รับจัด Outing, Team Building, CSR, Walk Rally, สัมนานอกสถานที่, ดูงาน ในประเทศและโซนเอเชีย
สำหรับบริษัทในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง
084-160-0210 , 02-733-0683

7 ประวัติ อื่นๆ เชียงใหม่

tour history miscelleneous domesticประวัติ อื่นๆ จังหวัดเชียงใหม่

tour-history-chiang-maiตราประจำจังหวัด

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด

รูปช้างเผือกในเรือนแก้ว หมายถึงความสำคัญ 2 ประการของจังหวัด ซึ่งช้างเผือก คือ ช้างที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่นำมาทูลเกล้าถวายแด่สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) และได้ขึ้นระวางเป็นช้างเผือกเอกในรัชกาล ส่วน เรือนแก้ว คือดินแดนที่พุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุด
ดอกไม้ประจำจังหวัด ดอกทองกวาว
ต้นไม้ประจำจังหวัด ทองกวาว (ชื่อวิทยาศาสตร์ Butea Monosperma)

ประวัติและความเป็นมา

ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุปผาชาติล้วนงามตา นามล้ำค่านครพิงค์
เชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ในตำนานแรกๆ ที่กล่าวถึงเชียงใหม่ อย่างตำนานว่าด้วยพระธาตุในล้านนา กล่าวถึง ลัวะ ว่าเป็นชนพื้นเมืองมาก่อน ตำนานมูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์และจามเทวีวงศ์ กล่าวเปรียบเทียบลัวะ ว่าเป็นคนเกิด ในรอยเท้าสัตว์ ด้วยเหตุที่ ลัวะ ถือเอารูปสัตว์เป็นสัญลักษณ์ ตำนานรุ่นหลังอย่างตำนานสุวรรณคำแดง หรือ ตำนานเสาอินทขิล เล่าว่า ลัวะ เป็นผู้สร้าง เวียงเจ็ดลิน เวียงสวนดอก และเวียงนพบุรี หรือ เชียงใหม่ ลัวะ จึงน่าจะเป็นชนกลุ่มแรก ที่สร้างเมือง แต่ก่อนหน้านี้ ก็คงมีมนุษย์อาศัยอยู่ที่นี่ก่อนแล้ว แต่ยังไม่เป็นเมืองเต็มรูปแบบ

ในขณะเดียวกัน ที่ลำพูน ก็มีเมืองชื่อหริภุญไชย ตามตำนานการสร้างเมืองเล่าว่า พระนางจามเทวีวงศ์ ธิดากษัตริย์เมืองละโว้ เสด็จขึ้นมาครองหริภุญไชยใน พ.ศ.1310-1311 ครั้งนั้น พระนางได้พาบริวาร ข้าราชบริพาร ที่เชี่ยวชาญ ในศิลปวิทยาการต่างๆ ขึ้นมาด้วย หริภุญไชยจึงได้รับเอาพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ละโว้ มาใช้ในการพัฒนาจนเจริญขึ้นเป็นแคว้นใหญ่ จวบจนประมาณปี พ.ศ.1839 พญามังราย ผู้สืบเชื้อสายมาจากปู่เจ้าลาวจก หรือ ลวจักราช เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ลาว ครองเมืองเงินยาง ซึ่งได้แผ่อำนาจครอบคลุมลุ่มแม่น้ำกก และได้สร้างเวียงเชียงราย ขึ้นเป็นกองบัญชาการ ซ่องสุมไพร่พล เพื่อยึดครองหริภุญไชย เนื่องจากหริภุญไชย เป็นเมืองศูนย์กลางความเจริญ และเป็นชุมทางการค้า พญามังรายได้เข้ายึดครองหริภุญไชย แล้วประทับอยู่เพียง 2 ปี ก็ทรงย้ายไปสร้างเวียงกุมกาม ใน พ.ศ.1837 ก่อนจะย้ายมาสร้าง เวียงเชียงใหม่ ใน พ.ศ.1839 โดยได้ร่วมกับพระสหายคือ พญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหง สถาปนา "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" ขึ้น พญามังรายได้พัฒนาเมืองเชียงใหม่ ทั้งการก่อสร้างวัดวาอาราม มีการตรากฏหมายที่เรียกว่า "มังรายศาสตร์" รวมถึง รับเอาพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ เข้ามาเผยแผ่ ในอาณาจักร ซึ่งทำให้พระภิกษุ ในล้านนา สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก สมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 9 อาณาจักรล้านนา ได้ขยายออกไปอีกอย่างกว้างขวาง พร้อมกับได้ผูกสัมพันธไมตรี กับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในสมัยของพระเจ้าติโลกราชนี้เอง ที่ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย อาณาจักรล้านนาเริ่มเสื่อมลงไปปลายสมัยพญาเมืองแก้ว เนื่องจากทำสงครามกับเชียงตุง พ่ายแพ้เสียชีวิตไพร่พลเป็นอันมาก ประกอบกับเกิดอุทกภัย กระทบถึงความมั่นคงของอาณาจักร เมืองในการปกครองเริ่มตีตัวออกห่าง พ.ศ.2101 ในสมัยมหาเทวีจิรประภา กษัตริย์องค์ที่ 15 พม่าได้ยกกองทัพมาตีเชียงใหม่ เพียง 3 วันก็เสียเมือง และกลายเป็นเมืองขึ้นของพม่ายาวนานถึง 216 ปี

