งานประเพณีการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ อุบลราชธานี
สารบัญ
ประเพณีการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์
ประวัติความเป็นมา
เจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี หรืออาญาสี่ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร ถือเป็นราชสกุลมาแต่เมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า เมื่อท่านเหล่านี้ถึงแก่อสัญกรรมแล้วให้เชิญศพขึ้นเมรุรูปนกหัสดีลิงค์ (นกหัสดีลิงค์ เป็นนกในวรรณคดีอีสาน มีฤทธิ์อำนาจถือเป็นสัญลักษณ์ของเจ้านายเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า ดูรายละเอียดในบำเพ็ญ ณ อุบล เรื่องประเพณีการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ เอกสาร พิมพ์ดีด) หรือนกสักกะไดลิงค์ แล้วชักลากออกไปบำเพ็ญกุศลที่ทุ่งศรีเมืองเป็นเวลา 5 วัน จึงเผาศพ การทำศพแบบนกหัสดีลิงค์นั้นจำกัดเฉพาะกลุ่มเจ้านายเชื้อสายจำปาศักดิ์เท่านั้น ผู้ไม่ใช่เจ้านายไม่อนุญาตให้ทำศพแบบนี้
ระยะแรกการเผาศพกระทำที่ทุ่งศรีเมือง ต่อมาภายหลังเมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ปกครองเมืองอุบล ให้ยกเลิกประเพณีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมือง (เข้าใจว่าเกรงจะเป็นการเลียนแบบพระมหากษัตริย์ที่มีการเผาพระบรมศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง จึงโปรดให้ยกเลิกประเพณีนี้เสีย) และอนุญาตให้พระเถระที่ทรงคุณธรรม เมื่อมรณภาพให้จัดประเพณีการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ได้ด้วย โดยเริ่มจากธรรมบาลผุย หลักคำเมือง เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม เนื่องจากกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ทรงศรัทธาเลื่อมใส ท่านธรรมบาลว่าเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีความรู้ในพระปริยัติแตกฉานไม่แพ้พระเถระทางกรุงเทพฯ เมื่อท่านธรรมบาล (ผุย) ถึงแก่มรณภาพ เสด็จในกรมสั่งให้สร้างเมรุรูปนกสักกะไดลิงค์ถวายเป็นเกียรติยศ ให้เผาที่ทุ่งศรีเมือง หลังจากนั้นแล้วไม่มีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมืองอีกเลย พระสงฆ์ที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่จึงได้รับเกียรติยศให้ขึ้นนกตั้งแต่นั้นมา
สำหรับตำนานการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์กล่าวว่า นครๆ หนึ่งชื่อนครเชียงรุ้งตักกศิลา พระเจ้าแผ่นดินถึงแก่สวรรคต พระมเหสีนำพระบรมศพแห่แหนไปถวายพระเพลิง นอกเมืองนกสักกะไดลิงค์บินจากป่าหิมพานต์ มาเห็นเข้าจึงได้โฉบลงแย่งพระศพ พระมเหสีให้ทหารสู้กับนกเพื่อแย่งเอาพระศพคืน ในที่สุดมีหญิงสาวผู้หนึ่งชื่อนางสีดา เป็นบุตรีของมหาราชครู อาสาต่อสู้นกหัสดีลิงค์ เจ้านางสีดามีวิชายิงศรเป็นเยี่ยม ได้ใช้ศรยิงถูกนกใหญ่ตกลงมาถึงแก่ความตาย พระมเหสีจึงให้ประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพร้อมนกใหญ่จนกลายเป็นธรรมเนียมสำหรับเจ้านายเชื้อสายจำปาศักดิ์ว่า เมื่อถึงแก่อนิจกรรมแล้วให้ทำพระเมรุรูปนกประกอบหอแก้ว แล้วเชิญศพขึ้นตั้งชักลากออกไปบำเพ็ญพระกุศลครบถ้วน 3 วันจึงเผา ก่อนเผาต้องมีพิธีฆ่านกแล้วเผาทั้งศพทั้งนก
กำหนดงาน
เมื่อเจ้านายเชื้อสายจำปาศักดิ์ ตำแหน่งเจ้าเมืองอุบลถึงแก่อสัญกรรม หรือพระเถระที่ทรงคุณธรรมเป็นที่เคารพนับถือแก่ชาวเมืองถึงแก่มรณภาพ สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่ www.tat.or.thfestival
กิจกรรมพิธี
การสร้างนกจะสร้างจากไม้ไผ่มาจักตอกแล้วสานเป็นโครงรูปนก ทำเมรุหอแก้วบนหลังนก สมัยโบราณนิยมสร้างในห้องนกติดพื้นดินไม่ยกร้านหรือยกพื้นเหมือนปัจจุบัน เพื่อสะดวกในการเผาศพเมื่อสร้างโครงรูปนกด้วยไม้ไผ่แล้ว ให้นำกระดาษมากรุให้ทั่วแล้วเขียนลายสีด้วยสีฝุ่นให้เหมือนนกจริงๆ ส่วนสำคัญคือ ส่วนหัวนกจะต้องให้งวงม้วนได้ ตากระพริบได้ หันคอได้ หูแกว่งได้ อ้าปากและร้องได้ สมัยก่อนช่างสำคัญในการทำนกได้แก่ พระครูวิโรจน์รัตโนบล (สมจิต บุญรอด) ญาพ่อมหาเสนาวัดทุ่งศรีเมือง ช่างสาย ช่างสี จนถึงช่างคำหมา (พ่อใหญ่คำหมา แสงงาม) การสร้างนกต้องมีการยกครู เครื่องยกครูมีขัน หมากเบ็งคู่ ขันผ้า ขันแพร เงินฮ้อย เงินฮาง เครื่องเงิน เครื่องคาย เหบ้าไห ไก่ตัว หัวหมูบาย ศรี เครื่องพิณพาทย์ ราดตะโบน ฆ้องกลองประโคมเวลายกยอดเมรุ
การเชิญศพขึ้นสู่หลังนกและจัดกระบวนแห่
ในพิธีญาติพี่น้องจะแต่งตัวนุ่งขาวห่มขาว เมื่อพร้อมกันแล้วญาติผู้ใหญ่ที่เป็นประธานจะนำขันห้าประกอบด้วย เทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ ขอขมาศพแล้วนำศพสู่เมรุนก เมื่อตั้งศพเรียบร้อยแล้วนิมนต์พระเถระทั้งสี่ขึ้นนั่งบนที่นั่งหลังนกเพื่ออ่านคัมภีร์บนนกนั้นด้วย กระบวนแห่ศพจะนำเชือกหนังอย่างดีผูกมัดเป็นฐานนกซึ่งทำเป็นตะเฆ่ใหญ่ 3 เส้น แล้วจัดคนเข้าแถวตามเส้นเชือกนั้นเป็น 3 แถว กระบวนสุดท้ายคือ ต้นแถวจะมีคนหามฆ้องใหญ่ตีให้สัญญาณนำหน้า แถวถัดมาเป็นกระบวนพิณพาทย์เครื่องประโคมแห่ มีคนถือธงสามหางและธงช่อ ธงชัย กระบวนหอก กระบวนดาบ กระบวนช้าง กระบวนเครื่องยศของผู้ตายแล้วจึงถึงกระบวนชักลากด้วยเชือกสามสายดังกล่าว
