พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี
สารบัญ
อุบลราชธานี เมืองแห่งดอกบัวงาม
อุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่อยู่ด้านตะวันออกสุดของภาคอีสานตอนล่าง เป็นชุมชนดั้งเดิมที่กระจายกันอยู่ตามบริเวณที่ราบอันกว้างใหญ่ของจังหวัด ครอบคลุมที่ราบและแม่น้ำสำคัญสายหลักของภาคอีสานถึง ๓ สาย อันได้แก่ แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำโขง และลำน้ำสาขาน้อยใหญ่ที่ยังความอุดมสมบูรณ์และชุมชื้นแก่ผืนดิน ทำให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ พืชและสัตว์ มาแต่ครั้งบรรพกาล หลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ปรากฏขึ้นเมื่อราวหนึ่งหมื่นปีมาแล้ว โดยพบเครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำจากหินที่ถ้ำตาล นับแต่นั้นมาร่องรอยอารยธรรมก็เริ่มขัดเจนยิ่งขึ้น มีการขยายกลุ่มสังคมจากชุมชนขนาดเล็กเป็นชุมชนขนาดใหญ่ รู้จักทำภาชนะดินเผาขึ้นใช้ ทำเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยโลหะ ทำเครื่องประดับด้วยหินและแก้ว รวมไปถึงการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและพิธีกรรมตามรูปแบบของสังคมดั้งเดิม ได้พัฒนาการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ เริ่มมีการบันทึกเรื่องราวด้วยตัวอักษร สร้างรูปเคารพ ก่อสร้างศาสนสถาน ก่อตั้งระบบสังคม มีการดำรงชีวิตที่ซับซ้อนมากขึ้นควบคู่กันไปกับความเจริญที่ปรากฏในรูปแบบของกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ คือ
วัฒนธรรมทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖) มีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หลักฐานส่วนใหญ่สร้างขึ้นในพุทธศนา เช่น พระพุทธรูป เสมาหิน พบมากที่บริเวณตอนเหนือของจังหวัด
วัฒนธรรมเจนละ หรือวัฒนธรรมของสมัยก่อนเมืองพระนคร (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔) มีพื้นฐานจากวัฒนธรรมทางศาสนาพราหมณ์พบหลักฐาน สำคัญ เช่น ส่วนประกอบสถาปัตยกรรมประติมากรรม และจารึก บริเวณปากแม่น้ำมูล
วัฒนธรรมขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๘) โบราณวัตถุ โบราณสถานที่พบในช่วงนี้มักจะเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ ส่วนใหญ่อยู่บริเวณทางตอนใต้ของตัวจังหวัด จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ คติความเชื่อในพุทธศาสนามหายานได้แพร่ขยายเข้ามาและปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อิทธิพลวัฒนธรรมขอมก็เสื่อมสลายไป
ล่วงมาถึง ปี พ.ศ.๒๓๓๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระประทุมสุรราช (คำผง) นายกองใหญ่บ้านเวียงดอนกลอง ซึ่งย้ายไปตั้งอยู่บ้านห้วยแจระแม ผู้มีความชอบในราชการแผ่นดินปราบปรามกบฏอ้ายเชียงแก้ว เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงษ ได้ยกบ้านห้วยแจระแมขึ้นเป็น เมือง อุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทศราช
การจัดแสดง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่กรมศิลปากรจัดตั้งขึ้น เพื่อสนองตอบความต้องการของท้องถิ่น ที่จะให้เป็นศูนย์ศึกษา อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ตามแนวทางการพัฒนากิจการพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ การจัดแสดงนิทรรศการถาวรจึงมุ่งเน้นเรื่องราวด้านต่างๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมพื้นบ้าน และ ชาติพันธุ์วิทยา โดยแบ่งหัวข้อเรื่องนิทรรศการเป็น 10 ห้อง ดังนี้
ห้องจัดแสดงที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดอุบลราชธานี
ห้องจัดแสดงที่ 2 ภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ห้องจัดแสดงที่ 3 สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ห้องจัดแสดงที่ 4 สมัยประวัติศาสตร์เริ่มแรก วัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเจนละ (ขอมหรือเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร) ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 - 15
ห้องจัดแสดงที่ 5 วัฒนธรรมขอมหรือเขมรสมัยเมืองพระนคร ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 - 18
ห้องจัดแสดงที่ 6 วัฒนธรรมไทย-ลาว ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 23 - 25
ห้องจัดแสดงที่ 7 ผ้าโบราณและผ้าพื้นเมืองอุบลราชธานี
ห้องจัดแสดงที่ 8 ดนตรีพื้นเมือง
ห้องจัดแสดงที่ 9 ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน และเครื่องใช้ในครัวเรือน
ห้องจัดแสดงที่ 10 การปกครอง และงานประณีตศิลป์เนื่องในพุทธศาสนา
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น. ราคาค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท