อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กำแพงเพชร
สารบัญ
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
ข้อมูลทั่วไป
มีพื้นที่ครอบคลุมครอบคลุม 2 จังหวัด คือ ท้องที่อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอแม่วงก์ และกิ่งอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนที่อยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร ตำบลปางตาไว อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร เรียกว่า ป่าคลองแม่วงก์-ป่าคลองขลุง ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2530 ใช้ชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติแม่วงก์" มีเนื้อที่ประมาณ 894 ตารางกิโลเมตร ในเขตท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ตามเทือกเขาสูงชันก่อกำเนิดเป็นน้ำตกที่สวยงาม 4-5 แห่ง ทั้งเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีแก่งหินทำให้เกิดน้ำตกเล็กๆ ตามแก่งหินนี้ ตลอดจนมีหน้าผาที่สวยงามตามธรรมชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 558.750 ไร่ หรือ 894 ตารางกิโลเมตร
เป็นหนึ่งในผืนป่าตะวันตกที่มีพื้นที่ป่าสมบูรณ์มากที่สุดตั้งแต่จังหวัดตาก จนถึงจังหวัดกาญจนบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 558,750 ไร่ หรือ 894 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ทิศเหนือของอุทยานฯติดกับอุทยานแห่งชาติคลองลาน ทิศใต้ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และทิศตะวันตกติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14กันยายน 2530
พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์มีอาณาเขต ติดต่อกับป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งสัตว์สามารถใช้เส้นทางเดินติดต่อกันได้ จึงสามารถพบเห็นสัตว์ป่าหายากหลายชนิด ได้แก่ สมเสร็จ เลียงผา กระทิง ช้างป่า
ป่าส่วนใหญ่ของอุทยานฯประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ และป่าเต็งรัง มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญและมีค่ามากมาย เช่น สัก ประดู่ มะค่าโมง ยางแดง เต็ง รัง เป็นตัน นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าที่หายาก เช่น ช้างป่า กระทิง เสือ กวาง เก้ง หมี แมวลาย และนกต่าง ๆ มากกว่า 305 ชนิด จาก 53 วงศ์ ซึ่งนกบางชนิดพบเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย เช่น นกกระเต็นขาวดำใหญ่ นกเงือกคอแดง นกกางเขนดง นกโพระดกหูเขียว และนกพญาปากกว้างหางยาว เป็นต้น ช่วงที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวมากที่สุดคือฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
ด้วย นายสวัสดิ์ คำประกอบ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือจากสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร 0104/9871 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2526 ถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์) ขอให้จัดพื้นที่ป่าแม่วงก์-แม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งมีสภาพธรรมชาติและน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง สภาพป่าอุดมสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำลำธาร กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้มีคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1290/2526 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2526 ให้นายชัยณรงค์ จันทรศาลทูล นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูล ปรากฏว่า พื้นที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกแม่กระสาหรือแม่กี ซึ่งสูงประมาณ 200 เมตร และหน้าผาต่างๆ สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กษ 0713/พิเศษ ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2526
