ทัวร์ลาว, ลาวทัวร์, NewViewTour.com
ศูนย์ศิลปหัตถกรรมบ้านกระบวย อุบลราชธานี
ศูนย์ศิลปหัตถกรรมบ้านกระบวย
บนถนนทางหลวงหมายเลข 2182 เดชอุดม-บุณฑริก ประมาณกิโลเมตรที่ 7 บ้านไม้หลังเล็กๆ แทรกตัวอยู่ในหมู่ไม้เขียวขจี ริมถนนใกล้ตัวบ้านเป็นที่ตั้งของร้านจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ แต่เมื่อลองเดินเข้าไปภายใน ก็จะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของวิถีวัฒนธรรมไทยในรูปแบบอีสานศูนย์ศิลปหัตถกรรมบ้านกระบวย คือสถานที่ดังกล่าว ที่นี่มีพันธุ์ไม้ที่มีคุณสมบัติพิเศษไม่แตกต่างไปจากต้นหมากจองหรือต้นสำรองบนอุทยานแห่งชาติภูจองนายอยเลย ซึ่งพันธุ์ไม้ที่ว่าก็คือ ต้นบักกระบวย “เด็กๆ พวกเราเรียกว่าบักกระบวย แต่คนอีสานเรียกว่า บักนอ หรือหมากนอ ส่วนทางภาคกลางเรียกว่า ลูกกระทิง หรือลูกสารภีทะเล ลูกบักนอนี้จะมีขนาดเท่าๆ กับลูกลำไย ภายในจะมีกะลาเหมือนมะพร้าว ตอนเด็กๆ พวกเราจะแคะเอากะลามาทำเป็นกระบวยจิ๋ว หรือช้อนเล็กๆ ใช้เล่นขายของตามประสาเด็ก” คเชนทร์ ศิริจันทร์ เจ้าของบ้านกระบวย บอกต้นกระทิง หรือสารภีทะเล ที่ทางภาคอีสานเรียกว่า บักนอ เป็นไม้มงคลโบราณ นิยมปลูกไว้ตามวัด หรือบ้านทรงไทยของเจ้าขุนมูลนาย
ซึ่งโดยมากจะปลูกไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้าน ถือเป็นไม้ให้คุณทางโชคลาภ ทว่า ลูกบักนอจะไม่มีประโยชน์อะไรหากคเชนทร์ปล่อยให้มันเป็นแค่ของเล่นในวัยเด็ก เมื่อสำนึกรักบ้านเกิดทำให้เขาอพยพตัวเองออกจากเมืองกรุง มุ่งหน้าสู่ถิ่นดอกบัวงาม ความคิดที่จะนำบักนอมาผนวกเข้ากับความเชื่อเรื่องกระบวยมงคลของคนภาคอีสานจึงเกิดขึ้น “เราเชื่อกันว่ากระบวยเป็นของมงคล เป็นสัญลักษณ์ของความชุ่มเย็น ทีนี้เมื่อผมกลับมาอยู่บ้าน แรกๆ กะว่าจะมาทำไร่ ทำไป 2-3 ปี ก็รู้สึกว่าเราไม่มีความสามารถด้านนี้เลยหาลู่ทางอื่น ตอนนั้นธุรกิจท่องเที่ยวที่อุบลกำลังจะบูม สักปี 38-39 มีญาติคนหนึ่งบอกว่าเพื่อนของเขาเคยทำของที่ระลึกจากลูกกระทิง และกำลังจะหยุดทำเพราะร่างกายไม่ค่อยดี ผมเรียนมาทางศิลปะอยู่แล้ว เรียนทางด้านออกแบบมา ก็เลยลองทำดู”
นั่นเป็นที่มาของ กระบวยสารภี ชื่อดีมีมงคล ที่ผู้รับสุขใจ ผู้ให้ก็เปรมปรีดิ์ ซึ่งกระบวยสารภีนี้ เป็นกระบวยจำลองขนาดเล็กที่เกิดจากการนำลูกกระทิงมาขัดให้เรียบ ส่วนด้ามจับทำจากไม้มะยมป่า ไม้มะม่วง ไม้สัก หรือเศษไม้ ใส่ลวดลายความเป็นไทยเข้าไป แค่นี้ก็จะได้กระบวยสารภีที่สวยงามไม่เหมือนใครแล้ว
คเชนทร์ บอกว่า แรกๆ การออกแบบกระบวยจิ๋วยังไม่ประณีตจึงต้องลองผิดลองถูกอยู่นาน กระทั่งได้รูปแบบที่เหมาะสมจึงส่งไปจำหน่ายในร้านขายของที่ระลึกชื่อดังในตัวจังหวัดอุบลราชธานี และที่ตลาดนัดสวนจตุจักร กรุงเทพฯ
“ปรากฏว่าลูกค้าตอบรับดีพอสมควร ตอนนั้นผมก็เริ่มวางแผนให้เด็กๆ ในหมู่บ้านช่วยทำ เพราะว่าผมกับภรรยาทำไม่ไหว แต่ว่าพอทำไปที่จตุจักรเขากลับไม่สั่งของเรา เพราะหมดช่วงบูม เราก็อุตส่าห์หาเด็กๆ มาทำ สอนเด็กๆ แล้ว กำลังจะเป็น ก็ต้องหาทำเลใหม่ จนไปเจอที่โขงเจียม”
กระบวยจิ๋ว ถือเป็นของที่ระลึกชิ้นแรกของอำเภอโขงเจียม เมื่อคเชนทร์และภรรยานำร่องไปขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวก่อนใครๆ จากนั้นร้านขายของที่ระลึกประเภทอื่นๆ ก็ผุดขึ้นตามมา แต่ว่าความนิยมกระบวยจิ๋วไม่ลดน้อยลงเลย คเชนทร์จึงกลับมาฝึกสอนเด็กๆ กลุ่มเดิม ให้พวกเขามีรายได้ และพัฒนาความสามารถด้านศิลปะด้วย
“ตอนแรกไม่ได้มองที่เด็กนักเรียน มองที่เยาวชนก่อน ปรากฏว่าเยาวชนทำงานดี แต่ว่าอยู่ไม่นาน พอทำเป็นสักพักหนึ่งเขาก็มีทางที่จะต้องไป ทีนี้ก็เลยจับที่โรงเรียน เพราะลูกชายเรียนอยู่ที่โรงเรียนประจำตำบล ก็ไปบอกคุณครูว่าส่งเด็กนักเรียนมาฝึกกับเรา แล้วเราจะมีงานพิเศษให้เด็กทำ ก็เริ่มตั้งแต่นั้นมา วันธรรมดาก็ให้หลานๆ ไปเรียน ว่างแล้วค่อยมาทำ”
ส่วนวัตถุดิบเจ้าของบ้านบอกว่า ปลูกขึ้นมาเอง แค่ 5 ต้น 10 ต้น ขี้คร้านจะทำไม่ทัน แต่ถ้าไม่นึกถึงการปลูกเพื่อทำการค้า การปลูกต้นไม้ 1 ต้น ก็ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 1.5 ตันแล้ว
ตอนนี้บ้านกระบวยกลายเป็นศูนย์ศิลปหัตถกรรมที่มีการเผยแพร่และสอนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย แถมยังมีเบี้ยเลี้ยงเล็กๆ น้อยๆ เป็นค่าขนมให้เด็กๆ อีกต่างหาก
“อนาคตเราจะเปิดเป็นศูนย์ศิลปหัตถกรรมบ้านกระบวย เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น รวมทั้งปลูกฝังความรักและหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมและศิลปหัตถกรรมของบ้านเราสู่ลูกหลานต่อไป”
มากกว่าการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัว เจ้าของบ้านกระบวยยังแบ่งปันความรู้ไปสู่เยาวชนในชุมชน และสอนให้พวกเขาทุกคนรู้จักคุณค่าของศิลปะ นับว่าเป็นห้องเรียนนอกหลักสูตรที่สนับสนุนอีกแห่งหนึ่ง