ทัวร์ลาว, ลาวทัวร์, NewViewTour.com
อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อุบลราชธานี
อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ
ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอโขงเจียม และอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี สภาพ พื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบและเนินเขาเตี้ยๆ โดยมียอดเขาบรรทัดเป็นจุดสูงสุด ความสูงประมาณ 543 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงไหลผ่านตามแนวเขตทางด้านทิศเหนือไปออกประเทศลาว บริเวณแก่งตะนะจะมีสายน้ำที่เชี่ยวและลึก อีกทั้งยังมีถ้ำใต้น้ำหลายแห่ง จึงทำให้มีปลาอาศัยอยู่ชุกชุม ตรงกลางมีโขดหินขนาดใหญ่เป็นเกาะกลาง มีเนื้อที่ประมาณ 50,000 ไร่ หรือ 80 ตารางกิโลเมตร
การเดินทาง
สามารถไปได้สองเส้นทางคือ หมายเลข 217 สายอุบลราชธานี-พิบูล มังสาหาร-ช่องเม็ก ประมาณ 75 กิโลเมตร แล้วแยกซ้าย ไปตามเส้นทาง 2173 อีก 13 กิโลเมตร ส่วน อีกเส้นทางหนึ่งคือเส้นทาง หมายเลข 2222 ซึ่งสามารถชมแก่งตะนะได้อย่างสวยงาม โดยหินจะโผล่ ด้านนี้มากกว่า มองเห็นแก่งตะนะได้ชัดเจน ในเขตอุทยานฯ มีสถานที่ท่องเที่ยวดังนี้
บริเวณที่ทำการอุทยานมีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว รายละเอียดติดต่อกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734
ความเป็นมา
ด้วยกรมป่าไม้ มีหนังสือที่ กส 0706/2967 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2517 เรื่องการเลือกพื้นที่เพื่อจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ ให้ป่าไม้เขตทุกเขตดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้ในท้องที่แต่ละเขต ว่ามีบริเวณใดบ้างเหมาะสมที่จะจัดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ จากการสำรวจของจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีหนังสือ ที่ อบ 09/24531 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2517 ถึงป่าไม้เขตอุบลราชธานี เห็นว่าป่าดงหินกอง ท้องที่ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม มีสภาพพื้นที่เหมาะสมเพื่อจัดเป็นอุทยานแห่งชาติ
สำนักงานป่าไม้เขตอุบลราชธานีจึงมีหนังสือที่ กส 0809 (อบ)/1799 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2518 รายงานให้กรมป่าไม้ดำเนินการสำรวจพบว่า ป่าดงหินกองมีสภาพป่าสมบูรณ์ และมีธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง แต่เป็นป่าโครงการเพื่อการใช้สอยเอนกประสงค์ของราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี และป่าไม้เขตอุบลราชธานี จึงเห็นควรกำหนดพื้นที่ป่าดงหินกองเฉพาะบางส่วนบริเวณรอบๆ แก่งตะนะ และน้ำตกตาดโตน เนื้อที่ประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นวนอุทยาน
กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 710/2521 ลงวันที่ 25 เมษายน 2521 ให้นายนพพร แสงสีดา นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปสำรวจเบื้องต้นพื้นที่ดังกล่าวเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จากรายงานการสำรวจตามหนังสือสำนักงานป่าไม้เขตอุบลราชธานี ที่ กส 0809/(อบ.)/2730 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2521 ป่าดงหินกองเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำมูล มีจุดเด่นตามธรรมชาติที่สวยงามเหมาะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ แต่ในชั้นต้นกรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 2428/2522 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2522 ให้นายเสงี่ยม จันทร์แจ่ม นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการจัดตั้งเป็นวนอุทยานป่าดงหินกอง
ต่อมาวนอุทยานดงหินกองได้มีหนังสือที่ กส 0708(ดก)/11 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2523 ว่า ได้ทำการสำรวจพื้นที่ป่าดงหินกองโดยรอบพบว่า มีสภาพป่าสมบูรณ์ดีมาก มีธรรมชาติและทิวทัศน์สวยงาม สัตว์ป่าชุกชุมเหมาะที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ประกอบกับป่าโครงการเพื่อการใช้สอยแบบเอนกประสงค์ป่าดงหินกองถูกประกาศให้เป็นป่าปิด ห้ามการทำไม้ทุกชนิด ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522
กรมป่าไม้จึงเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติการประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าดงหินกอง ในท้องที่ตำบลโขงเจียม และตำบลเขื่อนแก่ง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 908 ตอนที่ 115 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ” ซึ่งเป็นชื่อตามธรรมชาติของลักษณะภูมิประเทศซึ่งเป็นจุดเด่นใหญ่ที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันดี นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 33 ของประเทศ
คำว่า “ตะนะ” จากการเล่าขานตามความเชื่อของชาวบ้านและประชาชนทั่วไป เดิมมาจากคำว่า “มรณะ” เนื่องจากบริเวณแก่งตะนะนี้มีกระแสน้ำไหลที่เชี่ยวกราก และมีโขดหินใหญ่น้อยอยู่ทั่วไป ตลอดจนมีถ้ำใต้น้ำอยู่หลายแห่ง ชาวบ้านที่สัญจรทางน้ำหรือออกจับปลา มักประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกแก่งนี้ว่า “แก่งมรณะ” ตามแรงบันดาลจากสภาพของสายน้ำที่ไหลผ่านแก่งนี้ ซึ่งต่อมาเรียกว่า “แก่งตะนะ”
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบ เป็นเขาเตี้ยๆ มีแม่น้ำมูล แม่น้ำโขง ไหลผ่าน ความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาบรรทัด สูงประมาณ 543 เมตร สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าแพะหรือป่าแดง จะมีป่าดิบเฉพาะบริเวณริมห้วยใหญ่เท่านั้น สภาพพื้นที่ส่วนมากเป็นหินทรายและพื้นที่ศิลา ส่วนดินเป็นดินลูกรัง ดินบรบือ และดินตะกอน
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศจัดอยู่ในเขตลมมรสุม แต่เนื่องจากอยู่ใกล้แม่น้ำสำคัญสายใหญ่ 2 สาย คือ แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง อากาศจึงแตกต่างจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่วไป คือ ฤดูร้อน อากาศจะไม่ร้อนจนเกินไป อยู่ในราว 25-29 องซาเซลเซียส ฤดูหนาว ไม่หนาวจัด ส่วนฤดูฝน ฝนตกค่อนข้างชุก สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ในฤดูฝนและฤดูหนาวจะมีผู้มาเที่ยวชมแม่น้ำมูล แม่น้ำโขงและน้ำตกต่างๆ ส่วนในปลายฤดูหนาวและฤดูร้อน นิยมมาเที่ยวชมแก่งต่างๆ
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นเต็งรังป่า มีไม้เต็ง รัง เหียง พลวง ฯลฯ ซึ่งมีลักษณะแคระแกร็น นอกจากนี้ยังพบป่าเป็นสภาพป่าดิบแล้งบ้างตามบริเวณลำห้วยใหญ่ๆ และบนดอยตะนะ พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ ได้แก่ ประดู่ แดง หว้า สัก ยาง นอกนั้นมีทุ่งหญ้าอยู่บ้างเป็นหย่อมๆ ไม้พื้นล่างมีพวกไม้ไผ่ และไม้เถาอื่นๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป
สัตว์ป่าที่พบเห็นประกอบไปด้วย หมูป่า เก้ง อีเห็น ชะมด ลิง ชะนี นกชนิดต่างๆ และปลาชนิดต่างๆ