อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุบลราชธานี
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศไทยท่านสามารถชมพระอาทิตย์ได้เป็นที่แรกของประเทศไทย จุดที่น่าสนใจที่สุดคือ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาแต้ม อุทยานแห่งชาติผาแต้มมีพื้นราว 340 ตารางกิโลเมตร หรือ 212,500 ไร่ ในเขตอำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทร ได้ รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2534 สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง และเนิน เขา มีหน้าผาสูงชันซึ่งเกิดจากการแยกตัวของผิวโลก สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง มีหินทรายลักษณะ แปลกตากระจายอยู่ทั่วบริเวณ มีพันธุ์ไม้ดอกที่สวยงามขึ้นอยู่ตามลานหิน ผาแต้มเป็นอุทยานแห่งแรกที่มีแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทย และประเทศลาว ทำให้มองเห็นทิวทัศน์ทางฝั่งประเทศลาวได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว นอกจากนี้บริเวณรอบอุทยานแห่งชาติผาแต้มยังมีสถานที่ท่องเที่ยว อาทิเช่น น้ำตก ทุ่งดอกไม้ ให้ท่านได้แวะชมอีกมากมาย
การเดินทาง
จากอำเภอโขงเจียมใช้ เส้นทาง 2134 ต่อด้วยเส้นทาง 2112 แล้วแยกขวาไปผาแต้ม อีกราว 5 กิโลเมตร รวมระยะทางจาก โขงเจียมประมาณ 18 กิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม เป็นหน่วยงานสังกัดส่วนภูมิภาค สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในอดีตชาวบ้านท้องถิ่นทำกินในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ป่าภูผา น้อยคนนักที่จะเดินทางเข้าไปในป่าแห่งนี้ เนื่องจากมีความเชื่อว่า “ผาแต้มเป็นเขตต้องห้าม ภูผาเหล่านั้นมีความศักดิ์สิทธิ์นักเป็นภูผาแห่งความตาย ใครล่วงล้ำเข้าไปมักมีอันเป็นไปอาจเจ็บไข้ หรือเป็นอันตรายถึงชีวิต”
ปัจจุบันพื้นที่ป่าภูผาแต้มได้ถูกเปิดเผยจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป หากเมื่อดูจากแม่น้ำโขง จะเห็นเป็นหน้าผาสูงที่สวยงาม เมื่อคณะอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มาทำการสำรวจค้นพบภาพเขียนสีโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม ท้องที่บ้านกุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยฝีมือมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เรียงกันอยู่ตามความยาวของหน้าหินผาติดต่อกันยาว มากกว่า 300 ภาพ ซึ่งนับได้ว่าเป็นภาพเขียนสีโบราณ ที่มากที่สุดที่เคยพบในประเทศไทย ประกอบกับสภาพป่าในบริเวณใกล้เคียงยังอุดมสมบูรณ์อยู่ จึงได้ทำหนังสือบันทึกจากภาควิชาฯ ลงวันที 26 พฤษภาคม 2524 เสนอต่อกองอุทยานแห่งชาติกรมป่าไม้ ขอให้จัดตั้งป่าภูผาในบริเวณผาแต้มเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติได้บันทึกสั่งการ ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2524 ให้ นายเสงี่ยม จันทร์แจ่ม นักวิชการป่าไม้ 4 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดงหินกอง (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ) ไปทำการสำรวจหาข้อมูลเพิ่มเติมผลการสำรวจปรากฏรายงาน ตามหนังสืออุทยานแห่งชาติดงหินกอง ที่ กส 0708 (ดก) /57 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2524 ว่า “พื้นที่บริเวณที่ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากรเสนอขอให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ อยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าภูผา ปรากฏภาพเขียนสีโบราณซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม สภาพป่าบริเวณใกล้เคียงยังไม่ถูกทำลาย และมีจุดเด่นตามธรรมชาติที่สวยงาม การคมนาคมสะดวกเหมาะที่ตั้งอุทยานแห่งชาติ โดยเห็นควรผนวกบริเวณดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติดงหินกอง
กรมป่าไม้จึงมีคำสั่ง กรมป่าไม้ที่ 1162/2524 ลงวันที่ 13 กันยายน 2524 ให้นายเสงี่ยม จันทร์แจ่ม นักวิชาการป่าไม้ 4 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ (อุทยานแห่งชาติดงหินกองเดิม) ไปดำเนินการควบคุมดูแลรักษาป่าภูผาโดยให้พิจารณาผนวกเข้ากับ อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ทั้งนี้บริเวณภูผาดังกล่าวได้ถูกประกาศรวมกับบริเวณป่าใกล้เคียง ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติดงภูโหล่นตามกฎกระทรวงฉบับที่ 603 (พ.ศ.2516) ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2526 ต่อมากรมป่าไม้ ได้พิจารณาเห็นว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่คนละส่วน และอยู่ห่างไกลกับอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ตลอดจนมีอาณาเขตกว้างขวาง เกรงว่าอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ จะดูแลไม่ทั่วถึง และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลตามโครงการอีสานเขียว และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและการศึกษาหาความรู้ทางวิชาการ จึงมีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 991/2532 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2532 ให้ นายวรพล รัตนสุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่นท้องที่ อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ 340 ตารางกิโลเมตร หรือ 212,500 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติผาแต้ม และทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ด้วย