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2528 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2528 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองขลุงและป่าคลองแม่วงก์ในท้องที่ตำบลปางตาไว อำเภอคลองขลุง (ปัจจุบันเป็นอำเภอปางศิลาทอง) จังหวัดกำแพงเพชร และป่าแม่วงก์–แม่เปิน ในท้องที่ตำบลแม่เลย์ และตำบลห้วยน้ำหอม อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ (ปัจจุบันเป็นตำบลแม่เลย์ อำเภอแม่วงก์ และตำบลแม่เปิน กิ่งอำเภอแม่เปิน) เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 104 ตอนที่ 183 ลงวันที่ 14 กันยายน 2530 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 55 ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเรียงรายกันอยู่ตามเทือกเขาถนนธงชัยลดหลั่นลงมาจนถึงพื้นราบ ประมาณ 40-50 ลูก ยอดที่สูงที่สุดคือ “ยอดเขาโมโกจู” สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,964 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ ส่วนพื้นที่ราบมีไม่มาก ส่วนใหญ่อยู่บริเวณริมแม่น้ำ และเป็นแหล่งแร่ธาตุสำคัญ เช่น แร่ไมก้า
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในช่วงฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่เหมาะแก่การไปท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะอากาศค่อนข้างหนาวเย็น อันเนื่องมาจากลิ่มความกดอากาศสูงมาจากประเทศจีนแผ่ลงมาทางตอนใต้เข้าสู่ประเทศไทยตอนบนและปกคลุมทั่วประเทศ ลมที่พัดสู่ประเทศไทยในฤดูนี้คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนช่วงฤดูร้อนเริ่มต้นจากเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม อากาศค่อนข้างร้อนจัดและมีฝนตกน้อย ทำให้สังคมพืชป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณผลัดใบ สำหรับฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน - เดือนตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,100 มิลลิเมตรต่อปี
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าทั่วไปของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ประกอบด้วย ป่าเบญจพรรณ จะอยู่บริเวณที่ราบริมฝั่งห้วยและภูเขาที่ไม่สูงนัก พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สัก เสลา ชิงชัน กระบก กระพี้เขาควาย มะค่าโมง งิ้วป่า ประดู่ป่า กาสามปีก ติ้ว ฯลฯ มีไผ่ชนิดต่างๆขึ้นอยู่หลายชนิด เช่น ไผ่ป่า ไผ่ไร่ ไผ่ซางนวล ไผ่รวก พืชพื้นล่าง เช่น หนามเค็ด ส้มเสี้ยว หนามคนฑา เป็นต้น
ป่าเต็งรัง ขึ้นอยู่สลับกับป่าเบญจพรรณ พบในช่วงระดับความสูงตั้งแต่ 100-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง กราด มะเกิ้ม ประดู่ มะม่วงป่า มะค่าแต้ พะยอม มะขามป้อม สมอไทย ฯลฯ พืชพื้นล่างที่พบ เช่น ไผ่เพ็ก และปรง เป็นต้น
