Ja Anion
งานบุญปีใหม่ ลาว
- รายละเอียด
- สร้างเมื่อ: วันจันทร์, 20 มิถุนายน 2554 13:36
- เขียนโดย Ning
สารบัญ
งานบุญปีใหม่ลาวหรืองานประเพณีบุญเดือน 5
ประเพณีบุญปีใหม่หรือบุญเดือน ๕ ซึ่งบางคนนิยมเรียกว่า "ปีใหม่ลาว" จะจัดขึ้นในช่วงวันเพ็ญของเดือนเมษายน จะเหลื่อมกับเทศกาลสงกรานต์ของไทยประมาณ 1-2 วัน มักอยู่ประมาณวันที่ 13-16 เมษายน บุญปีใหม่ของหลวงพระบางถือเป็นเทศกาลบุญประเพณีที่ใหญ่ที่สุดในลาว นอกจากชาวหลวงพระบางแล้ว ยังมีชาวลาวแขวงอื่นและชาวลาวโพ้นทะเลเดินทางกลับมาท่องเที่ยวด้วย
บุญปีใหม่ของหลวงพระบางถือเป็นเทศกาลประเพณีใหญ่ที่สุดในเมืองลาว นอกจากชาวหลวงพระบางแล้ว ยังมีชาวลาวแขวงอื่นและชาวลาวโพ้นทะเลเดินทางกลับมาท่องเที่ยวด้วย เมื่อรวมกับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศแล้ว ในหลวงพระบาง บางช่วงบุญปีใหม่นี้จึงมีจำนวนผู้คนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากช่วงเวลาปกติ ห้องพักตามโรงแรมและบ้านพักในหลวงพระบางเต็มหมด ร้านอาหารมีลูกค้าอุดหนุนตลอดทั้งวัน ราคาสินค้า – อาหาร – ที่พัก แพงขึ้น
ก่อนถึงช่วงปีใหม่ลาวประมาณ 1 สัปดาห์ ชาวหลวงพระบางจะพากันซ่อมแซม ทำความสะอาดบ้านเรือน นิมนต์พระสงฆ์มาสวดทำบุญบ้าน แล้วกินเลียงฉลองกันในหมู่เพื่อนบ้านญาติมิตรในตอนเย็น ผู้ชายมักตัดผมก่อนถึงช่วงปีใหม่ ถือเป็นเคล็ดให้โชคดีก่อนข้ามปี แม้ในห้วงยามนี้ชาวหลวงพระบางจะฉลองปีใหม่กัน 7 วัน 7 คืน แต่ในส่วนพิธีตามประเพณีแล้ว ปีใหม่ลาวในหลวงพระบางจะมีวันสำคัญอยู่ 3 วันคือ วันสังขานล่อง วันเนา และวันสังขานขึ้น
วันสังขานล่อง(วันสังขานล่วง)
ถือเป็นวันสิ้นปี ส่วนใหญ่มักตรงกับวันที่ 13 เมษายน ตามปฏิทิน ตอนเช้ามีตลาดนัดบริเวณสี่แยกใจกลางเมือง ไปตามถนนเจ้าฟ้างุ้ม วงเวียนน้ำพุ จนไปถึงสนามหน้าวัดธาตุหลวง ชาวหลวงพระบางจะมาเที่ยวซื้อของและเครื่องบุญสำหรับทำบุญในช่วงปีใหม่ ตกตอนบ่ายชาวเมืองจะข้ามฟากไปยังหาดทรายริมแม่น้ำโขงฝั่งตรงข้ามหลวงพระบาง เพื่อก่อเจดีย์ทราย หรือตบทาดซาย ตามชายฝั่งมีซุ้มรำวง มีแผงขายอาหารเครื่องดื่ม เป็นช่วงสนุกสนานรื่นเริงส่งท้ายปีเก่าของชาวเมืองหลวงพระบาง พอก่อเจดีย์ทรายเสร็จแล้ว ชาวบ้านจุะขึ้นไปสรงน้ำพระธาตุจอมเพชรบนเขาหลังหาดทราย ประเพณีเดินขึ้นเขาสรงน้ำพระธาตุจอมเพชรมีเฉพาะช่วงวันสิ้นปีหรือวันสังขานล่องเท่านั้น พอตกตอนค่ำจะลอยกระทงในแม่น้ำโขง ถือเป็นการลอยเคราะห์กรรม และสิ่งอัปมงคลทั้งหลายในรอบปีให้ไหลล่วงไปกับสายน้ำในวันสิ้นปี
วันสังเนา
เป็นวันที่ 2 ของเทศกาลสงกรานต์ลาว ถือเป็นวันกึ่งกลางระหว่างศักราชเก่ากับศักราชใหม่ วันนี้ขบวนแห่วอ จากวัดมะหาทาด หรือวัดทาดน้อย มาตามกลางถนนกลางเมืองไปยังวัดเชียงทอง
ขบวนประกอบด้วยคณะสงห์ของเมือง ขบวนปู่เยอ-ย่าเยอ ซึ่งเป็นจุดรวมความสนใจที่สุด และขบวนนางสังขาน(นางสงกรานต์) ซึ่งเชิญศีรษะท้าวกบิลพัสตร์นั่งมาบนสัตว์พาหนะซึ่งทำจากโครงลวดและไม้ไผ่กรุด้วยกระดาษ มีขบวนช้าง ขบวนฟ้อนนางก้ว และขบวนการแสดงของชนเผ่าลาวเผ่าต่างๆ เข้าร่วมด้วย ขณะที่ขบวนแห่วอผ่านมานั้น ชาวบ้านจะพากันออกมาสรงน้ำพระสงฆ์ หลังจากนั้น ผู้ที่ไม่ได้ติดตามขบวนไปถึงวัดเชียงทอง ก็จะเล่นสาดน้ำกันอยู่กลางถนนเป็นที่สนุกสนาน ขบวนแห่วอและนางสังขานทั้งเจ็ดนั้น จะมาสิ้นสุดที่วัดเชียงทองเชิญศีรษะท้าวกบิลพัสตร์เข้าไปฟังธรรมเทศนาจากคณะสงฆ์ในสิมวัดเชียงทอง
หัวใจของงานอยู่ที่พระบาง พระพุทธรูปอันเป็นสัญลักษณ์อาณาจักรลาวและเป็นที่มาของชื่อเมือง งานประเพณีบุญเดือนห้าเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าฤดูเพาะปลูกได้เวียนมาถึงอีกครั้ง เมื่อกลางวันเริ่มยาวนานขึ้น พร้อมๆ กับสายฝนที่เริ่มโปรยปราย ผู้คนทุกชั้นวรรณะจะมาเฉลิมฉลองทำบุญร่วมกัน ไม่ต่างจากงานประเพณีเดือนสิบสอง
โดยในสมัยโบราณนั้นจะจัดงานกันนานถึงสามสัปดาห์ เพราะมีทั้งงานพิธี พิธีกรรม การละเล่น และขบวนแห่ต่างๆ มากมาย ดังเคยมีผู้บรรยายไว้ว่า “ เสียงฆ้องกลองรำมะนาดังกึกก้องกังวาน ในขณะที่ขบวนแห่งของชาวเมืองเคลื่อนไปตามท้องถนน ซึ่งประดับประดาด้วยกระดาษหลากสีพร้อมสัญลักษณ์จักรราศีปลิวไสว” หน้าขบวนมีช้างนำหลายเชือก แม้แต่พวกชาวเขาก็เข้ามาร่วมด้วยเช่นกัน
วันสังขานขึ้น
ถัดจากวันเนา 1 วัน ถือเป็นวันเริ่มต้นศักราชใหม่หรือวันขึ้นปีใหม่ ชาวหลวงพระบางนอกจากจะใส่บาตรพระสงฆ์กันตามปกติแล้ว ยังเดินขึ้นพูสีเพื่อ "ตักบาตรพูสี" เป็นประเพณีซึ่งปฏิบัติกันปีละครั้งเท่านั้น ทุกคนจะแต่งกายสวยงามตามวัฒนธรรมลาว ระหว่างการเดินจะวางข้าวเหนียวก้อนเล็กๆ ไว้ตามก้อนหิน โคนไม้ เชิงบันได ฯลฯ ตลอดเส้นทางสู่ยอดเขา เพื่อเป็นทานให้แก่สรรพสัตว์ เมื่อถึงองค์พระะาตุก็จะปั้นข้าวเหนียวแล้วโยนขึ้นไปยังยอดพระธาตุ เป็นการตักบาตรให้องค์พระธาตุพูสี
ครั้นช่วงบ่ายจะแห่วอจากวัดเชียงทองกลับวัดมะหาทาด นับว่าเป็นการเสร็จสิ้นพิธีกรรมในเทศกาลปีใหม่ของหลวงพระบาง และสิ้นสุดภาระหน้าที่ของนางสังขานทั้งเจ็ด
สิ่งที่น่าสนใจในเทศกาลปีใหม่ลาว
แห่พระบาง
วันต่อมาหลังจากวันสังขานขึ้น จะมีพิธีแห่พระบางซึ่งปกติประดิษฐานอยู่ในหอพิพิธภัณฑ์หรือพระราชวังเดิม โดยมีขบวนแถวของพระสงฆ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และผู้เฒ่าผู้แก่ของเมือง อัญเชิญพระบางออกจากหอพิพิธภัณฑ์มาตั้งที่ปะรำพิธีในวัดใหม่สุวันนะพูมารามเป็นเวลา 3 วัน เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำพระบางอย่างใกล้ชิด
ปู่เยอ – ย่าเยอที่เมืองหลวงพระบางนั้น ถูกเก็บไว้ที่หอเสื้อเมือง(หอเทวดาหลวง) ที่วัดอาราม (บางคนเรียก วัดอาฮาม) ที่อยู่ใกล้ ๆ วัดพระธาตุหมากโม ตามปกติหอเสื้อเมืองหรือหอเทวดาหลวง นี้จะถูกปิดตายและจะเปิดเฉพาะวันสงกรานต์เท่านั้น ที่จะมีพิธีการเชิญรูปหุ่นจำลอง ปู่เยอ ย่าเยอ ออกมาจากหอเสื้อเมือง
งานแห่นี้จะจัดขึ้นวันที่สองของวันสงกรานต์หรือ ที่เรียกว่า วันเนา ตอนเช้าจะมีการอัญเชิญรูปหุ่นเชิด ปู่เยอ ย่าเยอ สิงห์แก้ว สิงห์คำ ( สิงห์แก้ว และสิงห์คำ เป็นสิงห์ที่ปู่เยอ ย่าเยอเอามาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม) จากหอเสื้อเมืองนี้ ทำพิธีไหว้และถวายเครื่องทาน จากนั้นก็แห่ไปตักน้ำที่แม่น้ำคานบริเวณ ผาบัง ใกล้กับสะพานเหล็กที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นในสมัยลาวยังเป็นอาณานิคม
เพราะเชื่อว่าบริเวณนั้นมีพญานาคตนหนึ่งชื่อ อ้ายคำหล้า อาศัยอยู่ น้ำที่ถูกตักขึ้นมาจะเก็บไว้ในไหดิน เพื่อให้ปู่เยอ ย่าเยอนำไปสรงน้ำพระบาง จากนั้นในตอนบ่ายก็จะแห่ ปู่เยอ ย่าเยอ ตามด้วยผู้เฒ่า ผู้แก่หัวหน้าหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน ขบวนพระสงฆ์ นางสังขาร หรือนางวอ (นางสงกรานต์) ขี่สัตว์พาหนะ ปู่เยอ ย่าเยอ จะฟ้อนรำอวยพรให้ลูกหลานได้พบกับความสมบูรณ์พูนสุขไปรอบๆ เมือง
การเต้นของปู่เยอย่าเยอจะเต้นถวายพระธาตุหน้าสิมวัดอาฮามซึ่งเป็นหลักเมืองของหลวงพระบาง และเมื่อจะเก็บชุดเข้าหอก็ต้องเต้นถวายพระธาตุหมากโมก่อนด้วย
นางสังขาน(นางสงกรานต์) คือผู้ที่ได้รับเลือกเป็นนางสังขานจะต้องเป็นสาวงามชาวหลวงพระบางเท่านั้น ซึ่งจะพิจารณาจากกิริยามารยาท ความรอบรู้ปฏิภาณ และที่ขาดไม่ได้คือความสวยงามสมกับเป็นแม่หญิงลาว สถานที่จัดงานประกวดนางสังขานของหลวงพระบางคือ สนามหลวงหรือสนามกีฬาเก่าของเมืองหลวงพระบาง
ข้ามฟากแม่น้ำโขงในวันสังขานล่องตั้งแต่ช่วงบ่าย ผู้คนจะข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งตัวเมืองไปยังฟากตรงกันข้าม เพื่อร่วมก่อเจดีย์ทรายและขึ้นไปสรงน้ำพระธาตุจอมเพชพ มีขบวนเรือโดยสารนับร้อยลำที่แล่นสวนกันไปมาในแม่น้ำโขง เป็นภาพน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
