รับจัด Outing, Team Building, CSR, Walk Rally, สัมนานอกสถานที่, ดูงาน ในประเทศและโซนเอเชีย
สำหรับบริษัทในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง
084-160-0210 , 02-733-0683

สรุปการสัมมนาเรื่องภูมิปัญญาเทียนสู่สากล อุบลราชธานี

สารบัญ

สรุปการสัมมนาทางวิชาการเรื่องภูมิปัญญาเทียนอุบลราชธานีสู่สากล

สรุปการสัมมนาทางวิชาการเรื่องภูมิปัญญาเทียนอุบลราชธานีสู่สากล ตอน เล่าขานตำนานเทียนอุบลราชธานีสู่สากล” วันที่ 5 มิถุนายน 2550 ณ ห้องโกมุท มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

อาจารย์รัตนะ ปัญญาภา (พิธีกร) ขอแนะนำผู้ดำเนินรายการวันนี้คือ อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า ท่านเป็นหัวหน้างานกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต ๔ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเป็นบุคคลดีเด่นด้านวัฒนธรรมและด้านสื่อสารมวลชนของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้สืบสานโครงการภาพเก่าเล่าขานตำนานเมืองอุบลฯ กลุ่มฮักแพง แปงอุบลฯ และเป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุมากว่า ๓๐ ปี ขอเชิญพบกับ อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า

อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า (ผู้ดำเนินรายการ) ขอขอบคุณท่านวิทยากรและพิธีกรครับ ช่วงต่อจากนี้ไปในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากผู้ทรงคุณวุฒิและนักเรียน นักศึกษา ท่านอาจารย์ทุกท่านที่ให้ผมมาร่วมดำเนินรายการเดียวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โอกาสนี้ขอกราบเรียนเชิญท่านผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่วันนี้ กราบเรียนเชิญ ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล และกราบเรียนเชิญ ท่านสุวิชช คูณผล ครับ สำหรับประวัติขอเรียนสั้น ๆ ว่าคงจะรู้จัก ขอเรียนเพิ่มเติม ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล นั้น เป็นชาวอุบลฯ โดยกำเนิดและเป็นผู้สืบสานเรื่องราว สืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอย่างดียิ่งขอต้อนรับท่านอีกครั้งหนึ่งครับ ท่านที่สองท่านผู้นี้อดีตเป็นข้าราชการ รับราชการมานานจนถึงสูงสุดเป็นปลัดเทศบาลนครอุดรธานี และได้เกษียณอายุราชการ ท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้าน และท่านได้รับปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และมีภูมิรู้ภูมิธรรมมากมาย โอกาสนี้ขอต้อนรับท่านสุวิชช คูณผล อีกครั้งหนึ่ง

ขอเข้าสู่บรรยากาศเสวนาทางวิชาการอีกครั้งในหัวข้อ “เล่าขานตำนานเทียนอุบลราชธานีสู่สากล” ครับ ขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่าน และการถ่ายทอดเสียงวันนี้ จากสถานีวิทยุเพื่อการศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ผู้ฟังทางบ้านสามารถติดตามข่าวสารได้ ประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้ หลายท่านคงอยากจะรู้เรื่องราวโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษาว่าวิวัฒนาการหรือตำนานเทียนเป็นมาอย่างไร ในหลายแง่มุมมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำเทียน ในเรื่องการจัดงานแห่เทียนแต่ละครั้งนั้นหลายคนไม่มีส่วนร่วมแต่มีส่วนวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิ บางคนได้ฟังแต่ข่าวด้านเดียว ดังนั้น การเสวนาจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งถ้ามีการพูดคุยกัน สองทาง หรือสามทาง ทั้งผู้ฟังผู้พูดแต่ประเด็นวันนี้มีทั้งภาคเช้า ภาคบ่าย ในภาคเช้าได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ๒ ท่านคือ ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล และท่านสุวิชช คูณผล จะมาเล่าขานตำนานเทียนว่าสู่สากลอย่างไร

สำหรับประเด็นนี้จะนำเรียนผู้ฟังโดยผมตั้งไว้ ๓ ประเด็น คือ ๓ ผ อุบลฯจัดประเพณีแห่เทียนจัดได้ ๓ ผ ผ แรก คือ ผู้สร้าง การสร้างตำนาน สร้างเทียน สร้างองค์ความรู้สำคัญมาก ผมยกให้เป็น ผ ที่หนึ่ง ส่วน ผ ที่สอง ก็ถือว่าสำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ ผู้สืบสาน มันจะเป็นรุ่นต่อรุ่นสืบสานในรูปแบบกิจกรรม ในรูปแบบการถ่ายถอด โต้แย้ง ขัดแย้ง หรือมีวิธีการต่าง ๆ จะเรียกว่าผู้สืบสาน ผ สุดท้ายคือ ผู้ส่งเสริม ประเด็นสำคัญผู้ส่งเสริมเช่น คุ้มวัดต่าง ๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประชาชนทุกคนรวมทั้งหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น จังหวัด เทศบาล อบจ. อบต. เพราะฉะนั้น ๓ ผ ตรงนี้จะมาประมวลทุกอย่างให้ผู้ร่วมเสวนาทั้ง ๒ ท่านได้เล่าสู่ฟังเป็นประเด็น ๆ ไป จะขอเริ่มเปิดประเด็นไปที่ผู้อาวุโสอายุใกล้จะร้อยปีเดินเหินไปมาได้สะดวกถึงแม้จะอายุมาก วันนี้ท่านจะเข้าสู่ประเด็นว่าจากการที่เราอยากรู้เรื่องราวเล่าขานตำนานเทียนอุบลราชธานี ว่ามีความเป็นมาอย่างไรโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา สมัยก่อนเรียน ป.๒ – ป.๓ ก็เคยดูเทียน หลัง ๆ มาการจัดงานแห่เทียนเปลี่ยนไปไม่ได้ดูเลย หรือมาก็ไม่ทัน ถ่ายทอดก็ชั่วโมงเดียว มันมีปัญหาหลากหลายซึ่งก็อยู่ใน ๓ ผ ครับ ประเด็นแรกคงจะกราบเรียนเชิญท่าน ดร.บำเพ็ญ ได้กรุณาเล่าเรื่องราว หรือแง่คิดมุมมอง จุดกำเนิดในเรื่องเทียนก่อนครับ ขอเรียนเชิญ ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล ครับ

ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล" แห่เทียนเริ่มสมัยกรมหลวงสรรสิทธิประสงค์เป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระเนตร พระกรรณ มณฑลอีสาน หรือมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่นั้นมาแทนแห่บั้งไฟ ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้.........."

ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล (วิทยากร)
ขอขอบคุณผู้กำกับการบรรยายและขอบคุณผู้ที่มาฟังทุกท่าน ตำนานเทียนพรรษานี้เป็นของโบราณสืบทอดกันมาก่อนตั้งเมืองอุบล ด้วยวัฒนธรรมนี้ได้รับมาจากอาณาจักร ศรีสัตนาคนหุตล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง เวียงจันทน์ และอาณาจักรจำปาสัก ซึ่งหลวงพระบางก็ดี เวียงจันทน์ก็ดี จำปาสักก็ดี เป็นเชื้อพระวงศ์เดียวกันแต่แยกกันมาสร้างในโอกาสอันสมควรของท่านเหล่านั้น เมื่อเรานับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำอาณาจักรในสมัยแรกที่ศาสนาเข้ามาในกรุงศรีสัตนาคนหุต สมัยพระเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณี (พระเจ้าฟ้างุ้ม รับเอาศาสนาพุทธมาเป็นศาสนาประจำอาณาจักรนั้น) และสืบเนื่องมาในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นหลานของท่าน เนื่องจากพุทธศาสนาของเราบอกว่าในหน้าฝน ๓ เดือนชาวบ้านทำนา ห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์เดินไปเหยียบย่ำข้าวกล้าในนาของชาวบ้านซึ่งชาวพุทธก็ทราบกันดีอยู่แล้ว ทีนี้การที่อยู่ในวัดพระจะต้องปฏิบัติตามกิจของสงฆ์คือ สวดมนต์ ไหว้พระ สั่งสอนชาวบ้าน ศึกษาหาความรู้ในหนังสือพระไตรปิฎก และพระสูตรต่าง ๆ ในการศึกษาเล่าเรียนเหล่านี้ถ้าเป็นกลางคืนต้องใช้แสงเพื่อให้อ่านหนังสือได้ ชาวบ้านทั้งหลายในแต่ละคุ้มของวัดนั้นก็ถวายแสงสว่างแด่พระคุณท่าน

สมัยก่อนไม่ทำเทียนใหญ่แต่ทำเป็นเล่มเรียก “เทียนเวียนหัว” สมัยเป็นเด็กก็เคยเห็นผู้ใหญ่เอาด้ายเป็นเส้นมาวัดรอบศีรษะเรายาวแค่ไหนก็จะดึงออกมาเอาผึ้งอย่างดีมาฝั่นเป็นเทียน ส่วนมากจะเป็นคุณยายเอามาฝั่น บ้านเรามี ๕ คนก็จะใช้ ๕ เล่ม สั้นยาวตามศีรษะของแต่ละคน ทีนี้เมื่อได้เทียนแล้วชาวบ้านก็จะนำส่วนประกอบของเทียนคือ เครื่องอัฐบริขาร ผ้าอาบน้ำฝนและอาหารแห้งต่าง ๆ ในวันเข้าพรรษาชาวบ้านในแต่ละคุ้มวัดก็ไปถวายที่วัดนั้น แต่ละบ้านก็จะมีเทียนไปกำหนึ่ง กำหนึ่ง เป็นเส้นแล้ว นี่เป็นเริ่มต้นการที่จะถวายเทียนพรรษา

ทีนี้ในเมืองอุบลฯ มีพิธีการอันหนึ่ง คือ พอถึงเดือน ๖ มาก็ทำบุญบั้งไฟ บุญบั้งไฟนำไปแห่ที่วัดหลวง ค้างบั้งไฟก็อยู่ริมแม่น้ำมูลแล้วจุดบั้งไฟไปทางอำเภอวารินชำราบ ตอนนั้นไม่มีคนอยู่เป็นป่าก็จุดบั้งไฟตรงนั้นมีการแห่แหนกัน บุญบั้งไฟแต่ก่อนไม้ได้ห้ามกันกินเหล้าอย่างสนุกสนาน เมาบ้างไม่เมาบ้างในการแห่บั้งไฟต่างคนต่างก็ใช้เครื่องรางของขลัง ของดีทั้งหลายที่มีอยู่ประจำตัวนั่นแหละเอ้เต็มที่เลย ของก็ขึ้นแห่บั้งไฟไป แห่ไปแห่มาเกิดคึกคะนองเพราะเหล้าบ้าง ของดีที่แขวนคออยู่บ้าง ฆ่ากันตีกันเจ็บก็มีตายก็มี

ตอนนั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์มาเป็นผู้สำเร็จราชาการต่างพระเนตร พระกรรณ ประจำมณฑลอีสานหรือมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ ประทับที่อุบลราชธานีก็มาเห็นบุญบั้งไฟท่านเห็นกินเหล้าแล้วตีกัน ท่านก็เลยบอกว่าแบบนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา มันเปลี่ยนไปแล้วกินเหล้าในวัดไม่ได้ ท่านเลยสั่งให้เลิกการทำบุญบั้งไฟในเมืองอุบลฯ ทีนี้ถ้าเลิกแล้วปีหนึ่งประชาชนจะมีความสนุกสนานร่าเริงอย่างไร จะมีการบุญการศีลอะไรให้คนมารวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ท่านเลยบอกว่าให้แห่เทียนโดยให้แต่ละคุ้มวัดทำเทียนเป็นต้นแห่ไปถวายวัด