ต่อมาในปี พ.ศ.2317 พญาจ่าบ้านและพระเจ้ากาวิละ ได้ร่วมกันต่อต้านพม่า และอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ยกทัพมาขับไล่พม่าพ่ายแพ้ไป ต่อมาในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงแต่งตั้งพระเจ้ากาวิละ ขึ้นครองเมือง ในฐานะเมืองประเทศราช พระเจ้ากาวิละ ได้ฟื้นฟูเชียงใหม่จนมีอาณาเขตกว้างขวาง การค้าขายรุ่งเรือง ขณะเดียวกันก็ได้จัดส่งบรรณาการ ส่วยสิ่งของและอื่นๆ ให้แก่กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งยังมีอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าเมืองและขุนนางระดับสูง ล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่ออิทธิพลตะวันตกแผ่เข้ามาในเมืองไทย มีการปฏิรูปการปกครอง โดยผนวกดินแดนล้านนาเข้ามาเป็นมณฑลพายัพ แต่ก็ยังเป็นเมืองประเทศราชในอาณัติราชอาณาจักรสยาม ตรงกับรัชสมัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ และรัชกาลที่ 5 ได้ทรงขอเจ้าดารารัศมี ธิดาของเจ้าอินทวิชยานนท์ไปเป็นชายา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองอาณาจักรใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น เมื่อมีการสร้างทางรถไฟขึ้นในเวลาต่อมา ส่งผลให้เมืองเชียงใหม่ ขยายตัวยิ่งขึ้น และใกล้ชิดกรุงเทพฯ มากขึ้น ในปี พ.ศ.2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มณฑลเทศาภิบาลถูกยกเลิก เชียงใหม่มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่ง หลังจากนั้นเชียงใหม่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนมีความสำคัญรองจากกรุงเทพฯ เท่านั้น

อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ รัฐฉานของสหภาพพม่า โดยมีดอยผีปันน้ำของดอยคำ ดอยปกกลา ดอยหลักแต่ง ดอยถ้ำป่อง ดอยถ้วย ดอยผาวอก และดอยอ่างขางอันเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาแดนลาว เป็นเส้นกั้นอาณาเขต

ทิศใต้ อำเภอสามเงา อำเภอแม่ระมาด และอำเภอท่าสองยาง (จังหวัดตาก) มีร่องน้ำแม่ตื่นและดอยผีปันน้ำ ดอยเรี่ยม ดอยหลวงเป็นเส้นกั้นอาณาเขต

ทิศตะวันออก อำเภอแม่จัน อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า (จังหวัดเชียงราย) อำเภอเมืองปาน อำเภอเมืองลำปาง (จังหวัดลำปาง) อำเภอบ้านธิ อำเภอเมืองลำพูน อำเภอป่าซาง อำเภอเวียงหนองล่อง อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอลี้ (จังหวัดลำพูน) ส่วนที่ติดจังหวัดเชียงรายและลำปางมีร่องน้ำลึกของแม่น้ำกก สันปันน้ำดอยซาง ดอยหลุมข้าว ดอยแม่วัวน้อย ดอยวังผา และดอยแม่โตเป็นเส้นกั้นอาณาเขต ส่วนที่ติดจังหวัดลำพูนมีดอยขุนห้วยหละ ดอยช้างสูง และร่องน้ำแม่ปิงเป็นเส้นกั้นอาณาเขต

