รับจัด Outing, Team Building, CSR, Walk Rally, สัมนานอกสถานที่, ดูงาน ในประเทศและโซนเอเชีย
สำหรับบริษัทในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง
084-160-0210 , 02-733-0683

ฮีตสิบสอง ลาว

ฮีตสิบสอง

ฮีต หมายถึง จารีต
สิบสอง หมายถึง เดือนทั้ง 12 เดือนในรอบหนึ่งปี ชาวหลวงพระบางมีงานประเพณีครบทั้งสิบสองเดือนในหนึ่งปี

เดือนอ้าย:บุญเข้ากรรม
ช่วงที่จัดเดือนธันวาคม ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูหนาว
ลักษณะงาน:จุดประสงค์ของงานนี้เพื่อให้พระภิกษุ เข้าพิธีกรรมปลงอาบัติด้วยการอยู่ในเขตที่จำกัด เพื่อชำระจิตใจให้สะอาด

เดือนยี่:บุญคูณลาน
ช่วงที่จัดหลังฤดูเก็บเกี่ยว
ลักษณะงาน:ก่อนที่จะนำข้าวที่นวดแล้วไปเก็บในยุ้งข้าว จะมีการทำบุญขวัญข้าว มีการนิมนต์พระภิกษุมาสวดเป็นสิริมงคล และเป็นนิมิตรหมายที่ดีให้ปีต่อๆไปทำนาเกิดผลดียิ่งๆขึ้น

เดือนสาม:บุญข้าวจี่
ช่วงที่จัดหลังงานมาฆะบูชา
ลักษณะงาน:ชาวนาจะนำข้าวจี่หรือข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้ว ปั้นเป็นก้อนเท่าไข่เป็ดทาเกลือ นำไปเสียบไม้ย่าง จากนั้นตีไข่ทาให้ทั่วแล้วย่างจนไข่สุกและถอดไม่เสียบออกนำน้ำตาลอ้อยยัดลงตรงกลางเป็นไส้ นำถวายพระสงฆ์ในช่วงที่หมดฤดูทำนาแล้ว เพื่อเป็นการทำบุญ

เดือนสี่:บุญพระเวส
ช่วงที่จัดเดือนสี่ข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้
ลักษณะงาน:งานบุญพระเวสหรืองานบุญมหาชาติ เช่นเดียวกับงานฟังเทศพระเวสสันดรชาดกอันเป็นชาดกที่ยิ่งใหญ่ ชาวบ้านจะช่วยกันตกแต่งประดับประดาโรงธรรมด้วยดอกไม้ใช้ดอกบัวประดับธรรมมาสน์ มีการจัดรูปขบวนแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีออกจากป่าเข้าในเมืองไปสิ้นสุดที่พระอุโบสถ มีการเทศน์มหาเวสสันดร

เดือนห้า:บุญสงกรานต์
ช่วงที่จัดตรุษสงกรานต์
ลักษณะงาน:นับเป็นงานที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากที่สุดและยังถือเป็นวันปีใหม่ของลาวเช่นเดียวกับของไทย

วันแรกของงานเรียกว่า “วันสงขารล่อง” ชาวหลวงพระบางจะไปจับจ่ายซื้อของและธงรูปพระพุทธเจ้า เพื่อไปปักกองเจดีย์ทรายริมแม่น้ำโขง ตกเย็นมีการลอยกระทง ภายในกระทงบรรจุกล้วย ขิง ข้าวดำ ข้าวแดง ดอกไม้ ใบพลู ธูป เทียน ดอกดาวเรือง ผมและเล็บของผู้ลอย อธิษฐานให้ทุกข์โศกโรคภัยลอยไปกับกระทง

วันที่สอง เรียกว่า “วันเนา” ช่วงเช้ามีการแห่รูปหุ่นเชิดปู่เยอย่าเยอและสิงห์แก้ว สิงห์คำ ช่วงบ่ายขบวนแห่ซึ่งนำโดยปู่เยอย่าเยอ ผู้เฒ่าผู้แก่ หัวหน้าหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน ขบวนพระสงฆ์ นางสงกรานต์ (นางวอ) ขี่สัตว์พาหนะบนรถแห่ ปู่เยอย่าเยอก็จะฟ้อนรำ อวยพระให้ลูกหลาน

วันที่สาม เรียกว่า “วันสังขารขึ้น” ชาวหลวงพระบางทำข้าวเหนียวนึ่งและนมลูกกวาด พากันเดินขึ้นภูษี ภูเขาสูงกลางเมืองหลวงพระบาง ระหว่างเดินจะวางข้าวเหนียวและขนมไว้