ในครั้งสมัยแรก ๆ ประชาชนก็ไม่รู้ว่าจะทำเป็นต้นเทียนใหญ่ได้อย่างไร ก็ไปเอาไม้ไผ่มาเหลา ซื้อน้ำมันมา ๑ ปิ๊บ แล้วเหลาไม้ไผ่ทำเป็นตีนคล้ายตีนก่องข้าว ก็ตั้งบนปิ๊บน้ำมันแล้วเอาเทียนไขที่ซื้อมา มามัดรวมกันเรียงแถวให้รอบต้นเทียนแล้วเอากระดาษตักโก กระดาษทอง มาตัดเป็นแข่วหมากแหย่ง และเอ้ บนปลายเทียนใช้ฉัตรกระดาษนั่นแหละแห่ไป แล้วมีนางงามประจำคุ้มเป็นผู้คอยควบคุมไม่ให้เทียนล้ม นั่งบนเกวียนแล้วแห่เอาไปรวมที่ศาลากลางจังหวัดก่อนให้เสด็จในกรมได้ทอดพระเนตรก่อน ท่านว่าดีแล้วจึงปล่อยขบวนแห่ต้นเทียนไปรอบ ๆ เมือง เดิมแห่จากหน้าวัดศรีอุบลรัตนารามไปถึงถนนอุปราชก็วกไปตลาดเก่าทางท่าตลาดแล้วจึงขึ้นมาทางไปรษณีย์ แล้วจึงสลายไปตามวัดต่าง ๆ

ต่อมาบอกว่าแห่อย่างนั้นไม่ถูกทางเลยแห่ใหม่ วิวัฒนาการทำเทียน เมื่อทำเป็นเทียนมันรอบไม้ไผ่ ต่อมามีผู้คิดทำหล่อเป็นแท่ง สมัยเดิมเป็นแท่งเฉย ๆ ไม่มีการแกะสลักแต่ผมชอบใจต้นเทียนของทหารเขาทำเป็น แปดเหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมเขาทำเป็นตัวผึ้งโดยเอาดิ้นมาทำเป็นตัวผึ้ง เอากระดาษเอาผ้าบาง ๆ ไปทำเป็นปีกมันแล้วเอาลวดขด ลวดไหวเสียบท้องมันแล้วไปเสียบใส่ต้นเทียน เวลาลมพัดมาผึ้งก็จะไหว ผมชอบใจไม่ลืมเลย แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครที่นำเอาตัวผึ้งไปอ้อมต้นเทียน ไม่มีใครทำซึ่งปัจจุบันจะทำก็ได้

ทีนี้เมื่อประดับเช่นนั้นแล้ว ต้นเทียนเอ้โดยไม่แตะต้องตัวเทียนเลย มายุคหลังก็มาคิดใหม่ว่าต้นเทียนเฉย ๆ มันเกลี้ยงไปมันไม่สวยก็เลยมาคิดแกะสลักเป็นลวดลายไทย และมีการติดพิมพ์ต้นเทียนเอาผึ้งสีเหลืองที่เป็นเทียนอย่างดีมาพิมพ์ลาย แล้วติดต้นเทียนมันก็เป็นแบบติดพิมพ์ อย่างท่าน อาจารย์ประดับ ก้อนแก้ว ท่านทราบดีเพราะท่านเป็นช่างผมไม่ใช่ช่างแต่ผมเป็นคนดูท่านทำเป็นต้นผมก็ดู ทำเป็นแกะสลักผมก็ดู ท่านติดพิมพ์ผมก็ดู อยากได้หินอ่อนที่แกะสลักเป็นลายเราอยากทำก็ทำเองได้ ในสมัยก่อน ต้นเทียนก็ประดับเฉพาะเทียนเท่านั้นไม่ได้ประดับรถที่ประดิษฐานต้นเทียน ต่อมามีการประดิษฐ์ใหม่ต้นเทียนก็ทำเป็นรูปนาค ครุฑ นก เจ้าแผ่นดินและอื่นๆ ไป ๆ มา ๆ ไม่รู้ว่าเทียนอยู่ตรงไหนใจผมจริง ๆ ก็รู้ว่าเทียนอยู่ตรงกลางแต่ส่วนประกอบเยอะแยะเหลือเกินมีทั้งนกทั้งหนู อันนี้เป็นวิชาของช่าง อาจารย์ประดับ กับอาจารย์อุตส่าห์คงจะได้กล่าวต่อไป

วัฒนาการของเทียนก็เป็นอย่างที่ผมเล่ามาเท่าที่ผมทราบนะ แต่ผมได้ได้ทำต้นเทียนหรอกทำแต่เทียนเวียนหัวไปถวายมอบกายถวายชีวิตบูชาพระรัตนตรัยโดยใช้เทียนเวียนหัวยังทำอยู่ ทีนี้นอกจากการแห่เทียนของจังหวัดเราแล้วผมย้ายไปอยู่หลายจังหวัด โคราชก็ไปอยู่แต่ก่อนโคราชไม่มีแห่เทียนพรรษาเขาพึ่งมาทำทีหลังเรา เขาจะแข่งอุบลฯ ให้ได้ สำหรับจังหวัดขอนแก่นที่ผมไปอยู่ ๕ ปีก็ไม่มีแห่เทียนแม้จังหวัดยโสธรก็ไม่มีแห่เทียน ผมจึงไปบอกว่ายโสธรเป็นเมืองใหญ่ทำไมมีการแห่เทียน เขาจึงทำการแห่เทียน แห่เทียนโคราชกำลังแข่งขันกับเรา แต่ว่าผมก็ส่งเสริมยกย่องว่าบ้านเราเลิศกว่าใครในประเทศนี้ อันนี้เป็นตำนานและความรู้ที่ได้เฝ้าสังเกตตั้งแต่เด็กจนอายุ ๘๓ ปี ก็ได้เห็นได้รู้มาอย่างนี้ ก็ขอบรรยายให้ท่านผู้ฟังและนักศึกษาได้ทราบความเป็นมาของเทียนพรรษานี้ แห่เทียนเริ่มต้นสมัยไหน? แห่เทียนเริ่มสมัยกรมหลวงสรรสิทธิประสงค์เป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระเนตร พระกรรณ มณฑลอีสาน หรือมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่นั้นมาแทนแห่บั้งไฟ ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้ ผมก็ขอบรรยายภาคแรกเพียงเท่านี้


อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า
กราบขอคุณ คุณพ่อบำเพ็ญครับ นี่เป็นหนึ่งในร้อยหนึ่งในพันของความรู้ของคุณพ่อบำเพ็ญ ซึ่งต้องไปศึกษาจากหนังสือของท่านจากหลายเล่มที่มีผู้เรียบเรียงมากมาย ถ้าเป็นนักเรียน นักศึกษาที่เป็นผู้ใฝ่รู้ นี่เป็นตำนานย่อ ๆ เท่านั้นในยกแรก ยังมีอีกหลายส่วนต้องขอขอบคุณ คุณพ่อบำเพ็ญ ในส่วนนี้ก่อนนะครับ ต่อไปก็คงจะเป็นบทบาทหนึ่งซึ่งผู้รู้ที่จะต้องนำเสนอในหลายแง่มุมในเรื่องของวิวัฒนาการตำนานเทียนสู่สากลได้อย่างไร เหมือนกับบั้งไฟยโสธรหรือไม่ หรือมีส่วนไหนบ้างที่ส่งเสริมให้เทียนของเราก้าวหน้ามาถึงขนาดนี้ ซึ่งจะว่าเป็นบทๆ ตอน ๆ ไป รายละเอียดก็คงกราบเรียนท่านสุวิชช คูณผล ขอเรียนเชิญ

คุณสุวิชช คูณผล"..........ผมจะขอเรียนคำว่า “วิกฤติการณ์” คืออะไร มีไหมที่เทียนพรรษาเจอวิกฤติการณ์ เทียนพรรษาได้กำเนิดขึ้นเมื่อ ปี ๒๔๔๔ ปีที่มีการจัดงานบั้งไฟที่วัดหลวงแล้วมีการตีกันมีคนตาย.........."

คุณสุวิชช คูณผล (วิทยากร)
ขอคุณครับ กราบเรียนคุณพ่อบำเพ็ญผู้อาวุโส และท่านผู้ฟังซึ่งล้วนแต่เป็นแกนบ้านแกนเมืองของเมืองอุบลฯ ผมรู้สึกสบายใจและมีความสุขครับที่ได้มาเจอหน้าท่านที่เคารพทั้งหลาย เพราะห้องประชุมโกมุทแห่งนี้เป็นสถานที่อีกที่หนึ่งซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเทียนพรรษา หัวข้อการพูดที่อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า ได้ กล่าวมานั้น ผู้สร้างผู้เสริม ผู้สนับสนุน ก็คือ ผ ส เรื่องที่ผมจะนำเรียนในที่ประชุมแห่งนี้ ผมได้เรียนปรึกษาพ่อบำเพ็ญแล้ว คือพ่อบำเพ็ญ ผมเรียนว่าเมืองอุบลฯ ต้องมีวิ่งผลัดนักปราชญ์อย่างไร คือพ่อบำเพ็ญ ๘๓ ปี ผม ๖๙ ปี อาจารย์ปัญญา ๕๐ กว่า นี่แหละ ๓ นักวิ่งผลัดที่นั่งอยู่ทั้งหลายก็นักวิ่งผลัดทั้งสิ้น คือท่านจะเห็นว่าอุบลฯ เมืองนักปราชญ์คือ ปราชญ์อายุ ๘๐-๙๐ เยอะ แล้วลดหลั่นลงมาเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีการวิ่งผลัดต่อไปจะไม่เหลือ เราไม่ต้องอายว่าเป็นปราชญ์หรือไม่เป็นปราชญ์ เราจะต้องช่วยกันเพราะปราชญ์คือผู้รู้ซึ่งคนที่มานั่งสัมมนานี้ก็คือปราชญ์ เพราะฉะนั้นความเป็นปราชญ์เมืองอุบลฯต้องคงไว้ตลอดไป สืบฮอยตาวาฮอยปู่นะครับ ต้นไม้บ่ฮ่อนหล่นไกลกก ฝนตกมาหน่อแซมแทนต้น หน่อแซมขึ้นมาหลายหน่อก็กลายเป็นกอ กอก็ช่วยกันกู้ช่วยกันทำ เพราะฉะนั้นผมเรียนพ่อบำเพ็ญผู้อาวุโสแล้ว ผมตามท่านมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ ตั้งแต่ ททท. ยังไม่เข้ามาสนับสนุน มีอะไรไม่รู้เกี่ยวกับงานเทียนผมก็ถามเอา แต่ก่อนก็เรียกพี่เพราะท่านห่างผมรอบหนึ่ง ก็เป็นเครือญาติสายกันมา ต่อมาเขาเรียกท่านว่าพ่อผมก็เลยเรียกพ่อบำเพ็ญด้วย ผมเรียนท่านว่า ท่านเป็นนักกฎหมายคนสำคัญของเมืองอุบลฯเป็นตัวแทนระดับชั้นฎีกา ตอนเรียนกฎหมายเราคงรู้คณะนิติศาสตร์มีวิแพ่ง กับวิอาญา คือวิธีพิจารณาความแพ่ง และวิธีพิจารณาความอาญา

แต่วันนี้ผมจะพูด ๔ วิแรก คือ วิวัฒนาการเทียนพรรษา วิสองคือ วิกฤติการณ์เทียนพรรษา มีวิวัฒนาการแล้วต้องมีวิกฤติการณ์ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงอันสำคัญว่าจะทางดีหรือทางร้าย เมืองอุบลฯเราเจอวิกฤติการณ์เทียนพรรษา ๒ – ๓ ครั้ง เดี๋ยวผมจะเรียนให้ฟัง วิที่ ๓ คือ วิพากษ์วิจารณ์ นักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเทียนพรรษาว่าอย่างไร สื่อมวลชน ชาวบ้านวิจารณ์เทียนพรรษาว่าอย่างไรบ้าง วิสุดท้ายคือวิเทศสัมพันธ์ อาจารย์ดร.เสรี สมชอบ ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ฯมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งมหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องมีรองวิเทศสัมพันธ์ฯคือรองที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทีนี้เทียนพรรษาของเรานี้เข้ามาสัมพันธ์กับเราตั้งแต่ ปี ๒๕๔๕,๒๕๔๙,๒๕๕๐ ผมจะสรุปตอนท้ายว่ามันทำให้เทียนพรรษาก้าวหน้ารุ่งเรืองหรือว่าจะทำให้กลายพันธุ์เป็นอย่างอื่น ๔ หัวข้อ

