทวดามันไม่มีตัว” ผมก็หยุดพูดทันทีในเมื่อท่านไม่เชื่อก็แล้วไป ต่อมาอีก ๔ วัน ผู้ว่าฯถูกยิงตาย อย่างนี้ที่เขาเรียกว่า “ไม่เห็นตัวไม่เชื่ออย่าลบหลู่” แต่สำหรับผมมีความเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ผมก็เล่าให้ฟังถ้าเชื่อก็เป็นผลดี เรายกมือไหว้ท่าน เราก็ไม่เห็นว่าท่านยกมือตอบรับหรือไม่ มีครั้งหนึ่งมีการเข้าทรงพ่อปู่เมืองยโสธร บอกว่า “ข้าน้อยจะไม่ถวายเหล้า หัวหมู ข้าน้อยขอถวายเฉพาะข้าวกับกล้วยจะพอใจหรือไม่” คนทรงตอบว่า “พ่อไม่ได้เรียกร้องจากพวกท่าน พวกท่านให้พ่อเอง ท่านอยากให้อะไรก็ให้ตามใจท่าน จะเป็นกล้วยหรือข้าวปั้นเดียวก็ได้ แต่ถ้าบอกว่าจะให้พ่อแล้วก็ต้องให้ถ้าไม่ให้ลูกศิษย์พ่อจะไปทำร้ายท่าน” อันนี้เราก็มาสังเกตเวลาผู้เฒ่าพาเลี้ยงบ้านเลี้ยงเมืองเสร็จแล้วก็จะบอกว่า “เอาไปเด้อ หัวหมู หัวไก่ใส่ใบตองไว้ให้ลูกแหล่งท่านให้อิ่มหนำสำราญ” ดังนั้นคนแก่คงจะเชื่อตามนั้น ไหว้ปู่ตาก็เหมือนกันดึงคางไก่ออกมาดู มีตับบ้าง หูหมูบ้างเอาใส่ใบตองถวายท่าน ท่านจะได้กิน อันนี้เป็นธรรมเนียมประเพณี บางคนบอกว่าสกปรกซึ่งสกปรกหรือไม่ เป็นเรื่องของท่าน สมัยก่อนแห่ต้นเทียน ถ้าไม่อยากให้ฝนตกให้ลูกสาวคนสุดท้องไปปลูกตะไคร้โดยเอาปลายหัวหรือรากชี้ขึ้นฟ้า บางครั้งก็ได้ผล บางครั้งก็ไม่ได้ผล ถ้าจะให้ได้ผลจริง ๆต้องเอามือยกใส่หัวแล้วบอกว่าฝนอย่าตก อย่าแดด อันนี้เป็นเรื่องจิตวิทยาหรือวิญญาณศาสตร์ ครับผมก็ได้สนับสนุนส่งเสริมมาเรื่อย ๆ ก็ขอจบรอบสอง ไว้เพียงเท่านี้ก่อน

อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า
ครับวันนี้ก็มีทั้งเรื่องจิตวิทยาและภูมิปัญญา ก็ให้ผู้ฟังไว้เป็นแง่คิด นักศึกษาได้ฟังไว้ ซึ่งคุณพ่อบำเพ็ญก็ได้กล่าวไปแล้วนั้น คราวนี้กลับมาทางด้านวิชาการที่ได้รับการบันทึกไว้บ้าง จดไว้บ้าง ก็คือท่านสุวิชช คูณผล จะได้เล่าเรื่องวิวัฒนาการ วิกฤติการณ์ รวมทั้งการส่งเสริม ว่าทำไมอุบลราชธานีถึงโด่งดัง ในชุดที่สองต่อ ซึ่งเมื่อช่วงแรกก็ได้ทิ้งท้ายไว้ เชิญคุณพ่อสุวิชช ครับ

คุณสุวิชช คูณผล "..........ผมไปจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ซื้อน้ำผึ้งมา คิดว่าเป็นน้ำผึ้งที่ดีที่สุดอ่านบนขวดน้ำผึ้ง ปรากฏว่า “จากอำเภอน้ำยืน ภูจองนายอย เป็นน้ำผึ้งที่ดีเยี่ยมที่สุดในประเทศไทย” ผมแทบอยากจะโยนทิ้งคนอุบลฯ ไม่รู้จักอะไร เพราะรู้สึกละอายที่เป็นคนอุบลฯ แท้ ๆ ไม่รู้เลยว่าบ้านเมืองของตัวเองมีของดีอยู่แล้ว.........."