ป่าดิบเขา พบขึ้นอยู่ในบริเวณที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300-1,500 เมตร พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ก่อใบเลื่อม ก่อเดือย ก่อลิ้น ก่อแอบ ทะโล้ จำปาป่า กะเพราต้น หนอนขี้ควาย กำลังเสือโคร่ง ดำดง กล้วยฤาษี และมะนาวควาย เป็นต้น
ป่าดิบแล้ง ประกอบด้วย ยางแดง ยางนา กระบาก ตะเคียนหิน ปออีเก้ง สมพง กัดลิ้น มะหาด พลอง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีไม้พุ่มและพืชพื้นล่างต่างๆ ที่ทนร่มอีกมากมายหลายชนิด เช่น เข็มขาว หนามคนฑา ว่าน พืชหัวต่างๆ อีกทั้งกล้วยไม้ต่างๆ อีกมากมาย
ทุ่งหญ้า พบกระจัดกระจายไปตามป่าประเภทต่างๆ ที่มีอยู่ เกิดจากการทำลายป่าของชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่ สังคมพืชที่ขึ้นทดแทนในพื้นที่ได้แก่ หญ้าคา หญ้านิ้วหนู เลา สาบเสือ พง แขมหลวง มะเดื่อ ไมยราบเครือ ไมยราบต้น ลำพูป่า หว้า ติ้วแดง งิ้วป่า มะเดื่อหอม เป็นต้น
เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์มีอาณาเขตติดต่อกับป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งสัตว์สามารถใช้เส้นทางเดินติดต่อกันได้ ได้แก่ สมเสร็จ เลียงผา กระทิง ช้างป่า เสือโคร่ง เสือดาว หมีควาย หมีหมา ชะนีธรรมดา ค่างหงอก ลิงกัง อ้นเล็ก กระรอกบินเล็กแกมขาว ค้างคาวปากย่น ไก่ป่า เหยี่ยวรุ้ง นกแว่นสีเทา นกกก นกเงือกกรามช้าง นกปรอดเหลืองหัวจุก นกเขาใหญ่ นกกะเต็นอกขาว นกจาบคาเคราน้ำเงิน นกแซงแซวสีเทา เต่าหก เต่าเหลือง เหี้ย ตะกวด งูเห่า งูแมวเซา ฯลฯ
สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจภายในอุทยานฯ
แก่งผานางคอย
เป็นแก่งน้ำและแก่งหินลำห้วยคลองขลุง จากถนนคลองลาน-อุ้มผาง ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ 1,400 เมตร จะมีทางแยกเข้าไปอีก 400 เมตร จะถึงบริเวณแก่งหินขนาดใหญ่ที่มีลำน้ำคลองขลุงไหลผ่าน ซึ่งเป็นลำน้ำสายหนึ่งในหลายๆ สายที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง จากบริเวณแก่งเดินขึ้นไปตามลำน้ำอีกประมาณ 350 เมตร จะถึง น้ำตกผาคอยนาง น้ำตกขนาดเล็กที่เด่นและสะดุดตา มีน้ำตก 4 ชั้น แต่ละชั้นมีความสูงประมาณ 20 เมตร และบริเวณใกล้น้ำตกสามารถกางเต็นท์พักแรมได้ด้วย
นอกจากน้ำตกแล้วพื้นที่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ก็ยังมีแก่งหินปูนมีน้ำไหลลดหลั่นเป็นชั้นเหมาะแก่การท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนในเวลากลางวันและเป็นที่ชมทิวทัศน์ พักรับประทานอาหาร ในบรรยากาศท่ามกลางหุบเขาอันร่มรื่นเย็นสบายบริเวณแก่งผาคอยนางนี้ นักท่องเที่ยวสามารถกางเต็นท์พักแรมได้
จุดชมทิวทัศน์ กม.57-115
ตลอดเส้นทางคลองลาน-อุ้มผาง ระหว่างกิโลเมตรที่ 57 – 115 มีจุดชมทิวทัศน์หลายแห่ง เช่น จุดชมทิวทัศน์กิโลเมตรที่ 81 กิโลเมตรที่ 87 กิโลเมตรที่ 93 กิโลเมตรที่ 102 และกิโลเมตรที่ 115 แต่ละแห่งสามารถมองทัศนียภาพที่สวยงามมองเห็นทิวเขาไกลสุดสายตา และสามารถกางเต็นท์พักแรมได้ โดยเฉพาะกิโลเมตรที่ 93 เป็นจุดที่มีความสูงที่สุดของถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง กิโลเมตรที่ 102 มีน้ำตกริมทางสวยงาม มี 4 ชั้น แต่ละชั้นมีความสูงประมาณ 90 เมตร
จากที่ทำการอุทยานฯ ไปตามถนนคลองลาน-อุ้มผาง ประมาณ 16 กิโลเมตร จะถึงบริเวณหน้าผา เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของป่ารอบ ๆ ได้อย่างสวยงาม บริเวณนี้สามารถกางเต็นท์พักแรมได้
ช่องเย็น (กม.93)
อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 28 กิโลเมตร เป็นจุดสูงสุดของถนนคลองลาน - อุ้มผาง และเป็นจุดสุดท้ายที่ยานพาหนะเข้าถึง มีความสูงประมาณ 1,340 เมตร จากระดับน้ำทะเล อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียล เนื่องจากบริเวณนี้เเป็นช่องเขาที่มีสายลมพัดผ่านตลอดเวลา จึงถูกขนานนามว่า “ช่องเย็น” ตามสภาพภูมิอากาศของพื้นที่แห่งนี้ ช่องเย็นมีสภาพอากาศที่เย็นและชื้น จึงพบพันธุ์ไม้ที่ชอบความชุ่มชื้นบริเวณนี้ ได้แก่ กล้วยไม้ เฟิร์น มหัสดำ (Treefern) นอกจากนี้ช่องเย็นยังเป็นถิ่นอาศัยของนกหลากหลายชนิด จึงเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองไทย
มีสายลมพัดผ่านและหมอกปกคลุมอยู่เสมอ อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี และเป็นที่ดูพระอาทิตย์ตกได้อย่างสวยงามอีกจุดหนึ่ง สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าดิบเขา มีกล้วยไม้หายาก เช่น สิงโตกลอกตา เฟิร์น มหาสดำ มีนกหายาก เช่น นกเงือกคอแดง นกภูหงอนพม่า นกพญาปากกว้างหางยาว และนกหัวขวานใหญ่หงอนเหลือง นกเหล่านี้จะพบเห็นได้บริเวณบ้านพัก บริเวณ “ช่องเย็น” มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการ แต่จะต้องเตรียมอุปกรณ์มาเอง คือ ผ้าพลาสติก เสื้อกันหนาว ตะเกียงหรือไฟฉาย เพราะไม่มีไฟฟ้าหรือเตาแก๊สสำหรับการปรุงอาหาร โลชั่นกันแมลง และถุงสำหรับนำขยะลงไปทิ้ง เพราะช่องเย็นไม่สามารถกำจัดขยะได้ เส้นทางขี้น-ลง“ช่องเย็น” เป็นทางเลียบหน้าผาทางแคบรถไม่สามารถสวนกันได้
ทางอุทยานฯ จึงได้กำหนดเวลาขึ้น-ลง คือ เวลาขึ้น 05.00-06.00 น. 09.00-10.00 น. และ 13.00-14.00 น. เวลาลง 07.00-08.00 น. 11.00-12.00 น. และ 15.00-16.00 น.
น้ำตกนางนวล
อยู่บริเวณ กม.ที่ 99 ของถนนคลองลาน-อุ้มผาง น้ำตกนางนวลเป็นน้ำตกขนาดกลางที่สวยงาม มีทั้งหมด 4 ชั้น จากช่องเย็นเดินเท้าไปตามถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง ประมาณ 6 กิโลเมตร แล้วเดินลงเขา 200 เมตร จะถึงน้ำตก ผู้สนใจติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติที่ช่องเย็น
น้ำตกแม่กระสา
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สูงที่สูงที่สุดในบริเวณนี้ มีความสูงกว่า 1,000 เมตร มีชั้นลดหลั่นถึง 9 ชั้น มีบางชั้นที่มีความสูงถึง 270 เมตร น้ำไหลแรงสวยงามตลอดปี อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 21 กิโลเมตร ต้องเดินเท้าเข้าไป ใช้เวลาเดินไปกลับ 3-4 วัน
น้ำตกแม่กี
เป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับน้ำตกแม่รีวาและน้ำตกแม่กระสา เป็นน้ำตกที่มีความสูงประมาณ 200 เมตร แบ่งเป็นชั้นๆ ถึง 9 ชั้น น้ำไหลเกือบตลอดปี มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาถนนธงชัย การเข้าไปยังน้ำตกการเดินทางต้องเดินเท้าไปกลับ 3 วัน น้ำตกแห่งนี้ได้รับคำกล่าวชมจากหนังสือ ASEAN MAGAZINE เมื่อปี พ.ศ. 2518 ว่าเป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดในเอเชีย
น้ำตกแม่รีวา
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สวยงามมาก มีแอ่งน้ำลักษณะเป็นอ่างกลมกว้างราว 30-40 เมตร รับสายน้ำที่ตกลงมาเป็นชั้นๆ มีทั้งหมด 5 ชั้น ชั้นที่ 3 มีความสูงที่สุดประมาณ 100 เมตร มีสภาพสวยงามมาก น้ำตกแม่เรวา อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 21 กิโลเมตร รถเข้าไม่ถึงเช่นเดียวกันต้องใช้เวลาในการเดินทางต้องเดินเท้าไปกลับ 3-4 วัน
น้ำตกเสือโคร่ง
