2 วิธีการเดินทาง แผนที่ ภูมิอากาศ ชุมพร
สารบัญ
ช่องทางและวิธีการเดินทาง จังหวัดชุมพร
รถไฟ
มีรถไฟออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มีทั้งรถเร็ว และรถด่วนไปจังหวัดชุมพรทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) โทร. 1690 ส่วนที่สถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย) มีขบวนรถดีเซลรางไปจังหวัดชุมพรทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0 2411 3102 www.railway.co.th
รถยนตร์
จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงสี่แยกปฐมพร จากนั้นแยกซ้ายเข้าตัวเมืองชุมพร ตามทางหลวงหมายเลข 4001 อีกประมาณ 8 กิโลเมตร ระยะทางประมาณ 463 กิโลเมตร
รถประจำทาง
มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-ชุมพร ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง
สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th
ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com
รถตู้ มีคิวรถไปยังจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ ดังนี้
1 เดินทางไปกระบี่ นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งอำเภอต่าง ๆ ในชุมพร ขึ้นรถที่ถนนเลียบทางรถไฟ โทร. 0 7757 0522, 0 1657 1148, 0 4994 7798
2 เดินทางไปชุมพร-สุราษฎร์ธานี หรือ ชุมพร-หลังสวน ขึ้นรถที่ชุมพร ไนท์ พลาซ่า
3 เดินทางไปชุมพร-ระนอง ขึ้นรถที่ถนนท่าตะเภา โทร. 0 7757 0643
รถสองแถว มีบริการรถสองแถวบริการไปแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น
1 หาดทุ่งวัวแล่น ขึ้นรถที่หลังตลาดเทศบาลชุมพร
2 หาดทรายรี ขึ้นรถที่ข้างศาลหลักเมือง
3 วิ่งรอบเมืองชุมพร เวลา 08.00-15.00 น. ขึ้นรถที่ถนนเลียบทางรถไฟ และเวลา 15.00-21.00 น.ขึ้นรถที่โรงพยาบาลชุมพร
การคมนาคมภายในจังหวัดชุมพร และจากชุมพรไปจังหวัดใกล้เคียง
รถโดยสารประจำทางสายชุมพร-สวี-หลังสวน รถจอดหน้าตลาดชุมพร ถนนท่าตะเภา ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.รถแท๊กซี่ รถจอดที่คิวรถแท๊กซี่ หลังตลาดสดเก่า ตรงข้ามสถานี บขส.ชุมพร มีบริการเดินรถไปอำเภอหลังสวน จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
การเดินทางจากอำเภอเมืองชุมพรไปยังอำเภอต่าง ๆ
อำเภอปะทิว | 30 กิโลเมตร |
อำเภอท่าแซะ | 32 กิโลเมตร |
อำเภอสวี | 45 กิโลเมตร |
อำเภอทุ่งตะโก | 62 กิโลเมตร |
อำเภอหลังสวน | 76 กิโลเมตร |
อำเภอละแม | 95 กิโลเมตร |
อำเภอพะโต๊ะ | 115 กิโลเมตร |
แผนที่ จังหวัดชุมพร
ภูมิอากาศ จังหวัดชุมพร
จังหวัดชุมพร เป็นเขตที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเหตุให้มีฤดูกาลเพียง 2 ฤดู ดังนี้
ฤดูร้อน
เริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม โดยในช่วงนี้ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของภาคใต้ ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ฤดูฝน
เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน - มกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ เป็นมวลอากาศที่มีความชื้นสูง ดังนั้นเมื่อปะทะแนวเทือกเขาตะนาวศรีจึงทำให้เกิดฝนตกชุกตลอดพื้นที่จังหวัด ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 2,200 มิลลิเมตร