กรมป่าไม้โดยกองอุทยานแห่งชาติได้นำเรื่องราวดังกล่าวนี้ เสนอต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มติเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 3/2432 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 ผ่านมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 และได้รับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษหน้า 90 – 92 เล่มที่ 108 ตอนที่ 245 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 ให้เป็นอุทยานแห่งชาติผาแต้มเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 74 ของประเทศไทย ต่อมาได้มีคำสั่งกรมป่าไม้ ให้นายศักดิ์สิทธิ์ พลทรัพย์ศิริ เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 7 หรือเจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ที่ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานฯ คนที่ 2 ปัจจุบันมีคำสั่งให้นายอุทัย พรมนารี นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแต้ม
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติผาแต้มมีสภาพพื้นที่เป็นเทือกเขาติดต่อกันลักษณะสูงๆ ต่ำๆ สลับกันไปทั่วพื้นที่ ระดับความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 100-600 เมตรจากระดับน้ำทะเล แนวเขตด้านทิศตะวันออกใช้เส้นแบ่งเขตแดนประเทศและติดกับประเทศลาว ซึ่งมีแม่น้ำโขงเป็นแนวเขตโดยตลอดความยาวประมาณ 63 กิโลเมตร สภาพพื้นที่โดยรวมเป็นลานหิน รอบแนวเขตถัดจากฝั่งแม่น้ำโขงจะเป็นหน้าผาสูงชัน มีภูผาที่สำคัญได้แก่ ภูผาขาม ภูผาเมย ภูผาเจ็ก ภูผาสร้อย ภูย่าแพะ ภูชะนะได ภูผานาทาม ภูโลง ภูปัง ภูจันทร์แดง ภูหลวง ภูสมุย และภูกระบอ เป็นต้น อุทยานแห่งชาติผาแต้มเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของห้วยช้าง ห้วยภูโลง ห้วยฮุง ห้วยลาน ห้วยเพราะ ห้วยแยะ ห้วยกวย ห้วยกะอาก ห้วยใหญ่ ห้วยสูง และห้วยหละหลอย
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพอากาศของอุทยานแห่งชาติผาแต้มสามารถแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือน มิถุนายน–กันยายน ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือน ตุลาคม–กุมภาพันธ์ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคม–พฤษภาคม อุณหภูมิในแต่ละฤดูแตกต่างกันอย่างมาก ในฤดูฝนจะมีพายุฝนฟ้าคะนองอยู่บ่อยๆ ในฤดูหนาวอากาศเย็นและแห้งแล้ง ความชื้นในบรรยากาศมีน้อย ในฤดูร้อนอากาศร้อนจัด ต้นไม้ใบหญ้าแห้ง
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าโดยทั่วไปเป็น ป่าเต็งรัง เสียส่วนใหญ่ ตามพื้นที่มีหินโผล่ ลักษณะเป็นป่าโปร่งต้นไม้แคระแกร็น แต่มีความสวยงามตามธรรมชาติ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง ประดู่ และเหมือดต่างๆ พืชพื้นล่างเป็นพวกไผ่ป่า หญ้าต่างๆ ข่อยหิน และยังมีไม้ดอกที่สวยงามขึ้นอยู่ตามซอกลานหินทั่วไป เช่น หยาดน้ำค้าง แดงอุบล เอ็นอ้า เหลืองพิสมร กระดุมเงิน ตั้งไก่(หัวไก่โอก) มณีเทวา ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากกระจายทั่วพื้นที่ สภาพป่าจะเปลี่ยนเป็น ป่าดิบแล้ง ในบริเวณที่ราบลุ่มแถบริมห้วยหรือริมแม่น้ำ เนื่องจากมีความชุ่มชื้นพอประมาณตลอดปี นอกจาก นี้ ยังพบป่าสนสองใบที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ กระจัดกระจายในส่วนที่เป็นพื้นราบบนภูต่างๆ ทั่วพื้นที่
สัตว์ป่า ประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ยังไม่พบ พบแต่ขนาดเล็กลงมา สัตว์ป่าที่พบได้ทั่วไป เช่น อีเห็น สุนัขจิ้งจอก กระต่ายป่า อีเก้ง ชะมด บ่าง ในฤดูแล้งเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงมาก จะพบเห็นสัตว์ประเภทหมูป่า เลียงผา ว่ายน้ำข้ามมาจากฝั่งประเทศลาวอยู่เสมอๆ เนื่องจากอาณาเขตบางส่วนอยู่ในลำน้ำโขงมีปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ มากมาย ได้แก่ ปลาบึก ปลาตะเพียน ปลาคลัง ปลาเทโพ ปลากรด ปลาตูนา ปลาหมอ ปลากาย ปลาแข้เป็นต้น นกนานาชนิดที่พบเห็น เช่น นกขุนทอง นกยูง เหยี่ยว อีกา นกขุนแผน นกกระเต็น เป็นต้น