ในขณะเดียวกันผมเป็นลูกหลานพ่อบำเพ็ญผมก็จะเสริมที่ท่านได้พูด ท่านเป็นหมอลำ ผมจะเป็นหมอสอยในประเด็นที่ท่านพูดไปเมื่อสักครู่บอกว่าเป็นผู้สร้างเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาประจำชาติเรานี้มันเกี่ยวอย่างไรกับเทียนพรรษาท่านก็ได้พูดไปแล้ว ผมขอเสริมนิดหนึ่ง คงจะจำกันได้ในรูปชาดกจะมีรูปช้างเอาน้ำผึ้งมาถวาย มีรูปลิงถวายรวงผึ้ง ผึ้งนั่นแหละคือความสำคัญครั้งเก่าก่อนสมัยพุทธกาล เมื่อมีผึ้งแล้วคั้นเอาน้ำแล้ว ก็เอารวงผึ้งมาทำเปียงผึ้ง ภาษากลางเรียกว่า “งบผึ้ง” อะไรที่เป็นกลม ๆ แล้วมีความนูนเหมือนน้ำอ้อย ภาคกลางเรียกว่า “งบอ้อย” เราเรียก “เปียงอ้อย” อันนี้ก็คือเปียงผึ้ง เพราะฉะนั้นการมีเทียนพรรษาได้นั้นก็ต้องมีผึ้ง อันที่ ๒ พระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกัน อันที่ ๓ ก็คือความเป็นตระกูลช่าง ถ้ามีผึ้งมีศาสนาไม่มีช่างก็ทำไม่ได้ เมื่อกี้พ่อบำเพ็ญ พูดถึง ๓ ผ อันนี้ พ ผ ป ปราชญ์ คำว่าปราชญ์มีส่วนสำคัญเกี่ยวข้องอย่างไรกับเทียนพรรษาจะมีความเจริญรุ่งเรือง ร้อยกว่าปีที่มีมานี้ ในเมื่อเราเคารพนับถือพุทธศาสนาแล้วก็เจริญรอยตาม อาจารย์ประดับได้พูดไว้ว่าคนไทยเรานี้นับถือได้ทุกศาสนา พราหมณ์ ฮินดู ซึ่งนับถือเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็นับถือได้ นับถือเหตุผลตามพระรัตนตรัยก็นับถือได้ เพราะฉะนั้นที่พ่อบำเพ็ญพูดว่า บุญบั้งไฟเปลี่ยนมาเป็นเทียนพรรษา นั้นคือ ฮีต ๑๒ คอง ๑๔ ที่มีความเกี่ยวข้องกับบ้านเรา ที่เกี่ยวข้องก็เพราะว่า บุญบั้งไฟบูชาแถนอยู่บนฟ้า แต่เทียนพรรษาบูชาพระรัตนตรัยในวัด ในโบสถ์จึงเกี่ยวข้องตรงนี้

ประเด็นที่พ่อบำเพ็ญพูดว่าท่านไม่ใช่ช่างแต่ผมว่าท่านนั่นแหละเป็นผู้กำหนดแนวทาง ทิศทางแบบแผนความเป็นเมืองอุบลฯ ความเป็นปราชญ์ทั้งหลายทั้งปวง อันไหนดีงาม อันไหนเหมาะสมก็ต้องอาศัยผู้หลักผู้ใหญ่ของเรา ประเด็นของเราที่พูดกันว่าคือ ผู้สร้างเทียนคือใคร และวิวัฒนาการเป็นมาอย่างไรผมในฐานะที่เกิดทีหลังแต่เกี่ยวข้องกันเทียนพรรษามาตั้งแต่ยังไม่เกิดหมายความว่าอย่างไร อันนี้ต้องถามพี่ประดับ พี่ประดับเล่าให้ผมฟังว่า ปี ๒๔๗๓ ท่านก็เพิ่งเกิด แต่พอเข้าโรงเรียนไปเจอครูใหญ่และครูประจำชั้นท่านทำเทียนพรรษา ป. ๑ – ป. ๔ ครูใหญ่ชื่อนายสวน คูณผล เป็นครูใหญ่โรงเรียนอุบลวิทยาคม มีภรรยาชื่อนางสงวนศักดิ์ คูณผล ชื่อเดิมชื่อสงวน จอมพลแปลกบอกว่าชื่อผู้หญิงให้มี ๔ พยางค์ ก็เลยเติม “ศักดิ์” เข้าไป คือพ่อผมทำเทียนพรรษาตั้งแต่ปี ๒๔๗๓ ถึง ๒๔๘๔ – ๒๔๙๔ จนวันตาย

ผมเกิดมาก็อยู่กับเทียนแต่ทำเทียนไม่เป็น ผมบวชปี ๒๕๐๖ พี่ประดับบอกว่าลูกครูใหญ่สวนมาแล้วให้แกทำแต่ผมก็ทำไม่เป็น อยู่วาริน ฯ ก็อยู่กับพี่อุส่าห์ จันทรวิจิตร ก็ไม่เคยทำ แต่ถึงแม้ไม่เคยทำก็ได้ศึกษาเรียนรู้จากพ่อเกิดมาก็เห็นเทียนเลย พอมาทำงานเขาให้ทำหน้าที่ปลัดเทศบาล ทำให้เกี่ยวข้องกับเทียนตั้งแต่เริ่มต้น แต่ก่อนไม่มีจังหวัดหรือหน่วยงานอื่นมาเกี่ยวข้องเทศบาลทำเองหมด ผมกับพี่อุส่าห์ ก็ต่อสู้กันมา เพราะฉะนั้นช่วงชีวิตของผมที่อยู่วาริน ฯ ๑๐ กว่าปี อยู่เมืองอุบลฯ ๖ – ๗ ปี ทุกเข้าพรรษาไม่ว่าผมจะย้ายไปอยู่ที่ใดก็ตามผมจะต้องเอาเทียนพรรษาของอุบลฯ ไปเผยแพร่ทุกหนแห่ง ชีวิตผมจึงคลุกคลีมาตลอดกับเทียนพรรษา จนถึงปัจจุบันเกษียณแล้วก็ต้องเป็นกรรมการมาตลอด เช่นเดียวกับพ่อบำเพ็ญ พี่ประดับ พี่อุส่าห์ ดังนั้นผมก็จะเอาแง่มุมต่าง ๆ เหล่านี้มานำเรียนเสนอท่านที่เคารพทั้งหลาย และอยากให้ช่วยจรรโลงต่อไปมันจะเป็นวิกฤติการณ์แบบใดอย่างไรภาคบ่ายก็จะมีอีก เพราะฉะนั้นผมจะขออนุญาตที่ว่าผมไม่ได้มีความรู้ขนาดนั้น ภาคบ่ายคงเล่าให้ฟังว่าทีแรกเป็นอย่างไรแล้วมาเกี่ยวข้องกับกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ จากเทียนมัดรวมมาเป็นแท่งเทียนเหมือนที่เทตอนเช้าอย่างไรและมาติดพิมพ์อย่างไร

จากติดพิมพ์ปี ๒๕๐๒ เป็นครั้งแรกที่อาจารย์คำหมา แสงงาม ที่เป็นลูกศิษย์พระครูวิโรจน์รัตโนบลได้เอาต้นเทียนมาแข่งกับเมืองอุบลฯ แต่ก่อนมีแต่เทียนเมืองอุบลฯแข่งกันเป็นประเภทติดพิมพ์ยังไม่มีแกะสลัก ช่างคำหมา เป็นช่างแกะสลักประตูหน้าต่างโบสถ์ท่านได้ไปสร้างโบสถ์ที่วัดกุดเป่ง ปี ๒๕๐๒ ทำมาแล้วกรรมการสมัยนั้นมีแต่ผู้ว่าฯ หัวหน้าศาล อัยการ ตำรวจ ท่านเห็นงามเด่นแปลกกว่าใครเทียนจึงได้ที่ ๑ ปีหลังมาคนอุบลฯก็เลยบอกว่าอย่าให้คนวารินฯมาแข่งเอาที่ ๑ พอกลับไปที่วัดกุดเป่งก็ดีใจว่าเทียนต่างอำเภอก็ได้ที่ ๑ และมีชาวบ้านไปถามว่า “ครูหมาดีใจไหมที่เทียนชนะเลิศได้ที่ ๑ พอส่งต้นแรกก็ได้ที่ ๑ เลย” ครูหมาหัวเราะแล้วบอกว่า “นี่ขนาดหมาทำนะยังได้ที่ ๑ ถ้าคนทำจะขนาดไหน” นี่เป็นวิวัฒนาการ ได้แกะสลักต้นเทียนมาแข่งขัน ปรากฏว่าได้รับรางวัลชนะเลิศ เนื่องจากว่าในจังหวัดมีแต่แบบติดพิมพ์

ผมจะขอเรียนคำว่า “วิกฤติการณ์” คืออะไร มีไหมที่เทียนพรรษาเจอวิกฤติการณ์ เทียนพรรษาได้กำเนิดขึ้นเมื่อ ปี ๒๔๔๔ ปีที่มีการจัดงานบั้งไฟที่วัดหลวงแล้วมีการตีกันมีคนตาย ตายเพราะว่าตีกัน และตายเพราะบั้งไฟชนตายเหมือนที่ยโสธรและหลายจังหวัดที่ลงข่าวหนังสือพิมพ์ ที่บอกว่ากรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เปลี่ยน ก็คือเปลี่ยนจากบุญเดือน ๖ คือบุญบั้งไฟ เมื่องดงานบุญก็ผิดหลักการปกครอง ผิดหลักนโยบาย ท่าน รศ.ประจักษ์ จำได้ไหมครับที่มีการทำบุญบั้งไฟที่บ้านชีทวนอำเภอเขื่องใน ปีใดไม่มีตีกันมันเสียดายแป้งข้าวหม่า ข้าวหม่าคือ “ข้าวหมัก” หมักให้ตีกันถึงจะทำบุญเสร็จ ถ้าไม่ตีกันเสียดายแป้งข้าวหม่า ตีกันทุกปี ท่านได้เปลี่ยนจากศาสนาฮินดูมาเป็นพุทธศาสนา แล้วเปลี่ยนจากตีกันมาน้อมนำพุทธธรรม น้อมนำธรรมะของพุทธศาสนามาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของชาวบ้าน ที่มีชาวบ้านนำเทียนพรรษามาถวาย ที่ได้กล่าวมาแล้วเพราะพระพุทธเจ้าเคยมีดำรัสว่า “ พระอนิรุท มีปัญญาเฉียบแหลมมีปัญญาดี เพราะการถวายเทียนคนอุบลฯเราเป็นเมืองนักปราชญ์ ท่าน รศ.ประจักษ์เคยเขียนไว้ว่า ก็ต้องเฉียบแหลม มีปัญญาดีเช่นกัน ดังนั้นจะเป็นกุศลผลบุญที่พวกเราถวายเทียนพรรษา คนอุบลฯเชื่อมั่นในเทียนพรรษาแน่นอนที่สุด