เมื่อได้สัญญาณแล้วก็จะพร้อมกันดึงนกให้เคลื่อนที่แห่ไปตามถนนจนถึงวัด กระบวนท้ายคือกระบวนผู้ที่จะใช้ท่อนไม้งัดตะเฆ่นกใหญ่หากติดขัด ในการแห่นกใหญ่จะมีคนมาร่วมกระบวนมากเรียกว่า พร้อมกันทั้งเมืองเลยทีเดียว เพราะถือว่าเป็นการแสดงความเคารพรักแก่ผู้ตายในครั้งสุดท้าย แม้แต่เจ้านายที่เป็นญาติกันที่อยู่เมืองอื่นก็มาร่วมงานด้วย ประเพณีการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ ถือเป็นงานใหญ่เจ้าภาพจึงต้องจัดโรงทานไว้ตลอดงาน
สำหรับพิธีฆ่านก ถือตามตำนานว่าผู้ฆ่านกจะต้องสืบสกุลจากเจ้านางสีดา ผู้ฆ่านกในสมัยโบราณ ซึ่งมีการสืบทอดเชื้อสายกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ทายาทคนล่าสุด คือ นางสมวาสนา รัศมี อายุประมาณ 60 ปี เพิ่งได้รับการลง (ทรง)เจ้านางสีดา เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2535
เจ้าภาพมอบให้ผู้มีเชื้อสายเจ้านาย คือ อัญญาชาย 2 คน หญิง 2 คน เชิญผู้ฆ่านกไปฆ่านก เมื่อคนทรงได้รับเชิญแล้วจะเข้าประทับทรงเชิญเจ้านางสีดามารับเชิญ และเรียกค่าบูชาครูก่อนทำพิธีฆ่านกเรียกว่า คายหน้า ค่าบูชาครูมีดังนี้ เงินสด 12 ตำลึง คายเชิญ 1,000 บาท เครื่องแต่งตัว เป็นเครื่องทองรูปพรรณหนัก 10 บาท (ยืมมาเป็นพิธี เสร็จแล้วส่งคืน) ศีรษะสุกรพร้อมขาหางต้มแล้ว 1 ชุด ไก่ต้ม พร้อมเครื่องใน 4 ตัว พาหวาน (ขนมหวาน) 1 พา (ถาด) มะพร้าวอ่อนผ่าแล้ว 4 ลูก กล้วยน้ำว้า 4 หวี สุรา 2 ไห บายศรี 7 ชั้น พิณพาทย์กลองยาว 1 ชุด แคนและคนเป่า 1 คน ฉิ่งและคนตี 1 คน ผู้ไปเชิญเชื้อสายอัญญาสี่ ชาย 4 คน หญิง 2 คน เสลี่ยงทรงแม่นางสีดาพร้อมคนหาม 11 คน
เมื่อคนทรงทำพิธีบวงสรวงในตอนเช้าก่อนเที่ยงแล้วก็เข้าประทับทรง แล้วทรงเครื่อง สวมหมวก ถือศร แล้วร่ายรำไปขึ้นเสลี่ยงเข้ากระบวนแห่ไปบริเวณงานศพที่มีนกใหญ่หรือนกสักกะไดลิงค์ ตั้งอยู่โดยมีคนขึ้นสัปทนแดงให้ มีทหารถือหอกง้าวแห่พร้อมกล้วย อ้อย และบริวารตามไปเป็นแถว เมื่อไปถึงบริเวณงานกระบวนนางทรงฆ่านกก็จะแห่ไปรอบๆ นก และทำท่าล่อหลอกนก ฝ่ายนกเมื่อเห็นคู่ต่อสู้ไปถึงก็จะยกงวงร้องเสียงดังและกลอกตา กระพือปีก แกว่งหู หันหน้าเข้าใส่คนฆ่านกประหนึ่งต่อสู้กัน ฝ่ายข้างนางทรงผู้ฆ่านกพอได้จังหวะก็แผลงศรใส่นกเมื่อศรปักอกนก คนอยู่ข้างในร่างนก ก็จะเทน้ำสีแดงที่เตรียมไว้ออกมาตามรูลูกศรประหนึ่งนกหลั่งเลือด เมื่อนกถูกลูกศรก็จะดิ้นรนจนเงียบไป งวงตก ตาหลับ เป็นสัญญาณว่านกตาย ช่างนกก็จะนำผ้าขาวมามัดส่วนหัวนก แล้วหันหน้านกไปทางที่ศพตั้งอยู่เป็นอันเสร็จพิธีฆ่านก แล้วเตรียมการเผาศพ ก่อนมีพิธีฆ่านก เจ้าภาพจะจัดพิธีทอดผ้าทางศาสนาเสียก่อน
หลังจากเผานกและเมรุแล้ว คืนนั้นจะมีมหรสพสมโภชอัฐิไปด้วย รุ่งเช้าเก็บอัฐิและอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย แล้วนำอัฐิไปก่อธาตุบรรจุต่อไป เป็นอันเสร็จพิธีทำศพแบบนกหัสดีลิงค์
งานเทศกาลท่องเที่ยวแม่น้ำโขงรับตะวันใหม่ก่อนใครในสยาม จังหวัดอุบลราชธานี
ดินแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง ด้านตะวันออกสุดของประเทศไทย ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งท่องเที่ยวอันหลากหลาย และบริการสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมแล้วที่จะต้อนรับท่าน ไปค้นหาและเติมเต็มประสบการณ์ใหม่ในการท่องเที่ยว ตลอด 62 วันของการเฉลิมฉลองการส่ง – รับตะวันแห่งปี
ในระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี – 31 มกราคม ของทุกปี ททท . ร่วมกับ ทุกภาคส่วนในพื้นที่ติดต่อแม่น้ำโขงของจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอำนาจเจริญ กำหนดจัดงาน เทศกาลท่องเที่ยวแม่น้ำโขง “รับตะวันใหม่ ก่อนใครในสยาม” ขึ้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของทั้งสองจังหวัด ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ โดยใช้ความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว และเอกสิทธิ์การเป็นแผ่นดินริมแม่น้ำโขงด้านทิศตะวัน ออกสุดที่เห็นแสงพระอาทิตย์ก่อนใครในประเทศไทยเป็นจุดขาย
ในวันสิ้นสุดเทศกาล จังหวัดอำนาจเจริญ จะมีกิจกรรมงานพาแลงส่งตะวันสองฝั่งโขง " ชมโขงส่งตะวัน" วันที่ 31 มกราคม ของทุกปี ร่วมกิจกรรมส่งตะวันกลางแม่น้ำโขง บริเวณแก่งต่างหล่าง พร้อมล่องเรือชมทัศนียภาพลำน้ำโขง ชมวิถีชีวิตชุมชนสองฝั่งโขง นมัสการพระธาตุเฮือนหิน ของ สปป.ลาว ซึ่งสร้างพร้อมกับพระธาตุพนม ร่วมงานพาแลง ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน และในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กิจกรรมการแข่งขันวิ่งมินิมาราธอน พื้นที่ดำเนินการ ณ บริเวณริมฝั่งโขง หน้าสำนักงานเทศบาลตำบลชานุมาน อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ
วันที่ 1 ธันวาคม - 31 มกราคม ของทุกปี
ณ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
กิจกรรม
กิจกรรมส่งตะวัน/รับตะวัน กิจกรรมทัวร์ล่องโขงส่งตะวัน กิจกรรมเคาท์ดาวน์ กิจกรรมไหลโคมล่องโขงกิจกรรมทำบุญตักบาตรรับตะวันใหม ่
สอบถามรายละเอียด
ททท.สำนักงานอุบลราชธานี โทร. 0 4524 3770
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม โทร. 0 4524 6332
ประเพณี งานบุญมหากฐินถิ่นนักปราชญ์
งานบุญกฐินถิ่นนักปราชญ์ ทอดวัดในจังหวัดอุบลราชธานีจำนวน 409 วัดที่ วัดทุ่งศรีเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธนี
ประเพณี วันปีใหม่และงานกาชาดประจำปี
ประเพณี งานวันปีใหม่ จังหวัดอุบลราชธานีมักจะมีการจัดงานปีใหม่โดยรวมกับเทศกาลงานกาชาด และจัดให้เป็นงานประจำปีของจังหวัดทุกปี
วัฒนธรรม ดนตรีอิสาน
ประเพณี แห่บั้งไฟ