เดือนหก:บุญบั้งไฟ
ช่วงที่จัดเดือนหกก่อนฤดูกาลทำนามาถึง ย่างเข้าฤดูฝน
ลักษณะงาน:คล้ายกับงานบุญบั้งไฟของภาคอีสาน จุดประสงค์เพื่อบูชาหลักเมือง และขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ปีใดที่ไม่มีการทำบุญบั้งไฟเชื่อว่าปีนั้นจะเกิดเภทภัยต่างๆ และเป็นสัญญาณว่าฤดูการทำนาจะเริ่มต้นแล้ว นับเป็นงานที่กระทำกันมาแต่โบราณ

เดือนเจ็ด:บุญซำฮะ
ช่วงที่จัดเดือนเจ็ด
ลักษณะงาน:งานเล็กๆ แต่สำคัญ จุดประสงค์เพื่อเป็นการชำระล้างเสนียดจัญไร ที่จะเกิดกับบ้านเมือง เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบสุข

เดือนแปด:บุญเข้าพรรษา
ช่วงที่จัดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
ลักษณะงาน:เป็นการเริ่มต้นฤดูเข้าพรรษาเหมือนชาวไทย พระสงฆ์จะหยุดออกบิณฑบาตรเป็นเวลา 3 เดือนตามพุทธบัญญัติ นับแต่วันเข้าพรรษาเป็นต้นไปในวันแรกนี้จะมีการทำบุญกันที่วัดต่างๆ

เดือนเก้า:บุญห่อข้าวประดับดิน การส่วงเฮือ และการล่องเฮือไฟ
ช่วงที่จัดเดือนเก้า
ลักษณะงาน:บุญห่อข้าวประดับดิน เป็นการทำพิธีกรรมอุทิศส่วนกุศลให้กับวิญาณบรรพบุรุษ และวิญญาณไร้ญาติให้ออกมารับส่วนบุญ ชาวบ้านจะนำอาหารหวานคาว บุหรี่ หมาก พลู ใส่ลงในกรวยใบตองไปวางตามพื้นดินหรือใต้ต้นไม้บริเวณรั้วบ้าน รั้ววัด

การส่วงเฮือ
ส่วง หมายถึง แข่งขัน
เฮือ หมายถึง เรือ
เป็นงานบุญแข่งเรือประจำเดือนเก้า ทุกคุ้ม (หมู่บ้าน) จะนำเรือเข้าแข่งขัน ในอดีตการแข่งเรือถือเป็นการฝึกซ้อมฝีพายเพื่อต่อสู้ข้าศึกที่มาทางน้ำ ปัจจุบันนับเป็นงานบุญที่สนุกสนานงานหนึ่งของชาวหลวงพระบาง

เดือนสิบ:บุญข้าวสาก
ช่วงที่จัดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
ลักษณะงาน:จุดประสงค์ของการจัดงานเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คนตายหรือเปรต ห่างจากงานวันบุญข้าวประดับดิน 15 วัน อันเป็นเวลาที่เปรตต้องกับไปยังที่อยู่ของตน

เดือนสิบเอ็ด:บุญออกพรรษา
ช่วงที่จัดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
ลักษณะงาน:เป็นงานตักบาตรเทโว มีการจัดอาหารไปถวายพระภิกษุสามเณร มีการกวนข้าวทิพย์ (กระยาสารท) ถวาย มีการถวายผ้าจำนำพรรษาและปราสาทผึ้ง โดยการนำไม้ไผ่มาสานเป็นรูปปราสาท ตกแต่งสวยงาม จัดขบวนแห่ปราสาทผึ้งไปถวายพระในตอนค่ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ

เดือนสิบสอง:บุญกฐิน
ช่วงที่จัดแรม 1 ค่ำ เดือน 11 – เดือนเพ็ญ เดือน 12
ลักษณะงาน:เป็นการถวายผ้าแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษามาตลอดช่วงเข้าพรรษา นับเป็นงานบุญที่กระทำกันมาแต่โบราณ

หรือ

มกราคม
งานบุญผเวต มีการเทศน์พระเวสสันดรชาดก (คนไทยเรียกว่า เทศน์มหาชาติ) วัดต่างๆ จะจัดงานฉลอง 3 วัน มีบวชเรียนกันในช่วนนี้