เป็นน้ำตกที่สวยงาม จากช่องเย็นเดินเท้าไปเส้นทางเดียวกับน้ำตกนางนวล โดยเดินต่อจากน้ำตกนางนวล ต้องเดินไป ประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตก การเดินทางเข้าไปน้ำตกทั้งสองแห่งต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนทุกครั้ง
บ่อน้ำอุ่น
เป็นบ่อน้ำอุ่นที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดินตามธรรมชาติ น้ำอุ่นมีอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส รัศมีความกว้างประมาณ 4 เมตร มีสัตว์ป่าชุกชุม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 1.5 กิโลเมตร
ยอดเขาโมโกจู
เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และสูงที่สุดในผืนป่าตะวันตก เป็นยอดเขาที่นักนิยมการท่องเที่ยวแบบเดินป่า ปีนเขา ต้องการที่จะไปเยือนสักครั้ง ขุนเขาแห่งความหนาวเย็น ด้วยความสูง 1,964 เมตร จากระดับน้ำทะเล โมโกจูจึงเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในแม่วงก์ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 27 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าไปกลับ 4-5 วัน แม้ระยะทางจะไกลและยากแก่การเข้าไปถึง แต่โมโกจูก็ยังเป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทางหลายๆ คน ที่จะเก็บเป็นความประทับใจครั้งหนึ่งในชีวิต
คำว่า “โมโกจู” เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า เหมือนฝนจะตก เนื่องจากบนยอดเขามักถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกและมีอากาศหนาวเย็นตลอดเวลา ผู้สนใจจะไปสัมผัสยอดเขาโมโกจู ต้องเตรียมความพร้อมของร่างกายเพราะจะต้องขึ้นเขาที่มีความลาดชันไม่ต่ำกว่า 60 องศา ใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับ 5 วัน และต้องพักแรมในป่าตามจุดที่กำหนด นอกจากนั้นควรศึกษาสภาพเส้นทาง สภาพอากาศ และติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางก่อนจากทางอุทยานฯ ก่อนตัดสินใจจะไปสัมผัส “โมโกจู” ช่วงที่จะเปิดให้เดินขึ้นยอดเขาโมโกจู คือเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
ตู้ ปณ. 29 อ. คลองลาน จ. กำแพงเพชร 62180
โทรศัพท์ 0 5571 9010-1 อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 เลี้ยวซ้าย กม.ที่ 338 เข้าทางหลวงหมายเลข 1117สายคลองลาน-อุ้มผาง เมื่อถึงสี่แยกเข้าคลองลานให้ตรงไปอีก 19 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ แต่หากใช้ทางหลวง 1072 ลาดยาว-คลองลาน เมื่อถึงสี่แยกตลาดคลองลานแล้วให้เลี้ยวซ้ายไปที่ทำการอุทยานฯ หรือ นั่งรถโดยสารปรับอากาศ กรุงเทพฯ- คลองลาน ลงที่ตลาดคลองลาน แล้วเหมารถสองแถวหรือรถมอเตอร์ไซด์ไปอุทยานฯ ได้เช่นเดียวกัน
จากจังหวัดนครสวรรค์ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ถึงอำเภอขลุงแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1242 ไปประมาณ 40 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1072 ไปอีก 10 กิโลเมตร จะพบสี่แยกคลองลาน ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1117 ถนนคลองลาน-อุ้มผางประมาณ 15 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์
อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมเต็นท์และสถานที่กางเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว
- บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ รองรับนักท่องเที่ยวได้มากกว่า 150 คน
- บริเวณแก่งผาคอยนาง รองรับนักท่องเที่ยวได้ 150 คน
- บริเวณจุดชมวิวกิ่วกระทิง (ก.ม.81) รองรับนักท่องเที่ยวได้ 50 คน
