ทัวร์ตะวันออกเฉียงเหนือ
บ้านปะอาว อุบลราชธานี
บ้านปะอาว
ชุมชนบ้านปะอาว เป็นชุมชนที่เก่าแก่ชุมชนหนึ่งของจังหวัดอุบลฯ มีอายุมากว่า 200 ปี ตามประวัติศาสตร์นั้น ได้อพยพมาจากนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ตั้งแต่สมัยของพระเจ้าสิริบุญสาร มายังหนองบัวลำภู นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน จนกระทั่งถึงบ้านปะอ่าวแห่งนี้ ฉะนั้นหมู่บ้านปะอาว จึงมีอายุประมาณ 200 กว่าปี และเป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพที่เป็นเอกลักษณ์ ประจำหมู่บ้านซึ่งได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ คือการทำเครื่องทองเหลือง กรรมวิธีการผลิตยังเป็น แบบโบราณดั้งเดิม นอกจากนี้แล้วในหมู่บ้านยังมีศูนย์สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทองเหลือง และทอผ้า ไหมที่สวยงาม เปิดทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
โดยจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่นี่ เล่าว่า วิชาการงานด้านช่างหล่อโลหะนั้นมีขึ้นก่อนที่จะมีการตั้งหมู่บ้านปะอาว สันนิษฐานว่าอาจจะได้รับการถ่ายทอดมาจากชุมชนหนองบัวลุ่มภู ซึ่งมีอาณาบริเวณใกล้กับชุมชนบ้านเชียง หรืออาจจะมาจากชุมชนลาวที่อพยพเข้ามาจากฝั่งโขงคือเวียงจันทน์
อย่างไรก็ตามถ้าหันกลับมาดูหลักฐานที่บ้านเชียงน่าจะเป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่วัฒนธรรมการทำหัตถกรรมหล่อทองเหลืองโดยวิธีขี้ผึ้งหายในภูมิภาคนี้
สำหรับผลิตภัณฑ์ทองเหลืองและสำริดที่ชุมชนบ้านปะอาวนั้น ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ กลุ่มหัตถกรรมหล่อทองเหลืองบ้านปะอาวผลิตภัณฑ์ทองเหลืองที่นี่ผลิตโดยกรรมวิธีแบบโบราณที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เรียกกรรมวิธีนี้ว่า วิธีการหล่อแบบขี้ผึ้งหาย
การหล่อแบบขี้ผึ้งหาย เริ่มจากการพันเส้นขี้ผึ้งเข้ากับแบบที่หุ้มด้วยดินผสม จากนั้นนำไปหลอมด้วยความร้อนให้ขี้ผึ้งละลายออก เพื่อเป็นโพรงแบบสำหรับเทน้ำโลหะเหลวเข้าไปแทนที่ วิธีนี้เป็นวิธีเดียวกันกับที่ใช้หล่อสำริด เมื่อ 4,500 ปี วิธีดังกล่าวเป็นวิธีเดียวกับที่ใช้ในการหล่อสำริดในยุคบ้านเชียง อุดรธานี และที่ชุมชนบ้านก้านเหลือง จ.อุบลราชธานี และพื้นที่อื่นๆอีกมากมายในบริเวณพื้นที่ราบสูงของภาคอีสาน
ตัวผลิตภัณฑ์บางชิ้นเหมือนกันกับที่ทำขึ้นที่บ้านปะอาว เช่น ลูกกระพรวนสำริด เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า ซึ่งมีเฉพาะชุมชนบ้านปะอาวเท่านั้นที่ยังสืบสานงานสำริดโดยวิธีโบราณนี้ไว้อยู่ในปัจจุบัน
สำหรับกรรมวิธีทำหัตถกรรมหล่อทองเหลืองโดยวิธีการหล่อแบบขี้ผึ้งหายของชุมชนบ้านปะอาว เริ่มจากการเตรียมดินโดยนำดินโพนมาตำให้ละเอียดผสมกับมูลวัวและแกลบ คลุกเคล้าจนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นจึงปั้นหุ่นต้นแบบหรือพิมพ์ โดยนำดินที่ตำเสร็จแล้วผสมน้ำและปั้นเป็นหุ่นให้มีรูปร่างลักษณะตามที่ต้องการ จากนั้นใช้ไม้มอนเสียบกลางหุ่นเพื่อให้สามารถจับยึดกลึงได้ แล้วนำไปตากให้แห้ง
จากนั้นนำหุ่นหรือพิมพ์ที่แห้งแล้วไปประกอบใส่โฮงเสี่ยน เพื่อทำการกลึงให้เรียบและได้ขนาดตามที่ต้องการ แล้วจึงนำมาพันขี้ผึ้งโดยวิธีการใช้ขี้ผึ้งที่ทำเป็นเส้นมาพันรอบหุ่นขี้ผึ้งที่ผ่านการกลึงหรือเสี่ยน อุ่นขี้ผึ้งเล็กน้อยแล้วบีบให้ขี้ผึ้งเรียบแนบติดเป็นแผ่นเดียวกัน และมีความหนาสม่ำเสมอกันตลอด แล้วนำไปกลึงให้ผิวเรียบเป็นทรงสวยงามความหนาปกติประมาณ 5 มม.