ที่พ่อบำเพ็ญกล่าวถึงเมืองโคราช เราคงคิดออกว่ากรมหลวงสรรพสิทธิฯ เป็นข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณท่านเคยมาอยู่โคราชก่อนครับ ตอนกรมหลวงพิชิตปรีชากรมาอยู่อุบลฯ และกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมไปอยู่เมืองอาจารย์ทินกร คือเมืองอุดรฯ ท่านนี่แหละเป็นคนส่งกำลังบำรุงกรมหลวงสรรพสิทธิฯ รศ. ๑๑๒ เกิดวิกฤติการณ์เสียดินแดนพ.ศ.๒๔๓๖ กรมหลวงสรรพสิทธิฯ ท่านอยู่ที่โคราชและอุบลฯแล้วเห็น เคยทำเทียนถวายและมีความฉลาด เห็นว่าคนอีสานทำเทียนเล่มเท่าดินสอ มันสว่างแป๊บเดียว ดังนั้นต้องทำเล่มใหญ่ถึงจะอยู่ได้ตลอดพรรษา วิธีการหล่อเทียนใหญ่ดังเมื่อเช้านี้ เรียกว่า “หุงเทียน” แล้วเอาเปียงผึ้งละลายลงไป เมื่อละลายแล้วไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวยทุกคนก็เท่าเทียมกัน กรมหลวงสรรพสิทธิฯท่านเป็นนักปกครองชั้นเยี่ยม ท่านใช้คำว่า “หลอมเทียน หลอมบุญ หลอมใจ” ทำไมถึงพูดเช่นนั้น เพราะเป็นการลดช่องว่างระหว่างชนชั้น ผู้ดี ยากจน รวยร้อยล้านพันล้าน กับคนที่มีเงินเพียง ๕ บาท ๓ บาทได้บุญเท่ากันเนื่องจากว่าต่างคนต่างนำเทียนมาต้มมาหลอมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพราะ เปียงผึ้งที่นำลงไปในกระทะนั้นมันหลอมเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว และเทลงในพิมพ์ก็จะเป็นต้นเทียนต้นเดียวกัน ไม่มีแบ่งว่าของใครมากใครน้อย ทำให้ลดชนชั้นวรรณะทางสังคม และนำเทียนไปถวายวัด งานเทียนพรรษาเป็นจิตวิญญาณของชาวอุบลฯ และช่วยกันทำ ตั้งแต่คนแก่จนถึงเด็ก ๆ ต้องรู้จักเทียนพรรษา สมกับเป็นเมืองนักปราชญ์


ทีนี้ทำไมเทียนพรรษาถึงมีเฉพาะโคราชและอุบลราชธานีที่ดัง ที่อื่นไม่มี ก็เพราะท่านหัดให้มีการหลอมเทียน หลอมใจ หลอมบุญ กรมหลวงสรรพสิทธิ์ฯ ท่านเคยปกครองที่เมืองนครราชสีมาก่อนที่จะมาปกครองเมืองอุบลราชธานีนั่นเอง มาเข้าประเด็นปี ๒๕๒๐ ที่ ททท. มาสนับสนุน ทำไมเมืองโคราชถึงแย่งชิงต้นเทียนจากเมืองอุบลฯ เพราะการท่องเที่ยวไปได้ทั่วโลก การท่องเที่ยวเป็นการขายที่ดีที่สุดในเชิงการค้าเพราะขายแล้วไม่ต้องเอาสินค้าไป มีสินค้าอยู่ที่บ้าน นักท่องเที่ยวก็มาเที่ยวเอง อันนี้เป็นสิ่งดีที่สุด ในปี ๒๕๒๐ ผมมีเข้าประชุมร่วม ททท. มาบอกว่าให้เหลือจังหวัดเดียว ประเพณีในเมืองไทยให้มีแค่จังหวัดเดียวจะเป็นแข่งเรือที่จังหวัดพิจิตร บุญบั้งไฟที่ยโสธร เทียนพรรษา เมื่อลงคะแนนแล้วอุบลฯ ได้เท่ากับโคราช ผมก็เลยเสนอก่อนลงประชามติชี้ขาดขอให้เหตุผลก็คือ ที่ผมพูด ผ พ ป ไปนั่นแหละ คนอุบลฯรักเทียนพรรษาอย่างไร ประธานที่ประชุมซึ่งเป็นคนโคราช เป็น ผู้อำนวยการ ททท. พันเอกสมชาย หิรัญกิจ ท่านชี้ขาดให้อุบลฯ เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการส่งเทียนพรรษาไปสู่นานาชาติ เพราะท่านบอกว่าเทียนพรรษานั่นแหละคือ ภูมิปัญญาของชาวบ้าน ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ส่วนโคราชมีอิสระในการที่จะเอารูปอะไรขึ้นไปก็ได้ อาจารย์ทินกรบอกว่าเอารูปน้าชาติ ขี่ชอปเปอร์ รูปนักการเมือง รูปหลวงปู่คูณ รูปอะไรก็เอาลงไปหมด แต่เมืองอุบลฯ เรานักปราชญ์รุ่นเก่า กำหนดไว้เลยว่า เทียนพรรษาที่อยู่บนรถต้องมีอะไรบ้าง จึงเอาขึ้นไปได้ ไม่ใช่รูปไหนก็เอาขึ้นไปได้ ประการสำคัญสุดคือ ต้องสอดแทรกและให้ปรากฏซึ่งพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อนำมาปฏิบัติเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ดังนั้นจึงเห็นว่าต้นเทียนอุบลฯ มีกติกาบอกไว้ไม่ได้แพร่หลายจะทำอะไรก็ได้เหมือนโคราช ที่เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ผมจะเอาไว้แค่นี้ก่อนนะครับ วิกฤติการณ์ยังไม่พูดจะพูดคนละ ๕นาที ๑๐ นาที เปลี่ยนกันไปมา ให้คุณพ่อว่าไปผมจะสอยตาม

อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า
ครับช่วงแรกก็ ๓๐ นาที ฟังดี ๆ ก็จะได้ความรู้ ก็อาจขออภัยช่างเทียน และผู้อาวุโสหลายท่านซึ่งอยากจะมีส่วนร่วมอาจจะทิ้งท้ายไว้ ตอนท้าย ๑๐ นาทีเพื่อแลกเปลี่ยน เพราะภาคบ่ายยังมี อันนั้นเจาะแก่นการทำเทียน วิวัฒนาการของเทียน เจอปัญหาอุปสรรคอะไร และต้นทุนเป็นอย่างไร ใช้ขี้ผึ้งจากไหน จะเป็นเทคนิควิธีการคือว่าแง่มุมศิลปะ ส่วนภาคเช้านั้นจะเป็นเรื่องของวิวัฒนาการ วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ สิ่งดีงาม ท่านผู้อาวุโสจะได้เล่าต่อในช่วงที่สองเชิญ คุณพ่อบำเพ็ญ ครับผม ความประทับใจในเรื่องของแง่มุมที่ไม่ได้เป็นช่าง แต่ได้สนับสนุนประคับประคองมาโดยตลอด ขอเรียนเชิญท่าน ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล ครับผม

ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล "..........ภายหลังท่านบอกว่า ปีนี้เราได้รับเทียนพระราชทานเป็นเล่มแรกถวายวัดสุปัฏนารามฯให้ถือเสมือนว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเมืองอุบลฯ ต้องให้เจ้าเมืองเป็นผู้มานำเสด็จหากมีอันตรายใด ๆ เจ้าเมืองต้องรับแทน.........."

ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล
เรียนท่านอาจารย์ ผู้ดำเนินการบรรยาย และขอแสดงความเคารพอีกครั้งต่อท่านผู้ฟัง สำหรับเรื่องการส่งเสริมการแห่เทียนพรรษา ในปีที่ได้รับเทียนพรรษาพระราชทานปีแรก รู้สึกจะเป็นปี ๒๕๒๒ ขณะนั้นผมเป็นอัยการอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ผมได้พาครอบครัวไปดูเทียนที่ ทุ่งศรีเมืองและได้พบกับคุณประมูล จันทรจำนง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้น ท่านได้พบแล้วพูดว่า “คุณบำเพ็ญ คุณต้องมาพาลูกหลานแห่เทียนนะ” ผมก็บอกว่าจะแห่อย่างไรผมไม่ใช่ข้าราชการเมืองอุบลฯ ผมข้าราชการเมืองโคราช “เมืองไหนก็ช่างเมืองอุบลฯ เป็นเมืองของคุณพรุ่งนี้ต้องแต่งตัวอย่างโก้มานะ ให้นุ่งผ้าม่วงเสื้อราชปะแตนพาลูกหลานแห่” ผมก็ตอบว่า “มาก็มาเพราะผู้ว่าฯ สั่ง

ตื่นเช้ามาผมก็มาที่ศาลาจัตุรมุข พอเลี้ยงพระเสร็จแล้วท่านเห็นแต่งตัวเหมือนที่ท่านบอก ท่านก็บอกว่า “ คุณบำเพ็ญ ผมขอเชิญท่านพาลูกหลานแห่เทียนรอบเมืองอุบลฯ นะ” ท่านก็ยกมือไหว้ผม ผมก็สาธุผมถามว่า “จะไปอย่างไรล่ะ” ท่านบอกว่า “ไม่ยากผมแต่งรถไว้แล้ว” ท่านก็แต่งรถไว้ทำเป็นดอกบัวดอกใหญ่มาก ท่านบอกว่า “คุณพ่อบำเพ็ญเชิญขึ้นไปนั่งกลางดอกบัว” ผมบอกว่าจะเอาถึงขนาดนั้นเหรอ ไม่เอาขนาดนี้ยังไงล่ะ เมืองอุบลฯเป็นเมืองใหญ่ ท่านว่ายังงี้ต้องทำให้มีศักดิ์ศรี ท่านว่าจะให้ท่านไปแห่เทียนก็แห่ได้ ตอนหลังเลยถามว่าทำไมให้ผมไปแห่ ท่านบอกว่า “คุณพ่อบำเพ็ญ เป็นเชื้อสายอุบลฯ ท่านต้องส่งเสริมรักษาประเพณีแห่เทียนเอาไว้”ผมบอกว่า “ผมไม่ใช่ช่างนะ” ท่านว่า “ไม่ใช่ช่างแต่จะต้องพาเขาแห่ ไม่ใช่ให้คุณเป็นช่าง” ท่านว่าอย่างนั้น พอขึ้นรถท่านก็ให้มีนางฟ้าตามหลังอีก ๘ คน อีกหนึ่งคันต่างหาก มีเมียศึกษาพจน์ คนหนึ่งขึ้นไปแห่ผมก็ไปแห่กับท่าน ทำไมถึงไปแห่อย่างนั้น ภายหลังท่านบอกว่า ปีนี้เราได้รับเทียนพระราชทานเป็นเล่มแรกถวายวัดสุปัฏนารามฯให้ถือเสมือนว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเมืองอุบลฯ ต้องให้เจ้าเมืองเป็นผู้มานำเสด็จหากมีอันตรายใด ๆ เจ้าเมืองต้องรับแทน ดังนั้นผมถึงให้ท่านมาแห่เทียนพาลูกหลานแห่ออกก่อนขบวนเทียนในรถมีการทำขันธ์ ๕ ขึ้นและท่านกล่าวขออาราธนาอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองมานั่ง นิมนต์พระเจ้าใหญ่อินแปงมาสถิตอยู่บนรถที่ผมนั่ง ขณะเดียวกันในรถที่ผมนั่งผมพนมมือและอธิษฐานตลอดเวลาที่แห่ เมื่อเห็นฟ้าครึ้มก็ขออย่าให้ฝนตกลูกหลานจะเปียกเขาแห่ยาก อุตส่าห์แต่งหน้าแต่งตามาขอให้ครึ้มเฉย ๆ อย่าตกก็ได้ผล ฝนก็ไม่ตก ถ้าแดดก็ขอให้ไม่แดดมาก เขาจะร้อนขออย่าให้แดดจนแห่เสร็จผมมีข้อสังเกตนั่งอยู่บนรถคนเดียวคนมาดูก็มากเขาถามว่า “ใครที่นั่งบนรถ” ต่างคนต่างถามกันผมไม่ได้พูดกับใครหรอกเพราะผมต้องนั่งอยู่บนรถ คนหนึ่งพูดว่า “พ่อผู้ว่าฯ” อีกคนว่า “ไม่ใช่หรอก พ่อผู้ว่าฯ ต้องแก่กว่านี้” “หรือจะเป็นพ่อฟ้า เอ๊าแล้วทำไมไม่มีนางฟ้านั่งเทียนด้วย ถ้าเป็นพ่อฟ้า” ผมก็นั่งเฉย ๆ เพราะรถวิ่งช้าทำให้ได้ยินอีกคนพูดว่า “ผีบ้าตั๋วสู” ถ้าเขาว่าผีบ้าก็ใช่คำที่เขาบอกเพราะว่า ผู้ว่าฯ อุปโลกน์ให้เราเป็นบ้าเราก็ขึ้นไปนั่ง อันนี้ได้คติอย่างหนึ่งว่า เรานั่งอยู่บนรถเป็นตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อจะให้อยู่เย็นเป็นสุขใครจะว่าอย่างไรเราก็อย่าไปสนใจเขาจะด่าก็ชั่งเขานี่เป็นคติสอนใจตอนเอง ทีนี้พอนั่งบนรถน้ำก็ไม่ได้ดื่มกว่าจะรอบเมือง มีชายคนหนึ่งเอาน้ำมาให้บอกว่า “เสวยน้ำหน่อย ญาพ่อ” ก็เอาน้ำแข็งให้กิน ผมก็ดีขึ้นหน่อย มีคนว่าบ้าก็มี คนที่เอาน้ำมาให้กินก็มี อันนี้เป็นบุญและยังได้สติเตือนตัวเองด้วย จากนั้นผมก็ได้แห่ในลักษณะเช่นนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ ถึงปี ๒๕๓๕ จากนั้นผมไปรับราชการศาลอุธรณ์อยู่จังหวัดขอนแก่น ก็ได้รับจดหมายเชิญให้มาร่วมแห่เทียนเคยทำมาอย่างไรก็ให้ทำอย่างนั้น พอเปลี่ยนผู้ว่าฯใหม่ก็มอบงาน ผู้ว่าฯคนต่อไปก็รับนโยบาย ผมก็ต้องเทียวไป - มา แต่ก็ยินดีเพื่อบ้านเมือง

