ทัวร์ตะวันออก
พระเจดีย์ชเวมอดอร์ พม่า
พระเจดีย์ชเวมอดอร์ (Shwe Mordore)
หรือพระธาตุมุเตา ชาวพม่านิยมเรียกว่า เจดีย์ไจก์มุเตา หรือในชื่อเรียกที่คนไทยคุ้นเคยคือ พระธาตุมุเตา เป็นเจดีย์ที่ค่อนข้างมีขนาดสูง โดยมีความสูงตั้งแต่ฐานเจดีย์ด้านล่างถึงยอดประมาณ 114 ฟุต ขนาดความสูงดังกล่าวนี้ทำให้มองเห็นเจดีย์ได้ง่ายแม้อยู่ไกลกว่า 10 กิโลเมตร เหตุเพราะความสูงใหญ่นี้เองทำให้เจดีย์ถูกทำลายโดยแผ่นดินไหวได้ง่าย โดยเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้งคือปี พ.ศ. 2455,พ.ศ. 2460 และ พ.ศ. 2473 แต่เจดีย์ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมเป็นอย่างดีตลอดมา และนับเป็นเจดีย์ที่สวยงามแห่งหนึ่งของประเทศพม่า ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในหงสาวดี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหงสาวดี เป็นสัญลักษณ์ยืนยันความ เจริญรุ่งเรืองในอดีต อีกทั้งยังเป็นเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของกรุงหงสาวดีมาช้านาน
เป็นเจดีย์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองและเป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพม่า ภายในบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ของไทย เคยมาสักการะ เจดีย์องค์นี้เป็นศิลปะที่ผสมผสานระหว่างศิลปะพม่าและศิลปะของมอญได้อย่างกลมกลืน พระเจดีย์สูง 377 ฟุต สูงกว่าพระเจดีย์ชเวดากอง 51 ฟุต มีจุดอธิษฐานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ตรงบริเวณยอดฉัตร
พระเจดีย์องค์สำคัญในประวัติศาสตร์มอญและพม่า ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 1,200 ปี สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยมอญเรืองอำนาจและเป็นสัญลักษณ์ ยืนยันความเจริญรุ่งเรืองของกรุงหงสาวดี นั่นก็คือพระเจดีย์ ชเวมอดอว์ ซึ่งมีความหมายว่า มหาเจดีย์พระเจ้าทองคำ หรือคนไทยรู้จักกันในนาม พระธาตุมุเตา คำว่า มุเตา เป็นภาษามอญ แปลว่า จมูกร้อน เพราะเจดีย์มีขนาดสูงถึง 114 เมตร ทำให้ผู้ที่ไปสักการะต้องแหงนหน้าจนคอตั้งบ่า ถึงจะมองเห็นยอดเจดีย์ เป็นเหตุให้แสงแดดที่แรงกล้าแผดเผาจมูกจนแสบร้อน พระธาตุมุเตาเป็นมหาสถูปบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเ จ้า ที่สำคัญที่สุดของชาวมอญ ในสมัยพระเจ้าราชาธิราชกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของมอญ ได้มีการประกอบพิธีกรรมสำคัญของราชอาณาจักรที่พระธาตุมุเตาแห่งนี้ และเริ่มพระราชประเพณีถวายทองหนักเท่าพระองค์เพื่อหุ้มองค์พระธาตุด้วย
ซึ่งยอดของเจดีย์ได้หักและตกลงมาจากการเกิดแผ่นดินไหว ในปี พ.ศ. 2473 ปัจจุบันส่วนของยอดที่หักลงมานั้นก็ยังอยู่ในสภาพเดิม อยู่บริเวณฐานของพระธาตุ ซึ่งน่าอัศจรรย์ใจที่ส่วนของยอดเจดีย์ที่หักลงมาจากที่สูงขนาดนั้นไม่แตก จึงเป็นที่ร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธ์โดยแท้ ซึ่งชาวมอญและชาวพม่าเชื่อกันว่าเป็นจุดที่ศักดิ์สิทธิ์มาก และเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงไม่เสื่อมคลาย นอกจากนั้นแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังเป็นสถานที่ที่พระเจ้าหงสาลิ้นดำ ใช้เป็นที่เจาะพระกรรณ (หู) ตามพระราชประเพณีโบราณเพื่อทดสอบความกล้าหาญก่อนขึ้นครองราชย์
ความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุมุเตาเป็นที่เลื่องลือ และก่อให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาแก่ชนชาวมอญและพม่า ในตำนานกล่าวไว้ว่า พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของตองอู สมัยเป็นเพียงเจ้าชายวัย 14 พรรษา กล้าที่จะนำทัพบุกเข้าไปเมืองมอญ เพื่อทรง ทำพิธีเจาะพระกรรณตามราชประเพณี ที่พระธาตุมุเตาแห่งนี้ ซึ่งกว่าศัตรูจะส่งทหารมาปิดล้อมได้หมด ก็ใกล้เสร็จพิธี และพระองค์ก็ทรงนำทหารฝ่าวงล้อมกลับตองอูโดยปลอดภัย
ต่อมาเมื่อพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ และเข้ายึดครองหงสาวดีได้แล้ว ทรงย้ายราชธานีจากตองอูมาที่หงสาวดี และถวายมงกุฎทรงยอดพระมหาธาตุแก่พระธาตุมุเตาด้วย พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าองค์ต่อมา ก็ทรงมีพระราชศรัทธาในองค์พระธาตุอย่างท่วมท้น ถึงกับทรงแกะอัญมณีเม็ดใหญ่จากพระมงกุฎถวายเพื่อเป็น พุทธบูชา พร้อมทั้งทรงให้ก่อกำแพงเมืองขยายไปโอบล้อมพระมหาเจดีย์ แถมพระองค์ยังทรงมีมุมโปรดในพระราชวังที่สามารถมองเห็นองค์พระมหาธาตุอย่างชัดเจนอีกด้วย ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพม่าระบุว่า ก่อนพระองค์จะออก ทำศึกจะทรงนมัสการพระธาตุมุเตาก่อนทุกครั้ง
ใช่เพียงแต่ชนชาติมอญ พม่า เท่านั้นที่นับถือพระธาตุองค์นี้อย่างแรงกล้า แม้แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชของไทยเอง เมื่อคราวเสด็จไปเป็นตัวประกันที่เมืองหงสาวดี ก็เสด็จมาสักการะพระธาตุอยู่เสมอ และในครั้งที่ยกทัพไปปราบหงสาวดี ก็ทรงโปรดให้ตั้งพลับพลาที่ประทับใกล้องค์พระมหาธาตุ เพื่อจะเสด็จไปสักการบูชาพระมหาธาตุได้โดยสะดวก แม้พระมหาธาตุมุเตาจะได้รับการบูรณะจากกษัตริย์มอญและพม่าหลายพระองค์ แต่ศิลปะแบบมอญและพม่าที่องค์เจดีย์แห่งนี้ก็ผสมผสาน กันได้อย่างลงตัวและสวยงาม
และแล้วความร้าวรานใจของพุทธศาสนิกชนชาวมอญ พม่า ก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งยิ่งใหญ่ ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2473 ส่งผลให้พระธาตุมุเตาหักพังลงมา และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนแล้วเสร็จใน พ.ศ.2497 และทางวัดได้นำชิ้นส่วนของพระธาตุองค์เดิมมาตั้งไว้ บริเวณลานทางทิศเหนือของพระธาตุองค์ใหม่ จนกลายเป็นจุดอธิษฐานศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อกันว่าหากใครมากราบไหว้บริเวณนี้จะช่วยให้ชีวิตมีความมั่นคงถาวร