ขั้นตอนต่อไปนำมาพิมพ์ลาย และติดขี้ผึ้งที่ขอบเพื่อเป็นทางให้น้ำโลหะไหลไปได้สะดวกทั่วถึงกันตลอดชิ้นงาน จากนั้นถึงขั้นตอนโอบเพชร หมายถึงขั้นตอนการใช้ดินผสมมูลวัวที่ละเอียดมาหุ้มหุ่นหลังจากที่ทำลวดลายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องทำสายชนวนโผล่ยื่นออกมา แล้วโอบเบ้าโยการใช้ดินเหนียวผสมแกลบโอบหรือหุ้มเบ้าอีกครั้งหนึ่งให้สามารตั้งวางบนดินเพื่อการเทหล่อได้ จากนั้นก็สุมเบ้าหรืออุ่นเบ้าโดยการวางเบ้าในเตาเผาเพื่อให้ขี้ผึ้งละลายออกเกิดเป็นโพรงว่าง เพื่อนำโลหะเหลวเข้าไปแทนที่ว่าง และต้องเทหล่อในขณะที่เบ้ามีอุณหภูมิสูงไม่เช่นนั้นจะทำให้โลหะไหลไม่เต็มแบบ
เมื่อโลหะแข็งตัวดีแล้ว ทำการทุบเบ้าดินให้แตกเพื่อนำเอางานหล่อที่ได้ออกมาทำความสะอาด ก่อนจะนำมากลึงแต่งผิวให้สวยงาม ซึ่งเรียกว่า มอนใหญ่ และนำไปขัดเงาด้วยน้ำยาขัดเงาให้สวยงามก่อนนำไปใช้หรือจำหน่ายต่อไป
ที่ตั้ง
ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองขอน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 18 กม. ตามทางหลวงหมาย เลข 23 ทางไปยโสธร ถึงหลักกม.ที่ 273 เลี้ยวขวาไปอีก 3 กม. เป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่มากแห่ง หนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี
สิ่งน่าสนใจ
ศูนย์แสดงสินค้าพื้นเมืองบ้านปะอาว
ศูนย์แห่งนี้เป็นที่รวบรวมและจัดแสดงงานหัตถกรรมเพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว มีทั้งผ้าไหมและเครื่องทองเหลือง เช่น เต้าปูน ผอบ กระดิ่ง ลูกกระพรวน เชี่ยนหมาก เป็นต้น ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มทอผ้าไหม 130 คน และสมาชิกทำเครื่องทองเหลือง 36 คน โดยมีลุงทอง ล้อมวงศ์ เป็นช่างทองเหลืองอาวุโสถ้าต้องการชมการทอผ้าหรือการทำเครื่องทองเหลืองด้วยกรรมวิธีโบราณ ก็สอบถามจากเจ้าหน้าที่ในศูนย์ได้ เพราะศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะทำเครื่องทองเหลืองและทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้านแทบจะทุกหลังคาเรือน
นักท่องเที่ยวสนใจสินค้า หรือ ต้องการเดินทางไปเยี่ยมชม สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์อนุรักษ์หัตถกรรมหล่อทองเหลืองบ้านปะอาว ต.ปะอาว อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 34000
เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
โทร. 0-4524-3813, 0-4534-4365