ทัวร์ใต้
งานซ่วงเฮือ ลาว
งานซ่วงเฮือ(การแข่งเรือยาว)
ในเดือน 9 นอกจากงานบุญข้าวประดับดินแล้ว สำหรับเมืองหลวงพระบางยังมีประเพณีซ่วงเฮือ หรือการแข่งเรือยาวด้วย การแข่งเรือยาวของหลวงพระบางเป็นประเพณีเก่าแก่และต่างจากแขวงอื่นของลาว ซึ่งมีบุญซ่วงเฮือในเดือน 11 ทั้งมิได้แข่งในแม่น้ำโขงอย่างแขวงอื่น แต่ใช้สายน้ำคานเป็นสนามประลองยุทธ์แทน
กล่าวกันว่า เดิมประเพณีแข่งเรือมีขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมกำลังชายชาวเมืองหลวงพระบางไว้สำหรับยามศึกสงคราม จะได้รู้ว่าชายหนุ่มผู้เข้มแข็งนั้นอยู่ที่คุ้มบ้านใดบ้าง ระยะทางที่แข่งขันจะยาวกว่าปัจจุบันและสามารถใช้กำลังต่อสู้ตัดสินผลแพ้ชนะของการแข่งเืรือได้ ด้วยเหตุนี้เรือแข่งเก่าตามวัดต่างๆ จึงมักมีความหนา น้ำหนักมาก เพื่อให้เข้าปะทะดี ส่วนเรือปัจจุบันแข่งกันที่ความเร็ว เรือที่ทำึขึ้นจึงเบาและบางขึ้น
เรือยาวหลวงพระบางรูปยาวเพรียว หัวท้ายเชิดงอน ต่างจากเรือยาวของไทย ผู้อยู่หัวเรือมีหน้าที่ขย่มหัวเรือให้ขึ้นน้ำในจังหวะที่รับการพายของฝีพายเพื่อเพิ่มความเร็ว คนหลวงพระบางจึงบอกว่า "เรือเมืองอื่นหย่มท้าย แต่เรือหลวงพระบางหย่มหัว"
ปัจจุบันจะคัดเลือกชายฉกรรจ์จากเรือนต่างๆ ในคุ้มบ้านมาเป็นฝีพาย เก็บตัวบำรุงร่างกายและฝึกซ้อมกันหลายสัปดาห์ เพื่อให้ชินกับกระแสน้ำ ให้เข้าใจจังหวะของการพาย และสร้างพละกำลังให้พร้อมที่สุดก่อนถึงวันแข่งขัน โดยใช้วัดเป็นสถานที่เก็บตัว
กล่าวกันว่าบุญเดือน ๙ เป็นฮีตคู่กับบุญเดือน ๕ หรือบุญสงกรานต์ ในอดีตยามบุญเดือน ๕ หลังจากทำบุญแล้ว ชาวเมืองจะเล่นสนุกสาดน้ำกัน ผู้หญิงมีสิทธิ์เอามินหม้อ (เขม่าดำก้นหม้อ) มอมหน้าผู้ชายได้ ครั้นถึงบุญเดือน ๙ ฝีพายในเรือก็มีสิทธิ์ร้องเพลงเกี้ยวพาราสีหญิงสาวบนฝั่งได้ โดยผู้หญิงไม่อาจถือโทษโกรธเคือง เนื่องจากเป็นประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิม
สิ่งน่าสนใจ
เซ่นไหว้นาค
ตำนานพื้นเมืองกล่าวว่า หลวงพระบางได้รับการคุ้มครองจากนาค 15 ตน ซึ่งอาศัยอยู่ตามวังน้ำสำคัญรอบเมือง เรือทุกลำที่จะลงแข่งต้องเซ่นไหว้นาคเพื่อขออนุญาต และเพื่อเป็นสิริมงคล ทั้งยังเชื่อว่าจะทำให้ฝีพายที่ลงแข่งไม่เกิดอันตรายด้วย โดยคัดเลือกหญิงสาวแห่งคุ้มบ้านสองคนมาเป็นนางเรืออัญเชิญเครื่องบัตรพลีในพานถวายนาคสองตน ซึ่งคอยพิทักษ์รักษาห้วงน้ำบริเวณที่จะแข่งเรือ
โขนเรือ
ปกติโขนเรือเก็บอยู่ในหลังพระประธานในโบสถ์ ด้วยถือว่ามีผีสิงอยู่ จึงต้องให้อยู่กับพระ จะนำออกมาก็เฉพาะในวันแข่งเรือประจำปีเท่านั้น ก่อนลงสู่สายน้ำ จะทำพิธีโขนเรือ และแห่รอบโบสถ์สามรอบ มีพระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์ เป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจให้เหล่าฝีพาย ซึ่งกำลังจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนคุ้มบ้านเข้าร่วมชิงชัยกลางสายน้ำคาน