คุณสุวิชช คูณผล
ขอบคุณครับท่านผู้นำอภิปราย ฟังจากพ่อบำเพ็ญพูดแล้วท่านที่เป็นชาวอุบลฯมีความรู้สึกอย่างไร เราจะเห็นว่าผู้นำอภิปรายบอกว่ามี ๓ ผ ส คือ ผู้สร้าง ผู้ส่งเสริม ผู้สนับสนุน ทีนี้ถ้าเราจะแยกประเด็นให้ออกว่า ผู้ที่บริหารจัดการเกี่ยวกับเทียนพรรษาในบ้านเรานับร้อยปีมานี้ ประกอบด้วยฝ่ายไหนบ้าง ฝ่ายแรก คือ ช่างคุ้มวัดและช่างเทียน กับผู้อุปถัมภ์เทียนนั้น ๆ ฝ่ายที่ ๒ คือ ผู้นำเทียนเข้าสู่การประกวดแข่งขันและแห่ขบวน คือเทศบาล จังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายที่ ๓ คือ ภาคส่วนทุกภาคที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและผู้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวต้องประกอบด้วย ๓ ฝ่าย “ สามก้อนเซ่าหม้อข้าวบ่อล้ม” ทำไมถึงเรียกอย่างนั้น ก้อนแรกคือชาวอุบลฯ ซึ่งได้ร่วมแรงร่วมใจทำกันมาเป็นร้อย ๆ ปี พอผู้ว่าฯ คนเดียวมาบอกว่าไม่ให้ทำก็เลยล้มเลิกไปทำให้เหลือก้อนเซ่าสองก้อน คือคนอุบลฯ กับผู้ส่งเสริม ผู้สืบสานไม่เอาผี แล้วบอกว่าผีอยู่ตรงไหนไม่ทำ หากมีก้อนใดก้อนหนึ่งถอยก็จะทำให้การสืบสานนั้น ๆ แผ่วเบาไป

ผมขออนุญาตกล่าวถึงที่มาของเทียนพระราชทาน คือ เมื่อเรามีเทียนที่รู้จักไปทั่วโลกแล้ว ที่ประชุมศาลากลางจังหวัดพิจารณากันว่า ทางดงอู่ผึ้งของเราท่านรู้ไหมว่าดงอู่ผึ้งของเราตั้งแต่สร้างเมืองอุบลฯ ท่านรู้ไหมว่าดงอู่ผึ้งของเรานั้นอยู่ตรงไหน ตอนนี้ดงอู่ผึ้งยังมี คือที่ “ภูจองนายอย” สามเหลี่ยมมรกตดงอู่ผึ้งยังไม่หายไปไหน ผมไปจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ซื้อน้ำผึ้งมา คิดว่าเป็นน้ำผึ้งที่ดีที่สุดอ่านบนขวดน้ำผึ้ง ปรากฏว่า “จากอำเภอน้ำยืน ภูจองนายอย เป็นน้ำผึ้งที่ดีเยี่ยมที่สุดในประเทศไทย” ผมแทบอยากจะโยนทิ้งคนอุบลฯ ไม่รู้จักอะไร เพราะรู้สึกละอายที่เป็นคนอุบลฯ แท้ ๆ ไม่รู้เลยว่าบ้านเมืองของตัวเองมีของดีอยู่แล้วที่มีผึ้งดี ๆ เพราะมีดงอู่ผึ้ง ต่อมามีหนังสือถึงจังหวัดเรื่องให้อำนวยความสะดวกในการตั้งแค้มป์เพื่อขนย้ายผึ้งจาก ภูจองนายอย ที่น้ำยืน นาจะหลวยเพื่อไปทำเทียนพระราชทานให้แก่พระอารามหลวง เห็นไหมครับว่าดงอู่ผึ้งจะต้องมี ป่าที่อุดมสมบูรณ์เท่านั้นถึงจะมีผึ้ง ถ้าไม่มีผึ้งก็ไม่มีเทียนและเทียนพรรษาก็ไม่เกิดเทียนพรรษาเกิดขึ้นได้อย่างไรคนอุบลฯ เลยฉุกคิดว่ามาเอาผึ้งที่อุบลไปแล้วเอาไปพระราช ทานให้แก่พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร ทางอุบลฯ เลยทำหนังสือขอพระราชทานเทียนคืน เรียก “เทียนหลวงพระราชทาน” เพื่อเป็นเทียนชัยนำขบวนเทียนพรรษา เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ ผู้ว่าฯประมูล จันทรจำนง ปี ๒๕๒๓ ผู้ว่าฯ ใหม่คือ นายบุญช่วย ศรีสารคาม ซึ่งมีรูปในหนังสืออุบลฯ ๒๐๐ ปี และไปลงว่าเริ่มในสมัยผู้ว่าฯบุญช่วย ศรีสารคามซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนก็ขอให้ปรับแก้ดังนั้น

ค้นหาที่ท่องเที่ยว


Thailand Tourism Standard

ทัวร์แนะนำ

ผู้เข้าชม

มี 1101 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์