พอมาถึงสมัยผู้ว่าฯ นายสายสิทธิ์ พรแก้ว ได้ยกเลิกแต่งรถให้ผมนั่ง ไม่ให้แห่ก็ไม่แห่และเรื่องนี้ผมจะไขปริศนาให้ทุกท่านได้ทราบเราถือศาสนาพุทธ เพราะเหตุผลว่าท่านบอกว่าไม่ถือผี ผมก็ไม่ขัดข้องเพราะท่านให้แห่ก็แห่ ไม่ให้แห่ก็ไม่แห่ และเรื่องนี้ผมจะไขปริศนาให้ทุกท่านได้ทราบ เราถือศาสนาพุทธ เราต้องมีความเชื่อ เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในเทวดา อินทร์พรหม พรหมสถาน อันนี้ผมมีความเชื่อ ไปไหนมาไหนยกมือท่วมหัวไปมาลาบอก นี่เป็นตัวอย่างและเตือนสติว่า “เจียมผีเฒ่า เจียมเจ่ายืน” ผมไปอยู่เมืองยโสธร เขามีงานสถาปนาจังหวัดยโสธร ผู้ว่าฯขณะนั้นได้เชิญผมไปบวงสรวงเทวาอารักษ์ให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ผมก็ได้ทักท้วงไปว่า การจะบอกกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นจะต้องบอกกล่าวก่อนแห่ ก่อนเปิดงานนะ แต่ท่านกลับมาบอกทีหลังผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ “เอาใหม่นะครับให้บอกกล่าวก่อนวันงาน ๑ วัน” ท่านตอบว่า “จะไปเชื่ออะไรเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ ผีสางนางไม้เทวดามันไม่มีตัว” ผมก็หยุดพูดทันทีในเมื่อท่านไม่เชื่อก็แล้วไป ต่อมาอีก ๔ วัน ผู้ว่าฯถูกยิงตาย อย่างนี้ที่เขาเรียกว่า “ไม่เห็นตัวไม่เชื่ออย่าลบหลู่” แต่สำหรับผมมีความเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ผมก็เล่าให้ฟังถ้าเชื่อก็เป็นผลดี เรายกมือไหว้ท่าน เราก็ไม่เห็นว่าท่านยกมือตอบรับหรือไม่ มีครั้งหนึ่งมีการเข้าทรงพ่อปู่เมืองยโสธร บอกว่า “ข้าน้อยจะไม่ถวายเหล้า หัวหมู ข้าน้อยขอถวายเฉพาะข้าวกับกล้วยจะพอใจหรือไม่” คนทรงตอบว่า “พ่อไม่ได้เรียกร้องจากพวกท่าน พวกท่านให้พ่อเอง ท่านอยากให้อะไรก็ให้ตามใจท่าน จะเป็นกล้วยหรือข้าวปั้นเดียวก็ได้ แต่ถ้าบอกว่าจะให้พ่อแล้วก็ต้องให้ถ้าไม่ให้ลูกศิษย์พ่อจะไปทำร้ายท่าน” อันนี้เราก็มาสังเกตเวลาผู้เฒ่าพาเลี้ยงบ้านเลี้ยงเมืองเสร็จแล้วก็จะบอกว่า “เอาไปเด้อ หัวหมู หัวไก่ใส่ใบตองไว้ให้ลูกแหล่งท่านให้อิ่มหนำสำราญ” ดังนั้นคนแก่คงจะเชื่อตามนั้น ไหว้ปู่ตาก็เหมือนกันดึงคางไก่ออกมาดู มีตับบ้าง หูหมูบ้างเอาใส่ใบตองถวายท่าน ท่านจะได้กิน อันนี้เป็นธรรมเนียมประเพณี บางคนบอกว่าสกปรกซึ่งสกปรกหรือไม่ เป็นเรื่องของท่าน สมัยก่อนแห่ต้นเทียน ถ้าไม่อยากให้ฝนตกให้ลูกสาวคนสุดท้องไปปลูกตะไคร้โดยเอาปลายหัวหรือรากชี้ขึ้นฟ้า บางครั้งก็ได้ผล บางครั้งก็ไม่ได้ผล ถ้าจะให้ได้ผลจริง ๆต้องเอามือยกใส่หัวแล้วบอกว่าฝนอย่าตก อย่าแดด อันนี้เป็นเรื่องจิตวิทยาหรือวิญญาณศาสตร์ ครับผมก็ได้สนับสนุนส่งเสริมมาเรื่อย ๆ ก็ขอจบรอบสอง ไว้เพียงเท่านี้ก่อน

อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า
ครับวันนี้ก็มีทั้งเรื่องจิตวิทยาและภูมิปัญญา ก็ให้ผู้ฟังไว้เป็นแง่คิด นักศึกษาได้ฟังไว้ ซึ่งคุณพ่อบำเพ็ญก็ได้กล่าวไปแล้วนั้น คราวนี้กลับมาทางด้านวิชาการที่ได้รับการบันทึกไว้บ้าง จดไว้บ้าง ก็คือท่านสุวิชช คูณผล จะได้เล่าเรื่องวิวัฒนาการ วิกฤติการณ์ รวมทั้งการส่งเสริม ว่าทำไมอุบลราชธานีถึงโด่งดัง ในชุดที่สองต่อ ซึ่งเมื่อช่วงแรกก็ได้ทิ้งท้ายไว้ เชิญคุณพ่อสุวิชช ครับ

คุณสุวิชช คูณผล "..........ผมไปจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ซื้อน้ำผึ้งมา คิดว่าเป็นน้ำผึ้งที่ดีที่สุดอ่านบนขวดน้ำผึ้ง ปรากฏว่า “จากอำเภอน้ำยืน ภูจองนายอย เป็นน้ำผึ้งที่ดีเยี่ยมที่สุดในประเทศไทย” ผมแทบอยากจะโยนทิ้งคนอุบลฯ ไม่รู้จักอะไร เพราะรู้สึกละอายที่เป็นคนอุบลฯ แท้ ๆ ไม่รู้เลยว่าบ้านเมืองของตัวเองมีของดีอยู่แล้ว.........."

คุณสุวิชช คูณผล
ขอบคุณครับท่านผู้นำอภิปราย ฟังจากพ่อบำเพ็ญพูดแล้วท่านที่เป็นชาวอุบลฯมีความรู้สึกอย่างไร เราจะเห็นว่าผู้นำอภิปรายบอกว่ามี ๓ ผ ส คือ ผู้สร้าง ผู้ส่งเสริม ผู้สนับสนุน ทีนี้ถ้าเราจะแยกประเด็นให้ออกว่า ผู้ที่บริหารจัดการเกี่ยวกับเทียนพรรษาในบ้านเรานับร้อยปีมานี้ ประกอบด้วยฝ่ายไหนบ้าง ฝ่ายแรก คือ ช่างคุ้มวัดและช่างเทียน กับผู้อุปถัมภ์เทียนนั้น ๆ ฝ่ายที่ ๒ คือ ผู้นำเทียนเข้าสู่การประกวดแข่งขันและแห่ขบวน คือเทศบาล จังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายที่ ๓ คือ ภาคส่วนทุกภาคที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและผู้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวต้องประกอบด้วย ๓ ฝ่าย “ สามก้อนเซ่าหม้อข้าวบ่อล้ม” ทำไมถึงเรียกอย่างนั้น ก้อนแรกคือชาวอุบลฯ ซึ่งได้ร่วมแรงร่วมใจทำกันมาเป็นร้อย ๆ ปี พอผู้ว่าฯ คนเดียวมาบอกว่าไม่ให้ทำก็เลยล้มเลิกไปทำให้เหลือก้อนเซ่าสองก้อน คือคนอุบลฯ กับผู้ส่งเสริม ผู้สืบสานไม่เอาผี แล้วบอกว่าผีอยู่ตรงไหนไม่ทำ หากมีก้อนใดก้อนหนึ่งถอยก็จะทำให้การสืบสานนั้น ๆ แผ่วเบาไป

ผมขออนุญาตกล่าวถึงที่มาของเทียนพระราชทาน คือ เมื่อเรามีเทียนที่รู้จักไปทั่วโลกแล้ว ที่ประชุมศาลากลางจังหวัดพิจารณากันว่า ทางดงอู่ผึ้งของเราท่านรู้ไหมว่าดงอู่ผึ้งของเราตั้งแต่สร้างเมืองอุบลฯ ท่านรู้ไหมว่าดงอู่ผึ้งของเรานั้นอยู่ตรงไหน ตอนนี้ดงอู่ผึ้งยังมี คือที่ “ภูจองนายอย” สามเหลี่ยมมรกตดงอู่ผึ้งยังไม่หายไปไหน ผมไปจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ซื้อน้ำผึ้งมา คิดว่าเป็นน้ำผึ้งที่ดีที่สุดอ่านบนขวดน้ำผึ้ง ปรากฏว่า “จากอำเภอน้ำยืน ภูจองนายอย เป็นน้ำผึ้งที่ดีเยี่ยมที่สุดในประเทศไทย” ผมแทบอยากจะโยนทิ้งคนอุบลฯ ไม่รู้จักอะไร เพราะรู้สึกละอายที่เป็นคนอุบลฯ แท้ ๆ ไม่รู้เลยว่าบ้านเมืองของตัวเองมีของดีอยู่แล้วที่มีผึ้งดี ๆ เพราะมีดงอู่ผึ้ง ต่อมามีหนังสือถึงจังหวัดเรื่องให้อำนวยความสะดวกในการตั้งแค้มป์เพื่อขนย้ายผึ้งจาก ภูจองนายอย ที่น้ำยืน นาจะหลวยเพื่อไปทำเทียนพระราชทานให้แก่พระอารามหลวง เห็นไหมครับว่าดงอู่ผึ้งจะต้องมี ป่าที่อุดมสมบูรณ์เท่านั้นถึงจะมีผึ้ง ถ้าไม่มีผึ้งก็ไม่มีเทียนและเทียนพรรษาก็ไม่เกิดเทียนพรรษาเกิดขึ้นได้อย่างไรคนอุบลฯ เลยฉุกคิดว่ามาเอาผึ้งที่อุบลไปแล้วเอาไปพระราช ทานให้แก่พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร ทางอุบลฯ เลยทำหนังสือขอพระราชทานเทียนคืน เรียก “เทียนหลวงพระราชทาน” เพื่อเป็นเทียนชัยนำขบวนเทียนพรรษา เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ ผู้ว่าฯประมูล จันทรจำนง ปี ๒๕๒๓ ผู้ว่าฯ ใหม่คือ นายบุญช่วย ศรีสารคาม ซึ่งมีรูปในหนังสืออุบลฯ ๒๐๐ ปี และไปลงว่าเริ่มในสมัยผู้ว่าฯบุญช่วย ศรีสารคามซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนก็ขอให้ปรับแก้ดังนั้น