- บริเวณช่องเย็น รองรับนักท่องเที่ยวได้ 150 คน
- ขุนน้ำเย็น รองรับนักท่องเที่ยวได้ 150 คน
- แก่งลานนกยูง รองรับนักท่องเที่ยวได้ 50 คน
การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง สำหรับอัตราค่าบริการอยู่ระหว่าง 250-800 บาท ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ เช่น
รายการที่ 1
- เต็นท์ ขนาด 3 คน ราคา 250 บาท/คืน
- เต็นท์โดม ขนาด 5 คน ราคา 400 บาท/คืน
- เต็นท์เคบิน ขนาด 6 คน ราคา 500 บาท/คืน
- เต็นท์ค่าย ขนาด 6 คน ราคา 500 บาท/คืน
แต่ละประเภทจะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอน ที่รองนอน ถุงนอน และชุดสนาม
รายการที่ 2
- เต็นท์ ขนาด 2 คน ราคา 400 บาท/คืน
- เต็นท์โดม ขนาด 4 คน ราคา 800 บาท/คืน
- เต็นท์เคบิน ขนาด 4 คน ราคา 800 บาท/คืน
- เต็นท์ค่าย ขนาด 4 คน ราคา 800 บาท/คืน
แต่ละประเภทจะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอนใหญ่ ที่นอน ผ่าห่ม และชุดสนาม
กรณีที่นำเต็นท์ไปกางเอง ต้องเสียค่าบริการสถานที่ 30 บาท/คน/คืน หากไม่มีเครื่องนอนก็ใช้บริการเครื่องนอนและอุปกรณ์สนามของอุทยานฯ มีอัตราค่าบริการเครื่องนอนกรณีนำเต็นท์ไปเอง มีดังนี้
1) ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอน ถุงนอน ที่รองนอน และชุดสนาม ราคา 150 บาท/ชุด/คืน
2) ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอนใหญ่ ที่นอน ผ่าห่ม และชุดสนาม ราคา 200 บาท/ชุด/คืน
บริการอาหาร
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีร้านค้าสวัสดิการตั้งอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ บริการอาหารตามสั่ง และของใช้ที่จำเป็น หากต้องการสั่งอาหารเป็นหมู่คณะหรือจำนวนมาก ต้องสั่งล่วงหน้า ส่วนบริเวณแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ไม่มีร้านค้าและร้านอาหาร
ระบบสาธารณูปโภค
ระบบไฟฟ้า มีใช้บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ส่วนบริเวณแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ยังไม่มีไฟฟ้าใช้
นอกจากนั้นอุทยานฯ ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกนางนวล ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร และเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกธารบุญมี ซึ่งใช้เวลาในการเดิน 2 ชั่วโมง สามารถศึกษาพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ และพันธุ์นกต่าง ๆ ที่หาดูได้ยากอีกด้วย
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องเดินป่าระยะไกลซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อถึงฤดูกาลท่องเที่ยว ทางอุทยานฯ จะจัดทำตารางกำหนดเวลาเดินป่าระยะไกลประจำปีซึ่งนักท่องเที่ยว ต้องปฏิบัติตามกติกาการเดินทางอย่างเคร่งครัด และควรติดต่อจองเวลาการเดินทางและขอคำแนะนำในการเตรียมตัวและอุปกรณ์ จากเจ้าหน้าที่อุทยานให้พร้อม ทางอุทยานฯ มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว แต่ต้องนำเต็นท์มาเอง สอบถามข้อมูลได้ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กิโลเมตรที่ 65 ถนนคลองลาน-อุ้มผาง กิโลเมตรที่ 65 อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร 62180 โทร. 0 5576 6024 0 5576 6027 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เขตบางเขน กรุงเทพฯ
โทร.0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th หรือ ตู้ ป.ณ. 29 อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร 62180