ในช่วงปี 2542 – 2547 มีปริมาณน้ำฝนอยู่ในช่วง 1,558 – 2,349 มิลลิเมตร โดยในปี 2543 ฝนตกมากที่สุด วัดได้ 2,349 มิลลิเมตร มีจำวนวันทีฝนตก 186 วัน และมีฝนตกน้อยที่สุดในปี 2547 วัดได้ 1,558 มิลลิเมตร มีฝนตก 165 วัน
ส่วนอุณหภูมิในจังหวัดชุมพร เฉลี่ยประมาร 27.1 องศาเซลเซียส ในช่วงระหว่างปี 2542 – 2547 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34.3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 21.7 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยสูงสุด 97 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยต่ำสุด 48 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ย 81 เปอร์เซ็นต์ รายละเอียดแสดงดังนี้
ตารางที่ 1 ข้อมูลปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิอากาศ และความชื้นสัมพัทธ์จังหวัดชุมพร ระหว่างปี 2542 – 2547
ที่มา : สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดชุมพร (ข้อมูลเดือนมกราคม 2548)
กระแสน้ำ
มวลน้ำที่เคลื่อนตัวไปมาภายในอ่าวไทยนั้น และมีผลกระทบต่อจังหวัดชุมพรจะมาจากมวลของน้ำในทะเลจีน มหาสมุทรแปซิฟิคที่ไหลขึ้น – ลง หรือหมุนเวียนไปตามอิทธิพลของมหาสมุทรในฤดูต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงทิศทางของกระแสน้ำผิวหน้าที่ไหลขนานกับขอบฝั่งทะเลนั้น มักจะเกิดจากการกระทำของลมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
มรสุมที่มีอิทธิพลต่อกระแสน้ำในอ่าวไทย จนทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางการไหลได้นั้นเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่มีความรุนแรงไม่สม่ำเสมอกัน แต่ส่วนใหญ่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงกว่าระยะเวลาที่พัดนานกว่า และมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางในการพัดน้อยกว่ามรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ดังนั้น กระแสน้ำผิวหน้าภายในอ่าวไทย จึงได้รับอิทธิพบจากมรสุมทั้งสองนี้ไม่เท่ากัน และทำให้มวลของน้ำไหลเข้าเหนือไหลออกจากอ่าวไทยด้วยความเร็วไม่สม่ำเสมอกันอีก
กรมควบคุมมลพิษรายงานไว้ว่า โดยทั่วไปกระแสน้ำในบริเวณนี้จะไหลจากทิศเหนือลงมาทางตอนใต้ จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาจนถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานีไหลผ่านเกาะสมุย หลังจากนั้นจะไหลลงสู่ตอนกลางของอ่าวไทย แต่สำหรับในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมจะมีกระแสน้ำวนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา ในช่วงชายฝั่งทะเลจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี เกาะสมุยและหมู่เกาะอ่างทอง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม กระแสน้ำในบริเวณนี้จะไหลขึ้นทางทิศเหนือ ซึ่งยังเป็นที่วิจารณ์กันโดยยังหาข้อสรุปไม่ได้ในปัจจุบัน เนื่องจากความแปรปรวนของลักษณะทางสมุทรศาสตร์ที่เกิดขึ้นได้ทุกปี
คลื่น
คลื่นในบริเวณชายฝั่งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ได้รับอิทธิพลหลักจากกระแสลม โดยพบว่า ช่วงเวลาที่มีคลื่นแรงที่สุดจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีกำลังแรงในช่วงนี้ ประกอบกับเป็นช่วงที่มีฝนตกหนัก ส่งผลให้เป็นอุปสรรคในการเดินทางท่องเที่ยวทางทะเลช่วงเวลาที่มีคลื่นแรง รองลงมาได้แก่ ช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมตะวันออก ซึ่งมีความแรงลมน้อยกว่าลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้คลื่นมีความแรงไม่มากนัก อีกทั้งช่วงนี้เป็นช่วงฤดูแล้ง ทำให้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเดินทางท่องเที่ยวทางทะเล