เทียนพระราชทานได้เริ่มในปี ๒๕๒๒ เป็นปีแรกที่มาจากบนฟ้า มีการประชาสัมพันธ์และนำเครื่องบินอัญเชิญเทียนมาต้องทักษิณาวัตรรอบเมืองอุบลฯ ๓ รอบ แล้วค่อย ๆ บินลงมาเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดูบริเวณลานบินมีนักเรียน นักศึกษาราชภัฏอุบลราชธานี แต่งกายชุดพื้นเมือง มีการรำต้อนรับบริเวณลานบินเต็มไปหมด และได้จัดเครื่องยศเจ้าเมืองมานำแห่ขบวนถือว่าเทียนพระราชทานปีแรกมีความศักดิ์สิทธิ์ ผมขอเสริมที่พ่อบำเพ็ญพูดไปว่า เพราะการที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ณ ภูมิภาคใดก็ตาม จะต้องนำกระบี่อาญาสิทธิ์ไปมอบคืนท่าน แต่เนื่องจากอุบลราชธานีไม่เคยมีกษัตริย์เสด็จมาเลย นอกจากรัชกาลที่ ๙ ในปี ๒๔๙๘ การที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือว่าพระองค์เสด็จมาด้วยพระองค์เอง เพราะฉะนั้นต้องมีเครื่องยศเจ้าเมืองนำหน้าขบวนอย่างที่ได้กล่าวแล้วนั้น มีอะไรก็ตายก่อนท่านเพราะฉะนั้นเครื่องยศเจ้าเมืองที่ได้มา ๒๐ – ๓๐ ชิ้นที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นเครื่องยศที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จังหวัดอื่นในประเทศไทยไม่มี เชียงใหม่มีแต่กระจัดกระจายไปตามผู้ได้รับมรดก เมืองอุบลฯมีครบทุกชิ้นซึ่งเอามาแห่ในปี ๔๗ – ๔๙ ผู้ที่รวบรวมเครื่องยศนี้ไว้เพื่อให้เป็นสมบัติของเมืองอุบลราชธานี คือ ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล ครับ ท่านเห็นไหมครับว่าท่านเป็นผู้สร้าง ผู้สืบ ผู้เสริม ชั่วชีวิตของท่าน

ผมจะกล่าวถึงว่า ในเมื่อมีผู้สร้าง ผู้สืบ ผู้เสริมแล้ว ทำไมจึงมีวิกฤติการณ์ คือ สิ่งที่นำไปสู่ทางไม่ดีหรือแย่ลง ปี ๒๕๑๐ เกิดพุทธสมาคมขึ้นมา พุทธสมาคมเสวนากันว่าเทียนพรรษาของเรามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง คล้าย ๆ ที่เราเสวนาอยู่ขณะนี้ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ก่อนจัดงาน “เจ้าคำผง” ๑ ปี ซึ่งผลของการเสวนานั้นมีข้อบกพร่อง ๓ ประการคนอุบลฯแตกความสามัคคีอย่างรุนแรง ผมขอสรุปย่อ ๆ ว่า ประการแรกคือวัดเงินหมด ประการที่สองประกวดแข่งขันจนเกินงาม ประการที่สามขนาดเทียนต่างกัน พุทธสมาคมมีลุงไศล วรรณพินิจ ขณะนั้นเป็นหัวหน้าศาล มีนายสำราญ พร้อมพูล เป็นเลขาผู้สนับสนุนคือ พระมหาสวรรค์ พระปริยัติโกศล เปรียญ ๙ ประโยค บอกว่า วัดทั้งหมดไม่ต้องทำเนื่องจากว่ามีปัญหา ๓ ประการนี้ ให้มาทำเทียนรวมกันอยู่หลังเขต ๑๐ ทุกวันนี้ อาจารย์มนัส สุขสาย ก็ได้ทำร่วมกันทำเสร็จแล้วไม่ต้องแห่ ไม่ต้องประกวด เพราะไม่มีการแข่งขันใครอยากได้ก็ไปหยิบเอาถ้วยรางวัลได้เลย เรียงไว้แล้วทำไว้เหมือนกันหมดบางคนก็เอา สามล้อมา ปีนั้นเมืองอุบลฯเงียบมาก ยังกับป่าช้าไม่มีเสียงฆ้อง เสียงกลองอะไรซึมไปหมดมันไม่ดีทำไมไม่แก้ไข ทำไมพุทธสมาคมพึ่งเกิดถึงได้มาจัดการกับการแห่เทียน ทำให้แตกกระสานซ่านเซ็นคนอุบลฯ ไม่ถูกกัน ทำให้เกิดการถกเถียงในเรื่องการแก้ปัญหาขึ้นอีก จนสุดท้ายทางจังหวัดได้เข้ามาและประชุม คุ้มวัด ช่างเทียน ผู้เกี่ยวข้อง ผู้สนับสนุน แก้ไขเมื่อปี ๒๕๑๐

ต่อมาเมื่อปี ๒๕๒๐ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เข้ามาสนับสนุนทำให้งานเรียบร้อยและปี ๒๕๒๐ เป็นปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะเป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระชนมายุครบ ๖๐ ปี มีเทียน ๖๐ ต้น เต็มบริเวณทุ่งศรีเมืองซึ่งไม่เคยปรากฏเลยในประวัติศาสตร์เมืองอุบลฯ แต่ปรากฏว่าเทียนสุนทรภู่ก็มี อื่น ๆ ก็มี ไม่รู้ใส่อะไรเข้าไป ปรากฏว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (นายกรัฐมนตรี ปี ๒๕๑๘) ซึ่งเป็นปราชญ์ด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ การเมือง เพียบพร้อมไปด้วยคุณวุฒิได้วิจารณ์ต้นเทียนเมืองอุบลฯ เสียหายหมดไม่เหลือสิ่งดีงาม ว่า ข้อ ๑. อุบลฯหลงใหลได้ปลื้มกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่มาสนับสนุนว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวเอกของประเทศไทยก็เลยใส่กระพี้เข้าไปเต็มไปหมดในต้นเทียน ลืมแก่นแท้ของพุทธศาสนา ลืมความเป็นนักปราชญ์ของเมืองอุบลฯเสียสิ้น ขายกระพี้หากินหรือชาวอุบลฯ แสบไหมครับ ข้อ ๒. ธรรมดาชาวบ้านหรือชาวคุ้มวัด เจ้าภาพถวายเทียนพรรษา ทางวัดทนไม่ได้ แพ้ไม่ได้ เสียศักดิ์ศรีวัด เจ้าอาวาส เลยกลายเป็นว่าเจ้าอาวาสแทนที่จะให้ชาวบ้านเขาถวายพระสงฆ์ลงมาทำช่วยกันเพื่อจะเอาชนะแพ้ไม่ได้ เลยกลายเป็นว่าเจ้าอาวาสกับพระสงฆ์ทำเทียนถวายตัวเอง ซึ่งผิดฮีตผิดคองแล้ว ด่ากระทั่งพระสงฆ์นะครับ ข้อ ๓. มีโฆษณาทั้งการค้า ท่านบอกว่า งานนี้ไม่ใช่งานแห่เทียนพรรษา แต่เป็นมหกรรมแห่โฆษณาสินค้าแห่งประเทศไทย ถามหน่อยว่าประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา แห่เพื่อส่งเสริมการค้าหรือว่าแห่เพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา จนคนอุบลฯ ได้ปรับเปลี่ยนว่าไม่เอาโฆษณาได้ไหม ถ้าหากไม่มีทุนจริง ๆ ก็ตั้งกองทุนขึ้นมา “ชาวเมืองอุบลฯ ชาวอุบลฯคนละบาทส่งเสริมเทียนนักปราชญ์ เมืองอุบลฯ” ไม่ต้องโฆษณา เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ค่าโฆษณาสมมุติว่าปีหนึ่งได้ ห้าแสน ก็เอากองทุนสมทบเข้าไปไม่ต้องโฆษณาให้เขาด่า

สำหรับแห่เทียนของโคราชเขามีอิสระทำเทียนใหญ่โตโฆษณาหนังสือพิมพ์หน้า ๑ เขาขึ้นก่อนเลย คนอุบลฯก็ด่ากันเองว่าทำไมไม่เอาเทียนอุบลฯ ขึ้นหน้า ๑ ทำไมปล่อยให้เขาขึ้น พ่อบำเพ็ญ ณ อุบล และผู้ใหญ่ในจังหวัดหลายท่านก็ได้ให้คำขวัญไว้ว่า “อยากดูเทียนใหญ่โตโอ่อ่า งามหรูให้ไปดูที่โคราช ถ้าอยากดูเทียนนักปราชญ์ให้มาดูที่เมืองอุบลฯ” ท่านจะเห็นว่าเทียนนักปราชญ์นั้น จะต้องมีศิลปะความงดงาม ความพอดีพองาม ความเหมาะสม มีศาสนาพุทธเป็นหลักค้ำจุน และที่ท่าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้วิจารณ์ ผมอยากจะให้ทุกคนได้จดจำว่าเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งผมได้จดมาคร่าว ๆ สั้น ๆ ว่า สมัยก่อนการทำเทียนนั้นไม่มีไส้ (อ.ประดับคงจะนำเสนอได้นะครับ) เพราะถ้าเอาไส้ใส่ปลายเทียนจะไม่สวย ไม่กลมกลืน ท่าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ บอกว่า “เทียนไม่มีไส้ก็คล้ายเสาหลักเมือง จะบอกว่าประกวดเทียนพรรษาได้อย่างไร” เทียนตามพจนานุกรม หมายถึง “ขี้ผึ้ง หรือ ไข ซึ่งฟั่นหรือหลอมหล่อหุ้มเทียนมีไส้อยู่ตรงกลาง” องค์ประกอบสำคัญคือ มีขี้ผึ้งกับไส้เทียน ถ้าไม่มีองค์ประกอบนี้แล้วจะเป็นเทียนไม่ได้ แม้กระทั่งเทียนพระราชทานยังมีไส้เทียนใส่พานมาด้วย