วันตลาดนัด หรือมื้อเลาะตะหลาด
มีขึ้นทุกครั้งยามมีงานบุญในเมืองหลวงพระบาง เป็นโอกาสให้ชาวบ้านได้หาซื้อของเครื่องใช้สำหรับงานบุญและชีวิตประจำวัน ระยะหลังมีสินค้าจำพวกของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยววางจำหน่ายด้วย
ขบวนเรือข้ามฟากกลางน้ำโขง
ในวันสังขานล่องตั้งแต่ช่วงบ่าย ผู้คนจะข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งตัวเมืองไปยังฟากตรงข้าม เพื่อร่วมกันก่อเจดีย์ทรายและขึ้นสรงน้ำพระธาตุจอมเพชร ขบวนเรือโดยสารนับร้อยลำที่แล่นสวนกันไปมาในแม่น้ำโขง เป็นภาพน่าตื่นตาสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
นางสังขาน
ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นนางสังขานจะต้องเป็นสาวงาม ชาวหลวงพระบางเท่านั้น ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ของเมืองจะพิจารณาตั้งแต่เรื่องกิริยามารยาท ความรอบรู้ปฏิภาณ และที่ขาดไม่ได้คือ ความสวยงานสมกับเป็นแม่หญิงลาว
ปู่เยอ – ย่าเยอ
การเต้นของปู่เยอ – ย่าเยอ มีหลายครั้งด้วยกัน เช่น เมื่อแห่ชุดปู่เยอ - ย่าเยอลงจากหอเก็บในวัดอาฮามแล้ว หลังจากกราบพระในสิม ปู่เยอ - ย่าเยอก็จะเต้นถวายพระธาตุหน้าสิมวัดอาฮาม ซึ่งเป็นหลักเมืองของหลวงพระบางตั้งแต่สมัยเจ้าฟ้างุ้มสร้างเมืองเชียงดง – เชียงทองเมื่อ ๖๐๐ กว่าปีที่แล้ว และเมื่อจะเก็บชุดเข้าหอก็ต้องเต้นถวายพระธาตุหมากโมก่อนด้วย นอกจากนี้เมื่อขบวนแห่วอมาถึงวัดเชียงทอง ปู่เยอ - ย่าเยอจะเต้นที่ลานข้างสิมหน้าโรงเมี้ยนโกศ เพื่อถวายพระเจ้าภายในสิม
***ปู่เยอ – ย่าเยอ
“ปู่เยอ –ย่าเยอ” เป็นเทวดาหลวงหรืออารักษ์เมือง ซึ่งเป็นที่นับถืออย่างสูงของชาวลาวทั่วไป ตามตำนานขุนบรมเล่าว่า ปู่เยอ – ย่าเยอเป็นผู้มีบุญคุณกับคนลาวมาก ครั้งที่ชาวลาวยังอยู่ในบริเวณเมืองแถน ได้เกิดอาเพศมีเครือเขากาดขึ้นสูงบังตะวันมุงบ้านเมืองจนมืดมิด ขุนบรมผู้เป็นเจ้าเมืองได้หาผู้อาสาไปฟันเครือเหล่านี้ จึงมีสองผู้เฒ่าออกไปช่วยกันตัดเครือเขากาดอยู่ ๓ เดือน ๓ วัน จึงขาดหมดสิ้นและล้มทับสองเฒ่าจนตายในทันที ทำให้ชาวบ้านศรัทธาเฒ่าทั้งสองสืบต่อจนถึงทุกวันนี้ เมื่อชาวบ้านจะกินข้าว จะทำการสิ่งใด มักเรียกหาสองเฒ่านี้ด้วยถ้อยคำว่า “ปู่มาเย้อ ย่ามาเย้อ” “ปู่มาเย้อ ย่ามาเย้อ” ก่อนเสมอ
ในขบวนแห่วอจะเห็นชุดปู่เยอ – ย่าเยอมีหน้ากลมๆ ขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้ประดู่ทาสีแดง ตามตัวมีขนยาวรุงรังทำจากปอ และมีตัว “สิงแก้ว” เป็นสัตว์เลี้ยง ชุดปู่เยอ - ย่าเยอและสิงแก้วนี้เป็นของที่ตกทอดคู่เมืองมาแต่โบราณ และมีการซ่อมแซมกันมาตลอด เพราะทุกปีปู่เยอ – ย่าเยอมักถูกชาวบ้านดึงขนออกไปคนละหยิบสองหยิบ คนหลวงพระบางถือเคล็ดว่าถ้าใช้ขนของปู่เยอ – ย่าเยอผูกข้อมือให้เด็ก จะช่วยป้องกันภูตผีและสิ่งชั่วร้ายไม่ให้มากล้ำกรายเด็กได้ เด็กคนไหนชอบร้องไห้ พ่อแม่จะหาขนของปู่เยอ – ย่าเยอมาผูกข้อมือให้
ปกติชุดใส่เชิดปู่เยอ – ย่าเยอเก็บรักษาอยู่ที่วัดอาฮาม ติดกับวัดวิชุน และนำออกจากหอเก็บมาใช้เฉพาะช่วงบุญปีใหม่เท่านั้น
ผู้ที่เล่นเป็นปู่เยอ – ย่าเยอและสิงแก้ว ต้องมาจากคนในสายมูลเชื้อเดียวกัน ซึ่งสืบทอดมาแต่อดีต ทั้งยังต้องทำพิธีเซ่นไหว้และครอบครูกันทุกครั้งก่อนสวมชุด ทั้งขาไปวัดเชียงทอง และกลับวัดมะหาทาด ต้องอยู่ในขบวนแห่พระบางออกจากหอพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งเป็นผู้ขึ้นสรงน้ำพระบางเป็นคู่แรกในปะรำ ณ วัดใหม่ ปู่เยอ - ย่าเยอจึงเป็นเสมือนหนึ่งตัวแทนของบรรพบุรุษชาวลาวทั้งมวล
***พระบาง
พระบางพุทธลาวรรณ หรือเรียกกันทั่วไปว่า “พระบาง” เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ตามตำนานว่า พระเจ้ากรุงอินทรปัตหรือกัมพูชาได้มาจากลังกาทวีป พระอรหันต์นามว่า จุลนาคเถระ ใน พ.ศ. ๔๓๖ เป็นผู้หล่อขึ้น โดยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานในองค์พระบางถึงหกตำแหน่ง วัตถุที่ใช้หล่อเป็นทองคำ ผสมทองแดงและเงิน โดยมีเนื้อทองคำถึง ๙๐%
เมื่อเจ้าฟ้างุ้มตีได้เมืองเชียงดง – เชียงทองแล้ว ทรงขอพระบางจากพระเจ้ากรุงอินทรปัตร ซึ่งเป็นพ่อตา มาไว้ที่เมืองเชียงดง – เชียงทอง จนถึงปี พ.ศ.๒๑๐๓ เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางลงมายังเวียงจันทน์เพื่อหนีศึกพม่านั้น ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมากรุงเวียงจันทน์ด้วย ส่วนพระบางถูกนำไปซ่อนในถ้ำทางฟากเมืองเชียงแมน พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเมืองเชียงทองเป็นนครหลวงพระบาง
อย่างไรก็ตามพุทธลักษณะของพระบางนั้น เป็นศิลปะแบบเขมรสมัยหลังบายนซึ่งมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายท่านลงความเห็นว่า พระบางน่าจะสร้างโดยฝีมือช่างเขมรโบราณมากกว่าช่างลังกา
พระบางนอกจากถือเป็นพระคู่เมืองหลวงพระบางแล้ว ยังเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่สุดในประเทศลาวด้วย