วัดหลง สุราษฎร์ธานี
วัดหลง
เป็นโบราณสถานที่สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีแห่งหนึ่ง ชื่อวัดหลง บางท่านเชื่อว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า วัดหลวง ปัจจุบันเป็นวัดร้างเหลือแต่เจดีย์ ซึ่งมีสภาพเป็นซากอาคารขนาดใหญ่อยู่องค์หนึ่ง เหลือเพียงส่วนฐาน กรมศิลปากรได้ประกาศให้เป็นโบราณสถานสำหรับชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 ต่อมากองโบราณคดี กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและบูรณะ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 - 2527 ใช้งบประมาณในการบูรณะรวมทั้งสิ้น 1,650,000 บาท ซึ่งการขุดแต่งนั้นได้กระทำอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะไม่เหมือนโบราณสถานอื่นๆ การขุดแต่งเจดีย์วัดหลงก็เพื่อหาหลักฐานทางสถาปัตยกรรมประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ภายหลังการขุดแต่งบูรณะปฏิสังขรณ์ ทำให้สภาพของรูปทรงเจดีย์ชัดเจนขึ้น เผยให้เห็นฐานอาคาร ที่มีรูปแบบแผนผัง ทรงกากบาท คล้ายคลึงกับโบราณสถานที่วัดแก้ว สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราว พุทธศตวรรษที่ 14-15 และถูกสร้างทับอีกครั้ง ในราวพุทธศตวรรษที่ 18-22
เจดีย์วัดหลง มีลักษณะทรวดทรงทางสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ เป็นสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยที่สำคัญในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าเจดีย์วัดหลงสร้างร่วมสมัยกับพระบรมธาตุไชยา เป็นเจดีย์ที่ทิ้งร้างมานานจนชำรุดเหลือแต่ซากอิฐ และฐานราก สันนิษฐานว่าโบราณสถานวัดหลงเป็นหนึ่งในจำนวนปราสาท 3 หลัง ที่พระเจ้ากรุงศรีวิชัยในศิลาจารึกหลักที่ 23 สั่งให้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานรูปเคารพในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน เมื่อปี พ.ศ.1318
เจดีย์วัดหลงเดิมปกคลุมด้วยดินและต้นไม้ใหญ่ ๆ หนาทึบ เมื่อกรมศิลปากรได้ขุดแต่ง และได้พิจารณารูปทรงเห็นว่าเป็นโบราณสถานสถาปัตยกรรมศรีวิชัย สมัยเดียวกับวัดแก้ว ลักษณะของเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมแบบก่ออิฐไม่ถือปูน ฐานเป็นรูปกากบาท มีซุ้มทั้งสี่ทิศ มีประตูเข้าสู่ห้องกลางทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียวที่ห้องกลางก่ออิฐเป็น ผนังกรุทั้ง 4 ด้าน ตรงทางด้านทิศตามแนวทิศทั้งสี่ ผนังกรุด้านทิศตะวันออกกว้าง 3.50 เมตร ผนังกรุด้านทิศตะวันตกกว้าง 3.49 เมตร ผนังกรุด้านทิศเหนือ กว้าง 3.46 เมตร และผนังกรุด้านทิศใต้กว้าง 3.50 เมตร มีความลึกจากระดับพื้น ปูอิฐตอนบนถึงระดับอิฐปูพื้นล่างสุดโดยเฉลี่ยประมาณ 2.59 เมตร
ในการขุดค้นทางวิชาการของกรมศิลปากร พบแต่เพียงเศษกระเบื้องดินเผาในห้องกลาง แต่มีไม่มาก แต่บริเวณฐานและบริเวณภายนอกใกล้กับกำแพงกั้นดิน พบศิลปโบราณวัตถุจำนวนมากได้แก่ เครื่องถ้วยสุโขทัย และเศษภาชนะดินเผาแบบพื้นบ้าน บรรดาเศษภาชนะดินเผา เหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม่ทราบชั้นดินแน่นอน ที่สำคัญได้พบพระพิมพ์ดินดิบปางสมาธิ และสถูปดินดิบ อยู่ที่พื้นตอนล่างข้างตัวอาคารศาสนสถาน ลักษณะรูปแบบศิลปะศรีวิชัย อาจเป็นวัตถุมงคล ที่เคยบรรจุ อยู่ภายในห้องมาก่อน ซึ่งต่อมาสิ่งที่บรรจุในห้องกรุได้ถูกค้นพบ และเคลื่อนย้ายออกไปหมด โบราณวัตถุทั้งหมดปัจจุบันแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี