รับจัด Outing, Team Building, CSR, Walk Rally, สัมนานอกสถานที่, ดูงาน ในประเทศและโซนเอเชีย
สำหรับบริษัทในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง
084-160-0210 , 02-733-0683

12 ประวัติ อื่นๆ อุบลราชธานี

tour-history-miscelleneous-domestic
ประวัติ อื่นๆ จังหวัดอุบลราชธานี

tour-history-ubon-ratchathani

เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์

อุบลราชธานี เป็นเมืองใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ที่มีประวัติความเป็นมากว่า 200 ปี เล่ากันว่าท้าวคำผง ท้าวทิศพรหม และท้าวคำบุตร พระวอ พระตา หนีภัยสงครามจากพระเจ้าสิริบุญสาร เจ้าแห่งนครเวียงจันทน์เจ้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าตากสินมหาราช

และต่อมาได้สร้างเมืองขึ้นที่บริเวณดงอู่ผึ้ง ใกล้กับแม่น้ำมูล ครั้นพ.ศ. 2323 พระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาราชสุภาวดี เชิญตราพระราชสีห์มาพระราชทานนามเมืองว่า "อุบลราชธานี" ทรงให้ท้าวคำผงเป็นเจ้าเมืองคนแรกซึ่งต่อมาได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระปทุมวงศา" เมืองอุบลราชธานีมีเจ้าเมืองสืบกันมาถึง 4 คน ตราบจนถึงปีพ.ศ. 2425 จึงได้มีการแต่งตั้งข้าหลวงและผู้ว่าราชการจังหวัดมาปกครองดูแลจนถึงทุกวันนี้

อุบลราชธานี เป็นจังหวัดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 629 กม. สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำมูลไหลผ่านตอนกลาง ของพื้นที่ ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบสูงและภูเขา มีหน้าผาหินทรายบริเวณชายฝั่งแม่น้ำโขง อันเป็นเส้นกั้นพรมแดน ระหว่างประเทศไทยและลาว

จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ประมาณ 15,744 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 25 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ เดชอุดม บุณฑริก นาจะหลวย น้ำยืน พิบูลมังสาหาร โขงเจียม ศรีเมืองใหม่ ตระการพืชผล เขมราฐ ม่วงสามสิบ เขื่องใน กุดข้าวปุ้น ตาลสุม โพธิ์ไทร สำโรง สิรินธร ดอนมดแดง ทุ่งศรีอุดม อำเภอนาเยีย อำเภอนาตาล อำเภอเหล่าเสือโก้ก อำเภอสว่างวีระวงศ์และอำเภอน้ำขุ่น

เมืองอุบลราชธานี เป็นเมืองเก่าแก่มีอายุมากกว่า 200 ปี ถ้าจะเที่ยวเมืองอุบลให้สนุก น่าจะศึกษาประวัติการตั้งเมืองสักเล็กน้อย และแน่นอน ไกด์อุบล จะขอรับใช้ท่าน ไปศึกษาค้นคว้าหาตำรับตำราอ่าน แล้วมาถ่ายทอดให้ท่านอีกต่อนึง ยิ่งศึกษาลึกลงไป ยิ่งสนุก

เริ่มกันที่ ปีพุทธศักราช 2228 เลย ในปีนั้น ได้เกิดวิกฤติทางการเมืองในนครเชียงรุ้ง เนื่องจากจีนฮ่อธงขาวยกกำลังปล้นเมือง เจ้านครเชียงรุ้ง ได้แก่ เจ้าอินทกุมาร เจ้านางจันทกุมารี และเจ้าปางคำ อพยพไพร่พลมาขอพึ่งพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช แห่งเวียงจันท์ ซึ่งเป็นพระประยูรญาติฝ่ายมารดาได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โปรดให้นำไพร่พลไปตั้งที่เมืองหนองบัวลุ่มภู (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดนี้พึ่งตั้งใหม่ ถ้านึกไม่ออกว่าอยู่ตรงไหน ก็ให้ดูแถวๆ อุดรฯ ขอนแก่น) ตั้งชื่อว่า "นครเขื่อนขันธ์ กาบแก้วบัวบาน" ต่อมาพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ให้เจ้าปางคำเสกสมรสกับพระราชนัดดา ได้โอรส คือ เจ้าพระตา เจ้าพระวอ สองท่านนี้จะมีความสำคัญต่อเมืองอุบล เชิญติดตามต่อเลย

ปีพุทธศักราช 2314 (ผ่านมาอีกเกือบร้อยปี) เกิดสงครามแย่งอำนาจระหว่างเวียงจันท์ กับเมืองหนองบัวลุ่มภู โดยที่เจ้าสิริบุญสาร เจ้าแผ่นดินเวียงจันท์ขอเอาบุตร ธิดา เจ้าพระตา เจ้าพระวอ ไปเป็นนางห้ามและนางสนม แต่เจ้าพระตา เจ้าพระวอไม่ให้ใครรู้ เมื่อไม่ได้ดังพระทัย เจ้าสิริบุญสารจึงให้กองทัพมาตีเมืองหนองบัวลุ่มภู เจ้าพระตา เจ้าพระวอ ยกกองทัพออกต่อสู้เป็นสามารถ กองทัพเวียงจันท์ต้องพ่ายกลับไปเสมอ การรบครั้งนี้กินเวลาถึง 3 ปี ไม่แพ้ไม่ชนะกัน เจ้าสิริบุญสารเจ็บใจ จึงส่งทูตไปขอเอากองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ให้มาช่วยตีเมืองหนองบัวลุ่มภู แล้วจะยอมเป็นเมืองขึ้นของพม่า อ่านดูดีๆ  อย่างนี้ก็มีด้วย ตัวเองสู้ไม่ได้ ไปชวนคนอื่นมาช่วยรบกับชาวบ้าน แล้วจะยอมเป็นเมืองขึ้นด้วย เรียกว่าอยากเอาชนะจนไม่ลืมหูลืมตา

ฝ่ายเจ้าพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ถ้าทางจะสนใจข้อเสนอ จึงให้ ม่องระแง คุมกองทัพมาช่วยเจ้าสิริบุญสาร ฝ่ายเจ้าพระตาทราบข่าวศึก เห็นเหลือกำลังที่จะสู้กับข้าศึก คือคิดว่าอาจจะแพ้ได้ จึงให้เจ้าคำโส เจ้าคำขุย เจ้าก่ำ เจ้าคำสิงห์ พาไพร่พล คนชรา เด็กและผู้หญิง พร้อมพระสงฆ์ อพยพไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หาที่สร้างบ้านสร้างเมือง ทำไร่ทำนาหาอาหารไว้คอย หากแพ้สงครามก็จะได้ตามไปอยู่ด้วย แล้วก็แพ้จริงๆ เจ้าบุตรทั้งหลายจึงพาไพร่พลอพยพไปตามที่เจ้าพระตาสั่ง ได้มาตั้งบ้านสิงห์โคก บ้านสิงห์ท่าไว้คอย (ปัจจุบันคือจังหวัดยโสธร)

เจ้าพระตามีบุตร ชายหญิงรวม 8 คน คือ นางอูสา นางสีดา เจ้าพระวอ นางแสนสีชาด นางแพงแสน เจ้าคำผง เจ้าทิตพรหม และนางเหมือนตา เมื่อเจ้าพระตาออกสู้รบและถึงแก่ความตาย เจ้าพระวอ ผู้เป็นบุตรชายคนโตได้เป็นหัวหน้ากลุ่มแทน เห็นว่าจะต่อสู้ต่อไปไม่ได้ จึงหลบหนีออกจากเมือง ผ่านรับเสบียงอาหารจากบ้านสิงห์โคก สิงห์ท่า แล้วผ่านลงไปอยู่ "ดอนมดแดง" โดยของพึ่งพระเจ้าไชยกุมารองค์หลวง แห่งนครจำปาศักดิ์ ต่อมาเจ้าไชยกุมารองค์หลวง ขอให้เจ้าพระวอไปอยู่ที่ค่ายบ้านดู่ บ้านแก เพื่อจะได้พึ่งพากันยามคับขัน เจ้าพระวอยินยอมไปอยู่ โดยที่ดอนมดแดงให้แสนเทพและแสนนาม คุมไพร่พลอยู่รักษาแทน เจ้าสิริบุญสารทราบข่าว ความแค้นยังไม่หาย ได้ให้อัคฮาด หำทอง และพญาสุโพ ยกกองทัพมาตีค่ายบ้านดู่ บ้านแก เจ้าพระวอสู้ไม่ได้ เสียชีวิตในสนามรบ เจ้าคำผงผู้น้องได้ขึ้นเป็นหัวหน้ากลุ่มแทน เจ้าคำผงก็คิดว่าสู้ไม่ได้แน่ จึงส่งทหารนำใบบอกลงไปเมืองนครราชสีมาและกรุงธนบุรี เพื่อขอพึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี

พระเจ้ากรุงธนบุรีทราบเรื่อง ได้มอบหมายให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกกองทัพไปช่วย กองทัพพญาสุโพเห็นว่าจะสู้ไม่ได้ จึงถอยทัพกลับเวียงจันท์ เจ้าพระยาทั้งสองยกทัพติดตามไปตามลำน้ำโขง รบกับเวียงจันท์อยู่ถึงสี่เดือน ในที่สุดเวียงจันท์ก็แตก เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ ได้คุมตัวเจ้าเมืองเวียงจันท์ลงไปกรุงธนบุรี พร้อมได้อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบางเจ้าไปด้วย ส่วนเจ้าคำผงย้ายกลับไปอยู่ดอนมดแดงที่เดิม