ในช่วงรอยต่อระหว่างเดือนเมษายน - พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนลมมรสุม อาจจะส่งผลให้กระแสลมมีความรุนแรง อีกทั้งมีลมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้ามา เนื่องจากจังหวัดชุมพรมีลักษณะเป็นแหลมแคบ ๆ ทำให้ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนลมมรสุมในช่วงเวลาสั้น ๆ ช่วงนี้จึงอาจจะมีคลื่นแรงขึ้นเล็กน้อย
ในช่วงเดือนพฤษภาคม - กันยายน เป็นช่วงที่ภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้กระแสลมพัดออกจากฝั่ง ช่วงเวลานี้จัดเป็นช่วงเวลาที่มีคลื่นไม่แรงมากนักโดยเฉพาะบริเวณชายฝั่ง และกลุ่มเกาะใกล้ชายฝั่ง เนื่องจากจุดกำเนิดคลื่นอยู่ใกล้ฝั่ง อย่างไรก็ตามความแรงของคลื่นจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อออกจากฝั่งมากขึ้น แต่โดยทั่วไปแล้วช่วงนี้จัดเป็นช่วงเวลาที่คลื่นไม่แรงมากนัก ยกเว้นบางช่วงเวลาที่อาจจะมีกระแสแปรปรวน
อนึ่ง แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีคลื่นไม่แรงมากนัก แต่ก็อาจจะได้รับอิทธิพลจากฝน ในช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อยู่บ้างเป็นบางครั้ง
การขึ้นลงของน้ำทะเล
การแปรผันของระดับน้ำทะเลจังหวัดชุมพร ย่อมเกี่ยวข้องกับลักษณะอุตุนิยมกล่าวคือ การเปลี่ยนทิศทางของลม หรือความกดอากาศของบริเวณฝั่งนั้นต่ำลง ก็จะทำให้ระดับน้ำขึ้นและลงเต็มที่ของฝั่งนั้นมีค่าสูงขึ้น ส่วนฝั่งที่มีลมพัดออกหรือฝั่งที่มีความกดอากาศสูง ย่อมทำให้ระดับน้ำของฝั่งนั้นมีค่าต่ำ นอกจากนั้นยังมีอาการผันแปรของน้ำตาม ลักษณะภูมิศาสตร์คือ ตำบลที่เป็นทะเลเปิด ย่อมจะมีการผันแปรของน้ำตามฤดูกาลดังกล่าวนั้นน้อย ตำบลที่อยู่ใกล้ปากน้ำจะมีการผันแปรของระดับน้ำตามฤดูกาล ซึ่งขึ้นอยู่กับอิทธิพลของน้ำในแม่น้ำ อันอาจทำให้ระดับน้ำขึ้นลงเต็มที่มากกว่าหรือน้อยกว่าธรรมดาก็ได้
ลักษณะน้ำขึ้นน้ำลงของจังหวัดชุมพร มีลักษณะเป็นน้ำเดี่ยวหรือน้ำช่วงหนึ่งวัน คือ มีการขึ้นลงวันละ 1 ครั้ง โดยมีระดับความแตกต่างเฉลี่ยระหว่างน้ำขึ้นน้ำลงขนาด 1.2 เมตรในช่วงน้ำขึ้นน้ำลงฉับพลัน ช่วงเวลาที่มีความแตกต่างระหว่างน้ำขึ้นน้ำลงมากที่สุด อยู่ในช่วงเดือนธันวาคม โดยมีระดับน้ำขึ้นสูงสุดกับระดับน้ำลงต่ำสุดต่างกันถึง 3.0 เมตร
กำลังลม
ค่าเฉลี่ยความเร็วลม (น็อต) ในรอบ 30 ปี ระหว่าง พ.ศ.2513-2543 ของจังหวัดชุมพร ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคมอยู่ในช่วง 1.8 – 3.5 น็อต โดยลมมีความเร็วเฉลี่ยสูงสุดในเดือนธันวาคม รองลงมาคือ เดือนสิงหาคม และความเร็วลมเฉลี่ยต่ำสุดพบในเดือนตุลาคม โดยที่ทิศทางลมนั้นมาจาก 3 ทิศทาง ด้วยกันคือ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนลมพัดมาจากทิศตะวันออก (E) ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ลมจะพัดมาจากทิศตะวันตก (W) และเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ลมจะพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (NE)