ขอสรุปประเด็นว่า “เทียนพรรษาเมืองอุบลฯ มีแบบแผนหรือไม่ มีการพิจารณาไร้ทิศทางหรือเปล่า และเราจะให้ทางวัดรับภาระเทียน ๒-๓ แสนบาท/ปี ต่อไปหรือไม่” เจ้าอาวาสบางวัดกล่าวว่า ถ้าไม่ส่งเทียนพรรษาเข้าร่วม ๔-๕ ปี จะได้กุฏิ ๑ หลัง ถ้าไม่ส่ง ๒๐ ปี คงจะได้ศาลา ส่วนวิวัฒนาการทำเทียนอย่างไรนั้น อ.ประดับ ก้อนแก้ว อ.สมคิด สอนอาจ และ อ.อุส่าห์ จันทรวิจิตร ท่านก็จะได้ให้รายละเอียดในส่วนนี้ ประเด็นอยู่ตรงว่าเรื่องที่จะแก้ไขคือ เราต้องดูว่าสิ่งที่เขาพูดวิจารณ์มานั้นเป็นความจริงหรือไม่ ถ้าจริงเราควรจะแก้ไขอย่างไร ถึงจะเข้าที่เข้าทางส่วนนี้ผมขอพูดถึงแค่เรื่องวิกฤตการณ์ ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์กับวิเทศสัมพันธ์นั้น ผมขอพูดในช่วงท้ายครับ ขอบคุณครับ

อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า
ขอบคุณท่านสุวิชช อีกครั้งครับ ฟังมาก็ถึง ๒ ช่วงแล้ว ก้าวไปเป็นขั้น ๆ หลายท่านเข้าสู่การศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีของจังหวัดอุบลราชธานี จะรู้ว่าแก่นของเราอยู่ที่ไหน ผมจำได้ว่า ห้องโกมุทแห่งนี้เมื่อ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมาผมนั่งอยู่ข้างล่าง ซึ่งผมจำได้ว่า วิวัฒนาการของเทียนนั้นจำเป็นจะต้องอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งข้อเสนอในครั้งนั้นก็มีมากมาย ผมก็ได้จดไว้บ้างเช่นกัน และผมเชื่อว่าท่านที่อยู่ข้างล่างในวันนี้ ท่านเป็นผู้มีภูมิรู้ภูมิธรรม ภูมิเมืองอุบลฯ อย่างแท้จริงในสิ่งที่เราร่วมคิดร่วมทำ ต่อไปเราก็มาร่วมนำในสิ่งดีงามมาถ่ายทอดให้ลูกหลานต่อไป ท่าน ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล ขอเพิ่มเติมนิดหนึ่งครับในช่วงสุดท้ายนี้ถ้าไม่ได้พูดท่านจะนอนไม่หลับ มาเพื่อลูกหลานเพื่อต้นตระกูลและศักดิ์ศรีของเมืองอุบลฯ กราบเรียนเชิญคุณพ่ออีกครั้งครับ

ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล "..........มีบางคนพูดว่า “จะแห่ทำไมเทียน ทุกวันนี้เขาไม่ใช้เทียน เขาใช้ไฟฟ้า” ผมคิดว่า นั่นเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์เรื่องแสงสว่าง ส่วนการแห่เทียนนี้เป็นเรื่องของจิตใจ .........."

ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล
ในช่วงท้ายนี้ ผมอยากจะขอเสริมครับในส่วนที่ท่านสุวิชช บอกว่าเกิดวิกฤต วิกฤตที่ว่าไม่มีใครอยากส่งเทียน เพราะว่าลงทุนเยอะ รางวัลน้อย แต่ผมอยากจะเชิญชวนท่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่มาฟัง ณ ที่นี้และไม่ได้มา พร้อมทั้งนักศึกษาทั้งหลายที่มาร่วมฟัง อย่าลืมว่าเมืองอุบลฯนี้เรามีฮีต คือประเพณีของเราเรียกว่า ฮีต๑๒ คอง ๑๔ อันนี้ฝากให้ไปศึกษาดู ท่านผู้ใหญ่ก็คงจะรู้แล้วว่า ฮีต ๑๒ คอง ๑๔ มีอะไรบ้าง ฮีตอันหนึ่งก็คือ ฮีตเข้าพรรษา คำว่า “ฮีต” ภาษาบ้านเราหมายถึงจารีตประเพณี ฮีต ๑๒ คือพิธีการใน ๑๒ เดือน ส่วนคอง ๑๔ นั้นเป็นหน้าที่ของบุคคลต่อบุคคล เช่น ฮีตพ่อคองแม่ ฮีตลูกคองหลาน ฮีตพระสงฆ์มีระเบียบหมด หน้าที่ แต่แห่เทียนนี้เป็นฮีตเข้าพรรษา อย่าให้คิดเลิกทำ เลิกปฏิบัติเราจะต้องรักษาฮีต ๑๒ ของเราไว้ ให้ต่างจากกรุงเทพฯ บ้าง อย่าคิดว่าเขาไม่ทำเราก็ไม่ทำ เราต้องปฏิบัติตามฮีตของเราชาวอีสาน

ในครั้งที่เกิดวิกฤตต้นเทียน ผมก็มีข้อคิดเหมือนกันในปีนั้นวัดป่าใหญ่ “ไม่ส่งต้นเทียนเข้าประกวดบอกว่าไม่มีประโยชน์” เป็นคำกล่าวของพระสงฆ์รูปหนึ่ง ผมคิดว่าไม่ส่งก็ไม่เป็นไรพอกลางพรรษามีขโมยเข้าไปลอกทององค์พระเจ้าใหญ่อินแปง วิธีลอกทองคือ เอาขี้ผึ้งอย่างดี ไปกลิ้ง ๆ รอบองค์พระ ทองก็ติดไปกับผึ้งแล้วเอาผึ้งไปต้มเอาทองที่ค่อนลงนั้นไปขายได้หลายบาทผมบอกว่าให้มาสู่ขวัญให้พระเจ้าใหญ่อินแปงแล้วติดทองใหม่ แต่ผมว่าพระเจ้าใหญ่อินแปงลงโทษเตือนสติ มันเป็นธรรมเนียมที่จะต้องทำต้องปฏิบัติ การที่ไม่ส่งเทียนเข้าร่วมนั้นมันเป็นกิเลส ขูดออกบ้าง กิเลสในตัวเหมือนที่เขามาขูดทองพระเจ้าใหญ่อินแปง นี่แหละที่ผมคิดว่าเป็นคำสอนของพระเจ้าใหญ่อินแปงที่ผมว่าศักดิ์สิทธิ์ ส่วนคนอื่น ๆ จะรู้สึกเช่นไรนั้นผมไม่อาจทราบได้ ผมนับถือพระเจ้าใหญ่จนสุดหัวใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเรื่องที่ท่านผู้ว่าฯ สายสิทธิ์ ไม่ให้ผมไปแห่เทียนเช่นกัน ในปีนั้นลูกของท่านก็เกิดไม่สบายในปีนั้นไม่ทราบเป็นอะไรจนกระทั่งเกษียณอายุลูกก็ยังไม่หาย ผมขอเล่าให้ฟังว่าเป็นเรื่องจิตใจ ประเพณีแห่เทียนบ้านเราเป็นจิตใจ เป็นศรัทธาความเชื่อและฝังอยู่ในจิตใจของชาวอุบลฯ ดังนั้นอย่าพากันหยุดทำไม่แห่มากก็ขอให้แห่น้อย

มีบางคนพูดว่า “จะแห่ทำไมเทียน ทุกวันนี้เขาไม่ใช้เทียน เขาใช้ไฟฟ้า” ผมคิดว่า นั่นเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์เรื่องแสงสว่าง ส่วนการแห่เทียนนี้เป็นเรื่องของจิตใจ คนละอย่างจิตใจฝังลึกตายแล้วก็อยู่กับจิตวิญญาณขอให้รักษา ผมขออาราธนาขอเชิญท่านทั้งหลายได้อนุโมทนาว่าเรามาประชุมวันนี้เรามาเพื่อรักษาฮีตรักษาคองของเราให้อยู่สืบไปชั่วลูกชั่วหลานสืบไป

อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า
ดร.บำเพ็ญ ได้ทิ้งท้ายไว้เป็นปมสำคัญ ในวิถีชีวิตของคนอุบลฯ ต้องกราบขอบคุณ คุณพ่อบำเพ็ญ สุดท้ายจริง ๆ ช่วงนี้เรียนเชิญท่านสุวิชช คูณผล ได้สรุปตอนท้ายครับว่า จากตำนานเทียนสู่สากลได้อย่างไร ขอเรียนเชิญครับ
คุณสุวิชช คูณผล "..........จงสำนึกว่าประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นทุนทางสังคมที่สะสมมานับร้อย ๆ ปี โดยบรรพบุรุษของชาวอุบลฯ จึงได้มีจิตวิญญาณเป็นชีวิตชีวาชาวอุบลฯทุกคนจะต้องหวงแหนรักษาไว้จนชั่วชีวิต.........."


คุณสุวิชช คูณผล
ขอบคุณครับผมขออนุญาตใช้เวลาเล็กน้อยนี้สรุปว่า การวิจารณ์วิพากษ์ของนักวิชาการหรือชาวบ้านในสิ่งที่ไม่ดีงาม หรือในสิ่งที่เราคาดคิดไม่ถึงนั้น ส่วนใหญ่ก็คล้าย ๆ กัน เราจะต้องทำใจและยอมรับการตำหนิติเตียนในสิ่งเหล่านั้น โดยถือว่าเราเป็นเมืองนักปราชญ์ นักปราชญ์ย่อมไม่อ่อนไหวต่อสิ่งติเตียนใด ๆ และพร้อมที่จะพิจารณาแก้ไขให้ถูกต้องและสมบูรณ์ ประเด็นสำคัญก็คือว่า การแก้ไขนั้นใครจะเป็นคนแก้ จังหวัดหรือชาวบ้านหรือผู้เกี่ยวข้อง ผมขอเรียนว่าอย่างพ่อบำเพ็ญพูดไปแล้วว่า จังหวัดนั้นถ้าท่านใส่ใจ เรื่องก็เกิดขึ้นได้ แต่เท่าที่ผมสัมผัสมานั้นยากมากเพราะภารกิจจังหวัดนั้นมากมายเหลือเกิน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณี แต่หน้าที่ของจังหวัดนั้นแค่รักษาความสงบเรียบร้อยก็แย่อยู่แล้ว อันนี้น่าเห็นใจ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ผู้ว่าฯ ที่มาใหม่ก็จะรักษาวัฒนธรรม ไปหาผู้หลักผู้ใหญ่พอเอาเข้าจริง ๆ ม๊อบเขื่อนปากมูลมาล้อมศาลากลางก็เลยบอกผมว่าเวลาไฟไหม้บ้านต้องดับก่อนนะ ดังนั้นจังหวัดน่าเห็น ที่เป็นหลักจริง ๆ คือสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ แห่งนี้ซึ่งเป็นสติปัญญาของสังคมและชุมชนเป็นปรัชญามหาวิทยาลัยทั้ง ๒ ฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี หรือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จะต้องร่วมกัน

ผมขอเรียนว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี แก้ไขแล้วหลายครั้งพูดง่าย ๆ ว่าเข้าสู่แบบแผนเข้าสู่ทิศทาง ปี ๒๕๔๗ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ และหน่วยงานหลัก ๆ ก็ร่วมมือกันเข้าสู่ทิศทาง พระสงฆ์ผู้สำคัญก็คือ พระพรหมวชิรญาณ ท่านเป็นประธานได้รับทราบจากคนที่มาดูแห่เทียนเมืองอุบลฯ ว่า ไปดูก็เท่านั้น ท่านก็ชี้ให้เห็นว่า “สามก้อนเซ่าหม้อข้าวบ่ล้ม” พูดตรง ๆ ก็คือว่า ทุนทางสังคมเป็นนับร้อยปีตั้งแต่ปี ๒๔๔๔ - ๒๕๔๔ ผู้ที่มาอยู่ใหม่มีอำนาจก็เอาทุนทางสังคมเหมือนเอาน้ำใสออกเหลือแต่โคลนตมให้คนอุบลฯ โดยเอาโฆษณามาขึ้นบ้างได้เงินแสน สองแสน เอาใครมาวุ่นวายพวกเราไม่มีสิทธิแต่เป็นงานของเขาทุนทางสังคมหายหมด ท่าน รศ.ประจักษ์ บุญอารีย์ โมโหมาก ได้เขียนบทความวิจารณ์ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยทั้ง ๒ แห่ง สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษามีตั้งหลายแห่งจะต้องร่วมกันแก้ไขวิธีการและยอมรับความจริงเรื่องนี้ว่า ปีนี้เทียนพรรษาของเราชื่อเมื่อเช้าที่เรียกกัน ฮุ่งเฮืองเหลืองเหลื่อม เป็นภาษาอีสานให้ทราบว่าเกิดอยู่ที่อุบลฯ มันฮุ่งเฮืองมานานแล้ว เลิศล้ำเทียนพรรษา คำขวัญว่า งามล้ำแต่ ททท. กับ ท่าน รศ.นพดล จันทร์เพ็ญ ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมด้วยได้ให้ข้อเสนอว่า คำว่าเลิศล้ำสูงกว่างามล้ำ จึงได้สรุปเอาเลิศล้ำเทียนพรรษาดังนั้นคำขวัญงานแห่เทียน ปี ๒๕๕๐ จึงใช้คำว่า “ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม เลิศล้ำเทียนพรรษา ปวงประชาพอเพียง” คำว่าเมืองธรรมของอุบลฯ คือ ธรรม ๓ ประการ ประการแรก คือ พุทธธรรมน้อมนำปฏิบัติ ประการที่สองอารยธรรม อุบลอู่อารยธรรม อุดมอริยทรัพย์ อริยสงฆ์ รุ่งโรจน์ศาสตร์เรืองรองศิลป์ถิ่นไทยดี คือที่มาของอุบลเมืองนักปราชญ์ ประการที่สามธรรมชาติ คำว่าอุบลราชธานีศรีวนาลัย ศรีวนาลัยนี่แหละคือ ธรรมชาติของเมืองอุบลฯ ซึ่งยืนยงอยู่ทุกวันนี้มีอุทยานแห่งชาติทั่วไป อาจารย์ธิดา สาระยา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านแปลความหมายคำว่า “อุบลราชธานี” ง่าย ๆ ว่า “ ธานีแห่งราชะ ศรีสง่าแห่งไพรพฤกษ์” อันนี้ชัดเจนมาก

สุดท้ายที่จะเรียนคือ วิเทศสัมพันธ์ เทียนพรรษาไปเกี่ยวข้องกับนานาชาติได้อย่างไร อาจารย์ทินกร อัตไพบูลย์ รู้ดีตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ มา การแกะสลักเทียนนานาชาติเริ่มในปี ๒๕๔๙ มี ๙ ประเทศ มาร่วมแกะสลักเทียนและร่วมแห่ เพื่อที่จะถวายเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การนำไปสู่สากลของเรานั้นเราจะต้องคำนึงสิ่งใดอย่างไรบ้าง อุบลฯเราเคยมีสิ่งใดไหมที่เคยไปสู่สากล เราจะจำได้ง่าย ๆ ว่า “หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง” เป็นสกุล ๓ ช่าง มีไทย ลาว พม่า ซึ่งอยู่ในกลุ่มล้านช้างด้วยกัน และมีประเทศติดกันสกุลช่างก็ไหลไปถึงกันได้ อาจเป็นไปได้ที่ช่างจะเวียนไปคล้าย ๆ กัน แต่ว่าพระอุโบสถพระอารามหลวงวัดสุปัฏนารามฯ เป็นเรื่องแปลกมาก ส่วนบนเป็นศิลปะแบบไทย ตรงกลางเป็นเยอรมัน ล่างเป็นขอมโบราณ เยอรมันอยู่คนละซีกโลกแต่ทำไมมีศิลปะแบบเยอรมันในวัดสุปัฏนารามฯ นั่นคือสถาปนิกที่มาสร้างถนนจากอำเภอวารินชำราบไปช่องเม็ก คุณหลวงสถิตนิมานการ ชื่อเดิม ชวน สุปิยาพันธ์ ท่านเขียนไว้ว่า การที่เราจะไปสู่นานาชาติเราต้องยึดของเราเป็นแก่นเป็นหลัก ไม่ใช่ไหลไปตามเขา และการที่เอาศิลปะเยอมันมาใส่ไว้นั้นหมายถึงศิลปะไม่มีพรมแดนเป็นตัวอย่างของการผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัว

อยากจะบอกว่าเราไม่ขัดข้องที่เราจะไปสู่นานาชาติ ถือว่าของเรานี้เยี่ยมทุกคนถึงพอใจ แต่ขอให้พอดีพองามในสิ่งที่ว่า “อนุรักษ์ของเดิม แล้วส่งเสริมของใหม่” อย่าให้แปลกเปลี่ยนจนกระทั่งเกิดวิกฤติการณ์ขึ้นอีก จงสำนึกว่าประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นทุนทางสังคมที่สะสมมานับร้อย ๆ ปี โดยบรรพบุรุษของชาวอุบลฯ จึงได้มีจิตวิญญาณเป็นชีวิตชีวาชาวอุบลฯทุกคนจะต้องหวงแหนรักษาไว้จนชั่วชีวิต ขอขอบคุณมากครับ
อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า
เรียนผู้เข้าร่วมฟังทุกท่านครับ ท่านมีประเด็นใดที่จะถามเพิ่มเติม ที่ท่านทั้งสองให้รายละเอียดไปพอสมควร ทั้งนี้ทั้งนั้นการสัมมนาเป็นคำพูด แต่สิ่งที่ยั่งยืนคือ การสืบสานในเรื่องของลายลักษณ์อักษร ซึ่งผู้รู้ที่นั่งอยู่ในที่ประชุมนี้ก็มีมากมาย ถ้าจะเอ่ยนามก็คงจะมีท่าน รศ.ประจักษ์ บุญอารีย์ ท่านเป็นบรมครูผู้หนึ่งที่สืบสานเห็นทั้งความราบรื่น ความขัดแย้ง ความดีงาม และเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนประคับประคองในประเพณีมาโดยตลอด ครับ

รอบเช้านี้เราก็ได้ความรู้ไปไม่มากก็น้อย เราจะมีรอบบ่าย ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ น. เป็นต้นไป ก็จะขอเรียนเชิญอีกครั้งหนึ่งว่าประเด็นการสืบสานตำนานเทียนสู่สากลจะมีประเด็นอย่างไร เพราะว่าเราจะมีการจัดงานในเดือน กรกฎาคม นี้แล้ว วันนี้ถือเป็นการปฐมฤกษ์งานเทียนพรรษา ในการนี้ขอกราบขอบคุณทุกท่านอีกครั้งหนึ่งและขอกราบขอบคุณท่านสุวิชช คูณผล มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอกราบขอบพระคุณท่าน ดร. บำเพ็ญ ณ อุบล ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอให้ท่านได้ภูมิใจใน ๒ ท่านนี้ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวอุบลฯ โอกาสหน้าหากมีการเสวนาจะได้เชิญทั้งสองท่านอีกครั้งหนึ่ง ขอกราบขอบคุณทั้ง ๒ ท่านไว้ ณ ที่นี้

อาจารย์ทินกร อัตไพบูลย์ (ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม) "..........อย่างผมทำไปทำไม พาการแสดงไปแสดงทั่วโลกมา เทียนก็จะต้องไปเผยแพร่ด้วย ทำอย่างไรถึงจะไปสู่สากลได้ลูกหลานพวกเราต้องคิดต่อไป กลับไปย้อนถามตัวเองว่าพ่อแม่เราท่านทำมาอย่างนี้ แล้วเราจะทำอะไรต่อไปในอนาคต ในฐานะที่เราเกิดทีหลังต้องคิดไว้แล้วมิใช่อยู่เฉย ๆ.........."

อาจารย์ทินกร อัตไพบูลย์ (ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม)
เราได้ฟังและได้รับความรู้ และถือว่าเราจะต้องนำเอาอดีตมารับใช้ปัจจุบัน เรามีทุนทางวัฒนธรรมที่ดี ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ให้มา ผมคิดว่าที่จะไปสู่สากลก็เป็นเรื่องยากที่เราจะคิดต่อไปอีกว่าทำอย่างไรจะอยู่ได้ต่อไปชั่วลูกหลาน การไปสู่สากลทำไปทำไม อย่างผมทำไปทำไม พาการแสดงไปแสดงทั่วโลกมา เทียนก็จะต้องไปเผยแพร่ด้วย ทำอย่างไรถึงจะไปสู่สากลได้ลูกหลานพวกเราต้องคิดต่อไป กลับไปย้อนถามตัวเองว่าพ่อแม่เราท่านทำมาอย่างนี้ แล้วเราจะทำอะไรต่อไปในอนาคต ในฐานะที่เราเกิดทีหลังต้องคิดไว้แล้วมิใช่อยู่เฉย ๆ

ผมจะถามท่านต่อไปว่าท่านจะทำอย่างไรที่จะนำไปสู่สากลจะทำการตลาดอย่างไร ตอนนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำลังทำตลาดให้เพื่อเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง การศึกษา เกี่ยวข้องไปหมด การสืบทอดสั่งสมก็สำคัญ ดังนั้นตอนนี้คนที่จะมาสั่งสมส่งเสริมให้ลูกหลานนี่คือ ประสบการณ์ตรงของผู้รู้ฉะนั้นถ้าเราจะถามตัวเองว่า แล้วเราจะได้อะไรการนำไปสู่สากลทำไปเพื่ออะไร คำตอบก็น่าจะไปหากัน สร้างแล้วได้อะไรถ้าไม่ได้อะไรมันก็จะเข้าไปสู่วิกฤติการณ์อีกครั้งหนึ่ง เราจะให้วิกฤติการณ์นั้นเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๒ หรือไม่ ถ้าไม่ก็ต้องรวมน้ำใจของเมืองอุบลฯ เป็นหนึ่งเดียว อันนี้จะได้ประสบการณ์กว่ามือไม่พายเอาเท้ามาราน้ำ อันนี้สำคัญคือคนนี้ไม่ทำแล้วยังมาติไม่เพื่อก่อ ติเพื่อทำลาย ถ้าติเพื่อทำลายไม่ใช่เมืองนักปราชญ์ นักปราชญ์ต้องทนได้ในสภาพหนึ่งที่บอกว่า ติอย่างพอเพียง

ฉะนั้น คณะทำงานยุคต่อ ๆ ไปก็เหมือนกันมหาวิทยาลัยพร้อมที่จะสนับสนุนกิจการเหล่านี้อยู่เบื้องหลังจะให้ออกหน้ามากเดี๋ยวจะว่าเอามาทำทั้งหมด คนอื่นไม่มีส่วนร่วมด้วยสังคมต้องช่วยกันทั้งหมด บ้าน วัด โรงเรียน “บ ว ร” ต้องช่วยกัน ถ้าไม่ทำก็ไม่มีช่างสืบสานตำนานเมืองอุบลราชธานี เมืองแห่งเทียน เมืองธรรม ฉะนั้นขอบคุณท่านที่นำนักเรียน นักศึกษา เข้ามาฟัง จะเป็นประโยชน์มาก ในการที่เราจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร

ผมก็ขอทิ้งท้ายเท่านี้ ตอนบ่ายจะเป็นเรื่องของเทคนิคและการพัฒนาเทียนเมืองอุบลฯให้ไปสู่ความเป็นเลิศ คือเลิศล้ำค่าที่กล่าวมาข้างต้น ขอขอบพระคุณท่านผู้ดำเนินการอภิปราย ท่านอาจารย์ปัญญา ท่ามีรูปเก่าสะสมไว้มากท่านพยายามเก็บรูปภาพ เพื่อ “เล่าขานตำนานเมืองอุบลฯ” ร่วมกับคุณพ่อบำเพ็ญ และ ท่านสุวิชช ขอบพระคุณครับ

ค้นหาที่ท่องเที่ยว


Thailand Tourism Standard

ทัวร์แนะนำ

ผู้เข้าชม

มี 1005 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์