กุมภาพันธ์
งานบุญมาฆบูชา ชาวลาวจะไปวัด สวดมนต์ ทำบุญตักบาตร และเวียนเทียนที่ปราสาทวัดพู เมืองจำปาสัก ซึ่งจะมีงานฉลองที่ยิ่งใหญ่มากที่สุด มีการแข่งขันขบวนแห่หมอดู การละเล่นต่างๆ การแสดงละครพื้นบ้าน และผู้ชายลาวนิยมวิ่งช้าง ชนควาย ชนไก่ และการละเล่นเต้นรำพื้นบ้าน

งานตรุษจีน ชาวจีนและเวียดนามในลาวฉลองปีใหม่ จัดขบวนแห่ไปทำบุญที่วัดจีน วัดเวียดนาม

มีนาคม
วันสตรีแห่งชาติ เป็นวันหยุดราชการ

เมษายน
วันปีใหม่ของลาว ตรงกับ 13 เมษายน เช่นเดียวกับไทย พม่า เขมร ทางราชการให้ หยุดงานเพียง 3 วัน แต่คนมักจะหยุดงานกันทั้งสัปดาห์ ชาวบ้านจะอัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดเพื่อสรงนํ้าด้วยนํ้าอบนํ้าปรุง แล้วเล่นสาดนํ้ากันตามท้องถนน ถือว่าเป็นการชำระล้างร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด พร้อมทั้งอำลาฤดูแล้งที่กำลังจะผ่านไป ชาวลาวจะไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ก่อพระเจดีย์ทรายหรือพระเจดีย์หินที่ลานวัด ถ้าเป็นหลวงพระบางก็จะก่อกันบนฝั่งแม่นํ้าโขง เพื่อให้มีความสุข สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงตลอดปีใหม่ มีขบวนแห่ใหญ่โต ชาวบ้านแต่งชุดประจำชาติ มีการละเล่นพื้นเมือง การแสดง ดนตรี ประกวดนางสงกรานต์ และงานออกร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมต่างๆ อีกด้วย

พฤษภาคม
งานบุญวิสาขบูชา ชาวบ้านจะไปทำบุญให้บรรพบุรุษที่วัด มีการสวดมนต์ ฟังเทศน์ เวียนเทียน และงานบุญบั้งไฟ ชาวบ้านจะรวมกลุ่มทำบั้งไฟด้วยไม้ไผ่เอาไว้ทำการจุดให้พุ่งขึ้นไปบนฟ้า เพื่อเป็นการเตือนเทวดาให้บันดาลให้ฝนตก พืชพันธุ์ธัญญาหารจะได้อุดมสมบูรณ์

กรกฎาคม
งานบุญวันเข้าพรรษา (เข้าวัสสา) ที่ผู้ชายลาวนิยมบวชเรียนในช่วงนี้

สิงหาคม/กันยายน
งานบุญห่อข้าวประดับดิน เป็นงานเคารพสักการะบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการไปทำบุญที่วัด แล้วนิมนต์ให้พระสงฆ์สวดอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย

ตุลาคม/พฤศจิกายน
งานบุญออกพรรษา เป็นเครื่องแสดงว่าช่วงเข้าพรรษา 3 เดือนในฤดูฝนของพระสงฆ์ได้สิ้นสุดลงแล้ว มีการทำบุญเลี้ยงพระ ทำทาน เวียนเทียน ลอยกระทงในแม่นํ้าโขง ระลึกถึงบุญคุณของแม่พระคงคา รวมทั้งมีการลองประทีปโคมไฟและงานแข่งเรือยาวในแม่นํ้าโขงในวัดถัดมา

พฤศจิกายน
งานบุญธาตุหลวง จัดขึ้น 3 วัน ที่พระธาตุหลวงและบริเวณโดยรอบพระสงฆ์หลายร้อยรูปบิณฑบาตและรับดอกไม้บูชาจากพุทธศาสนิกชน มีการเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุ จุดพลุดอกไม้ไฟ รวมถึงการออกร้านขายสินค้าต่างๆ เป็นเวลา 7 วัน

ธันวาคม
งานวันชาติลาว มีพิธีการสวนสนามของกองทัพ โดยในวันนี้ประชาชนจะประดับสัญลักษณ์รูปค้อนและเคียวตามที่สาธารณะทั่ว ๆ ไปงานปีใหม่ของชาวม้ง ชาวม้งจะแต่งกายชุดประจำเผ่าสีสันสวยงาม เล่นดนตรีลักษณะคล้ายแคน และมีการละเล่นต่างๆ เช่น ลูกบอล ใยฝ้าย ชนวัว แข่งขันโล้ชิงช้า และการแสดงยิงหน้าไม้

ค้นหาที่ท่องเที่ยว


Thailand Tourism Standard

ทัวร์แนะนำ

ผู้เข้าชม

มี 2399 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์