2 ช่องทางและวิธีการเดินทาง แผนที่ ภูมิอากาศ นครศรีธรรมราช
สารบัญ
ภูมิอากาศ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ฤดูกาลของจังหวัดนครศรีธรรมราชแบ่งตามลักษณะลมฟ้าอากาศของประเทศไทยออกได้เป็น 3 ฤดู คือ
ฤดูร้อน
เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูมรสุม หลังจากสิ้นสุดฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้วอากาศจะเริ่มร้อนและมีอากาศร้อนจัดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม แต่ไม่ร้อนมากนักเนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำจากทะเลทำให้อากาศคลายความร้อนลงไปมาก
ฤดูฝน
เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้มีฝนตกทั่วไปและในช่วงฤดูฝนยังมีร่องความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้เป็นระยะ ๆ อีกด้วย จึงทำให้มีฝนตกมากและเนื่องจากเป็นจังหวัดที่อยู่ด้านตะวันออกของภาคใต้จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยอย่างเต็มที่ ทำให้มีฝนตกมากในช่วงฤดูหนาวคือระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมอีกช่วงหนึ่งจึงนับว่าจังหวัดนี้มีฤดูฝนที่ยาวนาน
ฤดูหนาว
เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์อยู่ในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น แต่เนื่องจากจังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่ทางด้านตะวันออกของภาคใต้จึงมีฝนตกชุกในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม อุณหภูมิจึงลดลงเล็กน้อยเป็นครั้งคราวและอากาศจึงไม่สู้หนาวเย็นมากนัก
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศของนครศรีธรรมราช จากสภาพที่ตั้งใกล้เส้นศูนย์สูตร มีภูเขาและเป็นคาบสมุทรทั้งสองด้าน กล่าวคือ ด้านตะวันออกเป็นทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก ด้านตะวันตก เป็นทะเลอันดามันมหาสมุทรอินเดีย ทําให้นครศรีธรรมราช ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมจากมหาสมุทรอินเดียและพายุหมุนเขตร้อน จากทะเลจีนใต้ สลับกัน ดังนี้
1.ลมมรสุม
ในแต่ละปี จังหวัดนครศรีธรรมราชจะได้รับอิทธิพลของลมมรสุม ดังนี้
1.1 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ลมนี้มีทิศทางพัดผ่านมหาสมุทรอินเดียและ ทะเลอันดา มันเข้าสู่ประเทศไทย บริเวณชายฝั่งตะวันตกจึงมีฝนตกชุก ในส่วนของจังหวัด นครศรีธรรมราช นั้นเนื่องจากมีเทือกเขาทางตะวันตกและตอนกลางเป็นแนวกั้นทิศทางลม ทําให้ฝนตกไม้มากนัก อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะอยู่ในช่วงประมาณ เดือน พฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม
1.2 ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ลมนี้พัดผ่านอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ ทําให้เกิดฝนตก ชุกในจังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด ตั้งอยู่ในด้านรับลมของ เทือกเขา อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะทําให้ฝนตกมากในช่วงประมาณเดือน พฤศจิกายน - มกราคม
2. พายุหมุนเขตร้อน
เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อลักษณะอากาศของจังหวัดนครศรีธรรม ราช กล่าวคือ พายุหมุนเขตร้อนเป็นระบบความกดอากาศต่ำที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ ต่ำกว่า 2 องศา ละติจูดก่อตัวขึ้นเหนือน่านน้ำในเขตร้อนระหว่างละติจูด ประมาณ 5-20 องศาเหนือ โดยไม่มีระบบแนวปะทะเข้ามาเกี่ยวข้องและมีการหมุนเวียนชัดเจน ซึ่งตามข้อ ตกลงระหว่างประเทศได้แบ่งชนิดของพายุหมุนเขตร้อนตามความรุนแรง ดังต่อไปนี้
2.1พายุดีเปรสชั่น เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่มีความเร็วสูงสุด ใกล้ศูนย์กลางที่ผิวพื้น ไม่ เกิน 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ใช้สัญลักษณ์ D
2.2 พายุโซนร้อน เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ที่ผิวพื้น ตั้งแต่ระหว่าง 34-63 นอต (63-117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
