Ja Anion
ถ้ำติ่ง ลาว
- รายละเอียด
- สร้างเมื่อ: วันพฤหัสบดี, 28 เมษายน 2554 16:33
- เขียนโดย adminNewviewtour
ถ้ำติ่ง
เป็นถ้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตั้งฝั่งตรงข้ามบ้านปากอู ในภูเขาลูกใหญ่ที่ตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำโขง ช่วงที่แม่น้ำอูไหลลงสู่แม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียกกันว่า ผาแอ่น ถ้ำติ่งประกอบ ด้วยถ้ำ 2 แห่ง ได้แก่ ถ้ำติ่งเทิง(ถ้ำติ่งบน)และถ้ำติ่งลุ่ม(ถ้ำติ่งล่าง)ในสมัยโบราณใช้เป็นที่สักการะบวงสรวงดวงวิญญาณผีฟ้า ผีแถน เทวดา ผาติ่ง แต่เมื่อศาสนาพุทธเข้ามาแทนที่ถ้ำติ่งจึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา ของผู้แก่เฒ่าบอกว่าเจ้ามหาชีวิตแห่งหลวงพระบางต้องไปสักการะพระพุทธรูปในถ้ำเป็นประเพณีที่ขาดไม่ได้
เป็นถ้ำบนผาริมแม่น้ำโขงฝั่งขวาตรงข้ามกับปากอู ชื่อถ้ำติ่งมีที่มาจากการมีหินงอกหินย้อยอยู่มาก และเห็นได้ชัดเจนจากฝั่งแม่น้ำ ชาวลาวเรียกหินงอกหินย้อยตามถ้ำว่า “หินติ่ง” จึงเรียกว่า ถ้ำติ่ง
ถ้ำติ่งมีอยู่สองถ้ำ คือถ้ำติ่งล่างและถ้ำติ่งบน ถ้ำล่าง หรือ “ถ้ำลุ่ม” ในภาษาลาว อยู่เหนือจากท่าจอดเรือเล็กน้อย มีพระพุทธรูปตั้งแต่ขนาด ๑๐ เซนติเมตรจนถึง ๑ เมตรครึ่ง ประดิษฐานอยู่มากมายราว ๒,๕๐๐ องค์ ไม่มีใครบอกได้ว่าพระพุทธรูปเหล่านี้มาอยู่ที่ถ้ำติ่งเป็นเวลายาวนานเท่าใด มีทั้งพระพุทธรูปไม้และพระพุทธรูปปูนปั้น ส่วนมากเป็นฝีมือของช่างพื้นบ้าน การนำพระพุทธรูปมาถวายเป็นพุทธบูชาตามถ้ำเพื่อทำบุญสืบต่ออายุพระพระศาสนานั้นเป็นความเชื่อซึ่งมีมาแต่โบราณ
โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่หลังเสร็จงานบุญที่หลวงพระบางแล้วประมาณ 2-3 วัน พระองค์จะนำข้าราชบริพานชั้นผู้ใหญ่พระสงฆ์ และประชาชนขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่ถ้ำติ่งบนก่อนจึงลงมาทำพิธีที่ถ้ำติ่งล่าง
ภายในถ้ำมีการค้นพบพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 15 และ 19จำนวนหลายพันองค์ และมีบางส่วนที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17 และ 20 ส่วนใหญ่ทำจากไม้ บางส่วนทำจากหินและโลหะ นอกจากนี้ยังมีการพบพระพุทธรูปที่ทำจากเงินและทองคำบุ แต่ถูกลอกเอาเงินและทองคำออกไปหมดเหลือไว้แต่ดินเผาที่เป็นแกนกลาง
ในช่วงสงกรานต์ชาวหลวงพระบางนิยมนั่งเรือทวนสายน้ำโขงเพื่อมาสรงน้ำพระพุทธรูปในถ้ำติ่งกัน และยังนำพระพุทธรูปทั้งที่หล่อด้วยโลหะหรือแกะสลักด้วยไม้มาถวายเพิ่มด้วย โดยถือเป็นโอกาสท่องเที่ยวปีใหม่ไปในตัว
จากถ้ำลุ่มมีทางเดินระยะทางราว ๓๐๐ เมตรขึ้นไปยังถ้ำบน หรือ “ถ้ำเทิง” ในภาษาลาว ถ้ำเทิงมีพระพุทธรปเก็บไว้น้อยกว่าถ้ำลุ่มโดยมีราว ๑,๕๐๐ องค์ เป็นถ้ำที่ลึกและมืดกว่าถ้ำลุ่ม ด้านหน้าถ้ำจึงมีไฟฉายบริการให้นักท่องเที่ยวเช่า โดยบริจาคเงินเป็นค่าบำรุงเพียงเล็ก
ปัจจุบันการเดินทางไปถ้ำติ่งมีให้เลือกหลายแบบ ต่างจากในอดีตที่ต้องนั่งเรือจากหลวงพระบางมาตามลำน้ำโขงเท่านั้น (ใช้เวลาไป-กลับกว่า ๔ ชั่วโมง) นักท่องเที่ยวสามารถลดเวลาการเดินทางโดยนั่งรถไปลงบ้านซ่างไหแล้วล่องเรือต่อไปยังถ้ำติ่ง หรือจะประหยัดเวลายิ่งขึ้นก็นั่งรถไปถึงบ้านปากอู แล้วนั่งเรือข้ามน้ำโขงเลย
- เปิดทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น.
- บัตรเข้าชมถ้ำติ่ง ราคา ๒๐,๐๐๐ กีบ
สิ่งน่าสนใจ
ผาแอ่น-ภูโลง
จากปากถ้ำติ่งสามารถมองเห็นผาแอ่นและภูโลงซึ่งอยู่ริมปากแม่น้ำอูด้านตรงข้ามกับถ้ำ ผาแอ่น-ภูโลงเป็นสถานที่ซึ่งปรากฏนามอยู่ในตำนานเมืองหลวงพระบาง ผาแอ่นเพี้ยนชื่อมาจากผาแบ่น ตามตำนานกล่าวว่าเป็นที่ซึ่งชาวลาวแข่งขันยิงธนูเอาชนะชาวข่าเจ้าของถิ่นดั้งเดิม จึงได้ครอบครองแผ่นดินหลวงพระบางแทนชาวข่า ส่วนภูโลงนั้นเป็นโลงศพของนางอั้ว ตามนิทานพื้นบ้านเรื่องขุนลูนางอั้ว
ภาพเขียนสี
จากท่าเทียบเรือหน้าถ้ำติ่ง เลาะตามหน้าผาขึ้นไปทางเหนือน้ำสัก ๒๐ เมตร บนผนังผาสูงจากพื้นน้ำราว ๑๕ เมตร มีกลุ่มภาพเขียนสีบนหน้าผา เป็นรูปคน กลองมโหระทึก และลวดลายเรขาคณิต เขียนด้วยสนิมเหล็กสีแดงเข้ม คล้ายกับที่พบในมณฑลกวางซีของจีน