ทิศตะวันตก อำเภอปาย อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอสบเมย (จังหวัดแม่ฮ่องสอน) มีดอยผีปันน้ำ ดอยกิ่วแดง ดอยแปรเมือง ดอยแม่ยะ ดอยอังเกตุ ดอยแม่สุรินทร์ ดอยขุนยวม ดอยหลวง และร่องแม่ริด แม่ออย และดอยผีปันน้ำดอยขุนแม่ตื่นเป็นเส้นกั้นอาณาเขต

จังหวัดเชียงใหม่มีชายแดนติดต่อกับประเทศพม่าเพียงประเทศเดียว และมีพื้นที่ติดต่อใน 5 อำเภอได้แก่
1.    อำเภอแม่อาย 4 ตำบลได้แก่ ตำบลแม่อาย ตำบลมะลิกา ตำบลแม่สาว ตำบลท่าตอน เมืองที่ติดต่อคือ เมืองยอน รัฐฉาน
2.    อำเภอฝาง 2 ตำบลได้แก่ ตำบลม่อนปิ่น และตำบลแม่งอน เมืองที่ติดต่อคือ บ้านโป่งป่าแขม เมืองต่วน รัฐฉาน
3.    อำเภอเชียงดาว 1 ตำบลได้แก่ ตำบลเมืองนะ เมืองที่ติดต่อคือ บ้านน้ำยุม เมืองต่วน รัฐตองยี
4.    อำเภอเวียงแหง 3 ตำบลได้แก่ ตำบลเปียงหลวง ตำบลเมืองแหง และตำบลแสนไห เมืองที่ติดต่อคือ บ้านบางใหม่สูง บ้านปางเสือเฒ่า บ้านกองเฮือบิน เมืองต่วน รัฐตองยี
5.    อำเภอไชยปราการ: 1 ตำบลได้แก่ ตำบลหนองบัว เมืองที่ติดต่อคือ บ้านโป่งป่าแขม เมืองต่วน รัฐฉาน
รวมระยะทางทั้งสิ้น 227 กิโลเมตร พื้นที่เขตแดนส่วนใหญ่เป็นป่าเขา ทำให้ไม่สามารถปักหลักเขตแดนได้อย่างชัดเจน จึงเกิดปัญหาเส้นเขตแดนระหว่างประเทศบ่อยครั้ง

ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่างๆ

อำเภอจอมทอง 58 กิโลเมตร อำเภอเชียงดาว 68 กิโลเมตร
อำเภอไชยปราการ 131 กิโลเมตร อำเภอดอยเต่า 121 กิโลเมตร
อำเภอดอยสะเก็ด 18 กิโลเมตร อำเภอฝาง 154 กิโลเมต
อำเภอพร้าว 103 กิโลเมตร อำเภอแม่แจ่ม 156 กิโลเมตร
อำเภอแม่แตง 40 กิโลเมตร อำเภอแม่ริม 8 กิโลเมตร
อำเภอแม่วาง 35 กิโลเมตร อำเภอแม่อาย 174 กิโลเมตร
อำเภอเวียงแหง 150 กิโลเมตร อำเภอสะเมิง 54 กิโลเมตร
อำเภอสันกำแพง 13 กิโลเมตร อำเภอสันทราย 12 กิโลเมตร
อำเภอสันป่าตอง 22 กิโลเมตร อำเภอสารภี 10 กิโลเมตร
อำเภอหางดง 15 กิโลเมตร อำเภออมก๋อย 179 กิโลเมตร
อำเภอฮอด 88 กิโลเมตร กิ่งอำเภอแม่ออน 29 กิโลเมตร

การปกครอง
จังหวัดเชียงใหม่แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 25 อำเภอ 204 ตำบล 2,066 หมู่บ้าน
1.    อำเภอเมือง
2.    อำเภอจอมทอง
3.    อำเภอแม่แจ่ม
4.    อำเภอเชียงดาว
5.    อำเภอดอยสะเก็ด
6.    อำเภอแม่แตง
7.    อำเภอแม่ริม
8.    อำเภอสะเมิง
9.    อำเภอฝาง
10.  อำเภอแม่อาย
11.  อำเภอพร้าว
12.  อำเภอสันป่าตอง
13.  อำเภอสันกำแพง
14.  อำเภอสันทราย
15.  อำเภอหางดง
16.  อำเภอฮอด
17.  อำเภอดอยเต่า
18.  อำเภออมก๋อย
19.  อำเภอสารภี
20.  อำเภอเวียงแหง
21.  อำเภอไชยปราการ
22.  อำเภอแม่วาง
23.  อำเภอแม่ออน
24.  อำเภอดอยหล่อ
25.  อำเภอกัลยาณิวัฒนา

ภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศของจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ 20,107.057 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 12,566,911 ไร่ มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของภาคเหนือ และเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดนครราชสีมา ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปมีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาและป่าละเมาะ มีที่ราบอยู่ตอนกลางตามสองฟากฝั่งแม่น้ำปิง มีภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยคือ ดอยอินทนนท์ สูงประมาณ 2,575 เมตร อยู่ในเขตอำเภอจอมทอง นอกจากนี้ยังมีดอยอื่นที่มีความสูงรองลงมาอีกหลายแห่ง เช่น ดอยผ้าห่มปก สูง 2,285 เมตร ดอยหลวงเชียงดาว สูง 2,170 เมตร ดอยสุเทพ สูง 1,601 เมตร สภาพพื้นที่แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ
1.    พื้นที่ภูเขา ส่วนใหญ่อยู่ทางทิศเหนือ และทิศตะวันตกของจังหวัด คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 80% ของพื้นที่จังหวัด เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก
2.    พื้นที่ราบลุ่มน้ำและที่ราบเชิงเขา กระจายอยู่ทั่วไประหว่างหุบเขาทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ ได้แก่ ที่ราบลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำฝาง ลุ่มน้ำแม่งัด เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเกษตร

ทรัพยากรป่าไม้
จังหวัดเชียงใหม่มีป่าไม้หลายประเภท ประกอบด้วย ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าเต็งรังผสมป่าสนเขา และป่าแดง เป็นต้น พื้นที่ป่าไม้ ประกอบด้วย ป่าธรรมชาติ สวนป่า และป่าฟื้นฟูตามธรรมชาติ โดยมีพื้นที่ป่าไม้อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ 11, 694,133 ไร่ (พื้นที่ป่าตามกฎหมาย) คิดเป็นร้อยละ 69.93 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด แบ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 25 แห่ง อุทยานแห่งชาติ 13 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 1 แห่ง อุทยานแห่งชาติในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่
•    อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
•    อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย
•    อุทยานแห่งชาติแม่ปิง
•    อุทยานแห่งชาติออบหลวง
•    อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง
•    อุทยานแห่งชาติศรีลานนา
•    อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผาอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้
•    อุทยานแห่งชาติขุนขาน
•    อุทยานแห่งชาติเชียงดาว
•    อุทยานแห่งชาติแม่โถ
•    อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง
•    อุทยานแห่งชาติออบขาน

ทรัพยากรสัตว์ป่า
พื้นที่ป่าในจังหวัด มีความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์ป่าสำคัญที่พบ ได้แก่ เลียงผา หมูป่า หมาจิ้งจอก เสือดาว อีเห็น ชะมด พังพอน ชะนี ลิง เม่น แมวป่า หมูหริ่ง กระต่ายป่า ตะกวด กิ้งก่า งู ตุ๊กแก ด้วง บึ้ง ไก่ป่า นกขมิ้น นกกระรางหัวขวาน นกกระขาบทุ่ง นกขุนทอง นกขุนแผน นกบั่งรอก นกกางเขน นกกาเหว่า นกเขียวคราม นกกระติ๊ต นกกระจิบ นกกระจาบ นกปรอด นกระวังไพร นกแซงแซว นกโพระดก นกนางแอ่น นกคุ่ม นกเขาเขียว นกเขาใหญ่ นกเขาขวาน นกเอี้ยง นกกระปูด เป็นต้น