2.3 พายุใต้ฝุ่น เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่มีความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางที่ผิวพื้น ตั้งแต่ 64 นอต (8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป
อุณหภูมิ
เนื่องจังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งอยู่ทางฝั่งทะเลด้านตะวันออกได้รับอิทธิพลจาก ลมมรสุมออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยอย่างเต็มที่ ทำให้ได้รับไอน้ำและความชุ่มชื้นมาก อุณหภูมิเฉลี่ยจึงไม่สูงมาก และอากาศไม่ร้อนจัดในฤดูร้อน อากาศจะอบอุ่นในช่วงฤดูฝน ส่วนฤดูหนาวอากาศจะเย็นได้ในบางครั้ง อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27.5 ซ. อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.8 ซ. อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31.9 ซ. เคยตรวจอุณหภูมิสูงที่สุดได้ 38.0 ซ. เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2511 และเคยตรวจอุณหภูมิต่ำที่สุดได้ 17.1 ซ. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2498
ความชื้นสัมพัทธ์
ความชื้นสัมพัทธ์สัมพันธ์กับมวลอากาศและอิทธิพลของลมมรสุมเป็นสำคัญ ตลอดทั้งปีจังหวัดนครศรีธรรมราชจะมีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมทั้งสองฤดูคือมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ มรสุมทั้งสองนี้ก่อนจะพัดเข้าสู่บริเวณจังหวัดได้ผ่านทะเลและมหาสมุทรจึงได้พัดเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาด้วย ทำให้บริเวณจังหวัดมีความชุ่มชื้นและความชื้นสัมพัทธ์สูงเป็นเวลานาน ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีประมาณ 81 % ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ย 95 % ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ย 62 % เคยตรวจความชื้นสัมพัทธ์ต่ำที่สุดเคยตรวจได้ 27 % ในเดือนสิงหาคม
ฝน
เนื่องจากจังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่ทางของภาคใต้ฝั่งตะวันออกและจัดเป็นจังหวัดที่มีฝนตลอดทั้งปี ในฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกชุกมากกว่าฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เพราะไม่มีภูเขาสูงปิดกั้นจึงได้รับกระแสลมจากมรสุมนี้เต็มที่ ทำให้มีฝนตกชุกโดยเฉพาะเดือนตุลาคม พฤศจิกายนและธันวาคม ส่วนในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีฝนตกน้อยกว่าฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะภูมิประเทศมีแนวเขาตะนาวศรีเป็นเทือกยาวปิดกั้นทำให้ได้รับกระแสลมจากมรสุมนี้ไม่เต็มที่ ปริมาณฝนเฉลี่ยของจังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ปริมาณฝนเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 2,42904 มิลลิเมตร มีฝนตกเฉลี่ย 175 วัน เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนพฤศจิกายน มีฝนเฉลี่ย 609.7 มิลลิเมตร ฝนตกประมาณ 23 วัน ฝนสูงสุดใน 24 ชั่วโมง เคยตรวจได้ 433.3 มิลลิเมตร ในวันที่ 5 มกราคม 2518
จำนวนเมฆ
ตลอดทั้งปีจะมีจำนวนเมฆเฉลี่ยประมาณ 6 ส่วนของจำนวนเมฆในท้องฟ้า 8 ส่วน โดยในฤดูร้อนเมฆประมาณ 5 ส่วน ฤดูฝนจะมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 7 ส่วน ส่วนในฤดูหนาวจะมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 6 ส่วน
หมอก ฟ้าหลัว และ ทัศนวิสัย
โดยเฉลี่ยแล้วจังหวัดนครศรีธรรมราชมีโอกาสเกิดหมอกได้เกือบทุกเดือนตลอดปีแต่เดือนที่เกิดหมอกเกิดได้มากที่สุด คือ เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายนและกันยายน เฉลี่ยในเดือนหนึ่งประมาณ 3 - 4 วัน ในวันที่เกิดหมอกทัศนวิสัยจะเลวเห็นได้ไม่เกิน 1 กิโลเมตร ส่วนฟ้าหลัวก็เช่นเดียวกันโดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดได้ทุกเดือนตลอดปี แต่ช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนจะมีฟ้าหลัวเกิดมากที่สุดประมาณ 17 – 25 วัน โดยเกิดมากที่สุดในเดือนมีนาคม วันที่มีฟ้าหลัวทัศนวิสัยจะเห็นได้ไกลประมาณ 3 - 4 กิโลเมตร ทัศนวิสัยเฉลี่ยเวลา 07.00 น. จะเห็นได้ไกลประมาณ 6 กิโลเมตร และทัศนวิสัยเฉลี่ยตลอดวันประมาณ 8 กิโลเมตร