ปีพุทธศักราช 2319 เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ดอนมดแดง เจ้าคำผงจึงได้อพยพไพร่พลไปอยู่ที่ดอนใกล้ห้วยแจละแม (บริเวณฯ บ้านท่าบ่อในปัจจุบัน) รอน้ำลดแล้วจึงค่อยหาที่ตั้งเมือง

ปีพุทธศักราช 2320 เจ้าคำผงอพยพไพร่พล มาสร้างบ้านเมืองที่ ดงอู่ผึ้ง ริมฝั่งแม่น้ำมูล (ตัวจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน)

ปีพุทธศักราช 2322 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี เชิญท้องตราขึ้นมาตั้งให้เป็นเมืองอุบลราชธานี ให้ เจ้าคำผงเป็นเจ้าเมืองที่พระประทุมราชวงศา ให้เจ้าทิตพรหมเป็นพระอุปฮาด ให้เจ้าก่ำเป็นราชวงศ์ ให้เจ้าสุดตาเป็นราชบุตร เป็นคณะอาชญาสี่ชุดแรกของเมืองอุบล

ปีพุทธศักราช 2324 เมืองเขมรเกิดความไม่สงบ พระเจ้ากรุงธนบุรี ขอกำลังจากเมืองอุบลไปสมทบกองทัพหลวง พระประทุมราชวงศา และราชวงศ์เป็นผู้คุมกำลังไปช่วย จนถึงปีพุทธศักราช2325 เกิดจลาจลที่กรุงธนบุรี กองทัพหลวงและกองทัพจากเมืองอุบลจึงได้แยกกันยกทัพกลับ ผ่านไปอีกสิบปี

ในปีพุทธศักราช 2334 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เกิดกบฏอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ได้ยกกำลังมาตีเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้าฝ่ายหน้าผู้น้องพระประทุมราชวงศาได้ยกกำลังไปรบ จับอ้ายเชียงแก้วได้ และประหารชีวิตที่บริเวณแก่งตะนะ

ปีพุทธศักราช 2335 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเมืองอุบลขึ้นเป็นเมืองประเทศราช โปรดเกล้าฯ ให้พระประทุมราชวงศาเป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) เจ้าครองเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย ประเทศราช พระราชทานพระสุพรรณบัฏ และเครื่องยศเจ้าเมืองประเทศราช ให้ทำพิธีสบถสาบานถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ต่อหน้าพระพักตร์เสกให้ ณ วันจันทร์ เดือน 8 แรม 13 ค่ำ จุลศักร 1154 ปีชวด จัตวาศก ซึ่งตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม 2335 ถือเป็นเจ้าเมืองคนแรกของอุบลราชธานี จนถึงปี 2338 พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ทิตพรหม) น้องชายพระประทุม จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานีต่อมา รวมเจ้าเมืองอุบลราชธานี ที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง มีจำนวนทั้งสิ้น 4 ท่าน ดังนี้

1. พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (พ.ศ.2335-2338) นามเดิม เจ้าคำผง บุตรเจ้าพระตา

2. พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (พ.ศ.2338-2388) นามเดิม ทิตพรหม น้องชายพระประทุม (คำผง) เป็นบุตรชายคนเล็กของพระตา

3. พระพรหมราชวงศา (พ.ศ.2388-2409) นามเดิม กุทอง สุวรรณกูฏ บุตรพระพรหม (ทิตพรหม)

4. เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ (พ.ศ.2409-2425) เจ้าพรหมเทวา (เจ้าหน่อคำ) เป็นพี่ชายเจ้าจอมมารดาด้วงคำ ในรัชกาลที่ 4 เจ้าราชวงศ์จำปาศักดิ์ บุตรเจ้าเสือ หลานเจ้าอนุวงศ์

ภูมิศาตร์และเขตการปกครอง
จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ประมาณ 15,517 ตรกม. แบ่งการปกครองออกเป็น 18 อำเภอและ 6 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอวารินชำราบ อำเภอเดชอุดม อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอเขมราฐ อำเภอน้ำยืน อำเภอเขื่องใน อำเภอบุญฑริก อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอนาจะหลวย อำเภอโขงเจียม อำเภอกุดข้าวปุ้น อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอตาลสุม อำเภอสิรินธร อำเภอสำโรง กิ่งอำเภอดอนมดแดง กิ่งอำเภอทุ่งศรีอุดม กิ่งอำเภอนาเยีย กิ่งอำเภอนาตาล กิ่งอำเภอเหล่าเสือโก๊ก และกิ่งอำเภอสว่างวีระวงศ์

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดอำนาจเจริญ
ทิศใต้ ติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา ตามแนวเทือกเขาบรรทัด
ทิศตะวันออก ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดยโสธรและจังหวัดศรีสะเกษ

ค้นหาที่ท่องเที่ยว


Thailand Tourism Standard

ทัวร์แนะนำ

ผู้เข้าชม

มี 195 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์