ทรัพยากรน้ำ
จังหวัดเชียงใหม่มีแม่น้ำสำคัญ คือ แม่น้ำปิง และยังมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อำเภอแม่แตง และยังแบ่งตามพื้นที่ลุ่มน้ำดังนี้
•    ลุ่มน้ำปิงตอนบน เป็นลุ่มน้ำที่สำคัญที่สุดในภาคเหนือตอนบน เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำปิง มีพื้นที่ 25,355.9 ตร.กม. สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนมีความลาดชันสูง วางตัวแนวเหนือ-ใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่เสี่ยงต่อแผ่นดินถล่มและการชะล้างพังทลายของดินสูง ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบสะวันนา คือ มีฤดูฝนสลับกับฤดูแล้งอย่างชัดเจน และยังมีลุ่มน้ำย่อยอีก 14 ลุ่มน้ำย่อย แม่น้ำที่สำคัญได้แก่ แม่น้ำปิง แม่แตง แม่กวง แม่งัด แม่แจ่ม แม่ขาน และแม่ตื่น
•    ลุ่มน้ำกก มีแม่น้ำกกเป็นแม่น้ำสายหลัก มีต้นกำเนิดจากภูเขาในประเทศพม่า ไหลผ่านเมืองกก เมืองสาด ประเทศพม่า เข้าเขตประเทศไทยที่ช่องน้ำกก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลเข้าสู่จังหวัดเชียงราย ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ครอบคลุมพื้นที่ 2,773 ตร.กม.
•    ลุ่มน้ำฝาง มีแม่น้ำฝางเป็นแม่น้ำสายหลัก ซึ่งมีต้นกำเนิดจากดอยขุนห้วยฝางและดอยหัวโท ทางตอนใต้ของอำเภอไชยปราการ ไหลลงสู่แม่น้ำกก มีความยาวลำน้ำประมาณ 70 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำ 1,948.5 ตร.กม. ในอำเภอไชยปราการ ฝาง และแม่อาย

ประชากร
จังหวัดเชียงใหม่มีประชากรทั้งสิ้น 1,666,024 คน แยกเป็นชาย 818,958 คน หญิง 851,066 คน ความหนาแน่นเฉลี่ย 83 คน/ตร.กม.(ข้อมูลวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552)ส่วนประชาชนบนพื้นที่สูง มีจำนวนทั้งสิ้น 312,447 คน กระจายอยู่ใน 20 อำเภอ มีกลุ่มชนเผ่าต่างๆ รวม 13 ชนเผ่า แบ่งเป็นชาวเขา 7 เผ่า ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน (เย้า) อาข่า (อีก้อ) ลาหู่ (มูเซอ) ลีซอ (ลีซู) และลัวะ จำนวน 229,382 คน เป็นชนกลุ่มน้อย 5 กลุ่ม ได้แก่ ปะหล่อง ไทใหญ่ ไทลื้อ จีนฮ่อ และอื่นๆ รวมจำนวน 34,022 คน

ภาษา

tour-history-chiang-mai-2ตัวอักษรล้านนา (คำเมือง)

ภาษาราชการที่ใช้ในจังหวัดเชียงใหม่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก และมีภาษาท้องถิ่นซึ่งเรียกว่า ภาษาคำเมือง ซึ่งแต่ละท้องถิ่นของทางภาคเหนือ มีคุณลักษณะของภาษาที่คล้ายๆกัน จะแตกต่างกันเฉพาะ สำเนียงและศัพท์บางคำ แต่ละท้องถิ่นก็จะมีความไพเราะ ต่างกันไปนักท่องเที่ยวที่มาจากถิ่นอื่น ล้วนชื่นชมว่า "ภาษาคำเมืองนั้น มีความไพเราะ นุ่มนวล ยิ่งนักแล"

ศาสนา
ประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 91.80 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 5.60 ศาสนาอิสลามร้อยละ 1.17 ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและสิกข์ร้อยละ 0.02 และอื่น ๆ ร้อยละ 1.14 โดยมีสำนักสงฆ์ 471 แห่ง โบสถ์คริสต์ 356 แห่ง มัสยิด 13 แห่ง และโบสถ์พราหมณ์ 3 แห่ง

ค้นหาที่ท่องเที่ยว


Thailand Tourism Standard

ทัวร์แนะนำ

ผู้เข้าชม

มี 1702 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์