ลม
ระบบหมุนเวียนของลมในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีความชัดเจนดี เดือนตุลาคมถึงธันวาคมจะเป็นลมทิศเหนือ ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 6 - 9 กม./ชม. เดือนมกราคมถึงเมษายนจะเป็นลมทิศตะวันออก ความเร็วลมเฉลี่ย 7 - 9 กม./ชม. และเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายนจะเป็นลมทิศตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 7 – 9 กม./ชม. กำลังลมสูงสุดในแต่ละฤดูมีดังนี้ ฤดูร้อนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 74 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเดือนเมษายน ฤดูฝนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 102 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันตกค่อนไปทางใต้เล็กน้อยในเดือนสิงหาคม ส่วนในฤดูหนาวเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 74 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันออกในเดือนมกราคม
พายุหมุนเขตร้อน
พายุหมุนเขตร้อนที่ผ่านบริเวณภาคใต้และทำความกระทบกระเทือนให้กับจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนมากเป็นพายุดีเปรสชั่นที่มีกำลังอ่อน พายุนี้ส่วนมากจะเกิดจากทะเลจีนใต้และมีส่วนน้อยที่เกิดจากมหาสมุทรแปซิฟิคเคลื่อนตัวเข้ามาในอ่าวไทยระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม พายุดีเปรสชั่นหรือพายุโซนร้อนที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคใต้เกือบทุกครั้งจะทำความกระทบกระเทือนให้กับจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย จะทำให้ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงและเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันขึ้นได้ กำลังแรงของลมและคลื่นในทะเลจะทำอันตรายแก่เรือในทะเล และอาคารบ้านเรือนที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลได้ พายุหมุนที่มีความรุนแรงและทำความเสียหายแก่ภาคใต้เป็นบริเวณกว้างและจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ผ่านมาได้แก่พายุโซนร้อน “ฮาเรียต” ซึ่งก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ใกล้ปลายแหลมญวน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2505 แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทยพร้อมทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้เคลื่อนตัวผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2505 ลงสู่ทะเลอันดามัน พายุนี้ได้ทำความเสียหายเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 935 คน และบาดเจ็บ 445 คน ทรัพย์สินของราชการและเอกชนเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 1,320 ล้านบาท นับเป็นความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย พายุโซนร้อนลูกนี้ได้เคลื่อนตัวผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2505 วัดความเร็วลมได้ 93 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศเหนือ วัดปริมาณฝนใน 24 ชั่วโมงได้ 123.6 มิลลิเมตร และมีพายุดีเปรสชั่นที่ผ่านและทำความกระทบกระเทือนให้แก่จังหวัดนครศรีธรรมราชได้แก่พายุดีเปรสชั่น เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2501 ปริมาณฝนใน 24 ชั่วโมงได้ 206.4 มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2505 วัดปริมาณฝนใน 24 ชั่วโมงได้ 119.5 มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2509 วัดปริมาณฝนใน 24 ชั่วโมงได้ 109.5 มิลลิเมตร และเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2511 วัดปริมาณฝนใน 24 ชั่วโมง ได้ 77.8 มิลลิเมตร