บ้านท่าข้องเหล็ก อุบลราชธานี
บ้านท่าข้องเหล็ก
บ้านท่าข้องเหล็กเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำมูล มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ในการปั้นหม้อ โดยใช้ดินเหนียวในลุ่มแม่น้ำมูล นำมานวด ให้เข้าเนื้อแล้วผสมกับแกลบและอื่นๆ ซึ่งเป็นวิธีที่น่าสนใจมาก วิธีนี้ไม่มีเครื่องจักรมาเกี่ยวข้องเลย
ระยะแรกที่ทำกันที่บ้านช่างหม้อ (เดิมเป็นบ้านท่าข้องเหล็ก แยกเป็นบ้านช่างหม้อ) โดยมีช่างโคราชนำเทคโนโลยีการปั้นหม้อมาเผยแพร่ เมื่อก่อนทำกันทุกครัวเรือนภายหลังดินขาดแคลน จึงเปลี่ยนเป็นปั้นเตาอังโล่ กระถางแจกัน แต่ชาวบ้านก็ยังนิยมปั้นหม้อแบบโบราณซึ่งสืบมาแต่บิดามารดา เพราะไม่ชำนาญรูปแบบใหม่และตลาดยังนิยมซื้อไว้ใส่น้ำดื่ม เนื่องจากราคาย่อมเยา
ที่ตั้ง
ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 226 สายอุบล-ศรีสะเกษ ประมาณ 3 กม. (ข้างโรงเรียนวารินชำราบ)
กระบวนการปั้นหม้อแบ่งเป็นขั้นๆ ดังนี้
1. การหมักดิน นำดินจากแม่น้ำมาหมัก 1 วัน เมื่อก่อนชาวบ้านนำดินจากบรืเวณท่าข้องเหล็กปัจจุบันไปนำดินจากบริเวณกุดปลาขาวมาใช้ เพราะดินบริเวณริมมูลท่าข้องเหล็กเริ่มลดน้อยลง ดินที่จะใช้ทำหม้อเป็นดินดำ เนื่องจากเป็นดินที่มีคุณภาพดี เมื่อเผาแล้วมีความทนทานดี ไม่ค่อยแตกง่ายใช้ได้นาน ชาวบ้านส่วนมากทำเครื่องปั้นดินเผา เช่น เตา และหม้อน้ำ ซึ่งเป็นอาชีพรองจากการทำนา
2. นวดดินกับแกลบเผาในอัตราส่วน 1:1 ในระหว่างการนวดผสมน้ำเล็กน้อยเพื่อให้ดินและแกลบเข้ากันได้ดี ขั้นตอนการนวดจะเป็นหน้าที่ ของผู้ชายเพราะต้องใช้น้ำหนักในการนวด
3. ขึ้นรูปหม้อ เป็นบทบาทของสตรี เนื่องจากมือเบา ถ้าเป้นชายน้ำหนักมือจะหนักหม้ออาจเบี้ยวไม่ได้รูป
3.1 ทำเบ้า โดยนวดดินให้เป็นก้อนเป็นรูปทรงกระบอก แล้วเอาแท่นไม้กลมที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ยาว 14 นิ้ว โดยประมาณ สอดเข้าไปกลางดิน กลึงออกเป็นวงกลม รูปทรงกระบอกการกลึงดินเพื่อให้รูเข้าไปกว้างออกจนมือสามารถสอดเข้าไปได้ เมื่อได้ที่แล้ว จึงนำไปวางบนแท่นไม้ (ตั่ง) สูงประมาณ 50 เซนติเมตร ศูนย์กลาง 10 นิ้ว
3.2 ทำปากหม้อ โดยขึ้นปากก่อน วีปากภาชนะ โดยช่างปั้นเวียนรอบดินที่ตั้งตั่งใช้มือกดเป็นรูปปากหม้อ โดยใช้นิ้วโป้งกดด้านใน อีก 4 นิ้ว ประคองข้างนอก สมัยโบราณใช้ใบสัปปะรด (ใบบักนัด) หวีปาก แต่ปัจจุบันใช้ถุงพลาสติกแทนเนื่องจากหาง่าย ทนทานไม่ขาดยุ่ย
3.3 เมื่อขึ้นปากแล้ว จึงใช้ถ่านถูและไม้ตีข้างนอก ไม้จะตีตรงที่ถ่านถูคันดิน เพื่อให้ดินขยายออก และเนื้อหม้อก็จะบางลง และตีดันออกไปเป็นรูปคล้ายแจกันดอกไม้ ทำลวดลายที่ปาก แล้วนำไปตากแดดประมาณ 1 ชั่วโมง
3.4 ภายหลังการตากแดด 1 ชั่วโมง แล้วจึงมาตีใหม่ เพื่อให้ได้ก้นที่เป็นทรงกลม และเนื้อภาชนะบางขึ้น ในการตี นำหม้อดินมาวางที่ตักใช้ไม้ตบให้ได้รูปทรง และใช้หัวเข่าขยับ เพื่อเปลี่ยนมุมหม้อให้ทั่วตีให้กลมกลืนไปทั้งหม้อ เมื่อตีได้ทรงเรียบร้อยแล้วจึงนำไปตากแดดอีกประมาณ 1 ชั่วโมง การตากแดดต้องพลิกให้ทั่วถึงส่วนหัวและก้นหม้อ
3.5 ตีให้ก้นหม้อกลมกลืนแล้วใช้น้ำลูบ เพื่อให้ดินทั้งหมดประมานและลบริ้วรอยให้เนื้อหม้อเกลี้ยงเกลา ตกแต่งลวดลายให้สวยงามตามความเหมาะสม และความชอบ
เตาเผา
แบ่งเป็น 2 ลักษณะ เตาเผาแบบโบราณใช้ดินจอมปลวกขุดเป็นโพรงลงไปเบื้องล่าง เตาเผาปัจจุบันได้แบบจากอำเภอเขมราฐ แต่ชาวบ้านไม่นิยมใช้เนื่องจากสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมาก และเผาได้ปริมาณน้อย
การเผา
เป็นเทคโนโลยีอีกขั้นหนึ่ง เพราะถ้าไม่ชำนาญ หม้ออาจแตก สีหม้อไม่สวยงาม จำเป็นต้องเลือกฟืนที่เป็นไม่มีคุณภาพ ไฟแรงสม่ำเสมอ