อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า กำแพงเพชร
สารบัญ
อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า
ห่างจากตัวเมืองกำแพงเพชรระยะทางประมาณ 43 กิโลเมตร เป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ มีเนื้อที่ 466,875 ไร่ มีไม้สักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างหนาแน่น มีน้ำตกที่สวยงามน่าท่องเที่ยวหลายแห่ง เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งขึ้นใหม่ อยู่ในเขตตำบลโกสัมพีห่างจากตัวเมือง 70 กิโลเมตร มีสภาพธรรมชาติ ป่าไม้ ภูเขา น้ำตกที่สวยงามหลายแห่งนอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านกะเหรี่ยงด้วย ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2533 นอกจากนั้นใกล้ ๆ อุทยานฯ ยังมีหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ซึ่งยังมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเดิม
มีพื้นที่อยู่ในเขตรอยต่อระหว่างบริเวณเขตเทือกเขาภาคตะวันตกกับบริเวณขอบที่ราบภาค กลาง สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน แนวเขาวางตัวในทิศเหนือ-ใต้ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย ที่ราบอยู่ทางตอนกลางพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะเป็นอ่างกะทะขนาดเล็ก จำนวน 2 แอ่ง พื้นที่ 2,000-5,000 ไร่ แนวเทือกเขาที่สำคัญได้แก่ เขาเย็น เขาสน เขาเต่าดำ เขาขนุน เขาขาแล้ง เขาอีโละโคะ เขาวังเจ้า เขาปั๋งใหญ่ ดอยลวก และเขาวุ๊งกะสัง เป็นต้น ความสูงของพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-1,898 เมตรโดยมียอดเขาเย็นที่อยู่ทางทิศตะวันตกของพื้นที่สูงที่สุด พื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ประกอบด้วย 2 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำคลองวังเจ้า และลุ่มน้ำคลองสวนหมาก
มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอคลองลาน กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร และกิ่งอำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำปิง มีสัตว์ป่า นานาชนิด ตลอดจนจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ หน้าผา โป่งแก๊สธรรมชาติ เป็นต้น มีเนื้อที่ประมาณ 466,875 ไร่ หรือ 747 ตารางกิโลเมตร
ด้วย ฯพณฯ พันโทสนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ไปตรวจราชการในท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร เกี่ยวกับการบุกรุกทำลายป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองวังเจ้า และป่าคลองสวนหมาก ท้องที่อำเภอคลองลาน และอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2531 ได้บันทึกสั่งการให้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จังหวัดกำแพงเพชร ได้ประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2531 มีมติเห็นสมควรกำหนดบริเวณป่าดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพธรรมชาติให้อยู่คงเดิม
กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กษ 0713/1499 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2531 เสนอกรมป่าไม้มีคำสั่งที่ 1914/2531 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2531 ให้นายวิฑูรย์ อุรัชโนประกร นักวิชาการป่าไม้ 4 สำรวจจัดตั้งป่าบริเวณดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียงในท้องที่จังหวัดตากเป็นอุทยานแห่งชาติ ผลการสำรวจตามหนังสืออุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าที่ กษ 0713(วจ)/11 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2532 รายงานว่าพื้นที่ป่าคลองวังเจ้า ป่าคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร ได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 488 (พ.ศ. 2515) ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89 ตอนที่ 175 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2515 และป่าประดาง-วังเจ้า อำเภอเมืองตาก ได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2507) ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 81 ตอนที่ 116 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2507 มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามเหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าประดาง และป่าวังก์เจ้า ในท้องที่ตำบลเชียงทอง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก และป่าคลองวังเจ้า และป่าคลองสวนหมาก ในท้องที่ตำบลโกสัมพี อำเภอเมืองกำแพงเพชร และตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 107 ตอนที่ 158 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2533 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 63 ของประเทศ
อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอคลองลาน กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร และกิ่งอำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำปิง มีสัตว์ป่า นานาชนิด ตลอดจนจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ หน้าผา โป่งแก๊สธรรมชาติ เป็นต้น มีเนื้อที่ประมาณ 466,875 ไร่ หรือ 747 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2533
อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า มีสถานที่น่าสนใจ อาทิ น้ำตกคลองวังเจ้า ห่างจากที่ทำการ 1.5 กิโลเมตร สูง 20 เมตรน้ำตกคลองสมอกล้วย มี 4 ชั้น ห่างจากที่ทำการ 1.5 กิโลเมตร มีน้ำไหลตลอดปีจุดชมวิวผาตั้ง ห่างจากที่ทำการ 3 กิโลเมตร อยู่ริมทางที่จะไป
หมู่บ้านโละโคะ ชมพระอาทิตย์ลับทิวเขาได้ โป่งแก๊สธรรมชาติ มี 2 แห่ง คือทางไปน้ำตกคลองโป่ง และน้ำตกเต่าดำ ประมาณ 1,500 เมตร น้ำตกคลองโป่ง มี 4 ชั้น เป็นน้ำตกหินชนวน สูง 100 เมตร พบกล้วยไม้ประเภทลิ้นมังกรบริเวณน้ำตกได้ การเดินทางต้องค้างคืน 1 คืน น้ำตกเต่าดำ มี 2 ชั้น เป็นน้ำตกใหญ่ที่น้ำไหลดิ่งลงมาจากหน้าผา แต่ละชั้นสูง 200 เมตร ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติฯ 34 กิโลเมตร ทางไปน้ำตกถนนไม่ดีต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ เส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติ “สวนไผ่” ระยะทาง 2 กิโลเมตร มีพันธุ์ไผ่กว่า 20 ชนิดให้ศึกษาค้นคว้า
อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ และร้านอาหาร ไว้บริการนักท่องเที่ยว
อุทยานแห่งชาติคลองวัง เจ้า มีเส้นทางเดินป่าเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาธรรมชาติ ดูนก ศึกษาพันธุ์ไม้ นักท่องเที่ยวสามารถแวะพักชมวิถีชีวิตและซื้อของที่ระลึก เช่น ผ้าทอมือ ของชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่หมู่บ้านวุ๊งกะสัง หมู่บ้านโละโคะ หมู่บ้านป่าหมาก และหมู่บ้านป่าคา และท่องเที่ยวตามแหล่งท่องทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง มีป่าสักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างหนาแน่น มีน้ำตกที่สวยงามน่าท่องเที่ยวหลายแห่ง นอกจากนั้นใกล้ ๆ อุทยานฯ ยังมีหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ซึ่งยังมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเดิม